โควิด-19 แพร่ระบาดระลอกที่ 3 สถานการณ์โรคตึงเครียดกว่าเดิม ซ้ำเติมธุรกิจเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่และการงานของคนจำนวนมาก หลายคนหาทางออกไม่ได้ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สถานการณ์งานและครอบครัวของคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง
โควิด-19 ระลอก 1-2-3 ปฏิกริยาของคนต่างกันไป รอบนี้มีความล้า ความเหนื่อย ซึ่งเกิดขึ้นได้ คนอยู่กับความเครียดมานาน เราพยายามทำทุกอย่าง อย่างเต็มที่แล้ว เพื่อจะออกจากจุดนี้ แต่มันวนกลับมาที่เดิม ความเครียดก็จะสูงขึ้น สิ่งนี้เกิดกับคนกลุ่มใหญ่ ไม่ว่าจะอาชีพใด ระดับไหน ก็มีความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้
สถานการณ์นี้ส่งผลลบต่อจิตใจ ต่อความเชื่อมั่นว่าฉันจะออกจากปัญหานี้ได้ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าสิ้นหวัง คือเหนื่อยแล้ว ไม่ทำอะไรแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ช่างมัน ไม่อยากให้ใครก็ตามไปถึงจุดนี้ แม้ว่าสถานการณ์ภายนอกจะยากมาก แต่ถ้าปล่อยให้ไปถึงจุดนั้นมันจะเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเรื่องโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ทำอย่างไรให้เราออกจากภาวะนี้ได้ วิธีการคงไม่ใช่การสู้สุดฤทธิ์เหมือนที่ผ่านมา
- แล้วต้องทำอย่างไร
ที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนทำทุกอย่างอย่างเต็มที่แล้ว ตอนนี้อาจเป็นเวลาที่เราจะกลับมาหาตัวเอง คงเคยได้ยินคำว่า “เมตตากับตัวเอง” ไม่ว่าสถานการณ์ที่เจออยู่จะเป็นอย่างไร บางคนลำบากมาก หรือรู้สึกผิดว่าครอบครัวติดโควิดเพราะฉันมีส่วน เกิดสงสัยในความสามารถของตัวเรา โทษตัวเราเอง
ต้องกลับมาก่อนว่า เราเป็นมนุษย์ เราอยู่ในภาวะแบบนี้มาแรมปี ความเหนื่อยความล้าเกิดขึ้นได้ ความทุกข์ที่เราและครอบครัวกำลังเจอ ไม่ใช่แค่เราหรือครอบครัวเราเท่านั้น แต่เป็นภาวะร่วมกันของคนในสังคม คิดอย่างนี้ได้ เราจะหยุดตำหนิตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ไม่เกิดการคิดย้ำซ้ำทวนมากนัก
ถัดไปที่ต้องมีคือ จับให้ทันว่าเรากำลังรู้สึกอะไร คิดอะไร เห็นข่าวสถิติคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เห็นปุ๊บรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกแย่ โกรธ ต้องรู้ให้ทันว่าเรากำลังรู้สึกแบบนั้น รู้ให้ทันว่าเรื่องนี้กำลังกระทบใจเรา ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เรากำลังหงุดหงิด ลำบาก เครียด ไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว
กลับมามองตัวเองอย่างอ่อนโยน ให้เครดิตตัวเองสักหน่อยว่า เราได้พยายามทำอะไรมาบ้างแล้ว เราได้ทำเต็มที่แล้วอย่างไรบ้าง มองให้เห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราเจอคนอื่นอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะปลอบเขาว่าอะไร “เฮ้ย แกก็สู้มาเยอะแล้วนะ ทำเต็มที่ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว” บอกประโยคนี้กับตัวเราเอง
- ผู้ชายจะเครียดมากเพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว
สำหรับคนที่มีบทบาทเป็นผู้นำครอบครัว เจอสถานการณ์แบบนี้ อาจเป็นจังหวะให้กลับมาทดสอบสมมติฐานที่เรามี ว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีใครคนหนึ่งรับผิดชอบหลักในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
การเป็นคนที่รับผิดชอบหลัก เราจะซัดออกไปข้างนอกอย่างเต็มที่ ทำทุกอย่างเต็มแรง จนถึงจุดที่ล้า ไม่ไหวแล้ว โควิดอาจเป็นโอกาสให้เรากลับมาดูว่า จริงๆ แล้วบทบาทในครอบครัวของเรา จากที่วางความรับผิดชอบไว้ที่คนใดคนหนึ่ง มันควรเป็นจังหวะที่ทุกคนในครอบครัวเข้ามารับผิดชอบซึ่งกันและกันหรือเปล่า
ถ้าคนที่รับผิดชอบหลักเป็นผู้ชาย ซึ่งผู้ชายก็ถูกภาพของสังคมที่วางไว้ว่าต้องเข้มแข็ง อดทน ต้องเป็นผู้นำ อยากให้มองกลับมาที่สถานการณ์ที่เราเจอว่า เราอดทนเข้มแข็งมาหนึ่งปี ครบหนึ่งปี กลับมาพีคสุดอีกครั้ง ไม่ว่าเป็นใครที่ต้องรับผิดชอบ ผู้หญิงหรือผู้ชายก็ตาม ก็ต้องเครียดทั้งนั้น
ผู้ชายก็กลับมาเมตตาและอ่อนโยนกันตัวเองได้ การเมตตาและอ่อนโยนกับตัวเองไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอ่อนแอ หรือความเป็นเพศหญิง แต่คือการมีสติ และยอมรับความเป็นเจ้าของความรู้สึกของเรา ว่ามันเจ็บ มันปวด มันเหนื่อยได้อย่างเต็มที่ การยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ คือความเข้มแข็งที่สุด
- ครอบครัวจะดูแลกันอย่างไร
ตอนนี้สภาพการข้างนอกแปรปรวน ควบคุมไม่ได้ อยากให้กลับมามองว่า ไม่ว่าข้างนอกจะปั่นป่วนอย่างไร เราจะให้ครอบครัวของเราเป็นที่สงบและมั่นคงมากที่สุด
มันอาจเป็นเรื่องเล็กๆ แค่เราได้เห็นลูกเล่นกัน เราได้อยู่กับลูก อาจจะเป็นความสุขที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้ กลับมามองสิ่งที่มี และเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นกำลังใจ เพื่อจะรับมือกับเรื่องหนักๆ ข้างนอก แค่ครึ่งชั่วโมงที่เรามีเวลาอยู่กับสิ่งที่มีค่า อาจทำให้เรามีกำลังใจกลับมาทำสิ่งต่างๆ ได้
- คนจำนวนมากยุคนี้ใช้ชีวิตคนเดียวจะทำอย่างไร
การอยู่คนเดียว แล้วจากไปอย่างลำพังในสถานการณ์โควิด เป็นสิ่งที่เห็นแล้วเรากลัวมากที่สุด เพราะมันคุกคามสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ที่เราต้องการสังคม ต้องการมีคนรอบข้าง พอเห็นข่าวอย่างนี้มันกระตุ้นความรู้สึกหวาดกลัวความโดดเดี่ยว
คนที่อยู่คนเดียวทำอย่างไร หันไปก็ไม่มีลูกจะเล่นด้วย ครอบครัวก็อยู่ไกล
สิ่งที่ทำได้คือ กลับมาที่ตัวเอง อย่าให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวทำให้เรายิ่งขังตัวเองตามลำพัง บางครั้งสิ่งที่เรากลัวกังวล จะบอกให้เรารู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญ และให้คุณค่าในชีวิตมากที่สุด ถ้าเรารู้สึกกลัวที่จะอยู่ตามลำพัง คิดถึงพ่อคิดถึงแม่ คิดถึงเพื่อน แต่ด้วยการเดินทางทำไม่ได้ แต่เทคโนโลยีทำได้ ติดต่อสื่อสารพูดคุยให้สม่ำเสมอ ลองผันความรู้สึกกลัวมาเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น
ที่ทำงานหลายที่รับรู้ว่าพนักงานถูกกระทบจากโควิดในแง่ความรู้สึกความกังวล เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการจะให้คนส่งงานครบถ้วนได้อย่างไร แต่จำเป็นต้องดูแลจิตใจ มีอะไรที่ซัพพอร์ตกันได้ บางที่เริ่มให้หัวหน้างานพูดคุยซักถาม จัดบริการที่จะช่วยดูแลครอบครัว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มใส่ใจ