“ที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” ฟื้นเศรษฐกิจ เยียวยาสังคม หลังโควิด-19

โควิด-19 เปลี่ยนรูปแบบการทำงานทั่วโลก หลายบริษัทเร่งออกมาตรการ ช่วยพนักงานดูแลครอบครัวเมื่อต้องทำงานที่บ้าน ผู้เชี่ยวชาญแนะองค์กรทบทวนระบบงาน/สวัสดิการ ชี้การแบ่งเบาภาระครอบครัวคนทำงาน ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาดคลี่คลาย รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเด็กและสังคม

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้องค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น ที่มีวัฒนธรรมการทำงานหนัก เข้มงวดกวดขัน และแบ่งแยกชัดเจนระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ บริษัทญี่ปุ่นก็จำต้องให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งแสนจะเป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรและคนทำงานไม่คุ้นชิน

เมื่อโลกการงานและครอบครัวมารวมตัวในจุดเดียว บริษัทจึงเริ่มเห็นถึงความยุ่งยากที่พนักงานต้องรับมือ ทั้งเรื่องการงาน ที่บางครอบครัวต้องเผชิญปัญหารายได้ลดลง ทำให้เกิดความเครียด ต้องหารายได้เสริม พนักงานหลายคนไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก พอมือหนึ่งต้องทำงาน อีกมือหันไปจัดการกับเจ้าตัวเล็ก ความทุลักทุเลสะท้อนชัดมายังประสิทธิภาพการทำงานที่ถดถอย

Cheraya Pena ผู้อำนวยการโครงการ The Best Place for Kids บอกว่าโควิดทำให้บริษัทหลายแห่งเร่งปรับตัวกันจ้าละหวั่น หลายที่แทบไม่เคยมีนโยบายเป็นมิตรต่อครอบครัว แต่ต้องหาทางช่วยเหลือพนักงาน เพื่อกอบกู้ไม่ให้คุณภาพงานตกต่ำลง

“บริษัทหลายแห่งรีบออกนโยบายสนับสนุนด้านสุขภาพแก่พนักงาน หลายที่มีสถานรับเลี้ยงเด็กโผล่มาทันที หลายบริษัทพบว่านโยบายที่ออกมาในช่วงเวลาโควิดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานได้อย่างเห็นผล แถมพนักงานยังเกิดความรู้สึกที่ดีกับบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนตัว มองว่าเรื่องที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวคนทำงาน คงไม่เกิดขึ้นใน 5-10 ปีนี้แน่ แต่พอมีโควิด ทุกที่ต้องปรับตัวใหม่กันหมด”

Zoetis บริษัทผลิตยาสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ในสหรัฐอเมริกา มีเนิร์สเซอรีสำหรับพนักงาน แต่พอให้พนักงานทำงานที่บ้าน บริษัทก็ต้องหาวิธีการที่จะช่วยตามไปดูแลลูกให้กับคนทำงานด้วย เพราะถ้าต้องรอให้ลูกหลับก่อนถึงจะเริ่มทำงานได้ บริษัทเล็งเห็นแล้วว่าไม่น่าจะไหวแน่

บริษัทเลือกการใช้บริการเว็บไซต์จัดหาพี่เลี้ยงเด็กออนไลน์ เพื่อค้นหาพี่เลี้ยงเด็กที่อยู่ใกล้บ้านพนักงานมาช่วยเหลือ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ และได้รับเสียงชื่นชมจากพนักงานเพราะการมีพี่เลี้ยงช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

การทำงานสไตล์ New normal

แพตทริเซีย โคล ผู้อำนวยการ Zero to Three สำนักงานตั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. องค์กรเชื่อมั่นว่าการดูแลเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกมีความสำคัญสูงสุด จึงเดินหน้าภารกิจในการสร้างหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากครอบครัว ชุมชน รวมถึงที่ทำงานของพ่อแม่

แพตทริเซียบอกว่านโยบายบริษัทที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เนื่องจากรูปแบบการทำงานจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะต้องถูกนำมาพิจารณาและจัดทำแผนการทำงานกันใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพและสุขภาวะของพนักงาน ที่ครอบคลุมถึงชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัวของพนักงาน จะเป็นแนวคิดใหม่ที่บริษัทต้องนำมาปรับใช้

Family Friendly Workplace จำเป็นขั้นสุดหลังโควิด

ขณะที่ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะติดตามมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์การยูนิเซฟ รายงานว่า ปัญหาการเงินในครอบครัวทำให้เด็กจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากจน โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กกว่า 19 ล้านคนทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียน เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว

“เรากำลังพ่ายแพ้การต่อสู้เรื่องปัญหาแรงงานเด็ก ปีนี้เข้าสู่ปีที่สองของการระบาดทั่วโลก โรงเรียนถูกสั่งปิด เศรษฐกิจถดถอย งบประมาณของรัฐบาลไม่พอใช้ หลายครอบครัวไม่มีทางเลือก ต้องให้ลูกออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงาน” เฮนเรียตตา ฟอร์ ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ระบุในถ้อยแถลง

รายงานของยูนิเซฟระบุว่า การที่บริษัทหรือนายจ้างอนุญาตให้พนักงานมีเวลาจัดการกับปัญหาส่วนตัวหรือมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ช่วยลดความยากจนในครัวเรือน ช่วยให้เด็กไม่ต้องถูกทิ้งหรือเผชิญกับความรุนแรง เป็นต้น โดยเฉพาะการอนุญาตให้พนักงานที่เป็นพ่อแม่สามารถจัดการเวลาทำงานได้อย่างยืดหยุ่น การอนุญาตให้ลาเลี้ยงลูก หรือลาหยุดเมื่อมีกรณีฉุกเฉิน โดยไม่หักค่าตอบแทน การมีสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับคนทำงาน