สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน
การดูแลพนักงาน และครอบครัว ในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ทั้งการจัดหาวัคซีน จัด Work From Home ที่พักสำหรับพนักงานที่จำเป็นต้องเข้าทำงาน จัดศูนย์พักคอยสำหรับพนักงานเสี่ยงสูง และพบเชื้อ
ทันทีที่รู้ผลตรวจ ATK ว่าตนเองมีผลเป็นบวก เฟิร์ส-สุกฤษฎิ์ กำมา ถึงกับมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าไปติดจากไหนเมื่อไหร่ เพราะวงจรชีวิตประ จำวันของเขาแทบไม่ได้ไปไหนเลย นอกจากมาทำงาน ออกไปซื้ออาหารทานข้างนอก และกลับที่พัก สิ่งที่ทำได้อย่างแรกคือ แจ้งหัวหน้างานเพื่อขอคำแนะนำ
เฟิร์ส ทำงานที่ บางจากฯ มาร่วม 2 ปี ในตำแหน่งพนักงานปฏิบัติ การ Operator รับผิดชอบดูแลการทำงานของเครื่องจักร กระบวนการผลิต ในช่วงที่มีวิกฤตโควิดหนัก ๆ บริษัทฯ มีการใช้มาตรการที่ค่อนข้างเข้มข้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของพนักงานในการรับเชื้อโควิด ในส่วนงานของเฟิร์สต้องปฎิบัติการอยู่ในพื้นที่ ไม่สามารถทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ จึงไม่ได้มีโอกาสได้ Work from Home บริษัทมีการแบ่งเวลาทำงานเพื่อให้พบปะผู้คนน้อยที่สุดเป็นการลดความเสี่ยง แต่ถึงระวังอย่างไรเขาก็ยังพลาดในที่สุด
“ผมเริ่มมีอาการป่วย มีไข้ขึ้นสูงจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแต่ยังไม่รู้ผล แต่เพื่อความปลอดภัยจึงแจ้งไปทางบริษัทว่ามีอาการแบบไหน เขาก็ให้ไปตรวจ ATK ก่อน ซึ่งผลออกมาเป็นบวก หัวหน้าผมจึงติดต่อประสานงานกับทางฝ่ายบุคคล เพื่อให้จองคิวกับทางโรงพยาบาลให้ผมไปตรวจ RT-PCR อีกครั้ง แล้วช่วงที่ระหว่างรอตรวจก็ได้มาพักอยู่ที่ศูนย์พักคอยของบริษัทฯ พอรู้ผลว่าเราติดโควิดก็รอ HR ประสานที่จะไปพักรักษาตัว โชคดีที่ผมอยู่หอเพียงคนเดียวจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการนำเชื้อไปติดกับครอบครัวที่บ้าน”
พนักงานอยู่รอด องค์กรปลอดภัย
ตอนนั้น เฟิร์ส ไม่รู้ว่าบริษัทจะดูแลในเรื่องใดให้บ้าง จึงรู้สึกประทับใจที่ HR ช่วยจัดการประสานงานในด้านต่าง ๆ รวมทั้งออกค่าตรวจโควิดให้ เขายอมรับว่าถ้าไม่ได้บริษัทช่วยคงแย่เหมือนกัน เพราะไม่รู้ข้อมูลเลยว่าจะต้องไปตรวจอะไร ตรงไหน ซึ่งบริษัทมีข้อมูลตรงนี้มากกว่า
“ผมน่าจะเป็นชุดแรก ๆ ที่เข้าไปใช้บริการศูนย์พักคอยของบริษัท เขาอำนวยความสะดวกสบายให้กับคนติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงสูงมาก มีการจัดของใช้ในชีวิตประจำวันไว้ให้ มีเสื้อผ้าสำรอง คอยดูแลอาหารการกินให้ 3 มื้อทุกวัน มีชุดยาสามัญ มีอินเตอร์เน็ต มีทุกอย่างให้เราอยู่อย่างสบายกายสบายใจ จะได้ไม่เครียด มีคุณหมอให้คำแนะนำ
ถามไถ่อาการ ผมอยู่ที่นี่ประมาณ 4-5 วันก็ถูกส่งไปที่ Hospitel เพราะไม่ใช่เคสที่มีอาการหนัก อาจเพราะเราได้รับวัคซีนที่บริษัทจัดหาให้ไปแล้ว 1 เข็ม กำลังรอเข็ม 2 แต่ว่าติดโควิดซะก่อน”
การที่บางจากมีศูนย์พักคอยช่วยเหลือรองรับพนักงาน เฟิร์ส กล่าวในฐานะผู้มีประสบการณ์ในการใช้บริการว่า มีประโยชน์มากเพราะเขาเองอยู่หอพักที่มีคนอาศัยอยู่พลุกพล่าน คนเหล่านั้นอาจมีความเสี่ยงไปกับเขาด้วย หรือหากจะใช้วิธี Home Isolation ก็คงลำบาก การมาอยู่ ศูนย์พักคอยจึงตอบโจทย์คนที่อยู่คนเดียวอย่างเขาได้มากที่สุด
“มีอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าบริษัททำดีมากคือ การให้ความสำคัญกับการหาวัคซีนให้พนักงาน ถ้าเราหาเองคงยากเพราะความต้องการฉีดวัคซีนมีเยอะจนแย่งชิงกัน งานเราก็ยุ่งไม่มีเวลาไปนั่งหาข้อมูลลงทะ เบียน ที่จริงเขาให้พนักงานพาครอบครัวมาฉีดวัคซีนได้ แต่พอดีพ่อแม่ผมอยู่ต่างจังหวัดไม่สะดวกมา ต้องขอบคุณองค์กรที่ดูแลไปถึงครอบครัวของเราด้วย ถึงแม้จะไม่ได้มาใช้โควตาตรงนี้ก็ตาม อย่างน้อยเหมือนมีคนคอยสนับสนุนเราอีกแรงหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นว่าถ้าวันไหนครอบครัวเราเกิดเจ็บป่วย ก็ยังมีองค์กรคอยดูแลในเรื่องการรักษา พยาบาล” พนักงานหนุ่มวัย 22 กล่าว
ตบเท้าเข้าเซฟเฮาส์ ลดเสี่ยงการแพร่เชื้อ
หลังจากวางสายที่โทรพูดคุยกับภรรยาและลูกที่บ้านเรียบร้อยแล้ว ธันยะ-ธนนริศร์ กรองใจ หัวหน้าอำนวยการอาวุโส บริษัท บางจาก คอร์ปอ เรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็มาจัดการกับอาหารมื้อเช้าที่น้องๆ ทีมงานดูแลพนักงานนำมาให้ที่โรงแรม ซึ่งเป็นเซฟเฮาส์ของเขาและพนักงานคนอื่นๆ ทุกเมนูอร่อยเหมือนเดิม นอกจากอาหาร 3 มื้อแล้ว ขนม ผลไม้ ยังไม่มีขาดตกบกพร่อง จากนั้นเขาก็รอรถบริษัทที่จะมารับพนักงานไปทำงานที่โรงกลั่นซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน ข้อดีอย่างหนึ่งในการอยู่เซฟเฮาส์คือ ไม่ต้องรีบตื่นเพื่อฝ่าการจราจรมาให้ทันในวันที่ต้องเข้างานกะเช้า
นี่คือวิถีชีวิตของธันยะ ที่หมุนวนอยู่แบบนี้นานนับเดือน ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้นประมาณเดือนกรกฎา-สิงหาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทบางจากฯ ได้จัดเตรียมพื้นที่ที่เรียกกันว่า เซฟเฮาส์ ให้พนักงานที่จำเป็นต้องมาปฏิบัติงานที่โรงกลั่นได้พักอาศัย เพื่อความปลอดภัยของพนักงาน ลดการติดต่อประสานงานกับคนอื่นให้มากที่สุด และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวในกรณีที่ติดเชื้อ นอกจากเรื่องที่พักแล้วก็มีการจัดเตรียมอาหาร ของว่าง ของใช้จำเป็นต่าง ๆ มีการจัดรถรับส่งตลอด เพื่อให้พนักงานสามารถอยู่ใน safe house ได้อย่างสะดวกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“ช่วงแรกที่ต้องมาอยู่เซฟเฮ้าส์รู้สึกเครียดเหมือนกัน เพราะจะไม่ได้กลับบ้านนานเป็นเดือนๆ ไหนจะห่วงทางบ้าน ไหนจะเรื่องงาน ไหนจะต้องระวังเรื่องโรค และไม่มีอิสระในการไปไหนมาไหน แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัย เพราะหากมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็จะผลิตน้ำมันไม่ได้ ภรรยาและลูกอยู่ที่บ้านก็บ่นคิดถึงแต่ก็เข้าใจในการทำงานของเรา ก็อาศัยโทรคุยกันตลอดให้พอหายคิดถึง” ธันยะ เล่าถึงความรู้สึกในช่วงนั้น

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส คืนเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น
แม้ตอนนี้จะกลับมาอยู่บ้านตามปกติแล้ว แต่สิ่งที่ธันยะยังคงประทับใจในยามที่ต้องห่างไกลครอบครัวคือ ความดูแลเอาใจใส่ขององค์กรที่มีต่อพนักงาน ไม่ใช่แค่ตอนเขาอยู่ที่เซฟเฮาส์เท่านั้น แต่ดูแลตั้งแต่ช่วงที่ระบาดมาเรื่อย ๆ มีการแจกยาสามัญประจำบ้าน เจลแอลกอฮอลล์ หน้ากากอนามัย ส่งให้ถึงบ้านพนักงานเลยเป็นการเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวด้วย รวมทั้งการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงานและครอบครัว
“ต้องขอบคุณที่บริษัทมีการรับมือในเชิงรุก คือจัดหาชุดตรวจ ATK ให้พนักงาน ช่วงแรก ๆ ให้ตรวจทุก 7 วัน แต่พอฉีดวัคซีนกันหมดแล้วก็ค่อยขยับเป็น 14 วัน ส่วนเรื่องสวัสดิการพื้นฐานทางองค์กรมีการทำประกันหมู่ให้กับพนักงานและครอบครัวด้วย ตอนที่ลูกน้องผมเป็นโควิด ทางบริษัทก็ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งพนักงานและภรรยาของเขา นอกจากนี้ด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล องค์กรไม่เพียงดูแลพนักงานคนเดียวแต่ยังครอบคลุมให้ถึงครอบครัว เช่น สามีภรรยา บุตร พ่อแม่ด้วย”
การที่อยู่ในองค์กรที่มีสวัสดิการดูแลพนักงานอย่างดี และเอื้อไปถึงครอบครัวด้วย ธันยะ มองว่าทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร ยิ่งในช่วงที่โควิดวิกฤติมากๆ ทุกคนรู้สึกอุ่นใจเพราะรู้ว่าถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นยังมีบริษัทฯ คอยช่วยเหลือ
“อย่างการสร้างศูนย์พักคอยขึ้นมารองรับพนักงาน ผมว่าดีมากเพราะถ้าผมหรือลูกน้องทำงาน ต้องไปเจอคนเยอะเสี่ยงต่อการสัมผัสค่อนข้างมาก หากเรารู้สึกว่าเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็สามารถขอพักที่ศูนย์พักคอยนี้ได้เลย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีไปถึงครอบครัว” หัวหน้าอำนวยการอาวุโส กล่าว
กว่า 23 ปี แล้วที่ธันยะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแห่งนี้ ที่นี่จึงเป็นเหมือนบ้านอีกหลังหนึ่งที่รู้สึกคุ้นเคยกับการทำงานวันละ 8 ชั่ว โมง ทำสัปดาห์ละ 6 วัน หยุด 2 วัน แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิดรุนแรงมากขึ้น ในส่วนของพนักงานที่ต้องมาปฏิบัติงานในโรงกลั่นไม่สามารถ Work from Home ได้เหมือนฝ่ายอื่น จึงต้องปรับเปลี่ยนเวลาทำงานเป็นวันละ 12 ชั่วโมง ทำ 4 วัน หยุด 4 วัน ซึ่งทุกคนชอบแบบนี้มากกว่าแบบเดิม เรียกว่าอาจต้องขอบคุณวิกฤติโควิดที่ทำให้พวกเขามีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
จากตู้คอนเทนเนอร์สู่ศูนย์พักคอย
นโยบายอย่างหนึ่งของ บางจาก คือ หากพนักงานคนใดติดโควิดให้รีบแจ้งบริษัท เพื่อที่ฝ่ายบุคคลจะได้รีบประสานหาโรงพยาบาลให้ แต่ช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อวันละ 2 หมื่นกว่า โทรไปที่ไหนก็เต็มทุกที่ เมื่อทางบริษัททราบสถานการณ์ จึงเป็นที่มาของการเยียวยาพนักงานให้ได้ดีที่สุดซึ่งก็คือ การตั้งศูนย์พักคอยโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่เคยใช้เป็นที่ประชุมหรือต้อนรับคนข้างนอก แต่ช่วงโควิดระบาดไม่ค่อยได้ใช้งานจากที่มีอยู่ 4 ตู้ ก็เช่ามาเพิ่มเป็น 20 ตู้ ใช้เวลาสร้างเสร็จภายใน 3 วัน
ลักษณะศูนย์พักคอยแบ่งเป็นโซน คือโซนระหว่างตรวจ ATK ที่เป็นผู้เสี่ยงสูง แบ่งเป็น 1 คนต่อ 1 ห้อง มีห้องน้ำส่วนตัว กับโซนที่รอผล RT-PCR แล้วรอเข้าระบบการรักษาพยาบาล โดยหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ซอยเป็น 3 ห้อง ให้พักห้องละคน และมีหมอ พยาบาลที่ทางองค์กรจ้างมา คอยให้คำแนะนำทางโทรศัพท์ Video Call ตลอดเวลาที่พนักงานต้องการปรึกษา
นพชัย นุตสติ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์พักคอยว่า จัดขึ้นเมื่อประมาณปลายกรกฎาคม ในช่วงที่มีผู้ติดเชื้อเยอะมากแล้วหาโรงพยาบาลกันไม่ได้ จึงขอใช้พื้นที่ส่วนกลางของโรงกลั่นจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับพนักงานผู้มีความเสี่ยงสูง
“ช่วงนั้นทีม HR รับโทรศัพท์จากพนักงานเยอะมาก ใครโทรมาเราก็ช่วยเหลือทุกคนทั้งพนักงานและครอบครัวของเขา ช่วยกันประสานหาโรงพยาบาล ช่วงนั้นการทำ Home isolation กำลังเริ่มมา การทำที่พักสำหรับผู้ป่วยสีเขียวค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องถามเรื่องของประชามติชุมชน เพราะองค์กรตั้งอยู่ในชุมชนคงไม่มีใครยอมให้เราจัดตั้งเป็นศูนย์ผู้ป่วย covid เราเลยทำศูนย์พักคอยผู้เสี่ยงสูงแทน ผู้บริหารให้ใช้ไอเดีย สมุทรสาครโมเดลที่แยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากคนปกติ มาอยู่ศูนย์พักคอยเพื่อช่วยพนักงานในเบื้องต้นก่อน
ช่วงที่เริ่มสร้างมีผู้มาใช้บริการประมาณ 4-5 คน จากนั้นก็มีมาเรื่อยๆ แต่ก็เพียงพออยู่ในจำนวน 20 ตู้ ภายในห้องมีการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทั้งเตียง ฟูก กาแฟ อินเตอร์เน็ต WiFi ให้บริการ ถ้าพนักงานตรวจเจอเชื้อที่ออฟฟิศและไม่กลับบ้าน สามารถเข้าอยู่ที่นี่ได้เลย เรามีชุดสำรองให้พร้อมสรรพ แต่ที่เราดีใจคือไม่มีใครมาติดเชื้อจากผู้ร่วมงาน ถือว่าป้องกันได้ครบ 100% เพราะส่วนใหญ่ติดมาจากบ้านและที่อื่น” นพชัย กล่าว

องค์กรดีต่อใจ ดูแลไปถึงครอบครัวพนักงาน
ตั้งแต่ต้นปี 2564 บางจากมีพนักงานติดเชื้อประมาณ 20 คนจากพนักงาน 1,200 คน ถือว่าน้อยมาก เนื่องจากผู้บริหารให้ความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้การป้องกันโควิดกับพนักงาน ทำประกันให้พนักงานทุกคน มีการตั้งคณะกรรม การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management : BCM) หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตอะไรขึ้นธุรกิจต้องดำเนินต่อได้
“บริษัทให้พนักงานที่ทำงานตามเวลาออฟฟิศ Work from Home มา 3-4 เดือนแล้ว แต่ที่ยุ่งยากหน่อยคือพนักงานที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง เข้างานเป็นกะเพราะต้องเดินทางมาทำงาน กลุ่มนี้มีความสำคัญมีประมาณ 70-80 คน เราจะเหมาโรงแรมให้นอนไม่ต้องกลับบ้าน และจัดรถรับส่ง จัดคนไปเยี่ยม จัดอาหารการกินผลไม้ไปให้
ในเรื่องของสวัสดิการ บางจาก ให้การดูแลพนักงานครอบคลุมถึง 3 วง คือ พนักงานเป็นวงแรกที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจบริษัท วง 2 คือครอบครัวได้แก่ ภรรยา สามี บุตร วงที่ 3 พ่อแม่พนักงาน เรียกว่าให้ทั้งค่าเล่าเรียนบุตร และค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่เลย”
นพชัย กล่าวในมุมมองของฝ่ายบุคคลว่า การที่องค์กรให้การดูแลพนักงานรวมไปถึงครอบครัว เห็นผลชัดว่าทุกคนรู้สึกผูกพันกับองค์กร ทุกคนไม่ได้มาบางจากเพราะว่าเป็นที่ทำงาน แต่เป็นเหมือนบ้าน เป็นสถานที่ให้เขามาฝากชีวิต มาปรึกษาปัญหาได้ ที่นี่ยังมีชมรมต่าง ๆ ให้พนักงานไปร่วมทำกิจกรรม เป็นที่ Balance ชีวิตในแต่ละส่วน ถ้าฝ่ายบุคคลเจอผู้บริหารที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในการทำงานมากนักก็จะลำบาก ซึ่งบางจากไม่มีปัญหาในส่วนนี้
เช่นเดียวกันกับ พลอย-พลอยไพลิน ศิริราช พนักงานฝ่ายบุคคล ที่
ร่วมแชร์มุมดี ๆ ในส่วนที่เธอได้รับจากนโยบายที่ดูแลพนักงานและครอบครัว คือ สมาชิกในครอบครัวของเธอได้รับการฉีดวัคซีนกันเกือบหมดจากการลงทะเบียนของแต่ละคน ยกเว้นคุณแม่ซึ่งไม่ได้มีการใช้สิทธิ์อะไรได้เลย พลอยรู้สึกกังวลเพราะแม่อยู่ต่างจังหวัดวัคซีนยังไปไม่ถึง เมื่อบางจากมีนโยบายว่าให้ฉีดวัคซีนให้กับครอบครัวของพนักงานได้ทำให้เธอโล่งใจ ตรงกับที่ ผอ.นพชัย กล่าวไว้คือถ้าองค์กรไม่ดูแลวงที่ 2 ให้ดี พนักงานซึ่งเป็นวงที่ 1 ก็จะไม่สบายใจ
“วันที่แม่ฉีดวัคซีนและส่งรูปมาให้ เรารู้สึกหมดห่วงเรื่องครอบครัวไปเลย เพราะรู้สึกว่าแม่เราปลอดภัยแล้ว พลอยโชคดีที่ได้มาทำงานในองค์กรนี้ รู้สึกดีมากที่พ่อแม่เราสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เหมือนทำงานราชการเลย ครอบครัวพลอยเป็นคนต่างจังหวัดซึ่งค่านิยมของคนต่างจังหวัดคือ ถ้าลูกรับราชการแล้วพ่อแม่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้จะเป็นเรื่องน่าภูมิใจมาก แต่เราทำงานเอกชนก็ยังสามารถเบิกค่ารักษา พยาบาลให้พ่อแม่ได้เหมือนกัน แล้วยิ่งการที่พ่อแม่เราได้รับวัคซีนป้องกันโควิดภายใต้โควตาของบริษัทเราด้วย เป็นเรื่องที่สุดยอดจริงๆ”

พลอยไพลิน ยังมีความประทับใจในบทบาทของผู้บริหารองค์กร
ที่ให้ความสำคัญต่อพนักงานอย่างมาก ในช่วงโควิด ฝ่ายบุคคลสามารถเชิญผู้บริหารระดับรองกรรมการมานั่งไลฟ์สด Facebook แจกของให้พนักงานได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
“เรามีการแจกเซ็ต Care Kit ซึ่งบางจากน่าจะเป็นองค์กรแรก ๆ ที่ทำส่งให้กับพนักงาน โดยมีกิมมิคคือเราขอการ์ดอวยพรจากผู้บริหารตั้งแต่ผู้ช่วยกรรมการขึ้นไป โดยเขียนเป็นลายมือนำมาใส่กล่องและ Random ส่งให้พนักงาน นี่คือความน่ารักขององค์กรนี้”
HR สาวทิ้งท้ายไว้ว่า ต่อไปฝ่ายบุคคลจะต้องมีความเป็นcreative มากขึ้นกว่าเดิม เพราะตอนนี้โลกต้องเผชิญกับโรคโควิดซึ่งเป็นโรคใหม่ เป็น New Normal ที่เปลี่ยนไปทุกวัน ในการทำงานจึงต้องรวดเร็วมาก ๆ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่สูง เพราะเป็นเรื่องท้าทาย ในสิ่งที่เราไม่เคยเจอ