สายงานไหน Work-Family Balance ย่ำแย่ที่สุด


เรียบเรียง : พงศธร สโรจธนาวุฒิ

ภาคการเงิน การธนาคาร และการลงทุน ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์ Work Life Balance มากที่สุด ด้วยรูปแบบการทำงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้าทั่วโลก ดังนั้นไม่ว่าจะกี่โมงกี่ยามก็ต้องติดต่อกับลูกค้าตลอด เวลา แถมยังเป็นเซ็กเตอร์ที่แข่งขันสูง ต้องแข่งกันทำกำไรเอาใจบริษัทจึงจะได้พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจการเงินมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่สูงมาก ไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เติบโต เพราะเชื่อว่าผู้หญิงทุ่มเทให้กับงานไม่เต็มที่ เนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปดูแลลูกและสมาชิกครอบครัว

ล่าสุด ปัญหาความไม่เป็นธรรม ทั้งต่อคนทำงานเพศหญิง และการทำงานหนักปางตายของพนักงานลูกจ้าง ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในหลายประเทศ รวมทั้งมีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดการปัญหาด้วยสภาพการทำงานที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตได้ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัวของคนทำงาน

เสียโอกาส เสียความสัมพันธ์ ถึงขั้นเสียชีวิต

เมื่อปี 2018 กระทรวงการคลังของประเทศอังกฤษสำรวจการทำงานของภาคธุรกิจการเงิน พบว่าปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงการขาดแคลนพนักงานระดับผู้บริหารหญิง เป็นหนึ่งในตัวแปรฉุดรั้งผู้หญิงไม่ให้ก้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้

รายงานระบุว่า ผู้หญิงในภาคธุรกิจการเงินมีลักษณะเป็นพีระมิด คือ มีพนักงานระดับฐานจำนวนมาก โดยมีผู้หญิงบรรจุเข้าเป็นพนักงานใหม่สูงถึงร้อยละ 68 แต่มีผู้หญิงในระดับบริหารเพียงร้อยละ 14
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ผู้หญิงในภาคธุรกิจการเงินหาเงินได้น้อยกว่าผู้ชายราว 25 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งโควิด-19 ระบาด ผู้หญิงตกงานมากกว่าผู้ชาย ช่องว่างทางรายได้ยิ่งมากขึ้นกว่าเดิม

เมื่อปี 2013 มีข่าว Moritz Erhardt พนักงานฝึกงานของบริษัท Merrill Lynch บริษัทด้านการจัดการการลงทุนและสินทรัพย์ทางการเงิน สาขากรุงลอนดอน และเป็นส่วนหนึ่งของ Bank of America เสียชีวิตเนื่องจากทำงานหนักเกิน จากการสืบสวนพบว่าพนักงานฝึกงานของที่นี่ทำงานไม่ต่ำกว่าวันละ 15 ชั่วโมง โดยรายที่เสียชีวิตทำงานติดกันเป็นเวลา 72 ชั่วโมง

การเสียชีวิตของ Erhardt เป็นข่าวใหญ่ในอังกฤษ และจุดกระแสการพูดคุยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรด้านการเงินที่ต้องการให้พนักงานทำงานหนัก ยาวนาน เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองทุ่มเทให้กับบริษัท

ขณะที่บีบีซีรายงานว่า พนักงานใหม่ของธนาคารเพื่อการลงทุน Goldman Sachs ทำงานเฉลี่ยอาทิตย์ละ 95 ชั่วโมง และได้นอนเพียงวันละ 5 ชั่วโมง ทำให้สุขภาพกายและจิตย่ำแย่ พอๆ กับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งครอบครัว และเพื่อนฝูง

โควิด-19 จุดชนวน Work-Family Balance

Nicky Morgan ประธานคณะกรรมาธิการกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้ธนาคาร และสถาบันทางการเงินในอังกฤษ ปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กร และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจมากขึ้น โดยเสนอว่า การคิดรูปแบบการให้ผลตอบแทนแบบใหม่ จะช่วยขจัดวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นแต่ผลงาน รวมทั้งต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อช่วยพนักงานที่ต้องดูแลครอบครัว และไม่มีอคติทางเพศ

ตัวเร่งที่ทำให้เกิดการปรับรูปแบบการทำงานอย่างฉับพลันทันที คือการระบาดของโควิด-19 บริษัทการเงินทั้งหลายจำต้องอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง Work Life Balance ให้กับพนักงาน

“ความยืดหยุ่นที่สำคัญ ไม่ใช่แค่การให้ทำงานได้จากที่บ้าน แต่หมายถึงการเลือกว่าจะทำงานเวลาไหน หรือที่ไหนก็ได้ด้วย” 

Mel Newton ผู้อำนวยการด้าน Financial Services People Consulting ของบริษัทด้านการบัญชีและธุรกิจ

KPMG ระบุถึงผลการสำรวจที่พบว่าพนักงานส่วนใหญ่อยากเลือกวิธีการทำงานได้เอง โดยบริษัทควรสนับสนุนด้านอุปกรณ์ และสอนวิธีการใช้งานเทคโนโลยีที่จะช่วยให้พนักงาน Work from Home ได้

บทเรียนการทำงานเมื่อโควิด-19 มาเยือน

บริษัท KPMG ระบุว่าหลังจากโควิดระบาดอย่างหนัก บริษัทด้านธุรกิจการเงินกว่า 78 เปอร์เซ็นต์ออกนโยบายให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้านทันที บริษัทจำนวนมากระบุว่า หลังจากการระบาดของโควิดสิ้นสุด บริษัทจะมีแนวทางรูปแบบใหม่แก่พนักงาน เพราะเห็นแล้วว่าสร้างประสิทธิภาพการทำงานได้ดี

Danske Bank ธนาคารสัญชาติเดนมาร์กที่มีสาขาทั่วโลก เป็นหนึ่งในบริษัทที่ยอมรับว่าได้บทเรียนจากนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยให้พนักงานกว่า 19,000 ทำงานจากที่บ้านได้ตั้งแต่โควิดระบาดใหม่ๆ และมีการสร้างระบบประชุมออนไลน์ โดยมีการสอบถามความต้องการของพนักงานเป็นระยะว่าต้องการการช่วยเหลือแบบไหน ที่จะเอื้อต่อการทำงานจากที่ห่างไกล ผลตอบรับคือพนักงานเครียดน้อยลง ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ผลที่ตามมาคือ ลูกค้าธนาคารพึงพอใจเพราะได้รับการเอาใจใส่จากพนักงานที่มีสุขภาพจิตดี

นอกจากโควิดระบาดแล้ว การออกจากสหภาพยุโรปของประเทศอังกฤษหรือ Brexit ก็ทำให้บริษัทจำนวนมากปรับตัวกันจ้าละหวั่น รายงานของ EY reports บอกว่า บริษัทการเงินและธนาคารเจ้าใหญ่อย่าง JPMorgan Chase & Co ต้องส่งพนักงานที่ถือสัญชาติยุโรปกว่า 200 คน กลับประเทศเพราะวีซ่าหมดอายุ ซีอีโอของบริษัท จำต้องประกาศว่าตั้งแต่นี้ไปบริษัทจะให้ทำงานได้จากที่บ้าน แม้ว่าจะอยู่ต่างประเทศก็ตาม

Working Families องค์กรสนับสนุนด้านการทำงานที่เน้น Work Life Balance บอกว่า ปัจจุบัน หน่วยงานระดับแนวหน้าของประเทศ โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวกับธุรกิจการเงินกำลังเริ่มปรับตัวหาวิธีสร้างสมดุลชีวิตให้กับพนักงาน มีเสียงสะท้อนจากพนักงานจำนวนมากว่าต้องการการทำงานที่ตอบโจทย์สมดุลชีวิต

American Express บริษัทด้านบัตรเครดิตและการชำระเงิน ถูกจัดอันดับเป็นบริษัททางการเงินที่คำนึงถึง Work Life Balance ของพนักงานในปีที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้พนักงานที่ต้องดูแลครอบครัว เช่น อนุญาตให้ลาคลอดเพิ่มขึ้นเป็น 20 สัปดาห์ เพิ่มสิทธิลาหยุดไปดูแลสมาชิกที่เจ็บป่วย สนับสนุนด้านการเงินแก่พนักงานที่มีบุตรยาก

นอกจากนี้ ยังเพิ่มสิทธิด้านการคำปรึกษาแก่พ่อแม่มือใหม่ บริษัทมีบริการให้คำปรึกษา และช่วยเหลือด้านการเลี้ยงลูกแรกคลอด มีบริการส่งนมแม่แก่พนักงานที่ต้องเดินทาง เป็นต้น

ที่มา :
https://www.telegraph.co.uk/
https://www.bbc.com/
https://danskebank.com/
https://old.iwgplc.com/
https://www.corporatewellnessmagazine.com/