
ก่อนหน้านี้ลูกน่ารัก เชื่อฟัง ช่างคุย เดี๋ยวนี้ไม่รู้เป็นอะไร ลูกเปลี่ยนไป พ่อแม่พูดไม่ค่อยจะฟัง ถามก็ไม่ค่อยตอบวัน ๆ เอาแต่ก้มหน้าดูมือถือ แล้วก็เข้าห้องปิดประตู
ฟังแล้วรู้ทันทีเจ้าของปัญหาคือพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น และปัญหาไม่ได้อยู่ตรงที่ลูกเป็นวัยรุ่น เพราะการเป็นวัยรุ่นคือความเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์
วัยรุ่นยังเป็นช่วงเวลาที่ลูกต้องเผชิญความท้าทายรอบด้านพวกเขาจึงต้องการคำปรึกษาชี้แนะ รวมทั้งการประคับประคองปลอบใจถ้าเกิดเหตุพลั้งพลาด
ประเด็นอยู่ที่ “การสื่อสาร” ซึ่งจะทำให้พ่อแม่รู้ได้ว่าตอนนี้ลูกกำลังมีปัญหาอะไรต้องการความเหลือหรือเปล่า แต่จะทำได้แบบนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจ รวมทั้งใช้วิธีการที่เหมาะสมซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวิธีที่แตกต่างจากที่เคยใช้ตอนลูกยังเป็นเด็กๆ
คาถาชนะใจวัยรุ่น
เมื่อโจทย์ข้อแรกคือลูกไม่คุยด้วย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกำลังมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า
ลองมาดูเคล็ดลับการคุยกับลูกวัยรุ่นซึ่งจะเป็นกุญแจดอกแรกสู่ “โลกของลูก” กันดีกว่า
1. คำถามสร้างสรรค์
วัยรุ่นเป็นวัยที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขาต้องการคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง คำสั่งสอน ประโยคสั่งการแบบที่พ่อแม่เคยใช้มาตลอดวันนี้ใช้ไม่ได้ผล
วิธีที่เหมาะกับวัยรุ่นมากกว่าคือการใช้ “คำถาม” การถามถูกที่ ถูกเวลา จะได้ผลดีกว่าสั่งสอน ยัดเยียดความคิดซึ่งวัยรุ่นจะไม่ยอมรับง่ายๆ อย่างแน่นอน
คำถามสำคัญอย่างไร
- กระตุ้นให้คิดก่อนจะตอบ ลูกต้องคิด การถามถึงข้อดี-ข้อเสีย จะทำให้ลูกได้เปรียบเทียบ เรียบเรียงเรื่องราวก่อนจะตอบรวมทั้งฝึกคาดการณ์ผลที่จะติดตามมา
- ไม่เชื่อง่ายมองให้รอบด้านการตั้งคำถามจะฝึกลูกให้ตั้งข้อสงสัย คิดรอบด้านมากขึ้นสนใจรายละเอียดของเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ได้ฝึกเชื่อมโยง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่น ๆ อย่างไร ลูกจะได้ไม่หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกได้ง่าย ๆ
- กระชับความสัมพันธ์ ถ้าพ่อแม่ตั้งคำถามได้ดีชวนลูกคุยจนเกิดความคิดใหม่ๆ มุมมองใหม่ ลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่ใส่ใจ ให้ความสนใจในเรื่องที่ลูกสนใจและเข้าใจในตัวลูก
คำถามที่ดีคือ “คำถามเปิด” ซึ่งให้อิสระที่ลูกจะเล่าเรื่องราว ได้สำรวจความคิดของตัวเองได้เปิดเผยตัวเองกับพ่อแม่ “คำถามปิด” ที่ตอบได้แค่ “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ฟังแล้วให้อารมณ์เหมือนกำลังถูกสอบสวน
2. เป็น “นักฟัง” ที่ดี
พูดให้น้อย ฟังให้มาก คือคาถาสำคัญสำหรับการเป็นพ่อแม่ของลูกวัยรุ่น เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการแสดงออกอยากได้การยอมรับ อยากให้มีคนรับฟัง
พ่อแม่หลายคนอาจจะบอกว่าก็รอฟังอยู่ทุกวันลูกไม่เห็นพูดอะไร ถ้าเจอแบบนี้ อาจต้องทบทวนเรื่องราวแต่หนหลัง ที่ผ่านมาพ่อแม่ตอบรับเรื่องเล่าและความคิดเห็นของลูกอย่างไรฟังแล้วตัดสินทันทีว่าเรื่องที่ลูกเล่าดีหรือไม่ดี ใช่หรือไม่ใช่ แล้วตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนหรือชิงเล่าเรื่องราววีรกรรมในอดีตของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
การฟังที่ดีไม่ใช่แค่ได้ยินสิ่งที่ลูกพูด แต่คือการรับรู้ในสิ่งที่ลูกอาจจะไม่ได้พูดลูกมีความคิดความเชื่อ กำลังรู้สึกอย่างไร และกำลังต้องการอะไร
3. เติมกำลังใจให้พลังบวก
วัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ พวกเขากำลังค้นหาเส้นทางของตัวเอง อะไรใช่หรือไม่ใช่ อะไรทำได้ อะไรไม่ควรทำ การตำหนิห้ามปราม ประชดประชัน ใช้ไม่ได้ผลสำหรับวัยรุ่น จะทำให้เกิดการต่อต้าน หรือท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่
คำพูดเชิงบวก ช่วยเสริมพลังในการทำสิ่งที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันพฤติกรรมเชิงลบ และยังกระตุ้นให้ลูกเห็นสิ่งที่ดีในตัวเอง ทำให้เกิดความภาคภูมิใจเสริมความเชื่อมั่น กล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ และสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ ฉะนั้น แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาลองหันมาสนับสนุนและชื่นชมเมื่อลูกทำดี
การชื่นชม แทนที่จะไฮไลต์ตรงความสำเร็จ “ยอดเยี่ยมเลยลูก เกรดเทอมนี้” แต่ขยับคำชมมาที่ความมุ่งมั่น “ที่ลูกตั้งใจเรียนมาทั้งเทอมมันยอดเยี่ยมจริง ๆ” ลูกจะรู้ว่าความสำคัญอยู่ที่ความมุมานะพยายาม ซึ่งเราลงมือทำได้ ส่วนผลลัพธ์นั้น บ่อยครั้งเราควบคุมไม่ได้ดังนั้น ความภูมิใจจึงอยู่ที่ว่าเราได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้วต่างหาก
4. ศิลปะแห่งการตำหนิ
ไม่ว่าจะทำอะไร ไม่มีใครอยากถูกตำหนิดุว่าถึงจะยอมรับได้ก็เสียใจอยู่ดี แถมด้วยความรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่รัก ยิ่งถ้าไม่ยอมรับฉันไม่ผิด ก็จะเถียงอยู่ในใจ โกรธเคือง เสียความรู้สึก สะเทือนความสัมพันธ์กับคนที่มากล่าวหา
ความไม่พอใจ พ่อแม่สื่อสารได้แบบไม่สะเทือนอารมณ์ลูกโดยการบอกถึงความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นให้ลูกได้รับรู้ แทนที่จะพูดว่า“ทำไมลูกถึงกลับบ้านดึกแบบนี้ ไม่รู้หรือยังไงว่ามันอันตราย” พอเปลี่ยนเป็น“พ่อแม่เป็นห่วงมากนะที่ลูกกลับบ้านดึก เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า” แบบนี้ค่อยน่าฟังน่าคุยด้วย ดูเป็นทีมเดียวกันขึ้นมาหน่อย
5. “ขอบคุณ”และ “ขอโทษ”
พ่อแม่หลายคนไม่เคยขอบคุณลูกคำขอบคุณจะทำให้ลูกรู้ว่า สิ่งที่เขาทำให้พ่อแม่นั้นเป็นสิ่งที่ดี มีความสำคัญพ่อแม่มองเห็น และชื่นชม
ทุกคนทำผิดกันได้พ่อแม่ก็เช่นกัน การที่พ่อแม่พูดคำว่า “ขอโทษ” ลูกจะเรียนรู้ว่า ถ้าทำผิดเราควรยอมรับผิด ขอโทษ แล้วทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว