
ที่ตั้ง : โรงงานพระประแดง
ประเภท : โรงงานอุตสาหกรรม
ประเภทการผลิต : อาหารสัตว์
ลักษณะงาน : ส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงาน
บริบทพนักงาน : ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด มาเช่าบ้านใกล้ที่ทำงาน มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นคนพื้นที่
“เครือเบทาโกร” ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเบทาโกรคือบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเก่าแก่กว่า 50 ปี แต่อาจมีคนแค่ไม่มากที่จะรู้ว่า บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 35,000 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งในโรงงาน ฟาร์ม ร้านค้า สำนักงาน ฯลฯ แท้จริงแล้ว ที่ตั้งแห่งแรกของเครือคือ โรงงานอาหารสัตว์พระประแดง ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2510 ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ย่านบางกระเจ้ายังเป็นพื้นที่ชุมชนเกษตรกรรม ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้มีพนักงานจำนวนราว 170 คน
การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area Based Community Development : HAB) คือกรอบในการดูแลชุมชน ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเครือเบทาโกร 5 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสุขภาพ ซึ่งใช้ในการทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ล่าสุด เบทาโกรนำแนวคิดดังกล่าว มาใช้เพื่อดูแลพนักงาน ที่เรียกชื่อโครงการว่า Employee Engagement Holistic Area Based Community Development : EE-HAB
EE-HAB เป็นโครงการนำร่อง เพื่อสร้างรูปแบบการดูแลพนักงานสำหรับงานต่างประเภท เริ่มที่การจัดประชุมเพื่อชี้แจงโครงการฯ กับหัวหน้าส่วนงานต่างๆ จากทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบโครงการฯ และกลับไปดำเนินการในส่วนงานที่รับผิดชอบ โดยใช้แนวคิดการดูแลคนทำงาน 5 ด้าน ซึ่งครอบคลุมถึงครอบครัวของพนักงาน
ก่อนหน้านี้ เราพบว่ามีพนักงานลาออก 10-15 เปอร์เซ็นต์ มองว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ทำอย่างไรเราจะดูแลคน 85 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่กับเราให้ดียิ่งขึ้น
EE-HAB เราทำเป็นโครงการนำร่องเล็กๆ ทดลองสร้างวัฒนธรรมการทำงาน ที่เน้นความสัมพันธ์และความเข้าใจระหว่างคนทำงาน หัวหน้างานกับลูกน้อง โดยการมองไปให้ลึก ถึงปัญหาที่พนักงานกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งเรื่องของครอบครัว โดยความคิดพื้นฐานว่า ถ้าเราใส่ใจ และสร้างความไว้วางใจ จนรู้ว่าพนักงานกำลังห่วงกังวลเรื่องอะไร เราก็อาจจะเข้าไปช่วยดูแลช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้
ธานัท รักเพชร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรั
พยากรมนุษย์
โรงงานอาหารสัตว์พระประแดง ดำเนินโครงการ EE-HAB โดยเปิดรับพนักงานเข้าร่วมตามความสมัครใจ รวมทั้งการชักชวนพนักงานที่ถูกเล็งเห็นว่าน่าจะกำลังเผชิญปัญหา โดยส่วนทรัพยากรมนุษย์จะจัดเก็บข้อมูลของพนักงานและครอบครัวครอบคลุมทั้ง 5 มิติ ซึ่งจะทำให้เห็นว่า พนักงานกำลังเผชิญปัญหาในด้านใด เพื่อจะสามารถดูแลช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
วริณรำไพ ปัญญาเดโชวิสิทธิ์ ผู้จัดการส่วนทรัพยากรมนุษย์ บอกว่า ปัญหาขาด ลา มาสายบ่อยๆ หรือประสิทธิภาพงานลดลง ถ้าได้จัดเก็บข้อมูลจะทำให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาที่พนักงานกำลังเผชิญอยู่ และเมื่อรู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าองค์กรสามารถดูแลช่วยเหลือได้ พนักงานก็สามารถกลับมาทำงานได้ตามเดิม และสิ่งที่เพิ่มเติมมาคือความผูกพันกันของทีมงาน และความรู้สึกดีที่มีต่อองค์กร เรียกว่า “ได้ใจ” คนทำงาน

“แม่ของผมพื้นเพเป็นคนบางกระเจ้า ผมทำงานที่นี่ ก็อยู่กับแม่ บ้านไม่ไกลจากที่ทำงาน
“สองปีก่อน เกิดปัญหาหนี้บัตรเครดิต รู้สึกเครียดมาก แต่ไม่กล้าบอกแม่ กลัวท่านจะกังวล ผมพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ก็จัดการไม่ได้ ตอนนั้นเครียด แต่ไม่รู้สึกว่างานเราแย่ลงจนเป็นปัญหา อาจจะเพราะเรามัวแต่คิดแก้ปัญหาของตัวเอง
“กระทั่งได้ไปปรึกษาหัวหน้า แล้วทางเอชอาร์มาพูดคุยข้อมูล แล้วทุกคนก็มาช่วยคิดหาทางออก ทั้งการเข้ากระบวนการแก้หนี้กับสถาบันการเงิน การวางแผนการเงินใหม่ทั้งหมด โดยพยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง รวมทั้งหารายได้เสริมจากการขายของออนไลน์”
ธมนต์ แสงรัตน์ อายุ 29 ปี ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ
จักรกฤช วงศ์สิม หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ เล่าว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาร่วมกับส่วนทรัพยากรมนุษย์ ช่วยกันหาทางออกปัญหาหนี้สินให้กับพนักงานในฝ่าย เห็นได้ชัดว่าเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข พนักงานกลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพได้เหมือนเดิม ทำให้เขาได้รู้ว่า การดูแลทีมงานเหมือนคนในครอบครัว โดยการดูแลทุกข์สุขของคนในแผนก เป็นส่วนสำคัญต่อการทำงาน จึงนำวิธีการนี้ไปปรับใช้กับลูกน้องคนอื่นๆ อีกด้วย
“ทำงานที่นี่มา 20 ปี ปีหน้าจะเกษียณแล้ว เขาชวนสมัครเข้าโครงการฯ คิดว่าน่าสนใจก็เลยลองดู
“ที่ผ่านมาไม่เคยจดบันทึกรายรับรายจ่ายเลย พอโครงการฯ ชวนให้ทำบัญชี ครบเดือนเรามาดูถึงเห็นว่า รายรับมีทางเดียว แต่รายจ่ายเต็มไปหมด บางทีต้องหยิบยืม
“หลังเกษียณจะทำอะไร เพราะต้องหารายได้เพื่อดูแลลูกที่ป่วยทำงานไม่ได้ ตอนแรกว่าจะขายของ แต่ทางบริษัทจัดอบรมนวดแผนไทยให้ ตอนนี้เลยมีรายได้จากการนวดมาเสริม รวมทั้งทำขนมมาขายเพื่อนๆ ด้วย พอเกษียณแล้วจะไปเข้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีงานนวดแผนไทยอยู่ด้วย”
บุหงา แย่งขจร อายุ 60 ปี

โครงการ EE-HAB ของเครือเบทาโกร เป็นงานนำร่อง ที่เริ่มตั้งเป้าหมายจำนวนคนเข้าร่วมในระยะแรกเพียงไม่มาก และค่อยๆ ขยายผลการทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจและปรับมุมมองของระดับหัวหน้างานไปทีละน้อย โดยทีมงานมีการประชุมรายงานความก้าวหน้า และผลการดำเนินงานกันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า แต่ละประเภทงานได้รูปแบบการดูแลช่วยเหลือพนักงานที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เป็นข้อสรุปร่วมกันคือการจัดเก็บข้อมูลมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้รู้ถึงสถานการณ์ปัญหา และสามารถออกแบบแนวทางการดูแลพนักงานได้อย่างเหมาะสมมากที่สุด