พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แกร่งกว่าที่คิด

“ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ที่ทำงานส่วนใหญ่มักจะคิดว่าพนักงานแต่งงานแล้ว ต้องมีคู่แต่งงาน และถ้ามีลูก ก็ต้องมีคนช่วยดูแลลูก ฉะนั้น จะเรียกตัวพนักงานเมื่อไรก็ได้”

ทันซิน่า เวก้า นักข่าวและผู้จัดรายการวิทยุ The Takeaway พูดถึงวัฒนธรรมทำงานหนักในปัจจุบัน ที่บริษัทมองว่าพนักงานต้องพร้อมเรียกใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทันซิน่ายังบอกอีกว่า การละเลยความเป็นจริงว่าพนักงานมีภาระต้องดูแลครอบครัว ดูแลลูก โดยเฉพาะพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำให้นโยบายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบริษัทไม่ครอบคลุม และสอดคล้องต่อความต้องการ

ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนัก สถานรับเลี้ยงดูเด็ก โรงเรียนถูกสั่งปิด พนักงานที่มีครอบครัวต้องรับสองหน้าที่พร้อมกัน ทั้งการเป็นพนักงานออฟฟิศ และเป็นพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูก ทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง พอนาน ๆ เข้า อาการเครียดส่งผลให้มีภาวะหมดไฟในการทำงาน (ภาวะ Burnout) ไปในที่สุด

บริษัทยุคใหม่สนใจ จ้างพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

ขณะที่หลายบริษัทอาจเชื่อว่า พนักงานที่มีสถานะเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวน่าจะไม่ทุ่มเทกับการทำงาน จึงไม่อยากจ้างพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ก็มีบริษัทจำนวนอีกหนึ่งที่มองเห็นโอกาส ด้วยความเชื่อที่ว่า การจ้างพนักงานที่เลี้ยงลูกคนเดียว น่าจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจ

บริษัทเหล่านี้เชื่อว่าพนักงานที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจะรู้จักการจัดสรรเวลาที่ดี และมีทักษะการจัดการปัญหาดีเยี่ยม ซึ่งจะทำให้งานมีประสิทธิภาพ เพราะคนเหล่านี้เห็นคุณค่าของเวลา เนื่องจากมีเวลาจำกัด จึงจะไม่ยอมเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ยังเชื่ออีกว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นพนักงานที่ยินดีทำงานหนัก และไม่เปลี่ยนงานบ่อย เพราะมีภาระรับผิดชอบเรื่องลูก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องการงานที่มั่นคง และยินดีที่จะทำงานหนักทุ่มเทให้กับบริษัท

เลี้ยงเดี่ยว สู้วิกฤต

ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีอัตราพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวสูงที่สุดในโลก เด็ก ๆ ชาวอเมริกันราว 1 ใน 4 โตมากับพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว และส่วนใหญ่ราว 80 เปอร์เซ็นต์เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว

แม้จะมีความเข้มแข็งเพราะต้องต่อสู้ตามลำพัง กระนั้น พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง 

ในช่วงโควิดระบาดที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2020 พบว่ากลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวคือกลุ่มเปราะบาง เพราะมักมีค่าแรงต่ำ ทำงานที่ไม่มั่นคง จึงมักจะถูกไล่ออกก่อนกลุ่มอื่น ขาดรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว

ทิฟฟานี่ ซาบาร่า คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่อาศัยอยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟียให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า การระบาดของโควิดทำให้เธอตกงาน เพราะร้านอาหารถูกสั่งปิด เธอขาดรายได้ และไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ทำให้ต้องพาลูกไปนอนในรถ  แต่ท้ายที่สุดก็มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านที่พัก ลูกสาวของเธอขาดการเรียนและต้องตามเพื่อนให้ทัน

นอกเหนือจากการถูกไล่ออกจากงาน การขาดคนดูแลเด็กก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องลาออกจากงานด้วยเช่นกัน เมื่อโควิดระบาด โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กสั่งปิด พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีคนดูแลลูก และไม่สามารถขอบริษัททำงานที่บ้านได้ ต้องลางานหรือออกจากงานมาดูแลลูกอยู่ที่บ้าน

นโยบาย/สวัสดิการ ดูแลครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

ดร.สเตฟานี ลี ผู้อำนวยการศูนย์ Child Mind Institute ที่ดูแลสุขภาพจิตของเด็กและครอบครัว ระบุว่าภาวะเหนื่อย เครียด หมดแรง กำลังเป็นภาวะที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวกำลังเผชิญในวิกฤติโควิด สิ่งที่บริษัท สามารถช่วยแบ่งเบาพนักงานได้คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นเอื้อต่อการทำงานที่มีความยืดหยุ่น เน้นความสร้างสรรค์มากกว่าการใช้เวลานาน หรือมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

บางประเทศมีนโยบายด้านแรงงานที่มุ่งสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้แก่ลูกจ้าง เช่น การลางานของพ่อแม่

ในประเทศนอร์เวย์ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีสิทธิลาได้ 20-30 วันต่อปี เพื่อดูแลลูกป่วย แต่พ่อแม่คู่สมรสมีสิทธิลาได้แค่ 10-15 วัน

ส่วนเยอรมนี ให้สิทธิพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ลาได้ 20 วัน ส่วนพ่อแม่คู่สมรสลาได้ 10 วันเท่านั้น โดยมองว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรับภาระ 2 เท่า

หรือแม้แต่การให้พนักงานได้หยุดงาน หรือพักผ่อนร่างกายและจิตใจในช่วงที่กำลังมีความเครียด เหนื่อยจากการทำงาน หรือมีเรื่องฉุกเฉินต้องไปจัดการก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ตามกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ พนักงานมีสิทธิขอลาได้อย่างน้อย 12 อาทิตย์ต่อปีเพื่อเหตุผลในการดูแลลูกและครอบครัว

อัลลิสัน กริฟฟิน เป็นรองประธานบริษัท Whiteboard Advisors บริษัทให้คำปรึกษาภาคธุรกิจ และเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกชาย 2 คน ระบุว่าการระบาดของโควิดทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งต้องเลี้ยงลูกที่อยู่บ้านตลอดเวลา เพราะโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กปิดเนื่องจากโควิดระบาด

เธอใช้วิธีแก้ปัญหาคือ การเจรจากับบริษัทเพื่อให้ปรับการทำงานโดยมีเวลาที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น บริษัทรับรู้ถึงความเครียดจากการทำงานและการต้องเลี้ยงดูลูกในช่วงโควิด จึงยินดีที่จะรับฟังและให้กริฟฟินทำงานที่บ้าน และหยุดพักได้เมื่อรู้สึกว่างานหนักหน่วง

ชีวิตประจำวันของกริฟฟินในช่วงนี้ คือการออกกำลังกายตอนเช้า ก่อนเข้างาน เมื่อเริ่มลงมือทำงานเธอจะเลือกงานที่มีความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรก และแยกเวลาทำงานกับเวลาจัดการเรื่องในบ้านออกจากกันอย่างชัดเจน กริฟฟินจะเคลียร์งานให้หมดในวันศุกร์ ส่วนวันหยุดสุดสัปดาห์ เธอจะอยู่กับลูก ๆ โดยไม่เปิดหน้าจอคอม หรือตอบอีเมลเลยเป็นอันขาด

“ฉันเชื่อว่าโควิดทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ฉันเห็นเพื่อนร่วมงานหลายคนประชุมออนไลน์มีแมวนั่งอยู่บนตัก บางคนมีลูก ๆ วิ่งเล่นอยู่ข้างหลัง บางคนมีผู้สูงวัยต้องดูแลในบ้าน ฉันรู้สึกว่าถ้าเรามีเวลาที่ยืดหยุ่น จะทำให้สามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้นมากๆ เลย” กริฟฟินระบุ

ที่มา :
https://www.shrm.org/
https://hbr.org/
https://www.linkedin.com/