เราเน้นการดูแลพนักงานให้ดี อยากให้เขาทำงานกับเราแล้วสนุก มีความสุข สวัสดิการที่จัดให้คนของเรามากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะมองว่า โรงงานนี้ทุกคนร่วมสร้างมาด้วยกัน

สถานประกอบการ : โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์
จำนวนพนักงาน : 300 คน ผู้หญิง 200 คน ผู้ชาย 100 คน
ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตขนมอบ
บริบทพนักงาน : ส่วนใหญ่พักใกล้โรงงาน ทั้งคนในพื้นที่ และคนต่างจังหวัด

เพราะรู้ว่า "การจัดการเวลาได้" มีความหมายสำหรับคนทำงาน โรงงานทำขนมย่านประชาอุทิศ ที่ตั้งใจจะดูแลพนักงานเหมือนสมาชิกในครอบครัว จึงจัดให้มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานสามารถเหลื่อมเวลาทำงาน เลือกวันหยุดเองได้ รวมทั้งบีบอัดชั่วโมงการทำงานในหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น
Delicious is Happiness
คือปรัชญาที่พา โบว์เบเกอรี่เฮาส์ ให้ประสบความสำเร็จ
บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮาส์ จำกัด เป็นโรงงานขนาดกลาง ผลิตและจำหน่ายสินค้าในกลุ่มเบเกอรี อย่างเค้ก, คุ้กกี้, พัฟ, พาย, ครัวซองต์, แซนด์วิช, ขนมปัง, เมอแรงค์ และยังคงรสชาติความอร่อยสไตล์ “เบเกอรี โฮมเมด” ด้วยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีที่ทันสมัยกับความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตลอดจนคู่ค้าทางธุรกิจ
“เราไม่ใช่โรงงานที่ต้องการปั๊มเงินเยอะๆ เรายังตีส่วนผสมด้วยมือ ถึงจะช้าและต้องใช้แรงคน แต่ขนมจะอร่อยกว่า ก็เหมือนการทำอาหาร ทำทีละน้อยกับทำครั้งละเยอะๆ ความอร่อยต่างกัน”
ด้วยจุดยืนเช่นนี้ ของ วิสิทธิ์ สดแสงเทียน และ รุจา สดแสงเทียน สองสามีภรรยาที่สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ว่าคือโรงงานผลิตขนมที่ใส่ใจเกินกว่าขอบเขตในการผลิตที่ใช้เครื่องจักร แต่เน้นความสำคัญเรื่อง “ความสุข” ไม่เพียงของผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงคนทำงาน
“การเติบโตขององค์กรไม่ได้อยู่ที่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความสุขในการทำงาน มีความสุขที่อยู่ในองค์กรแห่งนี้” เจ้าของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ ปักธงแนวคิดในการดูแลทุกคนในองค์กร

เวลาจัดการได้ ชีวิตจัดการได้
“เราเน้นการดูแลพนักงานให้ดี อยากให้เขาทำงานกับเราแล้วสนุก มีความสุข จัดสวัสดิการที่จัดให้คนของเรามากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะมองว่า โรงงานนี้ทุกคนร่วมสร้างมาด้วยกัน”
สวัสดิการที่วิสิทธิ์พูดถึง ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, สหกรณ์ออมทรัพย์, สนามกีฬา, ประกันสุขภาพสำหรับระดับหัวหน้ากับรองหัวหน้า, ตรวจสุขภาพประจำปีให้พนักงานทุกคน, ทุนการศึกษาสำหรับลูกหลานพนักงาน
ที่พิเศษและตอบโจทย์คนรักครอบคัวคือ โครงการเลือกวันหยุดพิเศษ หมายถึงการที่พนักงานเลือกวันหยุดได้ จากที่ทุกคนมีโควต้าเดือนละ 4 วัน โดยไม่จำเป็นต้องหยุดวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ทุกสัปดาห์ แต่สามารถหยุดวันอื่น หรือหยุดติดกัน 4 วันไหนของเดือนก็ได้ ขอแค่ให้จัดการงานในความรับผิดชอบเรียบร้อยเป็นพอ
กนกวรรณ อุษาสมจรัส เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล บอกว่า โครงการนี้มีเสียงตอบรับดีมาก พนักงานเข้าร่วมถึง 98 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังมีระบบที่เรียกว่า การบีบอัดวันทำงานในหนึ่งสัปดาห์ (Compressed Work Week) ที่ทำให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกได้
“ปกติทำงานอาทิตย์ละ 6 วัน แต่ถ้าทำงานเพิ่ม วันละครึ่งชั่วโมง พอครบ 5 วัน จะได้หยุดวันเสาร์เพิ่ม เป็นเสาร์เว้นเสาร์ ซึ่งหัวหน้าแต่ละแผนกจะจัดสรรกันเองเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นสำหรับแต่ละคนมากที่สุด”
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล ชี้ถึงแนวคิดของการจัดให้พนักงานสามารถจัดการเวลาได้มากขึ้น คือช่วยให้พนักงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น หรือวางแผนเดินทางไปต่างจังหวัดเยี่ยมครอบครัวได้ ส่วนคนที่ไม่มีครอบครัวก็มีเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ได้
นอกจากการเพิ่มวันหยุดแล้ว คนของโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ยังสามารถสลับเวลาทำงาน รวมทั้งมีการลางานในหลายรูปแบบ อาทิ
• การเลือกวันหยุด เพื่อจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เช่น ภรรยาหยุดวันเสาร์ สามีหยุดวันอาทิตย์ เพื่อสลับกันดูแลลูก
• เหลื่อมเวลาการทำงาน เช่น ภรรยาเข้างานเช้า เลิกงานเร็ว สามีเข้างานบ่ายเลิกงานค่ำ สามารถผลัดเปลี่ยนกันดูแลสมาชิกในครอบครัวได้สะดวกยิ่งขึ้น
• ถ้าโรงเรียนของลูกมีกิจกรรมในโอกาสพิเศษ พนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่สามารถลาครึ่งวันไปร่วมงานได้ โดยไม่ถือว่าเป็นวันลาหรือขาดงาน
“ดีมากที่ออฟฟิศมีนโยบายแบบนี้ ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น อย่างที่บ้าน ต้องดูแลพ่อแม่ บางทีมีเหตุฉุกเฉิน เราขอกลับไปดูแลได้แล้วค่อยทำงานชดเชยวันหลัง ถ้าทำงานครบตามเวลาของออฟฟิศคือ 9 ชั่วโมงก็ถือว่าไม่มีผลกระทบ ไม่มีการหักเงิน”
วรรณภา สุกเกต พนักงานบัญชี กล่าวถึงข้อดีของการที่คนทำงานสามารถจัดการเวลาเองได้ ที่ช่วยให้เธอผ่านปัญหาในการดูแลลูกวัย 3 ขวบครึ่ง และพ่อแม่ที่สูงวัยมาได้ด้วยดี
วรรณภากับสามีทำงานเหลื่อมเวลา โดยเธอทำงานเวลา 06.30-16.00 น. ส่วนสามีเป็นระดับหัวหน้า เข้างานประมาณ 07.00 หรือ 07.30 น. แต่เลิกไม่เป็นเวลา สามีทำหน้าที่ไปส่งลูกสาวที่โรงเรียน ส่วนเธอไปรับหลังเลิกเรียน
“ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องไม่มีคนไปรับไปส่งลูก เพราะทำงาน 7 โมง เลิก 4 โมงครึ่ง ฝ่ายบุคคลเลยแนะนำให้เราไปรับลูกก่อนแล้วค่อยทำงานชดเชยทีหลัง
“หรืออย่างช่วงโควิดที่โรงเรียนหยุดยาว จะเข้างานประมาณตี 5 ครึ่ง เลิกบ่ายสามโมง สามีดูแลลูกช่วงเช้าได้ เพราะเขาเข้างานประมาณบ่ายโมง พอจะไปทำงานก็ฝากลูกกับพ่อแม่ไว้สัก 2 ชั่วโมง พอสามโมงเราก็กลับบ้านแล้ว ถือว่าแก้ปัญหาได้มากเลย”
ส่วนวันหยุด วรรณภาหยุดทุกวันอาทิตย์ และเสาร์เว้นเสาร์ ส่วนสามีหยุดวันเสาร์เป็นหลัก และหยุดเสริมในวันอังคาร ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันครบหน้าพ่อแม่ลูกในวันเสาร์ แต่ถ้าอยากจะเปลี่ยนวันหยุด ก็ต้องทำงานล่วงหน้าก่อนเพื่อไปหยุดในวันที่ต้องการ

ในส่วนของพนักงานในฝ่ายผลิต กำหนดเวลาการทำงานเหลื่อมกันตามขั้นตอนทำขนม เช่น พนักงานตีแป้งเข้างานตอน 03.00 น. ฝ่ายอบขนมทำงานตอน 06.00 น. ฝ่ายตกแต่งขนมเริ่มงาน 07.00 น. ฝ่ายขนส่งมาถึงโรงงานตอน 08.00 น. เฉลี่ยเวลาทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง
ฝ่ายผลิตทำงานเหลื่อมเวลาได้ยาก และไม่ต้องการวันหยุดพิเศษ ส่วนหนึ่งเนื่องจากส่วนใหญ่พักอาศัยในชุมชนใกล้ที่ทำงาน และรับค่าแรงเป็นรายวัน วันหยุดเพิ่มจึงไม่จำเป็นมากนัก แต่บริษัทชดเชยให้ผ่านสวัสดิการส่วนอื่น เช่น ให้เบี้ยขยัน ดูแลสวัสดิการอาหาร โดยจัดข้าวและไข่ต้มให้ฟรี เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีเวลาพักมากกว่าพนักงานในส่วนสำนักงาน คือนอกจากพักช่วงเที่ยงแล้ว ยังให้พักเบรกอีกครึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มทำโอที
“เรารักเขา เขาก็รักเรา พนักงานของเราทำงานที่นี่ยาวนาน ไม่ค่อยลาออก แล้วยังไปชวนคนในหมู่บ้านมาทำกับเราด้วย โรงงานเราไม่เคยขาดคนเลยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา”
วิสิทธิ์ ปิดท้ายการสนทนาด้วยประโยคที่ย้ำให้เห็นถึงการดูแลกันและกันของ “ครอบครัวโบว์เบเกอรี่เฮ้าส์”



จุดสตาร์ท ที่ใจรัก
นับหนึ่งที่ร้านขนมเล็กๆ เมื่อปี 2542 เพียงสามปีต่อมา “โบว์เบเกอรี่เฮาส์” ขยายตลาดส่งขนมป้อนร้านกาแฟชื่อดังอย่างบ้านใร่กาแฟ และร้านกาแฟอีกหลายแบรนด์ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ก่อนจะขยายฐานไปยังร้านแบรนด์ดังอย่าง สตาร์บัคส์ อินทนิล อเมซอน และร้านคัดสรรในเซเว่นอีเลฟเว่น
ปี 2556 โบว์เบเกอรี่เฮาส์ สร้างโรงงานแห่งใหม่ในซอยประชาอุทิศ เพื่อรองรับการผลิตด้วยจำนวนพนักงานที่ราว 300 คน
ความสำเร็จนี้ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดขึ้นด้วยความทุ่มเทของผู้บริหาร วิสิทธิ์ สดแสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัทโบว์เบเกอรี่เฮาส์ โดยมีรางวัล “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจอาหารประจำปี 2018” จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ
“ผมเป็นรุ่นบุกเบิกองค์กรนี้ เพราะภรรยา (คุณโบว์-รุจา สดแสงเทียน) ชอบทำขนมก็ช่วยกันทำมา ผมเป็นฝ่ายการตลาด ลูกค้าชอบแบบไหนเราก็มาบอกโจทย์ให้คนทำแล้วให้ลูกค้าลองชิม ช่วยกันทั้งกองหน้ากองหลังจนขยายกิจการได้เรื่อยๆ”
คือความเป็นมาของ โบว์ เบเกอรี่เฮาส์