ประชากรวัยทำงานเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากร 76 ล้านคน ราวครึ่งหนึ่งเป็นวัยแรงงาน ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัว จึงหมายถึงความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกั

สิ่งที่หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย กำลังเผชิญคือการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ที่สัดส่วนประชากรอายุเกิน 60 ปีเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดใหม่ลดต่ำลง จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ครอบครัวรุ่นใหม่มีลูกลดลง บางครอบครัวเลือกที่จะไม่มีลูก คนอีกจำนวนมากตัดสินใจใช้ชีวิตโสด 

ครอบครัวและการงาน กลายเป็นสองทางเลือก ขณะที่คนจำนวนหนึ่งเลือกงาน คนอีกจำนวนหนึ่งเมื่อเลือกครอบครัวก็จำเป็นต้องถอยตัวเองออกจากงานไป อีกจำนวนหนึ่งเลือกไม่ได้ เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวสูงวัยที่ต้องการการดูแล เหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อการสูญเสียกำลังแรงงาน ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ และภาพรวมของทั้งสังคม

รัฐบาลไทย เช่นเดียวกับรัฐบาลของหลายประเทศ มีการจัดทำนโยบายเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ที่สำคัญคือ การส่งเสริมทุกการเกิดและเติบโตให้มีคุณภาพ รวมทั้งการแบ่งเบาภาระในการดูแลครอบครัวไม่ให้ตกที่คนทำงานเพียงฝ่ายเดียว ด้วยนโยบายและมาตรการที่สำคัญ ทั้งที่มุ่งเป้าไปที่คนทำงาน และสนับสนุนผ่านสถานประกอบการ อาทิ

สิทธิลาคลอด ไม่เกิน 98 วัน รวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตร โดยยังได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงาน แต่ไม่เกิน 45 วัน       

ศูนย์เด็กเล็ก ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งขึ้นในสถานประกอบการ

การยกเว้นภาษี ให้กับสถานประกอบการที่จัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก

การจัดสวัสดิการแรงงานแบบยืดหยุ่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน รวมถึงครอบครัว

การส่งเสริมการจัดมุมนมแม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงทำงาน ในการจัดเก็บน้ำนมสำหรับลูก

การจัดส่งน้ำนมแม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงทำงาน ซึ่งต้องส่งน้ำนมให้ลูกที่อยู่ต่างจังหวัด

นอกจากภาครัฐแล้ว องค์กร/สถานประกอบ สามารถมีบทบาทอย่างสำคัญในการเสริมสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและครอบครัวให้กับคนทำงาน  จากประสบการณ์ของหลายแห่ง พบว่าการดำเนินงานดังกล่าว ไม่เพียงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน แต่หมายรวมถึงความพร้อมของบุคลากรในองค์กรที่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย