
สถานที่ทำงานมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะหลายคนใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าบ้านด้วยซ้ำ ดังนั้น การพัฒนาสถานที่ในการทำงานให้เป็นมิตรต่อคนทำงานในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงสวัสดิการที่เอื้อไปถึงครอบครัวพนักงาน ล้วนก่อให้เกิดการผลิตงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด
“การเรียกร้องของแรงงานหรือพนักงาน ที่เน้นเรื่องสวัสดิการ ผู้ประกอบการอาจมองในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุน ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญตรงนี้ ในเชิงของการส่งเสริมให้เหมือนเป็น CSR เป็นสวัสดิการเพื่อคืนกำไรให้สังคม
“การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อลูกจ้าง รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อพนักงานรวมไปถึงครอบครัว รัฐมีการสนับสนุนเพื่อจะสร้างแรงจูงใจในหลายด้าน”
เป็นมุมมองจาก จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เห็นถึงอุปสรรคในการสร้างสวัสดิการให้กับพนักงานของสถานประกอบการหลายแห่ง

ทำงานอย่างเป็นสุข ได้งานดีมีคุณภาพ
ปัจจุบัน สถานประกอบการหลายแห่งเริ่มเล็งเห็นความสำคัญ และจัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อครอบครัวของพนักงาน/ลูกจ้าง แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก ความร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในการสนับสนุนให้สถานประกอบการ ภาครัฐมีแนวนโยบายเรื่องการดูแลผู้หญิงวัยแรงงานและบุตร และพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ/องค์กร ที่มีความสนใจในการพัฒนาแนวทางส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง ให้แก่พนักงาน/ลูกจ้าง
อธิบดีจินตนา เผยแนวคิดว่า สถานที่ทำงานที่สร้างความสุขต่อการทำงาน จะมีผลต่อสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ รวมทั้งต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น ลานจอดรถไม่เปลี่ยว มีห้องน้ำที่มีสัดส่วนเพียงพอทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีห้องให้นมบุตร ช่วงปิดเทอมสามารถจัดห้องสักห้องให้เด็กอยู่ได้ เพราะพ่อแม่จะต้องพามาที่ทำงานด้วย เนื่องจากไม่มีใครเลี้ยงดูลูกอยู่ที่บ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับพนักงาน/ลูกจ้าง
“อีกส่วนสำคัญ คือการเหลื่อมเวลาทำงาน โดยการทำงานที่มีการยืดหยุ่นเวลาทำงาน คงไม่ได้มองที่การจราจรเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองที่การเอื้อต่อครอบครัวที่มีบุตรต้องดูแลด้วยเช่น คนที่ต้องไปรับส่งลูกไปโรงเรียน การทำงานจึงไม่จำเป็นต้องเข้า 8:00 น. เลิก 16:30 น. แต่วัดกันที่คุณภาพของงานดีกว่า
“เงินที่สถานประกอบการลงทุนไป ไม่ทำให้ผลกำไรลดน้อยลงแต่กลับไปเพิ่มกำไรให้องค์กรในเรื่องประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น พนักงานที่เป็นแม่ทำงานได้เต็มเวลามากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลลูก หรือการเหลือเวลาหรือการไปทำงานที่บ้านก็ทำผลผลิตให้ได้เท่ากัน” อธิบดี สค. กล่าว
รัฐสนับสนุน สร้างแรงจูงใจ
การที่จะให้เกิดสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว ไม่ได้เกิดเพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน
อธิบดี สค. เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เคยมีมติสนับสนุนในเรื่องของสวัสดิการ อย่างเช่น การผลักดันเรื่องการลาคลอดจาก 90 วันเป็น 98 วันโดยได้รับค่าจ้าง การจัดให้มีสถานดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ หรือการให้สามีสามารถลาไปช่วยภรรยาดูแลบุตร ในช่วงแรกคลอด 15 วันติดต่อกัน อาจให้ลาเป็นช่วง ๆ ได้ ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่กำลังผลักดันอยู่ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน
“อย่างเรื่องวันลาของคุณพ่อเพื่อไปช่วยภรรยาดูแลลูก สามารถนำไปเชิญชวนสถานประกอบการต่าง ๆให้ปฏิบัติตามได้ ถ้า ครม.เห็นชอบและมีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งนายจ้างควรตระหนักและให้ความสำคัญ
“รัฐมีการสร้างแรงจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีได้ เป็นการให้ Social credit ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เราต้องขับเคลื่อนไปในแนวทางนี้ อย่างสถานประกอบการอาจมีการสร้างศูนย์เด็กเล็กซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษี หรือเพิ่มในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะจัดบริการ”
อธิบดี สค. เชื่อว่าด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นอีกแรงจูงใจให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการ นอกจากลูกจ้างจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สถานประกอบการยังได้ประโยชน์ ทั้งการทำเพื่อสังคม ทั้งรายได้ กำไร และลดรายจ่ายของสถานประกอบการ

เปิดช่องทางออนไลน์ ให้คำปรึกษาครอบครัว
ไม่เพียงสนับสนุนให้สถานประกอบการ จัดสวัสดิการที่เป็นมิตรต่อพนักงานและครอบครัวเท่านั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวยังตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำเว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรองรับประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในงานนอกระบบหรือแรงงานในระบบ ให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของครอบครัว เรื่องการสมดุลของการใช้ชีวิตในวัยต่าง ๆ
“เว็บไซต์มีการให้คำแนะนำปรึกษาในด้านต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องกฎหมายครอบครัว เรื่องของครอบครัว เรื่องเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร
“ปัญหาที่คนมาปรึกษามีหลายประเด็น เช่น เรื่องความเครียดในที่ทำงาน สัมพันธภาพในที่ทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เห็นว่าที่ทำงานนั้นมีความสำคัญมาก เรื่องของครอบครัวมีคนเข้ามาปรึกษาทุกวัน”
อธิบดี สค. ยืนยันว่า การทำงานของกรมฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน่วยราชการเท่านั้น แต่มองที่องค์กรเอกชนด้วย เมื่อติดขัดเรื่องใดจะต้องหาคนที่มีพลังมาร่วม เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงสำคัญที่สุด การทำงานที่จะขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ไปได้เร็วต้องมีภาคีเครือข่าย อาทิ เรื่องศูนย์เด็กเล็ก ทางกระทรวงมหาดไทย และ กรุงเทพมหานคร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ถ้าผ่านกลไกระดับชาติจะมีหน่วยงานบางแห่งสามารถรับไปทำได้ตามแผนงานที่วางไว้