
เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว (FFW : Family-Friendly Workplace) ร่วมเสริมมุมมอง พร้อมแนะนำแนวทางเพื่อการดูแลและจัดสวัสดิการองค์กรให้กับคนทำงานที่เอื้อต่อการดูแลครอบครัว ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ จัดโดย โครงการส่งเสริมงานสุขภาวะในองค์กรเพื่อคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ตามทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร (สำนัก 8) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีการขับเคลื่อนงานสนับสนุนองค์กรสุขภาวะ ด้วยแนวคิด Happy8 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยตัวแทนจากภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ จำนวนประมาณ 60 องค์กร
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้กล่าวเปิดการประชุม พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Healthy Lifestyle package ในองค์กรยุคใหม่” นอกจากนี้ ในงานมีการนำเสนอชุดความรู้และเครื่องมือในประเด็นต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม อาหารเพื่อสุขภาวะ กิจกรรมทางกาย แอลกอฮอล์ ยาสูบ สุขภาพจิต จัดการความปลอดภัยทางถนน และประเด็นสวัสดิการครอบครัว
เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว ได้จัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมอบรม ทำความรู้จักกับแนวคิดและแนวทางการเป็นสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Happy8 ได้แก่ Happy Family โดยเริ่มจากกิจกรรมวัดความสมดุลการงานและครอบครัว ผู้เข้าประชุมร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งต่างเผชิญสถานการณ์การดูแลคนในครอบครัว พร้อมไปกับการรับผิดชอบภาระงาน

ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรมการ์ดเกมสวัสดิการครอบครัว ให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการ์ดที่ได้รับ ที่เป็นการสุ่มเลือกตัวตนสมมติเพื่อให้แต่ละคนได้สัมผัสประสบการณ์ความรับผิดชอบสมาชิกครอบครัวที่แตกต่างกัน ทำให้ได้เข้าใจถึงประโยชน์ของการมีสวัสดิการองค์กรสำหรับครอบครัวที่ช่วยแบ่งเบาความรับผิดชอบครอบครัว และยังคงประสิทธิภาพการทำงานไว้ได้ โดยไม่ต้องขาด ลา มาสาย หรือลาออก ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญ และยิ่งจะรุนแรงเพิ่มขึ้นในยุคสังคมผู้สูงอายุ

รัชดา ธราภาค ผู้ประสานงานเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว สรุปกิจกรรมว่าการที่หลายคนต้องพบเจอปัญหาเดียวกัน การดูแลครอบครัวจึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมและองค์กรสามารถช่วยดูแลได้ ซึ่งจะทำให้คนทำงานไม่ต้องลาออก หรือลดประสิทธิภาพการทำงานลง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อบุคคล ครอบครัว รวมถึงธุรกิจ และภาพรวมทางเศรษฐกิจ
“เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว มุ่งสนับสนุนให้บริษัทจัดสวัสดิการให้กับพนักงานและขยายไปถึงครอบครัวของพนักงาน ด้วย 4 แนวทางหลัก คือ 1.การบริหารจัดการเวลา เช่น ยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงาน จัดวันหยุดที่เหมาะสม 2.Work from Home หรือที่ทำงานอยู่ใกล้ชุมชนบ้านเกิด พนักงานจะมีญาติพี่น้องช่วยกันดูแลทั้งลูกและผู้สูงอายุให้ได้ 3.การสนับสนุนครอบครัว เช่น มุมนมแม่ ศูนย์เด็กเล็ก 4.เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น จัดกิจกรรมในวันสำคัญให้พนักงานนำสมาชิกในครอบครัวมาร่วมด้วยได้ หรือการจัดอบรมความรู้เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว