สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน
– พนักงานจัดสรรสลับวันหยุดกันเองได้
– พนักงานที่ไม่เคยลา ไม่เคยมาสาย ครบหนึ่งเดือน ได้เบี้ยขยันเป็นลำดับขั้น
– อายุงานมากจนมีวันหยุดสะสมเพียงพอ จะหยุดงานยาวติดกันก็ได้แต่ไม่เกิน 7 วัน

“เราพยายามหาทางเอาชนะตลาดให้ได้ ตามหลักตลาดงานส่วนใหญ่จะได้หยุดอาทิตย์ละวัน เราก็เริ่มหาโมเดลที่จะให้หยุดได้ 5 วันต่อสัปดาห์ก่อน ทั้งหมดที่ทำเป็นผลความเชื่อของผมที่ว่า ถ้าคนมีแรงจูงใจด้วยการทำมากได้มาก พนักงานมีความสุขในชีวิตจากการที่เขาได้คอนโทรลเวลาให้ตัวเองได้มากขึ้นแล้ว จะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่ผมให้ผลประโยชน์เขาเยอะ ก็จะได้กลับมาทวีคูณ”
เจ้าของไอเดียนี้คือ “หมอแอร์” ทพ.ธนวัต แสงไพบูลย์ ผู้บริหาร คลินิกทันตกรรม สมายล์ เอเวอรี่เดย์ แม้จะดูเหมือนขายฝันกับการหาแนวทางให้พนักงานมีวันหยุดอาทิตย์ละ 5 วัน แต่วันนี้คลินิกของหมอแอร์ก็ทำฝันเป็นจริงได้แล้ว
ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของกิจการ หมอแอร์เคยทำงานประจำมาก่อน พบว่าในวงการทันตกรรมส่วนใหญ่ พนักงานมาสายแค่นาทีเดียวโดนตัดเงิน 50 บาท ใช้สิทธิลาป่วยโดนตัดวันละ 500 บาท เมื่อถึงวันที่เปิดกิจการของตนเองในปี 2555 หมอแอร์จึงตั้งใจให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข
แนวคิดแรกที่เลือกมาใช้ในองค์กร คือ “ทำมากได้มาก”
ทำมากได้มาก โดนใจไม่ขายฝัน
งานในคลินิก แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือผู้ช่วยทันตแพทย์ กับพนักงานเคาน์เตอร์ หมอแอร์ ยอมรับว่าช่วงแรก ๆ มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในองค์กรอยู่บ้าง แต่ได้ญาติซึ่งเป็นโค้ชชิ่งมาช่วยเรื่องการสื่อสารในองค์กร ทำให้ทุกคนฟังเป็น จับความรู้สึก หาความต้องการของแต่ละคน และลดการตัดสินคนอื่น ทำให้หลายปัญหาจบลงได้โดยไม่ต้องมาถึงมือหมอ ประกอบกับโมเดล “ทำมากได้มาก” พนักงานจึงมีแรงจูงใจมากขึ้น เพราะรู้ว่างานในแต่ละส่วนของแต่ละคนมีความสำคัญแตกต่างกันไป ทุกคนจึงต้องช่วยกัน
“เงินเดือนพนักงานจะไม่คงที่ ถ้าช่วยกันหาได้เยอะ ก็จะได้เยอะด้วย เราตั้งไว้ 3 เป้า คือ 1% 1.3% และ 1.5% ถ้าทำถึงเป้า มีเปอร์เซ็นต์เข้ากองกลาง แล้วหารเท่า ๆ กัน อีกอย่างคือเรื่องเวลา ปกติวงการทันตกรรม พนักงานหยุดอาทิตย์ละวัน โดยสลับกันหยุดวันธรรมดา วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ไม่ได้หยุดเพราะคนไข้เยอะ คลินิกเรามีคนไข้ต่างชาติ 20-30% พนักงานเคาน์เตอร์ต้องพูดอังกฤษได้ ส่วนใหญ่มีแฟนต่างชาติ เขาก็อยากไปเที่ยวเป็นเดือน แล้วพนักงานหลายคนมาจากต่างจังหวัด ถ้าอยากกลับบ้าน 5 วันก็ใช้วันลาเกือบหมด ผมพยายามหาโมเดลที่ตอบโจทย์นี้ให้พวกเขา ผมเชื่อว่าหลายที่ก็อยากให้พนักงานรู้สึกเหมือนมีส่วนเป็นเจ้าของ คนจะทำงานมี Service mind เหมือนเป็นเจ้าของได้ ท้องต้องอิ่ม ต้องมีความสุขก่อน” หมอแอร์ กล่าว
เมื่อวิเคราะห์โจทย์ของพนักงานทะลุแล้ว วันหยุดของคลินิกจึงมีความยืดหยุ่น ให้พนักงานจัดสรรสลับวันหยุดกันเอง สำหรับวันหยุดต่าง ๆ มีดังนี้

ส่วนใครที่ไม่ลา ไม่เคยมาสายครบหนึ่งเดือนจะมีเบี้ยขยันให้ 6 ขั้น เริ่มขั้น 1 เดือนแรก 500 บาท ไปจนถึงขั้นที่หกคือ 1,000 บาท ถ้าอายุงานมากจนมีวันหยุดสะสมเพียงพอ จะหยุดงานยาวติดกันก็ได้แต่ไม่เกิน 7 วัน ซึ่งพนักงานก็เต็มใจรับนโยบายดังกล่าวด้วยความเต็มใจ
“ตอนเริ่มนโยบายนี้ ผมโดนแรงเสียดทานจากที่บ้านพอสมควร เขาคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องจ่ายเยอะเกินไป แต่ผมขอลองดูก่อน มันไม่สำคัญหรอกว่าต้องจ่ายพนักงานเท่าไหร่ ถ้าเขาช่วยหาให้เราได้มากกว่านั้น ความท้าทายคือกว่าจะหาตัวเลขที่เหมาะสมได้ เราต้องไม่เจ๊ง ไม่ใช้จ่ายเกินตัว และเด็กต้องมีแรงจูงใจ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีเหมือนกัน ผมไม่ค่อยเจอปัญหาพนักงานลาออกมา 5-6 ปีแล้ว เลยคิดว่าสมมติฐานที่ผมคิดคงถูก ระยะแรกเหมือนเราจ่ายเยอะกว่าชาวบ้าน แต่ในระยะยาวมันดีต่อเรา ถ้าต้องการให้พนักงานดูแลลูกค้า เราก็ต้องดูแลพนักงานด้วย”
เจ้าของแนวคิดโดนใจพนักงาน เผย

รวมพลัง Smile Everyday โครงการกู้เพื่อสู้กับหนี้สิน
ไม่เพียงมีดีเรื่องวันหยุด หมอแอร์ ยังมองไปถึงเรื่องการออมของพนักงานด้วย เพราะพบว่าปัญหาของพนักงานหลายคนคือ การเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้นอกระบบ จึงตั้งโครงการที่มีรูปแบบคล้ายกับสหกรณ์ชื่อ รวมพลัง Smile Everyday เพื่อสู้กับหนี้สิน
“เริ่มจากพนักงานคนหนึ่งเป็นหนี้บัตรเครดิต 200,000 บาท และไม่เป็นอันทำงาน มีเจ้าหนี้มาทวงและหนี้นอกระบบด้วย เราเลยบังคับพนักงานทุกคนว่าให้ออมเงินเดือนละ 500 โดยเรากำหนดวงเงินกู้ให้เขา เช่น กู้ 10,000 จ่ายดอก 50 บาทต่อเดือน ให้กำหนดเองว่าจะผ่อนคืนเดือนละเท่าไหร่ ลดต้นไม่ลดดอกจนกว่าจะปิดหนี้ก้อนนั้น เราใช้ Line Group ติดต่อสื่อสารกันใครสนใจกู้ก็ยื่นเรื่องเข้ามา ถ้าอยู่ในวงเงินที่ตั้งไว้จะต้องได้เสียงโหวตจากพนักงาน 50% ว่าสมควรให้กู้หรือไม่ แต่ถ้าวงเงินเกินกว่านั้นต้องได้เสียง 80% ต้องตัดสินใจร่วมกัน ถ้าหนี้สูญทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน 100% เพราะเป็นเงินของพวกเขา ไม่ใช่เงินออฟฟิศหรือเงินของหมอ ปรากฎว่าได้ผลดีมาก ผ่านไปไม่กี่ปีพนักงานที่ติดหนี้บัตรเครดิตก็ชำระหนี้ได้หมด”
เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แก้ปัญหาและเอื้อต่อครอบครัวพนักงานได้
องค์กรมีชีวิต ปลุกสำนึกการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน
การทดลองสิ่งใหม่ๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ณ คลินิกแห่งนี้ นั่นคือ การทดลองทำบริษัทเป็น “องค์กรมีชีวิต” โดยมอบอำนาจการตัดสินใจให้พนักงาน ตั้งเป้าว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ขณะนี้ค่อยๆ เริ่มไปทีละจุด เช่น เรื่องงบ 30,000 บาทที่ใช้ซื้อของในแต่ละเดือน ให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจได้เลย ไม่ต้องเข้าส่วนกลางตลอด แม้จะไม่ทันใจถ้าเทียบกับเจ้าของตัดสินใจฉับเดียวจบ แต่เชื่อว่าระยะยาวจะเป็นผลดีต่อองค์กร
สิ่งที่ หมอแอร์ คาดหวังในระยะยาวคือ พนักงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เอง และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากจากเริ่มทำไปไม่นานคือ การที่เราคิดจะให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับองค์กรต้องมีอีก 2 อย่างในตัวแต่ละคนด้วยคือ mindset ที่ทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วมจริงๆ และมีความเชื่อว่ามีสิทธิที่จะพูด อย่างที่สอง ต้องมีทักษะ ซึ่งเรื่องความรู้ทางวิชาชีพ วิธีให้ความรู้ของคุณหมอคือ เปิด Facebook Group แล้วถ่าย VDO ทยอยใส่ความรู้เข้าไป เด็กใหม่ที่เข้ามาจะได้ไล่เรียงดูตามหมวดได้ ทุกคนจะได้รู้ใกล้เคียงกันและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้
“สิ่งสำคัญคือ ทักษะ ถ้าอยากรวยคุณต้องสะสมทักษะ อย่างผมเรียนจัดฟันมา เปิดร้านมาเกือบ 10 ปี เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ผมไปเรียนเพิ่มเติมด้านการจัดฟันแบบใส นี่คือการทำรายได้ที่ก้าวกระโดดมาก ผมอยากบอกว่าบางคนมองผิดจุด อยากมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มองว่า รายได้จะมาได้ต้อง offer ให้สังคม เราให้มากเราก็จะได้กลับมามาก และต้องทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ผมนำพลาสติกนิ่มมาแก้ฟันให้ตรงได้ ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้ลวดจัดฟัน สิ่งนี้เป็นทักษะที่แพง และคนทำได้น้อย ราคาจึงยังสูง ผมคิดว่าเราต้องให้ความรู้ตลาดแรงงานของเรา ถ้าอยากรวยต้องมีทักษะ ไม่ใช่ออกจากบริษัทเดิมไปอีกบริษัทหนึ่งเพื่อให้ค่าตัวสูงขึ้น”
คุณหมอวิสัยทัศน์ไกล เผยถึงหลักการทำงานจากบุคคลต้นแบบที่เขายึดถือและทำตามหลายเรื่อง นั่นก็คือ “การระเบิดจากข้างใน” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นตัวอย่างในการทำให้คนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“ผมเคยไปทำงานที่สถานีอนามัยดอยตุง ในโครงการหลวงดอยตุง ได้เห็นพระองค์ท่านทรงงานจริง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นตัวอย่างเรื่องการฟังที่ดีมาก ท่านนั่งกับชาวบ้านและรับฟัง ด้วยแนวคิดว่าโครงการจะสำเร็จได้ต้องระเบิดจากข้างใน คือทำให้คนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ถ้าไม่ร่วมด้วยก็จะไม่ทำโครงการให้ เป็นหลักการที่ผมนำมาใช้โดยไม่รู้ตัว รวมทั้งเรื่องการรับฟังคนที่เราจะทำอะไรให้”
หมอแอร์บอกว่า ในการเป็นเจ้าของธุรกิจ เรื่องการดูแลคุณภาพชีวิตคนทำงานมีความสำคัญ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก คลินิกทันตกรรม สมายล์ เอเวอรี่เดย์ ตั้งในศูนย์การค้า จึงต้องปิดบริการตามมาตรการของรัฐตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ตัวเลขรายรับเป็นศูนย์ แต่หมอแอร์ตัดสินใจจ่ายค่าตอบแทนให้ทุกคนตามปกติแม้จะต้องดึงเงินทุนสำรองออกมาใช้ ขณะที่การทำงานมีเพียงการประชุมออนไลน์ รวมทั้งผลัดเวรกันเข้ามาดูแลความเรียบร้อยที่คลินิกวันละ 1-2 คน และคอยรับสายลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาสอบถามเป็นระยะ
“คนของเรามีที่ติดโควิด และญาติติดโควิดด้วยเหมือนกัน ก็ช่วยกันประสานงานเพื่อให้ได้รับการรักษา ได้เตียง ได้รับยา มีบางคนขอกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด”
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย คลินิกกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง พร้อมด้วยอุปกรณ์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับทั้งผู้ให้บริการและผู้ที่มาใช้บริการ

ครอบครัวอยู่ไกล ไม่ใช่ปัญหา
พิม-พิมผกา ชีวโภคากุล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และรองผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากการทำงานที่คลินิกนี้มา 6 ปี เพราะมีวันหยุดสะสมมากพอที่จะเดินทางไปเยี่ยมลูกและสามีที่จังหวัดสุโขทัยทุกเดือน และไปเยี่ยมแม่ที่แม่ฮ่องสอนบ้านเกิดของเธอทุก 3 เดือน โดยที่ไม่กระทบวันทำงานเลย
“อยู่มา 6 ปี ตอนนี้มีวันหยุด 8 วันต่อเดือน ไม่รวมนักขัตฤกษ์ ที่นี่ให้ใช้ระบบเวียนกันหยุดถ้าใครมีธุระก็ล็อควันหยุดได้ หยุดติดต่อกันไม่เกิน 1 อาทิตย์ กล้าพูดเลยว่าไม่มีที่ไหนให้เท่าที่นี่ แล้วยังมีรายได้พิเศษ เช่น งานเอ็กซเรย์ สะสมค่าเอกซเรย์ พอครบเดือนก็มาดูว่าได้เท่าไรแล้วมาหารกันในคลินิก การที่คุณหมอเปิดโอกาสให้พวกเราทำแบบนี้เพราะอยากให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำงาน จะได้มีกำลังใจในการทำงาน ฝึกให้เราเป็นทีมเวิร์ค และมีรายได้เสริมนอกเหนือจากเงินเดือน”
พิม เคยมีปัญหาหนี้สิน โชคดีที่มีโครงการรวมพลัง ทำให้เธอปิดหนี้บัตรเครดิตได้หลายใบ ล่าสุดยังกู้เงินไปซื้อวัวให้สามีเลี้ยงที่สุโขทัย โดยผ่อนคืนอย่างสบาย ๆ เพราะดอกเบี้ยถูกมาก แล้วจะมีปันผลคืนให้ด้วย

ต้องชื่นชมผู้บริหารคลินิก ที่สร้างความมั่นใจและมั่นคงให้พนักงาน พิมกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าการได้ทำงานที่นี่ เธอสามารถดูแลทั้งบ้านแม่และครอบครัวของตนเองโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ส่งเงินเดือนให้ได้ทุกเดือน มีมากส่งมาก มีน้อยส่งน้อย จึงทุ่มเทการทำงานได้อย่างเต็มที่
กู้ได้ ลาได้ สร้างกำลังใจให้พนักงาน
บ๋อมแบ๋ม–ลัดดา พรมมาพิษ พนักงานหน้าเคาน์เตอร์ อายุงาน 1 ปีครึ่ง หน้าที่หลักคือ ต้อนรับลูกค้า และเก็บเงิน ช่วงนี้ลาคลอดลูกคนที่ 2 จึงใช้บริการกู้ยืมเงินจากโครงการรวมพลังเพื่อใช้จ่ายช่วงคลอด
“ถ้าออฟฟิศไม่มีนโยบายนี้ให้พนักงาน หนูแย่แน่ เพราะบางทีมีธุระทั้งของลูกและพ่อแม่ ลากิจมีแค่ 7 วันยังไงก็ไม่พอ พ่อต้องหาหมอทุก 3 เดือน ประชุมผู้ปกครองลูกคนโตปีละ 2 ครั้ง เดี๋ยวตัวเล็กต้องฉีดวัคซีนอีกหลายครั้ง ไม่รวมธุระอื่น ๆ อีก ถ้าเครียดเรื่องจะหาเงินค่าคลอดจากไหน เราคงทำงานไม่เต็มร้อย ใจไม่อยู่กับงาน เรื่องเครียดเต็มสมอง ยิ่งคนมีบ้านต่างจังหวัด อยากกลับบ้าน ก็มีวันหยุดช่วยให้ลาได้สะดวกมากขึ้น”
ในการกู้เงินแต่ละครั้ง แม้จะช่วยให้พนักงานผ่านวิกฤตไปได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะกู้สำเร็จทุกครั้งไป เพราะมีระบบที่พนักงานกรองกันเองว่าใครควรได้เงินกู้หรือไม่

“ทุกเดือนจะมียอดที่แต่ละคนจ่ายคืน มียอดฝากเข้าไปใหม่ เขาก็จะแจ้งวงเงินว่ามีเท่าไหร่ ให้กู้ได้แค่ไหน เราก็เลือกดูว่าจะกู้เท่าไหร่ ใช้คืนเท่าไหร่ พร้อมดอกเบี้ย พอครบ 6 เดือน มีปันผลคืนมาให้ เมื่อก่อนเคยไปกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยร้อยละ 10 บ้าง 20 บ้าง พอมาทำงานที่นี่ครบปี พอกู้ได้ การเงินก็ค่อย ๆ ดีขึ้น แต่เวลาจะกู้เงิน ต้องขอคะแนนโหวตจากเพื่อนทุกคนก่อนว่าเราจำเป็นต้องใช้ทำอะไร ออฟฟิศทำให้เงินก้อนนี้เป็นเงินออมจริง ๆ อย่างตัวเองกู้มาใช้ช่วงคลอดก็มีเอกสารไปให้เพื่อน ๆ ดูว่าใช้จริง ใครกู้ไปสร้างหรือซ่อมบ้านก็ถ่ายรูปบ้านมาเป็นหลักฐาน”
เรื่องเล่าของเธอสะท้อนว่ารายจ่ายของคนทำงานส่วนสำคัญก็คือรายจ่ายสำหรับครอบครัว
แม่บ๋อมวางแผนว่าหลังจากครบกำหนดลาคลอดแล้วจะหาคนมาช่วยเลี้ยงลูกบางวัน เพราะสามีหยุดวันอาทิตย์ ส่วนเธอหยุดวันไหนก็ได้จึงสลับกันมาช่วยกันเลี้ยงได้ ด้านคุณพ่อมีปัญหาสุขภาพ เธอต้องคอยดูแลพาไปตามหมอนัด แต่ภารกิจเหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานเลยเพราะสามารถบริหารจัดการได้จากนโยบายวันทำงานที่ยืดหยุ่นนั่นเอง