
ความหมายของ “วิกฤต” คือสถานการณ์อันตราย สิ่งเดิมจะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เป็นภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หรือแย่ลงก็ได้
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรก และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย อันที่จริง ชีวิตของเราเจอความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาชีวิตครอบครัวก็เช่นกัน
บางจุดเปลี่ยนส่งสัญญาณทีละน้อย เช่น การเติบโตขึ้นหรือเฒ่าชราลงของคนในบ้านแต่บางเรื่องเกิดขึ้นโดยเราไม่ทันตั้งตัว เช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากอุบัติเหตุ รวมทั้งโรคระบาดที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆแล้วลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วทั้งโลก
เข้าใจวิกฤต
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจนถึงจุดที่เรียกว่า “วิกฤต” เรียกร้องให้ต้องมีการปรับตัวตอบรับอย่างเหมาะสม ในโลกยุคนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วตามไปด้วยโลกเหมือนถูกย่อขนาดให้เล็กลง เพราะคนไปมาหาสู่และรับรู้เรื่องราวกันโดยที่ไม่ต้องใช้เวลายาวนานอย่างในอดีต
เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และอาจจะรุนแรงมากขึ้น ครอบครัวจำเป็นต้องยืดหยุ่นได้ ปรับตัวไว รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้สมาชิกได้ปรับตัวตอบรับวิกฤตไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในด้านบวก
มีข้อคิดที่จะช่วยให้เราเข้าใจวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น
อย่าเห็นวิกฤตเป็นเรื่องธรรมดา บ่อยครั้งเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เราไม่เตรียมตัวไม่ปรับตัว กว่าจะรู้อีกที สถานการณ์ก็แย่ลงจนเกินจะเยียวยา เช่น ลูกโตเป็นวัยรุ่นแต่ยังเลี้ยงเหมือนตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เลยถอยห่าง พอมีปัญหาก็ไม่ปรึกษาพ่อแม่จนเรื่องราวลุกลามเกินแก้ไข
อย่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเผชิญปัญหาจะไม่ยอมรับความจริง และไม่ต้องการปรับตัว แต่เลือกที่จะหนีปัญหา โดยการเอาตัวรอดเฉพาะหน้าด้วยการกินเหล้า ใช้ยาเสพติด หรือใช้ความรุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤต
มองรอบด้านอย่าโทษกันเอง บ่อยครั้งเราลืมมองภาพใหญ่เชื่อมโยงให้เห็นสาเหตุของปัญหา แต่หันไปใช้วิธีง่ายๆ โดยการ “หาแพะ” ตัวอย่างปัญหาการเงินและการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาด แทนที่จะเข้าใจสาเหตุเพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุดแต่กลับชี้นิ้วคนข้างๆ ว่าเป็น “ตัวปัญหา” จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ความสัมพันธ์ต้องย่ำแย่ลง

5 ข้อ ข้ามวิกฤตไปด้วยกัน
1. ดูแลตัวเอง ใส่ใจคนรอบข้าง
เวลาที่รู้สึกหงุดหงิดสับสน ความเครียดเข้าครอบงำ ให้กลับมาอยู่กับตัวเอง ยอมรับก่อนว่าเรากำลังอยู่ภาวะที่จิตใจไม่เป็นปกติให้ตั้งสติ ผ่อนคลายแบบเร่งด่วน ด้วยการหายใจช้าๆ ลึกๆ ออกซิเจนจะไปเลี้ยงส่วนต่างๆในร่างกายได้เต็มที่ หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง สมองแจ่มใสขึ้น พยายามรักษากิจวัตรประจำวันเอาไว้ ได้แก่การกินอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลกายใจให้พร้อมรับมือโจทย์ยาก
ประคับประคองตัวเองให้ตั้งหลักได้แล้วค่อยหันไปดูคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง จะดูแลกันอย่างไรดี การผลีผลามไปจัดการคนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่พร้อม มีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง
2. สร้างความเข้าใจ สร้างทีมครอบครัว
บ่อยครั้งเราเก็บงำปัญหาไว้ ไม่อยากให้ใครรู้ เพราะกลัวถูกตำหนิ หรือกลัวคนในบ้านจะเป็นทุกข์ที่จริงแล้ว ทุกคนในครอบครัวควรได้รับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะปรับตัวได้อย่างเหมาะสมฉะนั้น สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ “ทีมครอบครัว” ของเราก้าวไปด้วยกัน
ที่สำคัญอย่าลืมว่าแต่ละคนต่างกัน กลุ่มที่ปรับตัวได้ยากลำบาก และครอบครัวน่าจะระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ การสื่อสารต้องเหมาะกับแต่ละคน แต่ละช่วงวัย เปิดใจรับฟังความรู้สึกรวมทั้งข้อสงสัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
3. กำหนดเป้าหมาย-วางกติการ่วมกัน
เมื่อทุกคนรับรู้แล้วว่าครอบครัวของเรากำลังเจอปัญหาใหญ่คงจะดีถ้าทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพ ทางที่ดีคือจับเข่าคุยกันตอนนี้เรากำลังจะเดินไปทางไหน แต่ละคนมีส่วนช่วยครอบครัวอย่างไรได้บ้างอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ ชวนกันมองวิกฤตให้เห็นโอกาส มุมมองเชิงบวกจะช่วยให้เรามีความหวังและพลังใจที่จะก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากไปด้วยกัน
4. บ้านคือ “พื้นที่ปลอดภัย”
ไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหนๆบ้านควรเป็นฐานที่มั่นสำหรับทุกคนอยู่บ้านอยู่กับสมาชิกในครอบครัวแล้วรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงไม่มีใครรู้ว่าจะไปทางไหน จะซ้ายหรือขวา บรรยากาศท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก อาจเป็นความหวาดกลัววิตกกังวล โศกเศร้าเสียใจ สับสน ฯลฯ แต่ละคนมีความรู้สึกและแสดงออกแตกต่างกันไป บ้านและคนในบ้านควรเป็นที่พึ่งที่พักใจ และส่งผ่านความรู้สึกที่ดีให้กันและกัน
5. ชีวิตทางสังคม ต้องรักษาไว้
อย่าเอาแต่ปลีกตัวนอกจากรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีแล้ว ปฏิสัมพันธ์กับสังคม ทั้งเพื่อนฝูงญาติมิตรเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ไม่ว่าจะเจอกันตัวเป็นๆ หรือผ่านเครื่องมือสื่อสาร และนั่นรวมถึงการหาทางออก ซึ่ง“ตัวช่วย” อาจจะจำเป็น เช่น คนรอบข้างที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก หรือ “มืออาชีพ”ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่าลังเลที่จะใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลและเลือกหน่วยงานหรือองค์กรที่ตอบโจทย์ พิจารณาความน่าเชื่อถือให้ดี ปัญหาที่ว่ายากอาจคลี่คลายลงอย่างง่ายดายกว่าที่คิด
ครอบครัวคือแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับชีวิต ฉะนั้น ถ้าสมาชิกช่วยกันถนอมรักษาและเติมพลังให้กันและกันการก้าวผ่านวิกฤตก็จะนำครอบครัวสู่ภาวะสมดุลใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยจะเป็น “นิว นอร์มอล” ที่ประสบการณ์ได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง พร้อมกับเติมความสามารถและทักษะในการปรับตัวให้กับสมาชิกทุกคน
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว