WFH ที่องค์กรต้องดูแล ไม่ใช่แค่งาน

เรียบเรียง : พงศธร สโรจธนาวุฒิ

“ต้องตื่นตี 4 จัดการลูก ๆ 2 ชั่วโมงก่อนจะพาไปโรงเรียน”

“ผมออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดไปทำงาน พอกลับถึงบ้านลูกก็หลับไปแล้ว”

“ฉันยุ่งมากตลอดทั้งวัน ทำงานเสร็จก็ต้องรีบออกไปรับลูก กลับมาทำอาหารเย็น เวลานอนน้อยมาก”

เสียงสะท้อนของคนวัยทำงานชาวอเมริกันเหล่านี้ แทบไม่ต่างกับมนุษย์งานชาวไทย ที่เหมือนร่างจะถูกฉีกเป็นชิ้น ๆ เวลาที่ต้องจัดงานเรื่องงานมือหนึ่ง กับอีกมือหนึ่งก็เป็นเรื่องครอบครัว

สิ่งที่อาจจะเหมือนกันอีกอย่างก็คือ เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทในสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับตัวอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งเพิ่งรู้ตัวว่า การทำงานจากที่บ้าน ช่วยเพิ่ม Work Life Balance ได้อย่างมหาศาล

แองจีล รัสเซล คุณแม่ลูกหนึ่งบอกว่าเธอไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไป ทุกวันนี้ เธอเครียดน้อยลง เวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ได้ออกกำลังกาย และดูแลสุขภาพ

คริสโตเฟอร์ โทมัส คุณพ่อผู้มีลูกสาววัย 3 ขวบบอกว่าเมื่อก่อนจะได้เจอหน้าลูกเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่หลังจากเริ่มทำงานที่บ้าน ความสัมพันธ์พ่อลูกก็ดีขึ้นตามลำดับ ลูกสาวเริ่มสนิทกับพ่อมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะตั้งแต่ลูกเกิดมา พ่อก็ทำงานประจำที่ดึงเวลาจากครอบครัวมาตลอด

พนักงานหลายคนบอกว่า อยากให้บริษัทปรับตัวในทิศทางนี้กันมากขึ้น เพราะผลจากการทำงานในช่วงที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าการทำงานที่บ้านไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน 

ดาร์กไซด์ของ Work From Home

แม้การทำงานที่บ้านจะมีข้อดีในเรื่องการจัดสรรเวลาชีวิต แต่การทำงานพร้อมไปกับการมีสมาชิกครอบครัวอยู่ในบ้านด้วย ก็อาจจะรบกวนการทำงานได้

พนักงานหลายคนมีภาระงานที่หนักขึ้น มีเสียงสะท้อนตามมาว่า ต้องรับภาระหนักทั้งงานออฟฟิศ ทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลลูก ๆ สอนหนังสือให้ลูกที่เรียนออนไลน์ ต้องหาอาหารให้กินครบ 3 มื้อ ทำงานบ้าน ฯลฯ อีกหลายคนบอกว่า ลูกชอบมารบกวน เรียกหาพ่อแม่เวลาทำงาน

แมรี เทรีส แจ็คสัน โปรแกรมเมอร์ บอกกับสำนักข่าว Vox ว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งที่เจอคือ บริษัทและเพื่อนร่วมงานพยายามติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เช่น บอกให้พนักงานทุกคนเปิดหน้าจอเชื่อมต่อกันผ่านโปรแกรม Zoom ตลอดเวลา เธอบอกว่าโทรศัพท์มือถือของเธอดังทั้งวัน และอีเมลก็มีข้อความส่งมาตลอดเพราะแต่ละคนก็พยายามติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่มีทีมทำงาน

“บริษัททำเหมือนกับว่า ในเมื่อเรามีอุปกรณ์เชื่อมต่อกันออนไลน์ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ทำให้เหมือนเวลาอยู่ที่ออฟฟิศจริง ๆ ตามปกติสิ”

แจ็คสันบอกว่า ทำแบบนี้ยิ่งทำให้พนักงานเครียดหนักกว่าเดิม เธอเชื่อว่าบริษัทควรสื่อสารให้น้อย แต่ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มีการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันที่ Work From Home ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด พบว่าส่วนใหญ่มีความเครียดกังวลจากการดูแลพ่อแม่สูงวัย ลูกที่ยังเล็ก และรู้สึกว่าการทำงานที่บ้าน มีสิ่งรบกวนใจค่อนข้างเยอะ

เติมตัวช่วย เสริมงานเต็มประสิทธิภาพ

จากที่ว่ามา ดูเหมือนว่าการทำงานที่บ้านสำหรับหลายคนมีหลายเรื่องให้ต้องจัดการมากกว่าการอยู่ที่ทำงาน มีความไม่แน่นอน มีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ต่างจากการอยู่ในออฟฟิศที่ชีวิตถูกแบ่งแยกให้เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

พอเป็นแบบนี้ ถึงการอยู่บ้านจะดูเหมือนคนทำงานมีเวลาเพิ่มขึ้นเพราะไม่ต้องเสียเวลาแต่งเนื้อแต่งตัวแต่งหน้า และการเดินทาง ซึ่งเวลาที่ออกไปทำงาน ทุกอย่างถูกกำหนดเวลาไว้ค่อนข้างตายตัว แต่พอเอางานมาปนกับเรื่องครอบครัว การทำงานอยู่ที่บ้านก็กลายเป็นเรื่องจัดการไม่ได้ขึ้นมาทันที

สิ่งที่หลายคนต้องการคือเวลาที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาช่วยเติมช่องว่างซึ่งไม่เกิดขึ้นในเวลาที่นั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ

Education Week สำนักข่าวอิสระเกี่ยวกับข่าวการศึกษา เป็นบริษัทที่ให้เวลายืดหยุ่นในการทำงานแก่พนักงาน ช่วงที่โควิดระบาด บริษัทต้องปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านเต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน ก็มีเครื่องมือช่วยเหลือให้พนักงานทำงานได้อย่างราบรื่น

“บริษัทใช้โปรแกรม Slack เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทำงานเป็นทีม เพื่อนร่วมงาน เจ้านายจะรู้งานที่เราถืออยู่ มีกำหนดเดดไลน์ที่ชัดเจน เอกสารทุกอย่างสามารถอัพโหลดเอามาแชร์ในกลุ่มได้หมด บริษัทมีการสอบถามด้วยว่าวิธีนี้สะดวกสำหรับพนักงานไหม ก็ต้องขอบคุณบริษัทที่รับฟังและยอมให้ทุกคนกำหนดตารางเวลาทำงานได้เอง”

เอมมา แพตตี แฮร์ริส พนักงานบริษัท Education Week กล่าว

บริษัทบางแห่ง ช่วยดูแลลูก ๆ พนักงานไม่ให้รบกวนในเวลาที่พ่อแม่ทำงาน เช่น Twitter จัดค่ายสำหรับเด็กออนไลน์ ชวนน้อง ๆ หนู ที่เป็นลูกของพนักงานมาทำกิจกรรมร่วมกัน

“เรารู้ว่าโรงเรียน ค่ายฤดูร้อน รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งถูกสั่งระงับ พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้านมีความกดดันและมีภาระหน้าที่เยอะ เราเลยต้องการสร้างกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ มาเรียนรู้และสนุกสนานไปด้วยกันโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมาเป็นห่วง”

เทรซี ฮอว์คินส์ รองประธาน Twitter กล่าว

อย่างไรก็ดี การสนับสนุนให้พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างราบรื่น บริษัทควรเห็นอกเห็นใจและเข้าใจพนักงาน ยอมรับว่าการทำงานอาจถูกขัดจังหวะได้ เช่น ลูกร้อง หรือมีเสียงรบกวนขณะประชุมทางวิดีโอคอล คอยสอบถามความต้องการ และเงื่อนไขชีวิตของพนักงานในการทำงานที่บ้าน มีการเตรียมพร้อมด้านเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ถนัดใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ

ที่มา
https://www.vox.com/
https://eightfold.ai/
https://business.nextdoor.com/
https://hbr.org/