กองทุนกู้ยืม–มอบเตียงคนไข้ ให้ครอบครัวพนักงาน ที่ B-MED

สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน

  • มอบอุปกรณ์ผู้ป่วย สำหรับสมาชิกครอบครัวของพนักงาน
  • พนักงานสามารถแลกเวรวันหยุดกันเองได้
  • กองทุนเงินกู้ยืม ไม่คิดดอกเบี้ย
  • จัดที่พักสำหรับพนักงาน และครอบครัว

“แม่สอนเสมอว่าถ้าพนักงานไม่มีเงิน นายจ้างต้องดูแล เพราะลูกน้องไม่มีที่พึ่งอื่น เลยตั้งกองทุนเงินยืมเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่เดือดร้อน ไม่อยากให้ไปติดหนี้นอกระบบ หรือหนี้บัตรเครดิต บางคนมีญาติตกงาน ลูกต้องเรียนหนังสือ เขามีรายได้คนเดียว ก็ต้องมายืมเงินกองทุนนี้ไปแก้วิกฤตครอบครัว”

เพราะรู้ซึ้งถึงชีวิตที่เคยล้มลุกคลุกคลาน ไชยันต์ ลิหมัด ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านหมอ (ประทศไทย) จำกัด หรือ B-MED เห็นใจคนที่เดือดร้อน จึงช่วยพนักงานผ่อนหนักให้เป็นเบาในหลายรูปแบบ
B-MED เป็นบริษัทจำหน่ายครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีโรงงานผลิตเตียงคนไข้ เสาแขวนน้ำเกลือ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ เช่น เครื่องมือวัดความดัน เป็นต้น ไชยันต์ก่อร่างสร้างธุรกิจนี้ขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักการตลาดคือ ผลิตภัณฑ์ราคาไม่สูง ลูกค้าคนไทยมีโอกาสจับต้องได้ ต้องส่งสินค้าถึงมือลูกค้าทั่วประเทศ ภายใน 3 ชั่วโมง เพราะมีสต๊อกสินค้าอยู่ทุกภูมิภาค ปัจจุบัน ขยายสาขาถึง 34 -35 แห่งทั่วประเทศ

“สิ่งที่เราทำควบคู่ไปกับธุรกิจ คือการช่วยเหลือสังคม เช่น การบริจาคเตียงให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้ กลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ ผมไม่เคยตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละปีจะบริจาคเท่าไหร่ รู้แค่ว่าอะไรที่เข้ามาแล้วสะท้อนจิตใจเราเป็นหลักว่าต้องช่วย บางทีเราไม่มีของที่เขาต้องการก็ต้องหาให้ น่าจะเป็นร้อยเคสแล้วที่เราช่วยเหลือ ถ้าตีเป็นมูลค่าตั้งแต่เริ่มบริจาคปีแรกจนถึงวันนี้น่าจะร่วมสิบล้านบาท รวมถึงการให้เตียง รถเข็น อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ฯลฯ ไปหมุนเวียนกันใช้ในชุมชน

“นอกจากบริจาคให้คนภายนอกแล้ว ก็ให้พนักงานด้วย เช่น ที่บ้านมีคนป่วยติดเตียง หรือรถเข็น พนักงานที่เงินเดือนไม่มากคงไม่มีกำลังทรัพย์จะซื้อของพวกนี้ เราพิจารณาจากสภาพบ้านของเขา คนดูแลคนป่วยเป็นใคร แหล่งรายได้ของเขาคืออะไร สามอย่างนี้ก็บอกได้แล้วว่าเขาลำบากแค่ไหน” ผู้บริหารบ้านหมอ เผยถึงมุมมองของความใส่ใจต่อพนักงานในองค์กร

ภาพ : วิดีโอ บ้านหมอ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

ขาด ลา มาสาย ยืดหยุ่นได้

บริษัทบ้านหมอ มีการบริหารงาน 3 ส่วนคือ สำนักงาน โรงงาน (ฝ่ายผลิต) และ โชว์รูมทั่วประเทศแต่ละฝ่ายมีผู้จัดการคอยดูแล และมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แทนผู้บริหารได้ ส่วนเวลาการทำงานจะมีการเหลื่อมเวลาตามความเหมาะสม เช่น สำนักงาน และ ฝ่ายผลิต คือ 08.00-17.00 น. ในขณะที่พนักงานโชว์รูม เข้างานเวลา 08.00 -19.00 น. บางแห่ง 08.00 -20.00 น. เนื่องจากเป็นช่องทางสร้างรายได้จึงต้องเลิกงานช้ากว่าฝ่ายอื่น

พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น จึงต้องหาที่พักใกล้ที่ทำงาน ยกเว้นพนักงานฝ่ายผลิตที่อยู่โรงงาน ทางบริษัทมีที่พักให้ฟรี ค่าน้ำฟรี แต่เสียค่าไฟเอง ห้องพัดลมเดือนละ 150 ห้องแอร์เดือนละ 300 ซึ่งพนักงานหลายคนพาครอบครัวมาอยู่ด้วย

พนักงานที่นี่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วันคือวันอาทิตย์ และสามารถสลับวันหยุดกันได้โดยพนักงานตกลงกันเอง อย่างเช่น พนักงานโชว์รูมที่เป็นมุสลิมต้องการไปทำพิธีวันสำคัญทางศาสนา พนักงานที่เป็นไทยพุทธก็ทำงานแทน และเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธ พนักงานมุสลิมก็จะทำงานแทนเพื่อให้เพื่อนไปทำบุญบ้าง หรือถ้าใครมีความจำเป็นต้องลาหยุดก็ตกลงกันเองได้

ส่วนฝ่ายผลิต จะสลับกันหยุดในช่วงการทำโอที โดยตกลงกันเองว่าใครจะทำวันไหนกี่โมงถึงกี่โมง หากใครมีความจำเป็นต้องลาหยุดต่อเนื่อง จะลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 วัน แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินสามารถอนุโลมได้

“เคยมีเคสที่พ่อแม่ป่วย มาขอลาหยุดไปดูแล เราเลยแนะนำว่าให้ลองปรับเวลาทำงานดูแทนที่จะลาหยุด จะได้ไม่เสียสถิติวันลา เขาก็โอเค คือ ต้องมาพูดคุยช่วยกันหาทางออก”

ผู้บริหารหนุ่ม ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการทำงานของบริษัท

ดูแลเหมือนคนในครอบครัว

โครงการเงินยืมสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยไม่มีดอกเบี้ย ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ อายุงาน 1 ปีขึ้นไป ยืมได้ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่อนคืนภายใน 1 ปี, อายุงาน 2 ปีขึ้นไป ยืมได้ 40,000-60,000 บาท ผ่อนคืนภายใน 6 ปี แต่ถ้าอายุงานไม่ถึง 1 ปี แต่จำเป็นต้องใช้เงิน ผู้บริหารจะสัมภาษณ์เพื่อพิจารณา โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีบุคคลค้ำประกัน

“ผมได้ความคิดมาจากแม่ เราเคยจนมาก่อน เวลาเดือดร้อนไปหยิบยืมใครไม่ได้ พอเราเริ่มตั้งตัวได้และทำธุรกิจนี้ แม่สอนเสมอว่าถ้าพนักงานไม่มีเงิน นายจ้างต้องดูแลให้ยืมเพราะลูกน้องไม่มีที่พึ่งอื่น แต่ละปีเราใช้เงินในโครงการนี้ประมาณ 2 ล้านบาท เราจะดูด้วยว่าพนักงานนำเงินไปใช้อะไร ถ้าเป็นของฟุ่มเฟือยเราจะไม่ค่อยสนับสนุนเพราะเป็นการสิ้นเปลือง บางคนเอาเงินไปจ่ายค่าเทอมลูก พนักงานที่อยู่ภาคอีสานกับภาคเหนือหลายคนมีหนี้ครอบครัว ก็จะไปช่วยพ่อแม่ใช้หนี้ ธ.ก.ส.

ในช่วงโควิดระบาดระลอกใหม่ เราก็ซื้อประกันโรคโควิดให้พนักงานทุกคน บางคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ภรรยาโดนให้ออกจากงาน สามีซึ่งเป็นพนักงานโรงงานเรา ก็จะมาขอทำงานล่วงเวลา บางทีวันอาทิตย์เราก็เปิดงานจ๊อบขึ้นมาอีกหน่อย เพื่อให้คนเหล่านี้มาช่วยกันทำงาน อีกรายเป็นคนขับรถของที่นี่ ก็มาขอทำงานพิเศษคือวิ่งรถส่งของไปต่างจังหวัด ซึ่งปกติเราจ้างรถหกล้อไปส่งอยู่แล้ว จึงเอางานมาให้คนของเราทำแทนเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเขาก็ยอมเหนื่อยมากขึ้นในช่วงนี้” ไชยันต์ เผยถึงวิธีแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตให้กับพนักงานของเขา

นโยบายกู้วิกฤต ให้ชีวิตเดินต่อ

พนารัตน์ สว่างฤกษ์ พนักงานฝ่ายบัญชี และแอดมิน

พนารัตน์ พื้นเพเดิมเป็นคนลพบุรี เมื่อสามีได้มาทำงานแถวลาดกระบัง จึงติดตามมาด้วยและมาสมัครงานที่บริษัทบ้านหมอ ทำงานที่นี่ได้ 2 ปีกว่าแล้ว เธอมีลูกสาว 2 คน คนโตกำลังเป็น “ว่าที่” บัณฑิต ส่วนลูกสาวคนเล็กเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อาศัยอยู่กับคุณตาและน้าสาวที่ลพบุรี พนารัตน์เป็นคนหนึ่งที่ทำเรื่องยืมเงินกองทุนของบริษัท

“ยืมเงินมาจ่ายค่าเทอมของลูกสาวคนโต ซึ่งกำลังจะเรียบจบ และค่าใช้จ่ายของลูกสาวคนเล็กในแต่ละสัปดาห์ ปกติผ่อนคืนเดือนละ 2,000 บาท แต่ช่วงนี้มีโควิด 19 ไม่มีการทำโอที ผู้บริหารจึงปรับลดเหลือผ่อนเดือนละ 1,000 บาท

“ดีมากที่บริษัทมีกองทุนสำหรับพนักงาน ทำให้เราไม่ต้องไปหากู้เงินข้างนอก ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก กว่าจะได้เงินมา ของบริษัทเราทำเรื่องล่วงหน้าอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเงินได้เยอะ แล้วเคยซื้อเครื่องมือวัดความดันไปให้พ่อใช้ บริษัทก็ขายให้ในราคาพิเศษ ช่วยประหยัดเงินได้เยอะเลย” พนารัตน์ กล่าว

ซูไฮลา เจ๊ะสนิ พนักงานขายหน้าร้านโชว์รุม สาขานครศรีธรรมราช

เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นี่หลังจากเรียนจบ งานของเธอมีทั้งประจำหน้าร้าน ติดต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งเป็นตัวแทนบริษัทนำเตียงหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปมอบให้หน่วยงานหรือผู้ที่ขอรับบริจาค

ซูไฮลา เป็นชาวจังหวัดยะลา เมื่อมาทำงานที่นครศรีธรรมราชจึงต้องห่างจากครอบครัว ต่อมาคุณพ่อของเธออายุ 60 กว่า หกล้มทำให้เดินไม่สะดวก คนดูแลหลักๆ คือคุณแม่ เพราะลูกๆ ทำงานต่างจังหวัดกันหมด โชคดีของซูไลฮาที่ผู้บริหารทราบเรื่อง จึงได้รถเข็นและเตียงไปให้คุณพ่อของเธอใช้งานโดยไม่เสียเงินเลย

“ตอนที่พ่อล้ม เราก็จะซื้อรถเข็นที่บริษัทในราคาที่พอไหวให้เขาใช้ เพราะเวลาไปโรงพยาบาล ไม่ค่อยมีรถวีลแชร์ให้ใช้ แม่ก็พยุงพ่อลำบาก พอคุณไชยันต์รู้เรื่อง ก็ให้ผู้จัดการส่งรถเข็นมาให้ ช่วงหลังๆ พ่อเริ่มปวด เดินไม่ได้ นอนลำบาก ดิฉันเลยจะขอซื้อเตียงผู้ป่วยในราคาพิเศษ ทางคุณไชยันต์บอกว่าไม่ต้องซื้อให้เอาไปใช้ได้เลย เพราะเราเป็นพนักงานอะไรช่วยได้ก็ช่วยเหลือกันไป ตอนนี้คุณพ่อเริ่มดีขึ้นแล้ว กำลังฝึกเดินอยู่ จึงคิดกันว่าถ้าคุณพ่อไม่ต้องใช้รถเข็นกับเตียงผู้ป่วยแล้ว ก็จะนำไปบริจาค่อให้กับ รพ.สต. เพื่อให้คนที่จำเป็นได้ใช้ต่อ

“ดีใจมาก ที่บริษัทมีนโยบายดูแลพนักงานแบบนี้ เพราะบ้านเราแค่พอมีพอใช้ เมื่อได้รับการช่วยเหลือแบบนี้จึงรู้สึกดีต่อใจ ดีต่อผู้ป่วยด้วย มีเพื่อนอีกคนอยู่สาขาหาดใหญ่พ่อไม่สบายเหมือนกัน บริษัทก็คอยถามไถ่ว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ถ้าช่วยได้ก็จะช่วยเหลือตลอด” พนักงานสาว กล่าวชื่นชมในความเอื้ออาทรของที่ทำงาน