
(16 ก.ค., ไทยพีบีเอส) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) สสส. จัดการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างแนวปฏิบัติขององค์กร/สถานประกอบการที่สนับสนุนการดูแลครอบครัวให้แก่บุคลากร โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วยภาคีเครือข่ายสถานประกอบการที่ร่วมโครงการศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีเรื่องการสนับสนุนครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็งในบริบทสถานที่ทำงาน รวมทั้งตัวแทนจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และ ครอบครัว สสส. กล่าวว่าประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์ด้านประชากรที่อัตราการเกิดลดลง และผู้สูงวัยมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ทางรอดคือการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งองค์ความรู้ในการเลี้ยงดูเด็กต้องแตกต่างจากในอดีต เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาสามารถอยู่ในโลกที่มีความผันผวนสูง
วันนี้ คนที่เป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน บทบาทขององค์กร/สถานประกอบการจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะสนับสนุนการดูแลเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้กับพนักงาน ซึ่งพวกเขาคือรากฐานสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยในวันข้างหน้า

ในการประชุมมีการนำเสนอข้อมูลผลการศึกษาแนวทางการสนับสนุนการดูแลครอบครัวให้กับพนักงานขององค์กรและสถานประกอบการ 17 แห่ง ซึ่งพบว่าองค์กร/สถานประกอบการแต่ละประเภทมีบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งในด้านรูปแบบการประกอบการและการใช้ชีวิตของพนักงาน ส่งผลให้การดูแลพนักงานและครอบครัวแตกต่างตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด มาเช่าที่พักอาศัยใกล้ที่ทำงาน หลายโรงงานจึงมีการจัดห้องนมแม่ เพื่อสนับสนุนให้พนักงานมีการจัดเก็บน้ำนมและส่งให้ลูกที่ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูยังภูมิลำเนาที่เป็นบ้านเกิด
ขณะที่กลุ่มองค์กรให้บริการด้านระบบไอที/ซอฟต์แวร์ มีการให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ (WFH – Work From Home) เนื่องจากสามารถให้บริการลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วกว่า ส่งผลให้พนักงานสามารถจัดการเวลาในการทำงานและครอบครัวได้ดีขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ผลลัพธ์จากการสนับสนุนการดูแลครอบครัวให้กับพนักงาน พบว่าการที่พนักงานจัดการภารกิจส่วนตัวและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลเชิงบวกต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เช่น การบริการลูกค้าได้รวดเร็ว พนักงานมีความสามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการสร้างทีมงานดูแลด้านสวัสดิการจากตัวแทนส่วนงานต่างๆ ความกังวลเรื่องการดูแลครอบครัวลดลง รวมทั้งความรู้สึกดีที่มีต่อองค์กรที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชมศูนย์เด็กเล็กของไทยพีบีเอส พรพิมล เสนผดุง รักษาการผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรมนุษย์ ไทยพีบีเอส เล่าว่า ศูนย์เด็กเล็กเริ่มเปิดเป็นทางการเมื่อปี 2557 รับดูแลลูกพนักงานอายุ 1 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบครึ่ง โดยช่วงเริ่มต้น ขอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข และในช่วงดำเนินการได้จ้างบุคลากรจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการจัดทำแผนการพัฒนาเด็กและส่งผลการดำเนินงานให้กับทางองค์กรเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พนักงานที่มาใช้บริการมีการสมทบค่าอาหาร 50 บาทต่อวัน
