คุณพ่อลาคลอด เพิ่มบทบาทในบ้าน เติมคุณค่าให้แบรนด์

ข่าวการประกาศใช้สิทธิพ่อลาดูแลลูกของเจ้าชายแฮร์รีแห่งสหราชอาณาจักร ได้รับความสนใจและเสียงชื่นชมจากคนทุกมุมโลก หลังจากภรรยา เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซ็กส์ คลอดลูกคนที่ 2 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

เจ้าชายแฮร์รีประกาศบนเว็บไซต์มูลนิธิส่วนพระองค์ Archiwell Foundation ว่าจะขอใช้สิทธิลาดูแลลูกแบบเต็มเวลาพร้อมกับภรรยา เพื่อดูแลลูกน้อยที่เพิ่งเกิดใหม่เป็นระยะเวลา 20 สัปดาห์ ตามโควตาพนักงานมูลนิธิฯ ขณะที่สื่อพากันชื่นชมว่าเป็นการส่งสัญญาณกระตุ้นให้ผู้ชายใช้สิทธิพ่อลาดูแลลูกเต็มเวลา

เจ้าชายแฮร์รีเคยกล่าวเมื่อครั้งที่พระองค์ใช้สิทธิลาดูแลลูกคนแรกว่า “เป็นสิ่งที่พ่อยุคใหม่ควรกระทำ”

ปัจจุบัน มีบริษัทหลายแห่งเสนอให้พนักงานชายที่เป็นคุณพ่อลูกอ่อนสามารถลาเพื่อช่วยภรรยาดูแลลูกน้อย แต่ในความเป็นจริง มีพ่อจำนวนมากลังเลที่จะใช้สิทธินั้น

การลาเลี้ยงดูลูกสำหรับผู้ชาย ได้รับการยอมรับว่าเป็นนโยบายที่ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี จะทำให้ลูกผูกพันกับพ่อมากขึ้น และยังช่วยแบ่งเบาภาระของภรรยา ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของชายหญิง และยังช่วยให้คุณพ่อทั้งหลายตระหนักถึงคุณค่าของครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย

ข้อติดขัด เมื่อคุณพ่อจะลาคลอด

นโยบายพ่อลาเลี้ยงดูลูก ถูกริเริ่มในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ในช่วงทศวรรษที่ 70 เป้าหมายหลักคือการแบ่งเบาภาระผู้หญิง จากเดิมที่มีแต่ผู้หญิงลาเพื่อคลอดลูกและเลี้ยงลูกเพียงผู้เดียว

ในประเทศนอร์เวย์ คุณพ่อกว่าร้อยละ 90 จะใช้สิทธินี้ เพื่อดูแลลูกสลับกับภรรยา คุณพ่อชาวนอร์เวย์จะได้ฝึกอาบน้ำ แต่งตัว ป้อนอาหาร เล่นกับเด็กทารก เด็ก ๆ จะผูกพันกับทั้งพ่อและแม่ รวมทั้งได้เรียนรู้ทักษะหลายอย่างจากผู้ปกครองทั้งสองคน

ปัจจุบัน นโยบายพ่อลาดูแลลูกมีในหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปชี้ว่า นโยบายนี้ของประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5 วัน แต่มีพ่อเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่ใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

สาเหตุที่ผู้ชายส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ลา หรือลาเพียงไม่กี่วัน ก็รีบกลับมาทำงาน แม้ว่าบริษัทจะมีวันลาให้ เป็นเพราะว่ากลัวจะสูญเสียโอกาสความก้าวหน้าในชีวิตการงาน กลัวว่าการลาจะทำให้ตนเองพลาดงานสำคัญที่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง บางรายกลัวว่าจะเสียหน้าที่การงานจากการลาไปดูแลลูก

ความจริงแล้ว ผู้ชายก็อยากลาคลอด บริษัทด้านการบริหารจัดการชื่อดัง Mckinsey & Company ทำการสำรวจเมื่อปี 2020 พบว่าผู้ชายส่วนมากก็อยากลาเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว และในรายที่บริษัทอนุญาตให้ลา ก็บอกว่ารู้สึกดีมากที่ได้จัดสรรเวลาเพื่อครอบครัว ทำให้เห็นคุณค่าของเวลา และเริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร กระตุ้นคุณพ่อลาคลอด

บริษัทรถยนต์วอลโว ซึ่งมีพนักงานกว่า 40,000 คนทั่วโลก พยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้กลายเป็นบริษัทที่คำนึงถึง “Family Bond” หรือความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลักก่อนการทำงาน

วอลโวพยายามสื่อสารกับพนักงานให้ใช้สิทธิลาคลอดอย่างเต็มที่ โดยมีวันลาคลอดให้กับพนักงานทุกเพศเป็นเวลา 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน โดยได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของฐานเงินเดือนเดิม

“เราเชื่อว่าการเป็นบริษัทที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์และคุณค่าของครอบครัว เป็นการสร้างคุณค่าของแบรนด์เรา” ฮากาน ซามูเอลสัน ซีอีโอวอลโวระบุ

วอลโวบอกว่า การลาคลอด 24 สัปดาห์ คือมาตรฐานขั้นต่ำที่บริษัทต้องการสร้างขึ้น บริษัทฯ ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาเมื่อบอกว่าบริษัทอนุญาตให้พ่อลาเลี้ยงลูกได้ พนักงานจำนวนมากลังเลและไม่กล้าใช้สิทธิเต็มเวลาเพราะกลัวเสียหน้าที่การงาน บริษัทจึงเน้นย้ำว่าพนักงานจะได้สิทธิลาคลอด 24 สัปดาห์แบบ “เต็มจำนวน” ไม่ใช่ “ลาได้สูงสุด 24 สัปดาห์”

ที่ผ่านมา มีนโยบายนำร่องในภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา พบว่ามีพนักงานชายใช้สิทธิลาคลอดคิดเป็นร้อยละ 46 ของพนักงานทั้งหมด

“ผมคิดว่าถ้ามันทำให้แบรนด์เข้มแข็ง เป็นบริษัทที่น่าดึงดูดสำหรับพนักงาน ให้ประโยชน์แก่คนทำงาน อย่างไรก็คุ้ม ผมยังเชื่อด้วยว่าเรากำลังสร้างมาตรฐานแบบใหม่ให้กับธุรกิจปัจจุบัน” ซีอีโอวอลโวระบุ

ที่มา :
https://www.thehrdirector.com/
https://www.today.com/
https://www.media.volvocars.com/
https://www.cnbc.com/