
“พูดให้น้อยฟังให้มาก” คือคาถาสำคัญสำหรับการเป็นพ่อแม่ยุคนี้ ที่มีลูกเป็นวัยรุ่น
พ่อแม่ต้องเปลี่ยนคำถามว่า“จะสอนลูกอย่างไรดี” มาเป็น “จะฟังลูกอย่างไรดี”
การฟังที่ดีไม่ใช่แค่ได้ยินสิ่งที่ลูกพูด แต่คือการรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่ลูกอาจจะไม่ได้พูดลูกมีความคิดความเชื่อ กำลังรู้สึกอย่างไร และกำลังต้องการอะไร
แล้วต้องฟังแบบไหน? เรื่องนี้ถือเป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกฝน
12 เทคนิคฟังลูกให้อยู่หมัด
1. เคลียร์งาน คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่งานล้นมือ ไหนจะต้องหารายได้ทำงานบ้าน บางทีก็มีสมาชิกหลายคนในครอบครัวให้ต้องดูแล พ่อแม่หลายคนจึงมักจะทำหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน แต่การฟังลูกหมายถึงหยุดทำอย่างอื่น แล้วตั้งใจฟัง เพื่อให้ลูกเห็นว่า สำหรับพ่อแม่แล้ว ลูกคือคนสำคัญที่สุด
2. เคลียร์ใจ จะเข้าไปนั่งในใจลูกได้ ต้องวางความคิดความเชื่อ และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองลงก่อน อย่าเพิ่งคิดเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องในอดีตหรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง อยู่กับลูก และฟังสิ่งที่ลูกกำลังพูดเท่านั้น
3. ใช้สติ ถ้าลูกหลานกำลังเผชิญปัญหาและต้องการที่พึ่ง พ่อแม่ยิ่งต้องแสดงความสงบและมั่นคงให้ปรากฏ ถ้าพ่อแม่แตกตื่นตกใจ โวยวาย ฯลฯ เด็กจะเสียขวัญ และรู้สึกว่านอกจากช่วยไม่ได้แล้วเรื่องอาจจะยิ่งไปกันใหญ่ ไม่เล่าดีกว่า แล้วเขาจะไม่กลับมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือซ้ำอีก
4. ภาษากาย ใช้ให้เป็นการสื่อสารด้วยภาษากายที่ชัดเจน อย่าล่อกแล่กมองนั่งมองนี่ ทำท่าว่ามีเรื่องอื่นที่ต้องสนใจมากกว่า สบตาลูกแต่อย่าจ้องเหมือนจะจับผิด พยักหน้า เออ ออ ตามความเหมาะสม
5. ฟังให้จบก่อน ทำใจว่างๆอย่าเพิ่งด่วนคิด ตัดสินใจ ว่าสิ่งที่ลูกพูด จริงหรือไม่จริง ดีหรือไม่ดี เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่าเพิ่งพูดแทรก ไม่ชิงถาม ถึงจะดูเป็นการฝืนธรรมชาติของผู้ใหญ่ที่มักจะรู้สึกว่า“ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน” ก็จงพยายาม และอย่าลืมว่าถึงจะเป็นเรื่องเดียวกับที่เราเคยเจอ แต่ลูกโตมาอีกยุค มีประสบการณ์อีกแบบ เรื่องเดียวกันลูกอาจจะคิดไม่เหมือน มองต่างจากพ่อแม่ก็ได้ ฉะนั้น ฟังต่อไปให้จบ
6. ช่างสังเกต ฝึกสังเกตสีหน้า แววตา ท่าทาง น้ำเสียงภาษากายของลูกหลานขณะที่พูดคุย หลายเรื่องเด็กอาจไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ ผู้ใหญ่ผ่านประสบการณ์มาเยอะควรฟังและมองให้ออก ว่าจริงๆ แล้ว เด็กกำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร
7. ทวนเนื้อหา ทวนซ้ำสิ่งที่เด็กพูดเพื่อตรวจสอบว่าเข้าใจตรงกัน โดยใช้ภาษาของเราเอง ไม่ใช่พูดซ้ำสิ่งที่เด็กพูด ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจและใส่ใจในสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง
8.ถามเพื่อความเข้าใจ ถ้าตรงไหนที่ฟังแล้วไม่เข้าใจหรือไม่ชัดเจน ให้ลองถาม หรือขอให้เด็กอธิบายเพิ่มเติมจะได้ไม่เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน
9. สะท้อนความรู้สึก คำว่า “ดูเหมือนว่า” “คล้าย ๆ ว่า”หรือคำพูดที่บ่งบอกถึงแนวโน้ม ดีกว่าตัดสินว่าเด็กต้องรู้สึกแบบนั้นแบบนี้อยู่แน่ๆเพราะเป็นการเปิดช่องว่างให้เด็กสามารถอธิบายต่อได้ เช่น “ดูเหมือนว่าลูกรู้สึกไม่สบายใจที่เพื่อนพูดแบบนี้ใช่หรือเปล่า”
10. สรุปเรื่องราว สรุปความคิดและความรู้สึกของลูกที่เรารับรู้จากการได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดเพื่อให้เด็กได้มองเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น และเข้าใจตัวเองมากขึ้น
11. พึ่งได้ บางเรื่องสำหรับวัยรุ่นอาจเป็นเรื่องที่อธิบายได้ยาก พูดไม่ออกบอกไม่ถูก บางทีฟังแล้วงง ตกลงจะเอาอะไรแน่ การแสดงให้เด็กเห็นว่าเราพร้อมจะสนับสนุนและช่วยเหลือในทุกปัญหาที่เขากำลังเผชิญ จะช่วยให้ไปต่อได้ง่ายขึ้น “ลูกอยากได้คำแนะนำหรือเปล่าว่าควรจะทำยังไงดีหรือแค่อยากเล่าให้พ่อฟังเฉยๆ”
12. อย่าออกตัวแรง ใช้ความสุขุมสงบ เยือกเย็นเข้าไว้ ถึงฟังแล้วจะอินตาม เข้าข้างลูกเต็มที่ แต่การแสดงออกแบบสุดตัวก็มีความเสี่ยงเพราะถ้าเกิดคดีพลิกขึ้นมา อาจทำให้ต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าลูกทะเลาะกับเพื่อนแล้วคุณแม่เชียร์เต็มที่ ช่วยกระหน่ำซ้ำเติมอีกฝ่าย พอวันรุ่งขึ้น เด็กสองคนดีกัน คุณแม่ก็จะดูไม่ดีอาจจะอึดอัดกันไปทั้งสองฝ่าย
วัยรุ่นต้องการเป็นตัวของตัวเองต้องการอิสระ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ฉะนั้น การแนะนำ สั่งสอน บอกให้ทำ มีประโยชน์น้อยมาก เพราะเด็กจะไม่เชื่อ และอาจกลายเป็นการก่อกำแพงปิดกั้นความสัมพันธ์รวมทั้งทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้าน อยากท้าทาย
การฟัง และช่วยตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กได้ทบทวนความคิดความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง รวมทั้งได้คิดและมองในมุมที่เด็กอาจจะยังคิดไปไม่ถึง จะทำให้เด็กเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม ควรทำ หรือไม่ควรทำ ดีกว่าการที่พ่อแม่เอาแต่สั่งสอนตลอดเวลา ซึ่งวัยรุ่นจะต่อต้าน ไม่เชื่อไม่ยอมทำตาม และวิธีนี้ยังดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว
การสร้างสรรค์เนื้อหาโดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)