
แม่สอนเสมอว่าถ้าพนักงานไม่มีเงิน นายจ้างต้องดูแล เลยตั้งกองทุนเงินยืมเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่เดือดร้อน ไม่อยากให้ไปติดหนี้นอกระบบ หรือหนี้บัตรเครดิต บางคนมีญาติตกงาน ลูกต้องเรียนหนังสือ เขามีรายได้คนเดียว ก็ต้องมายืมเงินกองทุนนี้ไปแก้วิกฤตครอบครัว
B-MED Shop โดย บริษัทบ้านหมอ (ประเทศไทย) จำกัด
ประเภทธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่อยู่สำนักงาน 1087/21 คลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
โรงงาน คลอง 12 ธัญบุรี / ศูนย์กระจายสินค้า – คลอง 11 ธัญบุรี
ข้อมูลพนักงาน จำนวนประมาณ 100 คน เป็นพนักงานโรงงาน 30 คน พนักงานประจำโชว์รูม 34 สาขาทั่วประเทศ และสำนักงานส่วนกลาง
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
เพราะรู้ซึ้งถึงชีวิตที่เคยล้มลุกคลุกคลาน ไชยันต์ ลิหมัด ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านหมอ (ประทศไทย) จำกัด หรือ B-MED เห็นใจคนที่เดือดร้อน จึงช่วยพนักงานผ่อนหนักให้เป็นเบาในหลายรูปแบบ
B-MED เป็นบริษัทจำหน่ายครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มีโรงงานผลิตเตียงคนไข้ เสาแขวนน้ำเกลือ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วย รวมทั้งนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ เช่น เครื่องมือวัดความดัน เป็นต้น ไชยันต์ก่อร่างสร้างธุรกิจนี้ขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว โดยยึดหลักการตลาดคือ ผลิตภัณฑ์ราคาไม่สูง ลูกค้าคนไทยมีโอกาสจับต้องได้ ต้องส่งสินค้าถึงมือลูกค้าทั่วประเทศ ภายใน 3 ชั่วโมง เพราะมีสต๊อกสินค้าอยู่ทุกภูมิภาค ปัจจุบัน ขยายสาขาถึง 34 -35 แห่งทั่วประเทศ
“สิ่งที่เราทำควบคู่ไปกับธุรกิจ คือการช่วยเหลือสังคม เช่น การบริจาคเตียงให้กับผู้ป่วยที่ยากไร้ กลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ ผมไม่เคยตั้งเป้าไว้ว่าแต่ละปีจะบริจาคเท่าไหร่ รู้แค่ว่าอะไรที่เข้ามาแล้วสะท้อนจิตใจเราเป็นหลักว่าต้องช่วย บางทีเราไม่มีของที่เขาต้องการก็ต้องหาให้ น่าจะเป็นร้อยเคสแล้วที่เราช่วยเหลือ ถ้าตีเป็นมูลค่าตั้งแต่เริ่มบริจาคปีแรกจนถึงวันนี้น่าจะร่วมสิบล้านบาท รวมถึงการให้เตียง รถเข็น อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ฯลฯ ไปหมุนเวียนกันใช้ในชุมชน
“นอกจากบริจาคให้คนภายนอกแล้ว ก็ให้พนักงานด้วย เช่น ที่บ้านมีคนป่วยติดเตียง หรือรถเข็น พนักงานที่เงินเดือนไม่มากคงไม่มีกำลังทรัพย์จะซื้อของพวกนี้ เราพิจารณาจากสภาพบ้านของเขา คนดูแลคนป่วยเป็นใคร แหล่งรายได้ของเขาคืออะไร สามอย่างนี้ก็บอกได้แล้วว่าเขาลำบากแค่ไหน”
ผู้บริหารบ้านหมอ เผยถึงมุมมองของความใส่ใจต่อพนักงานในองค์กร

ชีวิตสะดุด ต้องพูดคุย หาทางออกร่วมกัน
บริษัทบ้านหมอ มีการบริหารงาน 3 ส่วนคือ สำนักงาน โรงงาน (ฝ่ายผลิต) และ โชว์รูมทั่วประเทศแต่ละฝ่ายมีผู้จัดการคอยดูแล และมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แทนผู้บริหารได้ ส่วนเวลาการทำงานจะมีการเหลื่อมเวลาตามความเหมาะสม เช่น สำนักงาน และ ฝ่ายผลิต คือ 08.00-17.00 น. ในขณะที่พนักงานโชว์รูม เข้างานเวลา 08.00 -19.00 น. บางแห่ง 08.00 -20.00 น. เนื่องจากเป็นช่องทางสร้างรายได้จึงต้องเลิกงานช้ากว่าฝ่ายอื่น
พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น จึงต้องหาที่พักใกล้ที่ทำงาน ยกเว้นพนักงานฝ่ายผลิตที่อยู่โรงงาน ทางบริษัทมีที่พักให้ฟรี ค่าน้ำฟรี แต่เสียค่าไฟเอง ห้องพัดลมเดือนละ 150 ห้องแอร์เดือนละ 300 ซึ่งพนักงานหลายคนพาครอบครัวมาอยู่ด้วย
พนักงานที่นี่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วันคือวันอาทิตย์ และสามารถสลับวันหยุดกันได้โดยพนักงานตกลงกันเอง อย่างเช่น พนักงานโชว์รูมที่เป็นมุสลิมต้องการไปทำพิธีวันสำคัญทางศาสนา พนักงานที่เป็นไทยพุทธก็ทำงานแทน และเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาพุทธ
พนักงานมุสลิมก็จะทำงานแทนเพื่อให้เพื่อนไปทำบุญบ้าง หรือถ้าใครมีความจำเป็นต้องลาหยุดก็ตกลงกันเองได้
ส่วนฝ่ายผลิต จะสลับกันหยุดในช่วงการทำโอที โดยตกลงกันเองว่าใครจะทำวันไหนกี่โมงถึงกี่โมง หากใครมีความจำเป็นต้องลาหยุดต่อเนื่อง จะลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 3 วัน แต่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินสามารถอนุโลมได้
“เคยมีเคสที่พ่อแม่ป่วย มาขอลาหยุดไปดูแล เราเลยแนะนำว่าให้ลองปรับเวลาทำงานดูแทนที่จะลาหยุด จะได้ไม่เสียสถิติวันลา เขาก็โอเค คือ ต้องมาพูดคุยช่วยกันหาทางออก”
ผู้บริหารหนุ่ม ยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการทำงานของบริษัท


กองทุนเงินยืม กู้วิกฤตชีวิต-ครอบครัว
โครงการเงินยืมสำหรับพนักงาน เพื่อช่วยเหลือพนักงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยไม่มีดอกเบี้ย ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ อายุงาน 1 ปีขึ้นไป ยืมได้ไม่เกิน 20,000 บาท ผ่อนคืนภายใน 1 ปี, อายุงาน 2 ปีขึ้นไป ยืมได้ 40,000-60,000 บาท ผ่อนคืนภายใน 6 ปี แต่ถ้าอายุงานไม่ถึง 1 ปี แต่จำเป็นต้องใช้เงิน ผู้บริหารจะสัมภาษณ์เพื่อพิจารณา โดยมีเงื่อนไขคือต้องมีบุคคลค้ำประกัน
“ผมได้ความคิดมาจากแม่ เราเคยจนมาก่อน เวลาเดือดร้อนไปหยิบยืมใครไม่ได้ พอเราเริ่มตั้งตัวได้และทำธุรกิจนี้ แม่สอนเสมอว่าถ้าพนักงานไม่มีเงิน นายจ้างต้องดูแลให้ยืมเพราะลูกน้องไม่มีที่พึ่งอื่น แต่ละปีเราใช้เงินในโครงการนี้ประมาณ 2 ล้านบาท เราจะดูด้วยว่าพนักงานนำเงินไปใช้อะไร ถ้าเป็นของฟุ่มเฟือยเราจะไม่ค่อยสนับสนุนเพราะเป็นการสิ้นเปลือง บางคนเอาเงินไปจ่ายค่าเทอมลูก พนักงานที่อยู่ภาคอีสานกับภาคเหนือหลายคนมีหนี้ครอบครัว ก็จะไปช่วยพ่อแม่ใช้หนี้ ธ.ก.ส.
“ในช่วงโควิดระบาดระลอกใหม่ เราก็ซื้อประกันโรคโควิดให้พนักงานทุกคน บางคนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น ภรรยาโดนให้ออกจากงาน สามีซึ่งเป็นพนักงานโรงงานเรา ก็จะมาขอทำงานล่วงเวลา บางทีวันอาทิตย์เราก็เปิดงานจ๊อบขึ้นมาอีกหน่อย เพื่อให้คนเหล่านี้มาช่วยกันทำงาน อีกรายเป็นคนขับรถของที่นี่ ก็มาขอทำงานพิเศษคือวิ่งรถส่งของไปต่างจังหวัด ซึ่งปกติเราจ้างรถหกล้อไปส่งอยู่แล้ว จึงเอางานมาให้คนของเราทำแทนเพื่อเพิ่มรายได้ ซึ่งเขาก็ยอมเหนื่อยมากขึ้นในช่วงนี้” ไชยันต์ เผยถึงวิธีแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตให้กับพนักงานของเขา


ก้าวผ่าน ปัญหาการเงินครอบครัว
เอื้อเฟื้ออุปกรณ์เพื่อผู้ป่วยในครอบครัว
พนารัตน์ สว่างฤกษ์ พนักงานฝ่ายบัญชี และแอดมิน
พนารัตน์ พื้นเพเดิมเป็นคนลพบุรี เมื่อสามีได้มาทำงานแถวลาดกระบัง จึงติดตามมาด้วยและมาสมัครงานที่บริษัทบ้านหมอ ทำงานที่นี่ได้ 2 ปีกว่าแล้ว เธอมีลูกสาว 2 คน คนโตกำลังเป็น “ว่าที่” บัณฑิต ส่วนลูกสาวคนเล็กกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อาศัยอยู่กับคุณตาและน้าสาวที่ลพบุรี พนารัตน์เป็นคนหนึ่งที่ทำเรื่องยืมเงินกองทุนของบริษัท
“ยืมเงินมาจ่ายค่าเทอมของลูกสาวคนโต ซึ่งกำลังจะเรียบจบ และค่าใช้จ่ายของลูกสาวคนเล็กในแต่ละสัปดาห์ ปกติผ่อนคืนเดือนละ 2,000 บาท แต่ช่วงนี้มีโควิด 19 ไม่มีการทำโอที ผู้บริหารจึงปรับลดเหลือผ่อนเดือนละ 1,000 บาท
“ดีมากที่บริษัทมีกองทุนสำหรับพนักงาน ทำให้เราไม่ต้องไปหากู้เงินข้างนอก ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยและมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก กว่าจะได้เงินมา ของบริษัทเราทำเรื่องล่วงหน้าอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเงินได้เยอะ แล้วเคยซื้อเครื่องมือวัดความดันไปให้พ่อใช้ บริษัทก็ขายให้ในราคาพิเศษ ช่วยประหยัดเงินได้เยอะเลย” พนารัตน์ กล่าว
ซูไฮลา เจ๊ะสนิ พนักงานขายหน้าร้านโชว์รูม สาขานครศรีธรรมราช
เป็นเวลา 2 ปีกว่าแล้วที่เธอเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่นี่หลังเรียนจบ งานของเธอมีทั้งประจำหน้าร้าน ติดต่อโรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมทั้งเป็นตัวแทนบริษัทนำเตียงหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ไปมอบให้หน่วยงานหรือผู้ที่ขอรับบริจาค
ซูไฮลา เป็นคนยะลา พอมาทำงานที่นครศรีธรรมราชจึงต้องห่างครอบครัว เมื่อพ่อวัย 60 กว่า หกล้มทำให้เดินไม่สะดวก คนดูแลหลักคือแม่ โชคดีที่ผู้บริหารทราบเรื่อง จึงได้รถเข็นและเตียงไปให้คุณพ่อ
“ตอนที่พ่อล้ม เราก็จะซื้อรถเข็นที่บริษัทให้เขาใช้เวลาไปโรงพยาบาล พอคุณไชยันต์รู้ ก็ให้ผู้จัดการส่งรถเข็นมาให้ ช่วงหลังพ่อเริ่มนอนลำบาก เลยจะขอซื้อเตียงผู้ป่วย คุณไชยันต์ก็ให้เอาไปใช้ ตอนนี้พ่อเริ่มดีขึ้นแล้ว คิดกันว่าจะนำของไปบริจาคต่อให้ รพ.สต.
“ดีใจมาก ที่บริษัทมีนโยบายแบบนี้ บ้านเราแค่พอมีพอใช้ เมื่อได้รับการช่วยเหลือรู้สึกดีต่อใจ” พนักงานสาว กล่าวชื่นชมในความเอื้ออาทรของที่ทำงาน


วางเป้าเข้าตลาด-ตั้งมูลนิธิเพื่อสังคม
ทั้งสองกรณีของพนักงานที่ได้รับความช่วยเหลือ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ตรงความตั้งใจของผู้ก่อตั้งบริษัทบ้านหมอ ที่ต้องการสร้างให้เป็นองค์กรแห่งความช่วยเหลือและเกื้อกูลต่อสังคม เป็นองค์กรแห่งการให้โอกาส แต่ไม่ทิ้งความมุ่งมั่นที่จะสร้างบ้านหลังนี้ให้เติบโตต่อไป
บริษัทบ้านหมอฯ ตั้งเป้าจะขยายโชว์รูมให้ครบ 70 สาขาภายใน 2 ปี สำหรับเป้าหมายสูงสุดคือ วางแผนที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งจัดตั้งมูลนิธิเพื่อขยายความช่วยเหลือแก่สังคม
ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือด้านเตียงผู้ป่วย อุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งทางพนักงานบริษัท โชว์รูมทั่วประเทศ แฟนเพจของบริษัท หรือหน่วยงานสมาคมเพื่อประสานความช่วยเหลือ
