วินาทีที่รู้ว่ากำลังจะมีลูก ภารกิจสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าของผู้เป็นแม่ไม่ใช่แค่อุ้มท้อง 9 เดือนแล้วจบ แต่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการดูแลลูกให้เติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีในแต่ละช่วงวัย

สำคัญเป็นลำดับแรกคือ “ช่วงปฐมวัย” นับตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นแห่งพัฒนาการด้านต่างๆ

9 เดือนแรก จุดสตาร์ท พัฒนาลูก

การมีลูกในยุค 5G พ่อแม่ต้องวางรากฐานของการพัฒนาของลูกอย่างเข้มข้นตามไปด้วย

ใครที่อยากให้ลูกเก่ง ฉลาด เริ่มได้เลยตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพ ที่สำคัญ ได้แก่

  • กาย-ใจ ผ่อนคลาย ไม่เครียด ช่วงตั้งครรภ์ ผู้หญิงมักมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรทำให้ร่างกายผ่อนคลายสบายทั้งกายและใจ วางเรื่องเครียดๆ ลงก่อน
  • การกิน สำคัญนะ สมองและร่างกายของเด็กเริ่มพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนถึง 3 เดือนแรก ควรกินอาหารที่อุดมไปด้วย Folic Acid เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ธัญพืช และ น้ำส้ม
  • รักการอ่านตั้งแต่ (ก่อน) เกิด พออายุได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถใช้เสียงเพื่อกระตุ้นระบบประสาทการได้ยินให้กับตัวอ่อนในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน การพูดคุย หรือเสียงเพลง จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านการฟังและเสริมพัฒนาการทางภาษาให้กับทารกหลังคลอดได้เป็นอย่างดี

วางรากฐานมั่นคงให้ลูกช่วงปฐมวัย

และเมื่อลืมตาดูโลกมาแล้ว เด็กแต่ละขวบปีต้องการความดูแลแตกต่างกันไป พ่อแม่จึงควรเตรียมความพร้อมในการเสริมทักษะด้านต่างๆ ให้เจ้าตัวเล็กได้เติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ

6 เดือนแรก : ควรให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะมีสารอาหารที่ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้ออื่นๆ บํารุงร่างกายและสมอง เด็กที่กินนมแม่จึงมีสุขภาพที่ดีเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดี

0 – 3 ปี : ช่วงวัยนี้คือจังหวะทองของการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก เพราะเป็นวัยที่สมองของเด็กเปิดรับ การเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ พ่อแม่จึงต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับวัย ควรสัมผัสโอบกอด พูดคุย และเล่นกับลูก เด็กที่รู้สึกผูกพันกับพ่อแม่จะเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจที่มั่นคง เป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย นอกจากนี้ต้องสอนให้ลูกไว้วางใจคนอื่นด้วย เพราะจะเป็นพื้นฐานให้ลูกเป็นคนที่มีทักษะทางสังคมที่ดีในอนาคต

เด็กวัย 3 – 5 ขวบ : โตขึ้นมาอีกนิด เริ่มรู้จักผิดถูก จึงควรสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรือควรทํา เช่น รู้จักแบ่งปัน ดูแลตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น และอะไรคือสิ่งที่ผิด หรือไม่ควรทํา เช่น ไม่หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่รังแกคนอื่น เด็กวัยนี้มักจะเอาแต่ใจตัวเอง แสดงออกด้วยอารมณ์ ควรสอนให้ควบคุมตัวเอง ควบคุมความโกรธ รู้จักการรอคอย พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล อย่าตามใจลูกทุกอย่าง วิธีที่ดีในการฝึกความรับผิดชอบของเด็กช่วงวัยนี้คือ ให้ช่วยทํางานบ้านที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้ลูกมีวินัย มีความอดทน รู้จักการวางแผนลงมือทําด้วยตนเอง

พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

นอกจากการดูแลลูกอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยแล้ว เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงอายุ 3 – 5 ปี สิ่งที่พ่อแม่ต้องเติมเพิ่มเข้าไปคือ แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสร้างตั้งแต่วัยนี้ดีกว่ารอให้โต แนวทางที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่ง และ ด้านสุข

ด้านดี : ฝึกให้เด็กรู้จักอารมณ์ตัวเอง เมื่อลูกโกรธ โมโห พ่อแม่ควรแสดงท่าทีที่เข้าใจ โอบกอดให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ถามว่าเป็นอะไร เพื่อให้เด็กทบทวนอารมณ์ตนเอง ฝึกความมีน้ำใจ แบ่งปัน ช่วยเหลือคนอื่น กล่าวชมเมื่อเด็กช่วยเหลือคนอื่น นอกจากนี้ การให้เด็กรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด รู้จักการยอมรับผิด รู้จักพูดว่าขอโทษ เป็นการวางพื้นฐานที่ดี

ด้านเก่ง : พ่อแม่ต้องคอยกระตุ้นให้ลูกอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่รอบตัวโดยใช้คำถาม เล่านิทาน อ่านสมุดภาพ เมื่อเด็กสนใจก็ให้เด็กหาคำตอบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมอื่นได้ดี ที่สำคัญคือ เมื่อเด็กแสดงความคิดเห็น พ่อแม่ควรรับฟังด้วยความใส่ใจและถามเหตุผล จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองและผู้ใหญ่ก็เข้าใจเด็กมากขึ้น

ด้านสุข : สนับสนุนให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเอง โดยให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ อย่าลืมกล่าวชมเมื่อเด็กทำได้ ช่วยให้เกิดความภูมิใจ และมีความสุข เด็กจะกล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสพ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อน ๆ หรือทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก จะช่วยให้เด็กอารมณ์ดี

ผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาทางอารมณ์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการเรียน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการใช้ชีวิตในอนาคต

“เล่น อ่าน เล่า” 3 สิ่งเสริมพัฒนาการเด็ก

เด็กยุคดิจิทัล จะเรียนรู้และคุ้นเคยกับอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นและจำภาพการใช้งานจากคนรอบตัว ถ้าพ่อแม่ให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นเวลานาน เด็กจะขาดทักษะการสื่อสาร 2 ทาง และไม่ได้ผูกพันใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ การแยกเด็กออกจากสื่อเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะแก้ไขได้ยาก

คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนกำลังกลุ้มใจกับเจ้าตัวน้อยที่เริ่มติดทีวี แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ลองใช้เครื่องมือเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 3 สิ่งนี้ในการปรับลดพฤติกรรมติดจอของเด็กน้อยกันดีกว่า

เล่นกับลูก สําหรับลูกวัย 0 – 3 ปี พ่อแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด การเล่นคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้เด็กได้พัฒนาทักษะทุกด้านผ่านการเล่น พ่อแม่ควรเล่นกับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้เพื่อกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกอย่างต่อเนื่อง

อ่านหนังสือกับลูก การอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยให้เด็กมีทักษะเรื่องการอ่าน การเขียน และมีเชาวน์ปัญญาที่ดี อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน ชี้ชวนให้ดูรูป ชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในหนังสือ

เล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กทุกคนรักการฟังเรื่องเล่า เล่านิทานหรือเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ลูกฟัง ชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เล่า เพื่อสร้างให้ลูกมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะด้านภาษาให้กับลูกด้วย

ที่มา :

คู่มือโรงเรียนครอบครัว “ตั้งท้องคุณภาพ เลี้ยงลูกพัฒนาการดี”. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
คู่มือสําหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ดำเนินการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0 -3 ปี. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.
คู่มือสําหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก เด็กวัยอนุบาล 3 – 6 ปี. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.
พิชฏา อังคะนาวิน. การส่งเสริมสมองเพื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์. วารสารสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559
อัญชลี จุมพฎจามีกร, รวบรวมและเรียบเรียง. พัฒนาการลูกวัยอนุบาล. จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สร้างสรรค์บทความโดยความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.