
งาน-ครอบครัว สมดุลอยู่ไหน ? “ใน” หรือ “นอกระบบ”
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 คนในสังคมไทยไม่เพียงกังวลเรื่องโรคติดต่อ แต่ยังต้องรับรู้ถึงการที่บริษัท องค์กร โรงงานต่างๆ ปิดตัว เลิกจ้าง คนทำงานบางส่วนต้องกลายเป็น “แรงงานนอกระบบ” โดยเฉพาะคนอายุเกิน 45 ปี และถ้าย้อนกลับไปดูสถานการณ์ “ก่อนโควิด” ลูกจ้างแรงงานไทยจำนวนไม่น้อยต้อง “เกษียณอายุก่อนกำหนด” หนึ่งในเหตุผลสำคัญ คือความจำเป็นในการดูแลสมาชิกในครอบครัว
คำถามที่ตามมาคือ สังคมควรดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติในอนาคต
ดร.ธนานนท์ บัวทอง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนร่วมในการวิจัยเรื่อง “วิกฤตวัยกลางคนของวัยแรงงานก่อนเกษียณ : การปรับตัวของลูกจ้าง ภาคเอกชนอายุ 45 ปีขึ้นไป ที่ออกไปสู่การทำงานภาคนอกระบบ” และด้วยความที่เป็นนักประชากรศาสตร์ เขาสนใจเรื่อง “งานและครอบครัว” (Work and Family ) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องหาจุดสมดุลของสองสิ่งนี้ให้ได้

แรงงานควรอยู่ในระบบหรือไม่ หรือไม่จำเป็น?
“ขึ้นอยู่กับนิยามของคำว่า ‘ระบบ’ ว่าคืออะไร”
อาจารย์ธนานนท์ ชี้ว่า ถ้า “ระบบ” หมายถึงมีเงินเดือน สังคมเราก็ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องมีเงินเดือนในรูปแบบเดียว แต่หากหมายถึง “ความคุ้มครองของสังคม” ทุกคนก็ควรอยู่ในระบบ
“ถึงเป็นฟรีแลนซ์ก็ควรได้รับสิทธิสวัสดิการทางสังคมเช่นเดียวกับคนที่ทำงานกินเงินเดือน”
กระนั้น อาจารย์ธนานนท์ เห็นจุดอ่อนสำคัญคือการที่คนส่วนใหญ่ขาดการเตรียมการในอนาคต ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร สุขภาพจะแย่ลง ทักษะจะลดลง ความเสี่ยงใดบ้างจะเพิ่มขึ้น
“แรงงานนอกระบบที่น่าเป็นห่วงตอนนี้คือกลุ่มอายุ 50 ขึ้นไป ที่ไม่มีความคุ้มครองใด ๆ เลย ในยุคโควิด เขาจะทำอะไรได้บ้าง นโยบายของรัฐแค่ประคับประคอง ถ้าไม่ไหวก็เป็นภาระลูกหลานต้องช่วยดูแล ลูกหลานเองอีกสักพักอาจอยู่ในระบบไม่ได้เช่นกัน เพราะต้องออกมาดูแลพ่อแม่ที่เริ่มเจ็บป่วย ยังไม่พูดถึง LGBT คนที่ไม่มีลูก คนไม่แต่งงาน ทางเลือกสำหรับคนเหล่านี้จะยิ่งน้อยลง
“Family Friendly Workplace อาจไม่ค่อยอยู่ในสายตาภาครัฐ เป็นเรื่องของสถานประกอบการมากกว่าที่จะมองประโยชน์จากคนกลุ่มคนทำงาน และหาวิธีดึงคนไว้ได้อย่างไร แต่ตลาดแรงงานไทยเองยังไม่ค่อยมีความ innovative ต้องการแค่พนักงานระดับธุรการ พนักงานขายทั่วไป ลูกจ้างแบบไหนก็ได้”
“ชีวิตนอกระบบ” ดูแลครอบครัวได้ แต่งานไม่มั่นคง
ดร.ธนานนท์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะของไทย ที่ระบบความคุ้มครองทางสังคมกระจุกอยู่ที่กลุ่มแรงงานในระบบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กของสังคมไทย
“การเป็นแรงงานนอกระบบมีข้อดีคือสามารถบาลานซ์ชีวิต กำหนดไลฟ์สไตล์ และความยืดหยุ่นของชีวิตได้ ข้อด้อยคือเรื่องการสะสมความมั่งคั่งสำหรับการเกษียณในอนาคต เพราะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเครือข่าย อาศัยความแข็งแกร่งของตัวเองพอสมควรที่จะไปอยู่ในจุดนั้นได้ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่เราไม่มีการออมแบบสมัครใจ 100%
“จริง ๆ แล้วการขยับตัวจากการอยู่ในระบบที่มีความเครียดสูง มีความยืดหยุ่นในการทำงานน้อยก็ได้ประโยชน์ เช่น มีเวลาพาลูกไปโรงเรียน พาพ่อแม่หรือตัวเองไปหาหมอได้ ซึ่งทำได้ยากถ้ายังอยู่ในระบบ สิ่งที่พบก็คือบางองค์กรให้พนักงานใช้สิทธิลาได้แต่คนไม่ลา เพราะเกรงเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ถ้าคนอื่นไม่ลาก็ไม่กล้าลา เหมือนคนญี่ปุ่นที่ต้องแสดงความจงรักภักดี ทุ่มเทให้องค์กร แต่ถ้าเป็นสังคมตะวันตก คนจะใช้สิทธิมากกว่า” อาจารย์นักวิจัยกล่าว
ไทยพร้อมแค่ไหนใน “สังคมผู้สูงอายุ”
ในต่างประเทศเรื่อง “ที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” เติบโตจนเป็นมาตรฐานด้วยคำสำคัญอย่าง Diversity and Inclusion ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กร
ดร.ธนานนท์ มองว่าแนวคิดนี้แทบไม่มีความเชื่อมโยงกับไทยเลย เพราะถ้าพนักงานยังต้องทำงานเหมือนๆ กัน ยังต้องนั่งรอเวลางานเลิก คนอื่นยังไม่กลับฉันก็กลับไม่ได้ แทนที่จะดูกันที่ผลงาน เมื่อใครท้อง เพื่อนร่วมงานจะเริ่มมองแล้วว่าเป็นภาระต้องทำงานแทน ทั้งที่ตามทฤษฎีแล้วคนที่มีลูกคือการช่วยสร้างแรงงานให้สังคม สร้างคนที่จะจ่ายภาษี คนที่จะช่วยผู้สูงอายุในอนาคต ประเทศไทยควรมี Public Policy ไปถึงจุดที่ว่าค่าใช้จ่ายของผู้หญิงที่เกิดจากการแต่งงานมีลูก ไม่ควรเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวอีกต่อไปแล้ว แต่ควรเป็น Social Cost

ในบ้านเรายังไม่มีทางเลือกที่ดี หากต้องการ Work-Life balance ก็ไปอยู่นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มแบ่งแยกในระบบกับนอกระบบด้วยการศึกษาของผู้คนอีกด้วยว่าถ้ามีน้อยก็อยู่นอกระบบ เพราะแข่งที่จะเข้าไปในระบบไม่ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นที่มีอายุ 50 ไปแล้ว แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อาจเป็นอีกแบบที่ชอบการอยู่นอกระบบ ชอบทำงานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจ
“ถ้าเป็นแรงงานนอกระบบ เราอาจต้องพูดถึงเรื่องการสร้างความมั่นคงทางรายได้ หรือความคุ้มครองทางสังคม มากกว่าเรื่อง Work-Life balance เพราะ Work-Life balance เป็นผลพลอยได้ของคนที่เป็นแรงงานนอกระบบอยู่แล้ว ความยากในเรื่องเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงในอนาคตถ้าสังคมเริ่มเห็นพ้องกันว่าแรงงานลดลง ความขาดแคลนมาแล้วจริง ๆ เมื่อเห็นข้อจำกัดของสังคมแล้วเราก็จะก้าวไปจุดนั้นพร้อมกันเอง เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เพื่อบอกกับสังคมให้รับรู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี ไทยจะต้องไปถึงจุดนั้น จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไม่อย่างนั้นจะตามเขาไม่ทัน
โครงสร้างสังคมไทยในอนาคตจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนวัยแรงงานลดลง ทุกคนต้องทำงานเต็มกำลังเท่านั้น และต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ การส่งเสริมให้คนที่มีอายุยืนยาวสามารถสะสมความมั่งคั่งไปได้เรื่อย ๆ จะเป็นโอกาสเดียวที่เราจะรอด เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาระบบภาษีจากฐานภาษีที่แคบลงเรื่อย ๆ เนื่องจากคนเกิดน้อยลงได้ ส่วนคนร่วมใช้ภาษีจะมากขึ้น ๆ ในที่สุดก็จะล้ม” ดร.นักประชากรศาสตร์ แนะแนวทางแก้ปัญหาเพื่อทางรอดของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานก่อนวัยสูงอายุ
เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายของไทยไม่ได้พยายามสร้างทางเลือกให้ผู้คน คือถูกบังคับให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีความก้าวหน้าในการตอบสนองคนในสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานเพิ่งขยับมาทำความเข้าใจใหม่ นอกเหนือจากคำว่าในระบบและนอกระบบ
“ปัจจุบัน หน่วยงานพยายามสร้างหลักสูตรการฝึกอบรมแข่งกับบริษัทเอกชน แต่น่าเสียดายที่คนอยู่นอกระบบกับคนที่จะ เปลี่ยนผ่านกลับเข้าไม่ถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง”
อาจารย์นักวิจัยเห็นว่าภาครัฐควรหันมาให้ความสนใจกับจุดนี้เพิ่มขึ้นด้วย
Checklist คิดก่อนตัดสินใจ “เป็นนายตัวเอง”
ในสถานการณ์ที่หลายคนออกจากงานประจำ และสามารถประสบความสำเร็จในอาชีพใหม่นอกระบบ อาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับใครที่กำลังลังเลใจว่า ควรจะทำงานอยู่ในระบบ หรือออกมาสู่วงการงานนอกระบบดี
อาจารย์ธนานนท์ ให้ข้อคิดเป็นแนวทางตัดสินใจว่า สองข้อแรกที่ควรประเมินคือ
ข้อหนึ่ง เงินเก็บที่มีอยู่ในมือจะลากยาวไปได้เพียงใด จะลงทุนทำสิ่งใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพลาดลงทุนครั้งที่ 1 จะเหลือเงินสำหรับครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ได้แค่ไหน หาก ยังสะสมเงินไว้ไม่มากพอต้องคิดให้รอบคอบก่อน
ข้อสอง ต้องคิดเรื่องการสะสมทักษะใหม่ก่อนที่จะออกจากงานประจำสัก 3-5 ปี ศึกษาให้หมดทุกด้านทั้งทักษะ และเครือข่ายเพราะเป็นเรื่องใหญ่ทั้งสองเรื่องที่ต้องเตรียมตัว

กสร.แนะองค์กรจัด “สวัสดิการครอบครัว” ได้ใจลูกจ้าง
การสนับสนุนสวัสดิการสำหรับพนักงานในสถานประกอบการ ที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย เป็นแนวคิดและแนวทางที่สำคัญที่มีการดำเนินงานมาบ้างแล้วในหน่วยงานภาครัฐ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน คือหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการดำเนินงานสนับสนุนสวัสดิการสำหรับพนักงาน ตลอดจนให้คำชี้แนะอย่างใกล้ชิดแก่สถานประกอบ การอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
โสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จะมาบอกกล่าวถึงภารกิจของ กสร.ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ ในการจัดทำสวัสดิการ เพื่อที่จะดำเนินการให้เกิดผลได้จริงในขั้นตอนการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ลูกจ้าง มีองค์ความรู้ในการทำงานด้วยจะได้เกิดประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้างแรงงาน นอกจากนี้ยังเสนอมุมมองในเรื่อง ทิศทางของสวัสดิการในอนาคตด้วยว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด

Q – ทำไมสถานประกอบการ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลพนักงานและครอบคลุมไปจนถึงครอบครัว แม้ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรก็ตาม
A – สวัสดิการเป็นตัวที่จะทำให้นายจ้างได้ใจลูกจ้างมากกว่า การจ้างอาจได้แค่แรง แต่สวัสดิการจะช่วยให้แรงงานมีผลิตภาพแรงงานดีขึ้นและทำงานให้สถานประกอบการ เหมือนกับเป็นการดูแลบ้านของตัวเองด้วยความผูกพันระหว่างกันจะได้ดีขึ้น
ถ้าสวัสดิการงานก้าวไกลไปถึงการดูแลคนที่เขารักทั้งบ้าน นั่นหมายถึงครอบครัว เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาของแรงงานไม่ใช่ปัญหาแค่รายได้ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งคือการต้องดูแลคนในครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคนที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงวัยในบ้าน สวัสดิการที่ดูแลลงไปถึงครอบครัวจะสร้างให้เขามีขวัญกำลังใจ และให้ผลิตภาพแรงงานที่ดีขึ้นแก่ผู้ประกอบการ
Q – นโยบายไหนที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การสนับสนุนและคิดว่ามีความสำคัญต่อพนักงานและลูกจ้าง
A – ในเรื่องสวัสดิการมีทั้งในกฎหมายและนอกกฎหมาย ซึ่งเราให้ความสำคัญทั้ง 2 ตัว แต่ทำอย่างไรจะจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาเห็นความสำคัญของการจัดสวัสดิการ คือเราจะไปบอกให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะทุกอย่างคือต้นทุน ทั้งต้นทุนทางด้านเงิน ในเรื่องสถานที่ ในเรื่องเวลา
ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ประกอบการกับลูกจ้าง รู้สึกว่าองค์กรแห่งนี้คือบ้านของคุณร่วมกันและดูแลร่วมกัน ลูกจ้างเป็นฝ่ายรับในเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ นายจ้างเป็นผู้ออกทุน ส่วนกรมสวัสฯ เป็นผู้ทำให้สองฝ่ายเห็นผลดีของสวัสดิการ และได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ได้ผลิตภาพเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งลดลง ข้อผิดพลาดลดลง และเมื่อไหร่ที่คุณมีความจำเป็นเร่งด่วน คุณจะได้ใจจากลูกจ้างมาช่วยงาน

Q – ช่วงโควิด ประเด็นการดูแลไปถึงครอบครัวเป็นอย่างไร
A – จากที่กระทรวงแรงงานไปทำงาน ในเรื่องการป้องกันโควิดในโรงงาน รวมทั้งที่อื่นๆ เราพบว่าส่วนหนึ่งคือ แรงงานจะติดมาจากครอบครัว เพราะฉะนั้นหลายโรงงานที่มีศักยภาพ จึงมีการฉีดวัคซีนให้กับครอบครัวพนักงาน ตรวจคัดกรองให้ครอบครัวด้วย หรือถ้าต้องมีการกักตัวจะมีสถานที่ให้ลูกจ้างกักตัวอยู่ในโรงงาน ไม่นำเชื้อไปติดให้ครอบครัว นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สถานประกอบการสามารถดูแลพนักงานได้
Q – โดยแนวโน้มในระยะถัดไป กรมสวัสฯ มีนโยบายอย่างไรหากพูดถึงเรื่องสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว
A – นอกจากดูแลในช่วงโควิดแล้ว ในอนาคตไม่รู้ว่าจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า แต่เราก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับบริบทยุคใหม่ ทั้งเรื่องโรค การป้องกันโรค สวัสดิการของผู้สูงอายุ สวัสดิการเรื่องสุขภาพอนามัยเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับปรับเปลี่ยนรูปแบบงาน อีกหน่อยแรงงานที่มีอายุจะขยายขึ้น มีการจ้างงานคนสูงวัยมากขึ้น
ทำอย่างไร ทั้งสองฝ่ายจะเกิดความพร้อมและคุยกันเพื่อเปลี่ยนลักษณะงานให้เหมาะสม และมีสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุคือสวัสดิการโดยเชิงเศรษฐกิจ ในวันนี้เราทำอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งคือสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มีประโยชน์ต่อลูกจ้างในแง่ของการกู้ยืม แต่หลักๆ อยากให้เป็นในเรื่องของการออม เพื่อวันที่คุณเกษียณจะได้มีเงินก้อนเก็บไว้
Q – มองว่าทิศทางในอนาคตของสวัสดิการสำหรับครอบครัวลูกจ้าง จะเป็นอย่างไร
A – ถ้าโควิดยังอยู่ต่อ การ Work From Home นายจ้างจำเป็นที่ต้องลงทุนแล้วในเรื่องอุปกรณ์การทำงานที่บ้าน เพราะไม่ใช่ว่ามีคอมพิวเตอร์แล้วจบ แต่ควรดูแลค่าเน็ต ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ด้วยแม้พนักงานจะประหยัดการเดินทางก็ตาม ควรมีการพูดคุยกันระหว่างสถานประกอบ การและพนักงาน เพราะถ้านายจ้างจัดให้เองฝ่ายเดียวแต่ลูกจ้างไม่อยากได้ ประโยชน์ก็จะไม่เกิด การพูดคุยกันโดยผ่าน คณะกรรมการสวัสดิการ จะเป็นช่องทางในการจัดสวัสดิการลงไปสู่ครอบครัวได้
ซึ่งกรมสวัสฯ พยายามจะผลักดันให้คณะกรรมการนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้กระบวนการตั้งต้นคือต้องมาจากการเลือกตั้ง ให้ลูกจ้างเลือกตั้งกันเอง และเขาจะเป็นปากเสียงให้กับลูกจ้างส่วนใหญ่ ในส่วนของฝ่ายนายจ้างเราต้องมุ่งเน้นให้เห็นภาพว่า ทำไมการจัดบริการจึงจำเป็นต่อสถานประกอบการ
Q – การสนับสนุนสวัสดิการไปถึงครอบครัวพนักงาน มีความยากหรืออุปสรรคอย่างไร
A – อุปสรรคอยู่ที่ถ้าเราให้นายจ้างเป็นผู้ลงทุนก็เป็นความยาก แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการที่มีจริยธรรม มีวิสัยทัศน์ที่มองไกลไปมากกว่านั้น ว่าจะดูแลไปถึงครอบครัวพนักงาน ทำให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อบริษัท ยินดีที่จะทำเกินหน้าที่ ยินดีที่จะดูแลอะไรให้ดีขึ้น และมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ถ้าบริษัทใดที่มุ่งแต่ผลกำไรอย่างเดียว มองพนักงานเป็นเครื่องจักร ก็จะไม่ได้ใจพนักงานในการทำงาน
การจัดสวัสดิการไปถึงครอบครัวหมายถึงคุณกำลังซื้อไปถึงใจลูกจ้าง เพื่อให้ได้ใจเขามาในการทำงาน นอกจากได้ Hand กับ Head แล้วยังได้ Heart มาด้วยในการทำงาน
Q – ในกรณีที่พนักงานมีพ่อแม่สูงวัย อาจเป็นสาเหตุให้ต้องออกจากงานเพื่อไปดูแล มีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร
A – ต้องพิสูจน์ได้ว่าสถิติตรงนั้นมันสูงไหม คนที่จะลาไปดูแลพ่อแม่ ฐานะต้องดีพอสมควร คุณลาไปแล้วอาชีพคุณคืออะไร แต่ถ้ามองว่าเรายังมีรายได้จากเงินเดือน ก็ส่งเงินไปให้พ่อแม่ อยู่ในชนบทไม่ค่อยมีปัญหา ถ้ามีญาติพี่น้องมีคนรู้จักเยอะหมู่บ้านก็ช่วยกันดูขอให้มีเงินเถอะ
เรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ น่าจะทำในระดับภาครัฐร่วมมือกับภาคชุมชน แต่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น ถ้าโรงงานคุณมีคนอีสานเยอะและอยู่ในทีมเดียวกัน ลองไปร่วมวงกับ กระทรวง พม. หรือหน่วยงานในชุมชน โดยจ้างศูนย์ดูแลหรือจ้างคนที่ทำหน้าที่คล้าย อสม. ไปดูแลที่บ้าน แล้วโรงงานคุณลงขันกันสนับสนุน ทั้งเรื่องอุปกรณ์เรื่องค่าแรง น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าคุณเป็นลูกจ้างระดับล่างและมีปัญหาเรื่องนี้จะทำได้ยาก ต้องทำงานระดับเครือข่ายกันมากกว่า
Q – เรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยว มีความเป็นไปได้ในเรื่องสวัสดิการมากน้อยแค่ไหน ในแง่ของการเข้ามาในระบบที่การดูแลยังไม่ค่อยเห็นมากนัก
A – ในแง่ของแรงงานในระบบ สวัสดิการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พอจะทำได้คือ ช่วยแบ่งเบาในเรื่องของลูก เช่น จัดทำมุมนมแม่ มีสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าวัยเรียน เพื่อลดรายจ่ายของแม่ มีสถานประกอบการบางแห่งที่ลงทุนทำศูนย์เลี้ยงเด็ก เพราะคนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
และพบว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีลูกกันเยอะ มีปัญหาเรื่องเข้างานสาย ออกงานเร็ว เพราะต้องรีบไปรับไปส่งลูก ถ้าแก้ปัญหาด้วยการมีห้องแล้วจ้างคนมาดูแล ทางสถานประกอบการก็น่าจะยินดีที่จะลงทุนทำ
Q – เวลาพูดถึงสวัสดิการที่ไปถึงครอบครัวของพนักงาน น่าจะมีหน่วยงานไหนที่เข้ามาช่วยกันได้
A – ถ้ามองในเรื่องคุณภาพของการทำงาน เด็กและคนแก่ที่บ้านอาจเป็นลูกค้าของ กระทรวง พม. ส่วนลูกของคนแก่อยู่ที่โรงงานก็เป็นลูกค้าของเรา กระทรวงแรงงาน เด็กอยู่กระทรวงศึกษา ทำอย่างไรเราถึงจะ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการจากรัฐหรือจากที่เราจัดหา ต้องมีการพูดคุยบูรณาการ ถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกระทรวงจะไม่ตรงกัน แต่ก็สามารถจูนกันได้
งานหลักของเราคือการบังคับใช้กฎหมาย พอมีกฎหมายก็สั่งการได้ไม่ยากแต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือนอกเหนือกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ศิลปะขั้นสูงที่จะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของสวัสดิการพนักงาน
Q – ฝ่ายบุคคลมีส่วนสำคัญแค่ไหน ในการจัดสวัสดิการให้พนักงาน เพราะหลายองค์กร HR มีบทบาทมากในการนำเสนอ
A – มีส่วนสำคัญ ถ้า HR เป็นคนดีดูแลกิจการให้นายจ้างดี มองสวัสดิการที่จัดให้ลูกจ้างดี ทำให้ได้งานที่ดีก็จะจัดให้ แต่ถ้ามองว่าสวัสดิการให้พนักงานเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเงิน ไม่บอกทั้งผู้บริหารและไม่จัดให้พนักงาน เมื่อปัญหาหลายๆ เรื่องหมักหมมพนักงานมาประท้วงหน้าโรงงาน หลายเคสที่เราพบพอเจ้าของตัวจริงลงมาคุยกับลูกจ้างปัญหาหมดไปเลย บางทีเราก็ต้องทำงานกับฝ่ายบุคคลด้วย โรงงานที่มีแบรนด์ต่างๆ ยาวนาน ส่วนใหญ่มาจากการบริหารฝ่ายบุคคลดี บริษัทที่ไม่มีบรรษัทภิบาล ถึงแม้จะรวยเร็วปรู๊ดปร๊าดแต่สักวันก็จะล้มไม่สามารถอยู่ได้ 20-30 ปี
สมัยก่อนเวลาลูกจ้างอยากได้อะไรก็ทำโดยชูมือประท้วง บางทีอาจทำให้จบเรื่องแต่ก็เป็นเหมือนแก้วร้าว ลูกจ้างควรรวมตัวกันนำเสนอสิ่งที่ดี ๆ และให้สิ่งที่ดี ๆ กลับไปหานายจ้างเพื่อแลกสวัสดิการที่ดีขึ้น ตรงนี้เป็นภารกิจที่เราต้องพยายามดันกันต่อ ถ้าคนดีเจอคนดีแล้วคุยกันเองทำเพื่อกันและกันก็ไม่จำเป็นต้องมีกรมสวัสฯ เลย
Q – ประเทศไทย กระแส CSR กำลังมาแรง ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรมองกระแสนี้อย่างไร
A – เรื่อง CSR บางทีทำแบบการตลาดด้วย เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ CSR ที่ดีต้องเริ่มต้นจากคนในองค์กรก่อน แล้วคนข้างในจะเริ่มทำกับคนในชุมชน หลายบริษัทที่มีปัญหาเรื่องมลพิษ จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรอบชุมชนเข้ามาตรวจโรงงาน 6 เดือนครั้ง และบริษัทจะอธิบายกระบวนการ ดูแลน้ำเสียให้ดีก่อนที่จะปล่อยลงคลอง
การทำแบบนี้ทำให้ได้ใจทั้งประธานชุมชนและชาวบ้าน ได้ใจถึงระดับประเทศ แล้วลูกจ้างจะภูมิใจในบริษัทของเขา ทำอย่างไรถึงจะจูงใจให้ผู้บริหารยุคใหม่เห็นเรื่องแบบนี้ เพราะเรื่อง CSR ตอนนี้เป็นเรื่อง World Wide แล้ว อย่าทำเพื่อแบรนด์อย่างเดียว ควรจะทำ CSR อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อชุมชนสังคม และประเทศ

สค.หนุนที่ทำงาน เอื้อคุณภาพชีวิตลูกจ้าง และครอบครัว
สถานที่ทำงานมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะหลายคนใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าบ้านด้วยซ้ำ ดังนั้น การพัฒนาสถานที่ในการทำงานให้เป็นมิตรต่อคนทำงานในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงสวัสดิการที่เอื้อไปถึงครอบครัวพนักงาน ล้วนก่อให้เกิดการผลิตงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด
“การเรียกร้องของแรงงานหรือพนักงาน ที่เน้นเรื่องสวัสดิการ ผู้ประกอบการอาจมองในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุน ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญตรงนี้ ในเชิงของการส่งเสริมให้เหมือนเป็น CSR เป็นสวัสดิการเพื่อคืนกำไรให้สังคม
“การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อลูกจ้าง รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อพนักงานรวมไปถึงครอบครัว รัฐมีการสนับสนุนเพื่อจะสร้างแรงจูงใจในหลายด้าน”
เป็นมุมมองจาก จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เห็นถึงอุปสรรคในการสร้างสวัสดิการให้กับพนักงานของสถานประกอบการหลายแห่ง

ทำงานอย่างเป็นสุข ได้งานดีมีคุณภาพ
ปัจจุบัน สถานประกอบการหลายแห่งเริ่มเล็งเห็นความสำคัญ และจัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อครอบครัวของพนักงาน/ลูกจ้าง แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก ความร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในการสนับสนุนให้สถานประกอบการ ภาครัฐมีแนวนโยบายเรื่องการดูแลผู้หญิงวัยแรงงานและบุตร และพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ/องค์กร ที่มีความสนใจในการพัฒนาแนวทางส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง ให้แก่พนักงาน/ลูกจ้าง
อธิบดีจินตนา เผยแนวคิดว่า สถานที่ทำงานที่สร้างความสุขต่อการทำงาน จะมีผลต่อสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ รวมทั้งต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น ลานจอดรถไม่เปลี่ยว มีห้องน้ำที่มีสัดส่วนเพียงพอทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีห้องให้นมบุตร ช่วงปิดเทอมสามารถจัดห้องสักห้องให้เด็กอยู่ได้ เพราะพ่อแม่จะต้องพามาที่ทำงานด้วย เนื่องจากไม่มีใครเลี้ยงดูลูกอยู่ที่บ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับพนักงาน/ลูกจ้าง
“อีกส่วนสำคัญ คือการเหลื่อมเวลาทำงาน โดยการทำงานที่มีการยืดหยุ่นเวลาทำงาน คงไม่ได้มองที่การจราจรเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองที่การเอื้อต่อครอบครัวที่มีบุตรต้องดูแลด้วยเช่น คนที่ต้องไปรับส่งลูกไปโรงเรียน การทำงานจึงไม่จำเป็นต้องเข้า 8:00 น. เลิก 16:30 น. แต่วัดกันที่คุณภาพของงานดีกว่า
“เงินที่สถานประกอบการลงทุนไป ไม่ทำให้ผลกำไรลดน้อยลงแต่กลับไปเพิ่มกำไรให้องค์กรในเรื่องประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น พนักงานที่เป็นแม่ทำงานได้เต็มเวลามากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลลูก หรือการเหลือเวลาหรือการไปทำงานที่บ้านก็ทำผลผลิตให้ได้เท่ากัน” อธิบดี สค. กล่าว
รัฐสนับสนุน สร้างแรงจูงใจ
การที่จะให้เกิดสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว ไม่ได้เกิดเพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน
อธิบดี สค. เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เคยมีมติสนับสนุนในเรื่องของสวัสดิการ อย่างเช่น การผลักดันเรื่องการลาคลอดจาก 90 วันเป็น 98 วันโดยได้รับค่าจ้าง การจัดให้มีสถานดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ หรือการให้สามีสามารถลาไปช่วยภรรยาดูแลบุตร ในช่วงแรกคลอด 15 วันติดต่อกัน อาจให้ลาเป็นช่วง ๆ ได้ ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่กำลังผลักดันอยู่ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน
“อย่างเรื่องวันลาของคุณพ่อเพื่อไปช่วยภรรยาดูแลลูก สามารถนำไปเชิญชวนสถานประกอบการต่าง ๆให้ปฏิบัติตามได้ ถ้า ครม.เห็นชอบและมีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งนายจ้างควรตระหนักและให้ความสำคัญ
“รัฐมีการสร้างแรงจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีได้ เป็นการให้ Social credit ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เราต้องขับเคลื่อนไปในแนวทางนี้ อย่างสถานประกอบการอาจมีการสร้างศูนย์เด็กเล็กซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษี หรือเพิ่มในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะจัดบริการ”
อธิบดี สค. เชื่อว่าด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นอีกแรงจูงใจให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการ นอกจากลูกจ้างจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สถานประกอบการยังได้ประโยชน์ ทั้งการทำเพื่อสังคม ทั้งรายได้ กำไร และลดรายจ่ายของสถานประกอบการ

เปิดช่องทางออนไลน์ ให้คำปรึกษาครอบครัว
ไม่เพียงสนับสนุนให้สถานประกอบการ จัดสวัสดิการที่เป็นมิตรต่อพนักงานและครอบครัวเท่านั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวยังตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำเว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรองรับประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในงานนอกระบบหรือแรงงานในระบบ ให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของครอบครัว เรื่องการสมดุลของการใช้ชีวิตในวัยต่าง ๆ
“เว็บไซต์มีการให้คำแนะนำปรึกษาในด้านต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องกฎหมายครอบครัว เรื่องของครอบครัว เรื่องเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร
“ปัญหาที่คนมาปรึกษามีหลายประเด็น เช่น เรื่องความเครียดในที่ทำงาน สัมพันธภาพในที่ทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เห็นว่าที่ทำงานนั้นมีความสำคัญมาก เรื่องของครอบครัวมีคนเข้ามาปรึกษาทุกวัน”
อธิบดี สค. ยืนยันว่า การทำงานของกรมฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน่วยราชการเท่านั้น แต่มองที่องค์กรเอกชนด้วย เมื่อติดขัดเรื่องใดจะต้องหาคนที่มีพลังมาร่วม เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงสำคัญที่สุด การทำงานที่จะขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ไปได้เร็วต้องมีภาคีเครือข่าย อาทิ เรื่องศูนย์เด็กเล็ก ทางกระทรวงมหาดไทย และ กรุงเทพมหานคร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ถ้าผ่านกลไกระดับชาติจะมีหน่วยงานบางแห่งสามารถรับไปทำได้ตามแผนงานที่วางไว้

เว็บไซต์ “ข่าวสด” นำเสนอเสวนาออนไลน์ ดูแลคน-ดูแลครอบครัว ในวิกฤตโควิด-19

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด นำเสนอข่าวการเสวนาออนไลน์ “ดูแลคน-ดูแลครอบครัว ในวิกฤตโควิด-19” ที่จัดโดยเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อครอบครัว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564

เยี่ยมชม “เดย์แคร์” ไทยพีบีเอส

ภาคีเครือข่ายครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งในสถานประกอบการ เยี่ยมชมศูนย์เด็กเล็กไทยพีบีเอส