Working mom กลับมาแล้วววว

เป็นคุณแม่หมาด ๆ ที่ต้องกลับมารับบทบาทมนุษย์งานไม่ใช่เรื่องง่าย
เตรียมตัวแบบไหน ให้การงาน-การลูก ราบรื่น
แบ่งปันเทคนิคดี ๆ จากประสบการณ์ตรง ของเหล่าคุณแม่มนุษย์งาน

มนุษย์ครู มนุษย์แม่

กนกกาญจน์ มาตะยา, อายุ 32 ปี

อาชีพ : ครูโรงเรียนเอกชน

มีลูกสาว อายุ 1 ขวบ

“ตั้งใจว่าจะคลอดธรรมชาติ เพราะฟื้นตัวเร็ว จะได้ลางานแค่ 40 วัน แต่หมอจำเป็นต้องผ่าคลอด หลังคลอดเป็นช่วงที่โควิดระบาด ทำให้ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ได้เลี้ยงลูก 3 เดือน 40 วัน โชคดีมาก เพราะหายเจ็บแผลพอดี และมีเวลาหาคนดูแลลูกได้

“ครอบครัวตัวเองไม่มีใครที่จะมาช่วยเลี้ยงลูกได้ ลองหาบริษัทรับดูแลเด็กที่มีมาตรฐาน แต่ทุกแห่งอยู่ไกล ไปรับส่งเช้าเย็นคงไม่ไหว สุดท้าย แม่สามีซึ่งมีร้านขายของ ยอมหยุดทำงานให้ปีครึ่งเพื่อมาดูแลหลาน หลังจากนี้ลูกพอดูแลตัวเองได้ ต้องให้เข้าเนิร์สเซอรีเลย ที่จริงอยากเลี้ยงลูกเอง เคยคิดจะลาออกจากงานประจำ แต่พอมาคิดว่าถ้าลูกโตแล้วจะกลับไปทำงานคงยาก สามีทำงานคนเดียวคงไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ ทำให้การจัดการยุ่งยากพอสมควร

“เราอยู่ในวัยทำงาน ครอบครัวก็ต้องสร้าง งานก็ต้องทำ พอมีลูก ยุคนี้ความเสี่ยงรอบด้าน ต้องดูแลใกล้ชิด ซึ่งต้องใช้เวลา การปรับตัวเพื่อจะเป็นแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยไม่ใช่เรื่องง่าย

“บ้านเมืองอยากให้มีประชากรเพิ่มขึ้น เราเองมีส่วนในการเพิ่มประชากร แต่มีข้อจำกัดทั้งเรื่องวันลาและการเงิน มองว่าภาครัฐน่าจะมีนโยบายที่ตอบโจทย์ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่”

Working mom, Do

ระมัดระวังความขัดแย้งกับผู้สูงอายุในครอบครัวที่มาช่วยเลี้ยงหลาน – ผู้สูงอายุมักจะมีความคิดและวิธีการดูแลเด็กจากประสบการณ์ในอดีต ให้หาวิธีสื่อสารสร้างความเข้าใจ เช่น ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยอธิบาย โดยหาคลิปใน YouTube หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

ลูกต้องได้กินนมแม่

ณิสรา ตรองพาณิชย์
อาชีพ พนักงานบริษัทเอกชน, อายุ 34 ปี
ลูกสาว 1 คน 4 ขวบ 5 เดือน

“เป็นคนต่างจังหวัดทั้งคู่ มาทำงานจังหวัดใกล้เคียง ไม่อยากจ้างคนเลี้ยงเพราะไม่ไว้ใจ เลยเตรียมกันว่าปู่ย่าจะดูแลให้  เดือนแรกหลังคลอดไปอยู่บ้านพ่อแม่สามี พอเดือนที่สองกลับมาอยู่บ้าน ปู่ย่าก็มาเยี่ยมหลาน

“ลาครบ 90 วัน กลับไปทำงาน วันธรรมดาลูกไปอยู่กับปู่ย่า เสาร์อาทิตย์เราก็ไปอยู่กับลูกกัน ตั้งใจจะให้ลูกได้กินนมแม่ใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นเสริมด้วยนมผง วันจันทร์ถึงศุกร์ปั๊มพ์นมจากที่ทำงาน เย็นวันศุกร์ขนไปให้ลูก

“พอลูก 2 ขวบ หาโรงเรียนที่เป็นพรีสคูล แล้วรับลูกกลับมาอยู่ด้วย ไปรับส่งเช้า-เย็น”

Working mom, do

• วางแผน ปั๊มพ์นม – เตรียมหาสถานที่ปั๊มพ์นม ถ้าออฟฟิศไม่มีมุมส่วนตัว ต้องหามุมสงบ เช่น ห้องประชุมที่ไม่ได้ใช้ รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ที่จะต้องขอไปปั๊มพ์นมวันละ 2 ครั้ง ๆ ละประมาณครึ่งชั่วโมง

• เตรียมใจ ลูกจะจากอกแม่ – จะไม่ได้เจอลูก ครั้งละ 5 วัน ขอให้ปู่ย่าช่วยถ่ายคลิปลูกส่งมาให้เป็นประจำ ปู่ย่าเล่นโซเชียลอยู่แล้ว เลยไม่ต้องปรับตัวมากนัก

• พ่อแม่ลูก เลิกเรียน-เลิกงานไม่ตรงกัน – เมื่อลูกเข้าเรียน ต้องวางแผนการรับ-ส่ง ที่ทำงานเป็นโรงงาน 08.00 – 17.00 น. ตอนเย็นต้องให้คุณครูช่วยดูแล จนกว่าพ่อแม่จะเลิกงานแล้วไปรับกลับบ้านได้

Working mom, don’t

• อย่าด่วนใช้โควต้าวันลา – วันลากิจ ลาป่วย ลาพักร้อน อย่าเพิ่งรีบใช้จนหมด ต้องเผื่อกรณีลูกเจ็บป่วย รวมทั้งเมื่อลูกเข้าเรียน โรงเรียนจะมีกิจกรรมที่ไม่ตรงกับวันหยุด และโดยทั่วไปเด็กจะมีวันหยุดมากกว่าคนทำงาน

• อย่าคาดหวังแบบเต็มร้อย – ผู้สูงอายุอาจมีวิธีดูแลหลาน ที่ไม่ตรงกับความรู้สมัยใหม่ พ่อแม่ให้ข้อมูลได้ แต่ผู้สูงอายุอาจไม่ปฏิบัติตาม บางเรื่องต้องปล่อย เว้นแต่เรื่องที่มีผลกระทบรุนแรง เช่น การดูแลสุขภาพของเด็ก ต้องหาวิธีพูดคุยสร้างความเข้าใจ

ผู้สูงวัยเลี้ยงหลาน ก็ต้องการผู้ช่วย

กนกขวัญ วงษ์ดนตรี
อาชีพ ข้าราชการ, อายุ 36 ปี
ลูกชาย 4 ขวบ กับ 2 ขวบ

“ตอนมีลูกคนแรกตื่นเต้นมาก เมื่อต้องไปทำงาน ก็ได้คุณแม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาช่วยเลี้ยงหลาน

“ช่วงแรกพอต้องรับมือกับหลานตามลำพัง ท่านค่อนข้างกังวล คงเพราะอยากทะนุถนอมหลานดี ๆ พอหลานตัวร้อน ร้องไห้จนอาเจียน ก็โทรตามเราทันที โชคดีที่ทำงานอยู่ใกล้ก็ต้องรีบกลับมาบ้าน

“พอมีลูกคนที่สอง คุณแม่อายุมากขึ้นด้วย เลยจ้างพี่เลี้ยงอีกคน ถ้าเป็นไปได้ควรมีคนช่วยเลี้ยง เพราะผู้สูงอายุดูแลเด็กอยู่คนเดียวอาจจะไม่ไหว ถ้ามีคนช่วย คุณแม่สามารถไปทำธุระอื่นได้บ้าง และไม่เครียดจนเกินไป”

Working mom, do

  • แคสต์คนเลี้ยงลูก จากศูนย์จัดหาพี่เลี้ยงเด็ก – เมื่อได้ชื่อนามสกุลมาแล้ว ลองเช็คข้อมูลจาก google ถ้าพบว่ามีการโพสต์รูป/ข้อความ ที่ไม่เหมาะสมในสื่อโซเชียล เช่น รูปวาบหวิว ก็น่าจะไม่ใช่คนที่เหมาะจะเป็นพี่เลี้ยงเด
  • สัมภาษณ์งานคนเลี้ยงลูก – ถ้าถูกซักถามแล้ว มีท่าทีหงุดหงิด หรือดูเป็นคนใจร้อน ก็น่าจะไม่เหมาะที่จะมาดูแลลูกของเรา
  • การเตรียมปั๊มพ์นมให้ลูก – ถ้าที่ทำงานไม่มีห้องนมแม่ ต้องหาสถานที่ถูกสุขอนามัย มีความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องประชุมที่เช็คแล้วว่าไม่มีใครใช้

Working mom, don’t

ไม่ควร เคร่งครัดเรื่องเวลาปั๊มพ์นมจนเกินพอดี – ถ้าติดภารกิจในที่ทำงาน สามารถยืดหยุ่นเวลาได้ ไม่จำเป็นต้องปั๊มพ์นมตรงเวลาเป๊ะตามที่ตำราบอกไว้

ไม่ควร ให้ผู้สูงอายุเลี้ยงหลานตามลำพัง – ถึงแม้สุขภาพร่างกายยังแข็งแรงดี แต่ถ้ามีคนช่วยดูแลเด็ก จะช่วยให้ผู้ใหญ่ได้พัก ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น

คุณค่า ความภูมิใจ นอกจากความเป็นแม่

จารุทรรศน์ สิทธิสมบูรณ์

อาชีพ ธุรกิจส่วนตัว/ฟรีแลนซ์, อายุ 36 ปี

มีลูกชาย อายุ  2 ขวบ

“มีกิจการเล็ก ๆ ของตัวเองกันทั้งสองคน คิดไว้ว่าจะเลี้ยงลูกกันเองอยู่แล้ว เพราะอยากให้ความสำคัญกับพัฒนาการของลูกตั้งแต่แรกเกิด – 3 ปีแรก พอธุรกิจหยุดชะงักในช่วงโควิด เลยเป็นจังหวะที่ได้ดูแลลูกอย่างเต็มที่

“หลังจากนี้คิดว่าจะปรับกิจการ ให้เราสามารถดูแลลูกไปด้วยได้ เพราะงานก็จำเป็นสำหรับการสร้างรายได้ให้ครอบครัว แต่ถ้างานไม่เอื้อจริง ๆ ก็คงต้องหาเนิร์สเซอรีที่ตอบโจทย์ที่สุด”

Working mom, do

• เตรียมใจ ลูกไม่ได้น่ารัก 24 ชั่วโมง – ตอนเป็นเบบี๋ ลูกเลี้ยงง่ายมาก เรามีความสุข พอลูกเริ่มเดิน เริ่มพูด ตอนนี้จะมีครบทุกรส “ไม่” “ไม่เอา” “ไม่ทำ” พ่อแม่ต้องพร้อมรับมือสถานการณ์นี้

• ฟรีแลนซ์ ต้องเตรียมตัว – ช่วงที่พักงานธุรกิจ ยังมีงานฟรีแลนซ์ที่รับอยู่ ซึ่งต้องจัดการให้ดี เพราะถึงจะนั่งทำงานกันคนละห้อง พอลูกร้องปุ๊บ เราวิ่งไปดูทันที ทำให้การทำงานไม่ต่อเนื่องต้องเผื่อเวลาเพิ่มขึ้น

Working mom, don’t

• อย่าลืมหาตัวช่วย – ถึงจะมีเวลา และคิดว่าดูแลลูกได้ แต่การอยู่กับเด็กตลอดเวลา อาจมีบางช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกเครียด โดยเฉพาะแม่ฟรีแลนซ์ที่ต้องทำงานไปด้วย ยิ่งตอนลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง พ่อแม่ยิ่งต้องอารมณ์ดี พลังบวกจะเกิดได้ เราต้องมีเวลาพัก การมีคนมาช่วยเลี้ยง หรือสลับมาดูแลเด็กเป็นครั้งคราว พ่อแม่จะมีเวลาส่วนตัว ดูแลตัวเองได้มากขึ้น

• อย่าสูญเสียคุณค่าความภูมิใจในตัวเอง – การหยุดพักเรื่องงาน แต่ยังตั้งใจที่จะกลับไปทำงาน ทำให้เรายังมีเป้าหมายที่เชื่อมั่นว่าเราทำได้ เลี้ยงลูกไปก็คิดแผนธุรกิจตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นคนที่คิดจะเลี้ยงลูกเต็มเวลาไปตลอด ต้องระวังว่าอาจรู้สึกสูญเสียคุณค่าอีกด้านของตัวเองไป