ครอบครัวไทยยุคใหม่มีหลายรูปแบบ และส่วนใหญ่ประกอบด้วยสมาชิกเกินกว่า 2 รุ่นขึ้นไป สิ่งที่หลายบ้านได้เจอ จึงเป็นเรื่อง “ช่องว่างระหว่างวัย” บวกกับสังคมที่เปิดกว้างด้านการสื่อสาร ทำให้การรับรู้ของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ความคิด ความเชื่อ และการกระทำของคนในบ้าน บ่อยครั้งคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจ ไปจนถึงยากจะยอมรับได้ 

ภาพคุ้นตาที่ลอยมาทันทีคือ การที่คนในบ้าน คุยกันแค่คำสองคำ ก็จำจะต้องลุกหนีถ้าไม่อยากให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง เสียอารมณ์ เสียความสัมพันธ์ ว่าแล้วก็แยกย้ายกันเข้าห้องเข้ามุมของตัวเอง มีปัญหาอะไรก็ไม่อยากปรึกษาคนในบ้าน แบบนี้อยู่บ้านเดียวกันก็จริง แต่ความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ครอบครัว” ดูจะเบาบางเต็มที

ช่องว่างระหว่างกันแบบนี้ เรามีวิธีเติมเต็ม อันดับแรก คือ ต้องทำความเข้าใจ

ช่องว่างระหว่างใจ

“อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ คิดอะไรไม่เคยจะเหมือนกัน”

ปรากฏการณ์นี้เข้าใจได้ไม่ยาก ถ้ายอมรับก่อนว่า คนเราจะมีความคิดความเชื่ออย่างไร ก็ขึ้นกับประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบเจอในชีวิต ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดา คนที่เกิดในยุคหนึ่ง เติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง ย่อมมีความคิดและความเชื่อแตกต่างจากคนที่เกิดและโตมาในอีกยุคหนึ่ง คุณค่าที่ยึดถือ การมองว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ไม่เหมือนกัน ย่อมนำไปสู่การกระทำที่ไม่เหมือนกันด้วย

มีความพยายามในการจัดแบ่งคนแต่ละรุ่น เพื่อให้เห็นปัจจัยร่วมในการเติบโตมา ได้แก่

“คิดต่าง อย่างเข้าใจ” พูดง่าย ทำไม่ยาก

เมื่อคนต่างวัย โตมาต่างกัน ต้องมาอยู่ด้วยกัน ด้วยความคิด ความเห็น และพฤติกรรม ที่ไม่เหมือนกัน สร้างให้เกิดความไม่ลงรอยกันได้ง่ายๆ รู้อย่างนี้แล้ว ลำดับถัดไปคือเทคนิคที่จะทำให้การคิดไม่เหมือนไม่เป็นปัญหา

• เปิดใจให้ความต่าง การเกิดก่อน อยู่มานานกว่า รู้เห็นมามากกว่า มักจะทำให้คนที่อาวุโสกว่ารู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเท่านั้นที่ถูกต้อง แต่ด้วยเหตุที่ว่ามาตอนต้น จึงจำเป็นที่คนรุ่นใหญ่ต้องเปิดรับสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน สมาชิกรุ่นเล็กก็เช่นกัน มุมมองสำคัญคือ ทุกคนมีเรื่องที่เราไม่รู้ และเราเรียนรู้ได้

• เรียนรู้รายวัน ความรู้ที่ไม่ต้องไปฝึกอบรมที่ไหน แต่อยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกคนเรียนรู้ได้จากคนในบ้าน เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์ต่างกัน การคุยกัน ฟังกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล เป็นโอกาสในการเรียนรู้ อะไรที่ทำให้แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ โดยอยู่บนพื้นฐานว่า เราไม่ได้คิดถูกอยู่คนเดียว

• ฟังให้ได้ยิน ความคิดความเชื่อที่แตกต่าง บางทีเราทนฟังแทบจะไม่ได้ เพราะขัดกับสิ่งที่เราเคยรับรู้มา การจะรับฟังเพื่อเข้าใจสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของตัวเองได้ ต้องฟังให้เป็น เพื่อจะได้รู้ว่าคนอื่นคิดและเชื่ออะไร ทำไมเขาถึงคิดและเชื่อแบบนั้น ซึ่งจะทำให้คุยกันได้ง่ายขึ้น

• พบกันครึ่งทาง ในความคิดความเชื่อที่แตกต่าง ถ้าต่างฝ่ายต่างคิดว่าตัวเองถูก อีกคนผิด ก็เสี่ยงจะวงแตกได้ง่ายๆ การอยู่ด้วยกัน ไม่ว่าในครอบครัวหรือที่ไหน ๆ ต้องมี “พื้นที่กลาง” ที่ทุกคนยืนด้วยกันได้ การประนีประนอมสำคัญ การหาจุดที่เห็นร่วมกันเพื่อจะไปด้วยกันต่อ โดยวางจุดที่เห็นต่างกันไว้ก่อนจึงจำเป็น

• วัยรุ่นไม่ใช่แกะดำ เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ไม่ง่ายที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะเข้าใจและเข้าถึงโลกของพวกเขาได้ สิ่งที่ช่วยได้ก็คือ

ข้อคิด 1 – ตอนเป็นเด็ก หรือเป็นวัยรุ่น มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ เป็นธรรมดา

ข้อคิด 2 – คนต่างรุ่น การแสดงออกอาจต่างกัน ท่าที “ไม่เห็นด้วย” อาจจะไม่เหมือนคนรุ่นเรา

สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างในครอบครัว นอกจากข้อคิดและความเข้าใจ อีกเสาหลักสำคัญ คือการกลับไปยังเหตุผลของการเป็นครอบครัว นั่นคือความรัก ห่วงใย ดูแลกันและกัน สิ่งที่ควรสื่อสารให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจตรงกันก็คือ เรารัก ห่วงใย และดูแลกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทุกอย่างก็ได้

ที่มา :

ภาษาไทย

ช่องว่างระหว่างวัย Generation Gap. เว็บไซต์ schoolchangemakers.com. 5 มีนาคม 2564

ภาษาอังกฤษ

Bridging the Generation Gap, Increasing the Level of Understanding between Parent and Child. เว็บไซต์ www.familyfirstglobal.org. 22 มกราคม 2564

What Research Says About the Generation Gap. เว็บไซต์ www.verywellfamily.com. 15 พฤษภาคม 2563

หมายเหตุ* เนื้อหาและอินโฟกราฟิก ปรับจากผลงานที่สร้างสรรค์โดยความร่วมมือระหว่างกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคม และเครือข่ายสถานประกอบการเป็นมิตรกับครอบครัว (FFW) สสส. สำหรับนำเสนอผ่านเว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว