โควิด-19 ระบาด ลูกจ้างต้องลางาน เพื่อดูแลคนป่วยในครอบครัว ส่งผลให้กฎหมายลาดูแลผู้ป่วย โดยได้รับค่าจ้าง กลายเป็นประเด็นในสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะถูกเสนอในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ปีหน้า
“สามีฉันเป็นมะเร็งปอด ตอนนี้ฉันต้องรับภาระครอบครัวคนเดียวเลยค่ะ ถ้าลาหยุดโดยที่ยังได้รับค่าจ้างจะช่วยได้เยอะเลย ฉันคิดว่าเราควรมีสิทธิในการดูแลคนในครอบครัวหรือคนที่เรารักนะ”
คริสตีน ลาวอลต์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Raise Up Massachusetts รู้สึกดีใจมากหลังจากรัฐแมสซาชูเซตส์ ประกาศแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างของรัฐและเอกชนสามารถลาหยุดเพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่เจ็บป่วย เป็นเวลา 12 สัปดาห์ และยังได้รับค่าจ้าง โดยกฎหมายฉบับนี้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
คริสตีนเข้าร่วมกลุ่ม Raise Up Massachusetts ตั้งแต่ปี 2018 ภารกิจหลักคือการรณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมายลาหยุด และล่ารายชื่อผู้สนับสนุนการแก้ไขกฎหมาย
กฎหมายใหม่ ลาดูแลคนป่วย ได้ค่าจ้าง
กฎหมายการลาหยุดเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวของสหรัฐฯ เป็นกฎหมายแรงงานที่ชื่อว่า Family and Medical Leave Act บังคับใช้ตั้งแต่ปี 1993 ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน
กฎหมายฉบับนี้ระบุว่าพนักงานหรือลูกจ้างสามารถใช้วันลาได้สูงสุด 12 สัปดาห์โดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง
กฎหมายนี้อนุญาตให้ลูกจ้างองค์กรลาหยุดเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วย หรือรักษาตัวจากอาการป่วยหนักได้ด้วย
มีรายงานว่านโยบาย Family and Medical Leave Act ช่วยให้พนักงานสามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวได้จริง แต่การขาดรายได้จากการลาทำให้พนักงานมีปัญหาเรื่องการเงิน และต้องไปทำงานนอกเวลาที่ได้ค่าตอบแทนน้อยเพื่อมาจุนเจือครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องแบ่งเวลามาดูแลสมาชิกในครอบครัวที่กำลังป่วยอยู่ด้วย
ในปี 2018 มลรัฐแมสซาชูเซตส์ เริ่มปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มสิทธิลูกจ้างให้ครอบคลุม ในชื่อว่า Paid Family Medical Leave โดยได้รับการสนับสนุนเงินภาษีของท้องถิ่น ถือเป็นมลรัฐแรก ๆ ในสหรัฐฯ ที่ให้สิทธิลูกจ้างลาหยุดหลายสัปดาห์และยังได้รับค่าจ้างอยู่
กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายเฉพาะมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เน้นคุ้มครองลูกจ้างทุกภาคส่วน ลูกจ้างที่มีครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส คู่ชีวิต ลูก ลูกเลี้ยง พ่อแม่ของตัวเองหรือพ่อแม่ของคู่สมรส รวมถึงพี่น้อง ปู่ย่าตายาย และหลาน สามารถลาหยุดเพื่อไปดูแลได้
ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนจะสร้างนโยบายที่อนุญาตให้ลูกจ้างลาหยุดและยังได้รับเงินค่าจ้าง ให้มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ รวมถึงขยายการคุ้มครองในกรณีการลาป่วย ลากิจด้วยเงื่อนไขที่ต่างกัน
รีวิววันลา นานาประเทศ
นโยบายลางานเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวแต่ยังได้รับค่าจ้าง (Paid Leave) ถือเป็นนโยบายใหม่ที่เพิ่งมีขึ้น มีการสำรวจในกลุ่มประเทศ OECD จำนวน 36 ประเทศ พบว่านโยบายลาหยุดเนื่องจากเหตุครอบครัวมีอยู่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลาคลอดของพ่อแม่มือใหม่ ยังมีนโยบายลากิจฉุกเฉินสำหรับดูแลลูก หรือสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรีย ลูกจ้างมีสิทธิลาหยุดและยังได้เงินค่าจ้าง เพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวได้ปีละไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้าลูกป่วย จะลาได้ไม่เกิน 14 วัน ส่วนเอสโตเนีย สเปน สวีเดน กำหนดว่า ลาได้เพียง 2-3 วันต่อครั้งเท่านั้น ส่วนในเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฮังการี ลัตเวีย ให้ลาเฉพาะดูแลลูกเท่านั้น เป็นต้น
ในทางกลับกัน ประเทศอังกฤษและอเมริกันไม่ได้มีกฎหมายระบุชัดเจนว่านายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างที่ลาหยุดเพราะสาเหตุจากครอบครัว ดังนั้นการลาที่เกิดขึ้น มักจะเป็นการลาแบบไม่ได้รับค่าจ้าง (Unpaid Leave)
สู่วาระผลักดันแก้กฎหมาย
สหรัฐฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศร่ำรวย ที่สวัสดิการแรงงานต่ำ ปัจจุบัน ยังไม่มีนโยบายส่วนกลางกำหนดให้พนักงานลาหยุดและยังได้เงินค่าจ้าง ดังนั้น การได้หรือไม่ได้เงินเมื่อลาหยุดจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบันมีแรงงานเพียงร้อยละ 21 ในสหรัฐฯ ที่ยังได้รับค่าจ้างถ้าลาคลอด หรือลาดูแลสมาชิกในครอบครัว
“โควิดเปลี่ยนทุกอย่างหมดเลยครับ ทำให้เราเห็นจุดโหว่ในระบบที่ขยายใหญ่ขึ้น คนยิ่งตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีหลักประกัน”
ดอว์น ฮักเกิ้ลบริดจ์ ผู้อำนวยการกลุ่มรณรงค์การแก้ไขกฎหมายลาหยุด Paid Leave for All กล่าว
ที่ผ่านมา นโยบายการลาหยุดแต่ยังได้เงิน มักถูกโจมตีจากภาคธุรกิจว่าทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มต้นทุนให้แก่บริษัท แต่หลังที่โควิด-19 แพร่ระบาดในสหรัฐฯ นโยบายดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยเหลือพนักงานในภาวะฉุกเฉิน โดยเฉพาะพนักงานต้องลาเพื่อดูแลสมาชิกครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด ขณะที่ยังมีรายได้จากบริษัทช่วยเหลือ และมีหลักประกันว่าจะไม่สูญเสียงานจากการลาหยุดชั่วคราว
Paid Leave for All ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และพบว่าประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นพวกนิยมพรรคเดโมแครตและรีพับรีกันต่างสนับสนุนนโยบายนี้ เพราะต้องการให้รัฐบาลกลางแก้ไขกฎหมายเพื่อให้บังคับใช้ทั่วประเทศ
คาดการณ์ว่าการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างลาหยุดและยังได้รับเงิน จะถูกพูดถึงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐที่กำลังจะมาถึงในปี 2022
ส่วนในประเทศไทย เริ่มมีบริษัทเอกชนบางแห่งที่ให้สิทธิการลาดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วยกับพนักงาน เนื่องจากสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และสถานประกอบการพบว่า พนักงานมีความจำเป็นในการดูแลพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องในบ้านที่เจ็บป่วยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา :
https://www.metrowestdailynews.com/
https://www.shrm.org/
https://bipartisanpolicy.org/
https://www.americanprogress.org/
https://www.vox.com/