
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 คนในสังคมไทยไม่เพียงกังวลเรื่องโรคติดต่อ แต่ยังต้องรับรู้ถึงการที่บริษัท องค์กร โรงงานต่างๆ ปิดตัว เลิกจ้าง คนทำงานบางส่วนต้องกลายเป็น “แรงงานนอกระบบ” โดยเฉพาะคนอายุเกิน 45 ปี และถ้าย้อนกลับไปดูสถานการณ์ “ก่อนโควิด” ลูกจ้างแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยต้อง “เกษียณอายุก่อนกำหนด” หนึ่งในเหตุผลสำคัญ คือความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว
คำถามที่ตามมาคือ สังคมควรดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติในอนาคต
ดร.ธนานนท์ บัวทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนร่วมในการวิจัยเรื่อง “วิกฤตวัยกลางคนของวัยแรงงานก่อนเกษียณ : การปรับตัวของลูกจ้าง ภาคเอกชนอายุ 45 ปีขึ้นไป ที่ออกไปสู่การทำงานภาคนอกระบบ” และด้วยความที่เป็นนักประชากรศาสตร์ เขาสนใจเรื่อง “งานและครอบครัว” (Work and Family ) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องหาจุดสมดุลของสองสิ่งนี้ให้ได้

แรงงานควรอยู่ในระบบหรือไม่ หรือไม่จำเป็น?
“ขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า ‘ระบบ’ ว่าคืออะไร”
อาจารย์ธนานนท์ ชี้ว่า ถ้า “ระบบ” หมายถึงมีเงินเดือน สังคมเราก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีเงินเดือนในรูปแบบเดียว แต่หากหมายถึง “ความคุ้มครองของสังคม” ทุกคนก็ควรอยู่ในระบบ
“ถึงเป็นฟรีแลนซ์ก็ควรได้รับสิทธิสวัสดิการทางสังคมเช่นเดียวกับคนที่ทำงานกินเงินเดือน”
กระนั้น อาจารย์ธนานนท์ เห็นจุดอ่อนสำคัญคือการที่คนส่วนใหญ่ขาดการเตรียมการในอนาคต ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สุขภาพจะแย่ลง ทักษะจะลดลง ความเสี่ยงใดบ้างจะเพิ่มขึ้น
“แรงงานนอกระบบที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือกลุ่มอายุ 50 ขึ้นไป ที่ไม่มีความคุ้มครองใด ๆ เลย ในยุคโควิด เขาจะทำอะไรได้บ้าง นโยบายของรัฐแค่ประคับประคอง ถ้าไม่ไหวก็เป็นภาระลูกหลานต้องช่วยดูแล ลูกหลานเองอีกสักพักอาจอยู่ในระบบไม่ได้เช่นกัน เพราะต้องออกมาดูแลพ่อแม่ที่เริ่มเจ็บป่วย ยังไม่พูดถึง LGBT คนที่ไม่มีลูก คนไม่แต่งงาน ทางเลือกสำหรับคนเหล่านี้จะยิ่งน้อยลง
“Family Friendly Workplace อาจไม่ค่อยอยู่ในสายตาภาครัฐ เป็นเรื่องของสถานประกอบการมากกว่าที่จะมองประโยชน์จากคนกลุ่มคนทำงาน และหาวิธีดึงคนไว้ได้อย่างไร แต่ตลาดแรงงานไทยเองยังไม่ค่อยมีความ innovative ต้องการแค่พนักงานระดับธุรการ พนักงานขายทั่วไป ลูกจ้างแบบไหนก็ได้”
“ชีวิตนอกระบบ” ดูแลครอบครัวได้ แต่งานไม่มั่นคง
ดร.ธนานนท์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของไทย ที่ระบบความคุ้มครองทางสังคมกระจุกอยู่ที่กลุ่มแรงงานในระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กของสังคมไทย
“การเป็นแรงงานนอกระบบมีข้อดีคือสามารถบาลานซ์ชีวิต กำหนดไลฟ์สไตล์ และความยืดหยุ่นของชีวิตได้ ข้อด้อยคือเรื่องการสะสมความมั่งคั่งสำหรับการเกษียณในอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเครือข่าย อาศัยความแข็งแกร่งของตัวเองพอสมควรที่จะไปอยู่ในจุดนั้นได้ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เราไม่มีการออมแบบสมัครใจ 100%
“จริง ๆ แล้วการขยับตัวจากการอยู่ในระบบที่มีความเครียดสูง มีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อยก็ได้ประโยชน์ เช่น มีเวลาพาลูกไปโรงเรียน พาพ่อแม่หรือตัวเองไปหาหมอได้ ซึ่งทำได้ยากถ้ายังอยู่ในระบบ สิ่งที่พบก็คือบางองค์กรให้พนักงานใช้สิทธิลาได้แต่คนไม่ลา เพราะเกรงเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าคนอื่นไม่ลาก็ไม่กล้าลา เหมือนคนญี่ปุ่นที่ต้องแสดงความจงรักภักดี ทุ่มเทให้องค์กร แต่ถ้าเป็นสังคมตะวันตก คนจะใช้สิทธิมากกว่า” อาจารย์นักวิจัยกล่าว
ไทยพร้อมแค่ไหนใน “สังคมผู้สูงอายุ”
ในต่างประเทศเรื่อง “ที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” เติบโตจนเป็นมาตรฐานด้วยคำสำคัญอย่าง Diversity and Inclusion ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร
ดร.ธนานนท์ มองว่าแนวคิดนี้แทบไม่มีความเชื่อมโยงกับไทยเลย เพราะถ้าพนักงานยังต้องทำงานเหมือนๆ กัน ยังต้องนั่งรอเวลางานเลิก คนอื่นยังไม่กลับฉันก็กลับไม่ได้ แทนที่จะดูกันที่ผลงาน เมื่อใครท้อง เพื่อนร่วมงานจะเริ่มมองแล้วว่าเป็นภาระต้องทำงานแทน ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้วคนที่มีลูกคือการช่วยสร้างแรงงานให้สังคม สร้างคนที่จะจ่ายภาษี คนที่จะช่วยผู้สูงอายุในอนาคต ประเทศไทยควรมี Public Policy ไปถึงจุดที่ว่าค่าใช้จ่ายของผู้หญิงที่เกิดจากการแต่งงานมีลูก ไม่ควรเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวอีกต่อไปแล้ว แต่ควรเป็น Social Cost

ในบ้านเรายังไม่มีทางเลือกที่ดี หากต้องการ Work-Life balance ก็ไปอยู่นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มแบ่งแยกในระบบกับนอกระบบด้วยการศึกษาของผู้คนอีกด้วยว่าถ้ามีน้อยก็อยู่นอกระบบ เพราะแข่งที่จะเข้าไปในระบบไม่ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นที่มีอายุ 50 ไปแล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจเป็นอีกแบบที่ชอบการอยู่นอกระบบ ชอบทำงานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจ
“ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบ เราอาจต้องพูดถึงเรื่องการสร้างความมั่นคงทางรายได้ หรือความคุ้มครองทางสังคม มากกว่าเรื่อง Work-Life balance เพราะ Work-Life balance เป็นผลพลอยได้ของคนที่เป็นแรงงานนอกระบบอยู่แล้ว ความยากในเรื่องเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงในอนาคตถ้าสังคมเริ่มเห็นพ้องกันว่าแรงงานลดลง ความขาดแคลนมาแล้วจริง ๆ เมื่อเห็นข้อจำกัดของสังคมแล้วเราก็จะก้าวไปจุดนั้นพร้อมกันเอง เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพื่อบอกกับสังคมให้รับรู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี ไทยจะต้องไปถึงจุดนั้น จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไม่อย่างนั้นจะตามเขาไม่ทัน
โครงสร้างสังคมไทยในอนาคตจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนวัยแรงงานลดลง ทุกคนต้องทำงานเต็มกำลังเท่านั้น และต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ การส่งเสริมให้คนที่มีอายุยืนยาวสามารถสะสมความมั่งคั่งไปได้เรื่อย ๆ จะเป็นโอกาสเดียวที่เราจะรอด เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาระบบภาษีจากฐานภาษีที่แคบลงเรื่อย ๆ เนื่องจากคนเกิดน้อยลงได้ ส่วนคนร่วมใช้ภาษีจะมากขึ้น ๆ ในที่สุดก็จะล้ม” ดร.นักประชากรศาสตร์ แนะแนวทางแก้ปัญหาเพื่อทางรอดของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานก่อนวัยสูงอายุ
เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายของไทยไม่ได้พยายามสร้างทางเลือกให้ผู้คน คือถูกบังคับให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีความก้าวหน้าในการตอบสนองคนในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานเพิ่งขยับมาทำความเข้าใจใหม่ นอกเหนือจากคำว่าในระบบและนอกระบบ
“ปัจจุบัน หน่วยงานพยายามสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมแข่งกับบริษัทเอกชน แต่น่าเสียดายที่คนอยู่นอกระบบกับคนที่จะ เปลี่ยนผ่านกลับเข้าไม่ถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง”
อาจารย์นักวิจัยเห็นว่าภาครัฐควรหันมาให้ความสนใจกับจุดนี้เพิ่มขึ้นด้วย
Checklist คิดก่อนตัดสินใจ “เป็นนายตัวเอง”
ในสถานการณ์ที่หลายคนออกจากงานประจำ และสามารถประสบความสำเร็จในอาชีพใหม่นอกระบบ อาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับใครที่กำลังลังเลใจว่า ควรจะทำงานอยู่ในระบบ หรือออกมาสู่วงการงานนอกระบบดี
อาจารย์ธนานนท์ ให้ข้อคิดเป็นแนวทางตัดสินใจว่า สองข้อแรกที่ควรประเมินคือ
ข้อหนึ่ง เงินเก็บที่มีอยู่ในมือจะลากยาวไปได้เพียงใด จะลงทุนทำสิ่งใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพลาดลงทุนครั้งที่ 1 จะเหลือเงินสำหรับครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ได้แค่ไหน หาก ยังสะสมเงินไว้ไม่มากพอต้องคิดให้รอบคอบก่อน
ข้อสอง ต้องคิดเรื่องการสะสมทักษะใหม่ก่อนที่จะออกจากงานประจำสัก 3-5 ปี ศึกษาให้หมดทุกด้านทั้งทักษะ และเครือข่ายเพราะเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสองเรื่องที่ต้องเตรียมตัว