เรียบเรียง : พงศธร สโรจธนาวุฒิ
“การส่งเสริมการมีบุตร” เป็น 1 ใน 7 ของนโยบายเด่น ที่อาจถูกจัดทำเป็น นโยบาย Quick Win 100 วันเห็นผลทำสำเร็จ ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน
การส่งเสริมประชาชนให้มีลูก ถือเป็นนโยบาย “ปราบเซียน” เพราะเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวด สำหรับรัฐบาลในหลายประเทศ ที่ต่างก็เผชิญสถานการณ์คนเกิดน้อย คนรุ่นใหม่ไม่ยอมมีลูก จนประชากรจะไม่พอมาช่วยกันพัฒนาประเทศ
เราจะลองมาดูกันว่า บ้านเมืองอื่น ทำอะไรกันบ้างในเรื่องนี้

สหรัฐอเมริกา
รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนในเว็บไซต์ของรัฐบาล ว่าไม่มีนโยบายควบคุม เพิ่ม/ลด ประชากร
เพราะมองว่าจำนวนประชากรต้องถูกกำหนดด้วยความต้องการของคู่ชีวิต รัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ให้ประชาชนเท่านั้น
แม้ไม่ได้มีนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูก แต่สหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนเด็กและครอบครัว เช่น
- เงินช่วยเหลือครอบครัวยากจน
- ลดหย่อนภาษีคนมีลูก
- กฎหมายลาคลอด ขั้นต่ำ 12 สัปดาห์
- สวัสดิการด้านประกันสุขภาพของเด็ก

สาธารณรัฐประชาชนจีน
เริ่มนโยบายลูกคนเดียว (จะให้สวัสดิการรัฐแก่ลูกเพียงคนเดียวของครอบครัว ใครมีลูกเกินจะโดนปรับเงิน) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 60
ผลคือ อัตราการเกิดลดลงเรื่อย ๆ
ในปี 2015 รัฐบาลจีนเปลี่ยนเป็นนโยบายลูกสองคน แต่ตัวเลขการเกิดยังต่ำอยู่ดี
ปี 2021 เปลี่ยนเป็นนโยบายลูกสามคน
งานวิจัยพบว่า ที่ตัวเลขการเกิดต่ำในจีนทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพราะนโยบายลูกคนเดียว ที่ดำเนินมากว่า 50 ปีเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสภาพสังคมเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ทำให้คนไม่อยากมีลูกด้วย
ดังนั้น รัฐบาลจึงเริ่มมาตรการต่าง ๆ เช่น อุดหนุนสถานรับเลี้ยงเด็ก ลดหย่อนภาษี เพราะกลัวว่าอนาคตจะเกิดสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก
ปัจจุบัน มีเหตุการณ์ 4-2-1 แล้ว คือ คนวัยแรงงาน 1 คนต้องแบกรับภาระดูแลพ่อแม่ 2 คน และปู่ย่าตายายรวมเป็น 4 คน
ล่าสุด จีนแบนโรงเรียนกวดวิชาเอกชนเพราะเชื่อว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าสูงในครัวเรือน และทำให้คู่แต่งงานไม่อยากมีลูกเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สิ่งที่ตามมาคือโรงเรียนกวดวิชาใต้ดินที่มีราคาแพงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ประเทศญี่ปุ่น
อัตราการเกิดของญี่ปุ่น ลดลงเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมสูงวัยเร็วกว่าที่อื่น ๆ แถมมีผู้อพยพน้อย ขาดแคลนคนวัยแรงงาน
รัฐบาลริเริ่มโครงการกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้นตั้งแต่ยุค 1990 เช่น สนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงการอนุญาตให้คนทำงานลางานมาเลี้ยงลูก แต่ในสังคมญี่ปุ่น พนักงานออฟฟิศที่แต่งงานและยังทำงานอยู่มักเป็นผู้ชาย ซึ่งจะไม่ลาไปเลี้ยงลูกเพราะกลัวโดนไล่ออก
งานวิจัยบอกว่า แม้จะพยายามแก้ไขปัญหามา 30 ปี แต่ตัวเลขัตราเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นก็ยังไม่เพิ่มเท่าที่รัฐบาลพอใจ
ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลไม่ได้มองถึงวัฒนธรรมและค่านิยม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก เช่น การแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ชายหญิงชัดเจนในญี่ปุ่น ผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วต้องลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน รวมถึงค่านิยมการทำงานหนัก ชั่วโมงทำงานยาวนาน ล่วงเวลา รวมถึงค่านิยมการแข่งขันในเรื่องการศึกษา ยังไม่ได้ถูกแก้ไข

เกาหลีใต้
เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่อัตราเจริญพันธุ์ ต่ำที่สุดในโลก คือเพียง 0.78 (ข้อมูลปี 2022 ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน มีลูก 0.78 คน)
รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกมาตั้งแต่ปี 2006 เช่น นโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนพ่อแม่ สนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็ก และการลาคลอดเลี้ยงลูก ..แต่ไม่ได้ผลเลย
นักวิชาการเชื่อว่า ที่นโยบายไม่ได้ผล คนเกาหลียังคงไม่อยากมีลูก เนื่องมาจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงเรื่อยมา ค่าใช้จ่ายค่านิยมการศึกษาที่แข่งขัน ความเครียดในเศรษฐกิจ ชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศ ผู้หญิงต้องลาออกจากงานเมื่อมีลูก

ออสเตรเลีย
ออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมาตั้งแต่ยุค 70 แต่รัฐบาลไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา จึงไม่ได้มีนโยบายชัดเจน
จนกระทั่ง ช่วงปี 2000 มีตัวเลขการเกิดต่ำสุดในรอบ 50 ปี รัฐบาลต้องรีบออกนโยบาย เช่น เพิ่มเงินอุดหนุนคนมีลูก ลดหย่อนภาษี สนับสนุนสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว แต่ตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์ก็ยังคงที่เท่าเดิมมาตลอด 10 ปี ยังดีที่ออสเตรเลียมีอัตราผู้อพยพเข้ามาสูง ทำให้การขาดแคลนแรงงานยังไม่เป็นปัญหามากนักในตอนนี้

ฮังการี
ประเทศนี้มีประชากรเกิดน้อยตั้งแต่ยุค 60
ในยุคเบบี้บูมเมอร์ผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ย 2.6 แถมต่ำลงเรื่อย ๆ ทุกปี
ในช่วงแรก รัฐบาลออกกฎหมายจำกัดการคุมกำเนิดและการทำแท้งที่ปลอดภัย แต่ไม่ได้ผล แถมตัวเลขคนทำแท้งเถื่อนเยอะขึ้นมาก เลยยกเลิกนโยบายไป
ในยุคต่อมา จึงออกนโยบายเงินอุดหนุน และเพิ่มสวัสดิการลาคลอด
ล่าสุด เพิ่มเงินอุดหนุนครอบครัวที่มีลูก 3 คนขึ้นไป ลดหย่อนภาษีพ่อแม่ สนับสนุนรักษาครอบครัวมีลูกยาก
ผลการดำเนินงาน พบว่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา เด็กเกิดใหม่อยู่ที่ปีละราว 90,000 คน ใกล้เคียงสถิติเดิม แต่ใช้เงินงบประมาณไปถึง 9,000 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 5% ของ GDP เพื่อการนี้

นอร์เวย์
ตัวเลขอัตราเจริญพันธุ์ของนอร์เวย์ เริ่มลดลงตั้งแต่ยุค 70
รัฐบาลจึงเริ่มนโยบายสถานรับเลี้ยงเด็ก
จากนั้นพบว่า ช่วยครอบครัวดูแลลูก และกระตุ้นให้คนมีลูกเพิ่มขึ้นได้จริง จึงทำนโยบายนี้ต่อมา โดยกระจายสถานรับเลี้ยงเด็กให้ทั่วประเทศ และเพิ่มคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ผลที่ตามมา คือ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นมาก และผลที่ได้ก็ไม่ได้เพิ่มอัตราการเกิดเท่าใดนัก แต่แค่ชะลอให้ลดลงช้ากว่าที่อื่น

สวีเดน และเอสโตเนีย
สองประเทศนี้ มีนโยบายกระตุ้นให้คนมีลูกคล้าย ๆ กัน คือให้ลาคลอด และลาดูแลลูกเป็นเวลายาว ๆ แถมให้สิทธิเพิ่มเติม คือลาได้เพิ่มอีก ถ้ามีลูกคนที่ 2 ในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน (ประมาณ 24 เดือน)
ผลปรากฎว่า ช่วยกระตุ้นการมีลูกได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปคนก็มีลูกน้อยลง ๆ อยู่ดี