โบว์เบเกอรี่เฮาส์ “วันหยุด เลือกได้” โดนใจพนักงาน

สวัสดิการสำหรับครอบครัวพนักงาน

– การจัดวันหยุดเองได้ สำหรับกลุ่มพนักงานในส่วนสำนักงาน
– อาหารกลางวัน สำหรับกลุ่มพนักงานโรงงาน

Delicious is Happiness

คือปรัชญาที่พา โบว์เบเกอรี่เฮาส์ ให้ประสบความสำเร็จ

บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮาส์ จำกัด เป็นโรงงานขนาดกลาง ผลิตและจำหน่ายสินค้าในกลุ่มเบเกอรี อย่างเค้ก, คุ้กกี้, พัฟ, พาย, ครัวซองต์, แซนด์วิช, ขนมปัง, เมอแรงค์ และยังคงรสชาติความอร่อยสไตล์ “เบเกอรี โฮมเมด” ด้วยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจ

“เราไม่ใช่โรงงานที่ต้องการปั๊มเงินเยอะๆ เรายังตีส่วนผสมด้วยมือ ถึงจะช้าและต้องใช้แรงคน แต่ขนมจะอร่อยกว่า ก็เหมือนการทำอาหาร ทำทีละน้อยกับทำครั้งละเยอะๆ ความอร่อยต่างกัน”

ด้วยจุดยืนเช่นนี้ ของ วิสิทธิ์ สดแสงเทียน และภรรยา รุจา สดแสงเทียน สองสามีภรรยาที่สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ว่าคือโรงงานผลิตขนมที่ใส่ใจเกินกว่าขอบเขตในการผลิตที่ใช้เครื่องจักร แต่เน้นความสำคัญเรื่อง “ความสุข” ไม่เพียงของผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงคนทำงาน
“การเติบโตขององค์กรไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความสุขในการทำงาน มีความสุขที่อยู่ในองค์กรแห่งนี้” เจ้าของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ปักธงแนวคิดในการดูแลทุกคนในองค์กร

“เลือกวันหยุดได้” นโยบายซื้อใจพนักงาน

“เราเน้นการดูแลพนักงานให้ดี อยากให้เขาทำงานกับเราแล้วสนุก มีความสุข จัดสวัสดิการที่จัดให้คนของเรามากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะมองว่า โรงงานนี้ทุกคนร่วมสร้างมาด้วยกัน”

สวัสดิการที่วิสิทธิ์พูดถึง ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, สหกรณ์ออมทรัพย์, สนามกีฬา, ประกันสุขภาพสำหรับระดับหัวหน้ากับรองหัวหน้า, ตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงานทุกคน, ทุนการศึกษาสำหรับลูกหลานพนักงาน

ที่พิเศษและตอบโจทย์คนรักครอบคัวคือ โครงการเลือกวันหยุดพิเศษ หมายถึงการที่พนักงานเลือกวันหยุดได้ จากที่ทุกคนมีโควต้าเดือนละ 4 วัน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์ แต่สามารถหยุดวันอื่น หรือหยุดติดกัน 4 วันไหนของเดือนก็ได้ ขอแค่ให้จัดการงานในความรับผิดชอบเรียบร้อยเป็นพอ

ในมุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล โครงการนี้มีเสียงตอบรับดีมาก พนักงานเข้าร่วมถึง 98 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีระบบที่เรียกว่า การบีบอัดวันทำงานในหนึ่งสัปดาห์ (Compressed Work Week) ที่ทำให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกได้

กนกวรรณ อุษาสมจรัส เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล บอกว่า โครงการนี้มีเสียงตอบรับดีมาก พนักงานเข้าร่วมถึง 98 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีระบบที่เรียกว่า การบีบอัดวันทำงานในหนึ่งสัปดาห์ (Compressed Work Week) ที่ทำให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกได้

“ปกติทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน แต่ถ้าทำงานเพิ่ม วันละครึ่งชั่วโมง พอครบ 5 วัน จะได้หยุดวันเสาร์เพิ่ม เป็นเสาร์เว้นเสาร์ ซึ่งหัวหน้าแต่ละแผนกจะจัดสรรกันเองเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสำหรับแต่ละคนมากที่สุด”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ชี้ถึงแนวคิดของการจัดให้พนักงานสามารถจัดการเวลาได้มากขึ้น คือช่วยให้พนักงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือวางแผนเดินทางไปต่างจังหวัดเยี่ยมครอบครัวได้ ส่วนคนที่ไม่มีครอบครัวก็มีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ได้
นอกจากการเพิ่มวันหยุดแล้ว คนของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ยังสามารถสลับเวลาทำงาน รวมทั้งมีการลางานในหลายรูปแบบ อาทิ

• การเลือกวันหยุด เพื่อจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เช่น ภรรยาหยุดวันเสาร์ สามีหยุดวันอาทิตย์ เพื่อสลับกันดูแลลูก

• เหลื่อมเวลาการทำงาน เช่น ภรรยาเข้างานเช้า เลิกงานเร็ว สามีเข้างานบ่ายเลิกงานค่ำ สามารถผลัดเปลี่ยนกันดูแลสมาชิกในครอบครัวได้สะดวกยิ่งขึ้น

• ถ้าโรงเรียนของลูกมีกิจกรรมในโอกาสพิเศษ พนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่สามารถลาครึ่งวันไปร่วมงานได้ โดยไม่ถือว่าเป็นวันลาหรือขาดงาน

“ดีมากที่ออฟฟิศมีนโยบายแบบนี้ ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น อย่างที่บ้าน ต้องดูแลพ่อแม่ บางทีมีเหตุฉุกเฉิน เราขอกลับไปดูแลได้แล้วค่อยทำงานชดเชยวันหลัง ถ้าทำงานครบตามเวลาของออฟฟิศคือ 9 ชั่วโมงก็ถือว่าไม่มีผลกระทบ ไม่มีการหักเงิน”

กนกวรรณ อุษาสมจรัส เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล

วรรณภา สุกเกต พนักงานบัญชี กล่าวถึงข้อดีของการที่คนทำงานสามารถจัดการเวลาเองได้ ที่ช่วยให้เธอผ่านปัญหาในการดูแลลูกวัย 3 ขวบครึ่ง และพ่อแม่ที่สูงวัยมาได้ด้วยดี

วรรณภากับสามีทำงานเหลื่อมเวลา โดยเธอทำงานเวลา 06.30-16.00 น. ส่วนสามีเป็นระดับหัวหน้า เข้างานประมาณ 07.00 หรือ 07.30 น. แต่เลิกไม่เป็นเวลา สามีทำหน้าที่ไปส่งลูกสาวที่โรงเรียน ส่วนเธอไปรับหลังเลิกเรียน

“ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องไม่มีคนไปรับไปส่งลูก เพราะทำงาน 7 โมง เลิก 4 โมงครึ่ง ฝ่ายบุคคลเลยแนะนำให้เราไปรับลูกก่อนแล้วค่อยทำงานชดเชยทีหลัง หรืออย่างช่วงโควิดที่โรงเรียนหยุดยาว จะเข้างานประมาณตี 5 ครึ่ง เลิกบ่ายสามโมง สามีดูแลลูกช่วงเช้าได้ เพราะเขาเข้างานประมาณบ่ายโมง พอจะไปทำงานก็ฝากลูกกับพ่อแม่ไว้สัก 2 ชั่วโมง พอสามโมงเราก็กลับบ้านแล้ว ถือว่าแก้ปัญหาได้มากเลย”

ส่วนวันหยุด วรรณภาหยุดทุกวันอาทิตย์ และเสาร์เว้นเสาร์ ส่วนสามีหยุดวันเสาร์เป็นหลัก และหยุดเสริมในวันอังคาร ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันครบหน้าพ่อแม่ลูกในวันเสาร์ แต่ถ้าอยากจะเปลี่ยนวันหยุด ก็ต้องทำงานล่วงหน้าก่อนเพื่อไปหยุดในวันที่ต้องการ

สวัสดิการอาหารกลางวัน ลดรายจ่ายพนักงานฝ่ายผลิต

ในส่วนของพนักงานในฝ่ายผลิต กำหนดเวลาการทำงานเหลื่อมกันตามขั้นตอนทำขนม เช่น พนักงานตีแป้งเข้างานตอน 03.00 น. ฝ่ายอบขนมทำงานตอน 06.00 น. ฝ่ายตกแต่งขนมเริ่มงาน 07.00 น. ฝ่ายขนส่งมาถึงโรงงานตอน 08.00 น. เฉลี่ยเวลาทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง

พนักงานในฝ่ายผลิตทำงานเหลื่อมเวลาได้ยาก และไม่ต้องการเข้าร่วมโครงการเลือกวันหยุดพิเศษ ส่วนหนึ่งเนื่องจากส่วนใหญ่พักอาศัยในชุมชนใกล้ที่ทำงาน และรับค่าแรงเป็นรายวัน วันหยุดเพิ่มจึงไม่จำเป็นมากนัก แต่บริษัทชดเชยให้ผ่านสวัสดิการส่วนอื่น เช่น ให้เบี้ยขยัน ดูแลสวัสดิการอาหาร โดยจัดข้าวและไข่ต้มให้ฟรี เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีเวลาพักมากกว่าพนักงานในส่วนสำนักงาน คือนอกจากพักช่วงเที่ยงแล้ว ยังให้พักเบรกอีกครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มทำโอที

“เรารักเขา เขาก็รักเรา พนักงานของเราทำงานที่นี่ยาวนาน ไม่ค่อยลาออก แล้วยังไปชวนคนในหมู่บ้านมาทำกับเราด้วย โรงงานเราไม่เคยขาดคนเลยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา”

วิสิทธิ์ ปิดท้ายการสนทนาด้วยประโยคที่ย้ำให้เห็นถึงการดูแลกันและกันของ “ครอบครัวโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์”

เรื่อง : วาสนา เดชวาร