พม. ย้ำคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาดกับเด็กปฐมวัยในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ

นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. มีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น

จากสถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พบเด็กติดเชื้อ จำนวน 2,245 คน แบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 514 คน และภูมิภาค 1,770 คน อีกทั้งยังมีเด็กที่ไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตามภารกิจ อาทิ การมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน การมอบเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน เงินช่วยเหลือกองทุนคุ้มครองเด็ก การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิและสวัสดิการสังคม และการประสานส่งต่อความช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นต้น

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-6 ปีบริบูรณ์ นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ-แม่ และผู้ปกครอง รวมถึงผู้ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็ก

ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้เข้ารับการจดทะเบียนตาม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 ออกตามความแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนี้ มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จดทะเบียนกับกระทรวง พม. คือสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,357 แห่ง ซึ่งนอกจากสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจะมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางกระทรวง พม. ได้มีแนวทางสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนอีกด้วย

อาทิ 1) การจัดทำ “คู่มือการป้องกัน COVID-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน” โดยจัดพิมพ์ จำนวน 5,000 เล่ม และมอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

2) การจัดทำแผ่นพับมาตรการกลาง คำแนะนำป้องกันตนเองและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยจัดพิมพ์ จำนวน 100,000 ฉบับ มอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ผู้ปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 76 จังหวัด คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

และ 3) กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทย รวบรวมรายชื่อผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศที่แจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,100 คน เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขอรับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 953 คน เป็นต้น

 

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์สังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. ได้กำชับให้ทุกสถานสงเคราะห์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ งดการเข้า-ออกสถานสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก ตั้งจุดตรวจคัดกรอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะโดยตรง และฉีดพ่นทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นประจำ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเด็กในสถานสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล

นอกจากนี้ ยังได้กำชับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ และให้หน่วยงานจัดบริการห้องอาบน้ำสำหรับชำระร่างกาย ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงาน

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 บริการ Line Official Account @savekidscovid19 บริการ Mobile Application คุ้มครองเด็ก บริการแพลตฟอ์ม @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว.com