กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตั้งเป้าปี 2564 สนับสนุนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 1,000 ราย ให้สามารถพึ่งตัวเองได้ ผ่านการฝึกอบรมทักษะอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อตั้งต้นอาชีพ
เพราะไม่อาจแจกเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ตลอด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงพยายามปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเป็นการพัฒนาศักยภาพและติดตาม คาดหวังว่าวันหนึ่งประชาชนยากจนจะสามารถลุกขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้
เป็นเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2564 หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พยายามช่วยเหลือครบทุกมิติ ผ่านการฝึกอบรมอาชีพฟรี เช่น ตัดผม เสริมสวย ทำเล็บ ทำอาหาร ฯลฯ หลังจากมีทักษะอาชีพ ก็สอนเทคนิคการทำธุรกิจและบริหารเงิน ก่อนประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำมากให้นำไปตั้งต้นอาชีพ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค. กระทรวง พม.กล่าวว่า สค.จัดของขวัญปี 2564 แก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,000 ราย ให้มาฝึกอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนผู้ฝึกอาชีพด้านอาหาร สค.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น โลตัส จัดอุปกรณ์ประกอบอาชีพพร้อมเงินตั้งต้น รวมมูลค่า 30,000 บาท ให้กับผู้ผ่านการอบรมที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 77 ราย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการคัดเลือกได้ 30 กว่าคนแล้ว พิจารณาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีความตั้งใจ ขยัน และมีภาระจำเป็นจริงๆ
ทั้งนี้ ในอนาคตจะประสานภาคเอกชนอื่นๆ ให้มาร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการอบรมอีก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวให้สามารถพึ่งตัวเองได้ต่อไป
“เราพยายามช่วยเหลือด้วยการฝึกทักษะอาชีพแก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะครอบครัววัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งในฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ระบุมีประมาณ 7,000 ราย จะช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน ตลอดจนได้ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือคลินิกครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในการดูแลครบวงจร ด้วยความหวังว่าช่วยหนึ่งคน ก็เหมือนว่าได้ช่วยทั้งครอบครัว” นางจินตนากล่าว
กวิสรา แดงเพชร แม่เลี้ยงเดี่ยวสุดสตรองวัย 36 ปี มาพร้อมลูกชายวัย 12 ปี เป็น 1 ใน 77 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์และเงินประกอบอาชีพ เล่าด้วยสีหน้าดีใจว่า หลังจากสามีเสียชีวิตตอนลูก 3 เดือน ดิฉันก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมาตลอด เป็นบทบาทที่ต้องใช้ใจมาก เพราะต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ และต้องหาเงินเพียงลำพัง
กวิสรามีความพิการติดตัวตั้งแต่กำเนิดคือ กล้ามเนื้อขาลีบเล็ก มิหนำซ้ำยังถูกรถชนจนต้องดามเหล็กที่ขา ทำให้เธอยิ่งเดินเหินไม่คล่อง แต่ก็ยังทำงานสารพัด ทั้งนักบัญชี เซลส์ขายคอนโด ฟรีแลนซ์ เรียกว่า “ทำงานทุกอย่างที่สุจริต” เพียงลำพัง เพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และนำมารักษาลูกชายที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี เธอทุ่มสุดตัวเข้าคอร์สเรียนรู้การดูแลเด็กป่วยแอลดี ก่อนมาดูแลและรักษาลูกของตัวเองจนหายได้ภายใน 3 ปี
“ชีวิตมันก็มีท้อนะ จริงๆ ถ้าตัวคนเดียว อาจเลือกไม่อยู่บนโลกใบนี้ไปแล้วก็ได้ แต่เพราะมีลูกจึงเลือกอย่างนั้นไม่ได้ ท้อได้แต่อย่านาน ก็รู้สึกดีใจที่ความทุ่มเทที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ลูกหายเป็นปกติแล้ว และแม้โควิดจะทำให้งานหดหาย จึงเลือกไปเรียนฝึกอาชีพด้านอาหาร เพื่อหวังหารายได้เสริม ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ต้องขอบคุณกระทรวง พม. และโลตัสที่มอบโอกาสให้ต่อไป” กวิสราเล่าทั้งน้ำเสียงเข้มแข็ง
ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน, 5 มีนาคม 2564