
เรื่อง : เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
ภาพ : Brickinfo Media
“พ่อแม่เลี้ยงลูก 7 คนได้ ทำไมลูกคนเดียวดูแลพ่อแม่ไม่ได้”
“ทำให้เด็กเกิดมาได้ ทำไมเลี้ยงไม่ได้”
คำพูดสะท้อนความคิดความเชื่อที่หยั่งรากลึกในสังคมเช่นนี้ที่ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี รองศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อจำกัดในการสร้างสรรค์สวัสดิการสังคม ซึ่งจะช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวไทยทุกเพศวัย
เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว พูดคุยกับนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ ในประเด็น “สวัสดิการครอบครัว”
มองเรื่องสวัสดิการครอบครัวว่ามีความจำเป็นเพียงใด
สังคมก้าวหน้ามากขึ้น เรารับรู้กันแล้วว่ามนุษย์เป็นมากกว่าเครื่องจักร เพราะมนุษย์ต้องการการพักผ่อน และมีมิติเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก การดูแลคนในครอบครัว สิทธิสวัสดิการจึงต้องขยายให้ครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย
ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยชัดเจน ว่าแม่ที่เลี้ยงเด็กเล็กแบบเต็มเวลา เทียบมูลค่าแล้วเท่ากับค่าแรง 160,000 บาทต่อเดือน แต่สังคมส่วนใหญ่ยังมองเป็นงานฟรี ตอนนี้หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับสิทธิประโยชน์สำหรับการดูแลลูก เช่นการมีศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน ซึ่งจะทำให้แม่สามารถกลับมาทำงานได้
อีกปัญหาใหญ่ คือสังคมเอเชียเชิดชูความกตัญญู ลูกมีหน้าที่ต้องดูแลพ่อแม่ แต่ในมุมมองของที่ทำงานกลับไม่มีความเข้าอกเข้าใจ หรือเห็นใจพนักงานที่เป็นลูกวัยกลางคน ต้องดูแลพ่อแม่ที่ป่วยมีโรคประจำตัว มีโรคเรื้อรัง ต้องพาไปหาหมอทุกเดือน ซึ่งการจ้างคนมาช่วยดูแลก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อคิดถึงโครงสร้างรายได้
เวลาพูดถึงสวัสดิการครอบครัว มีการศึกษาเรื่องนี้เป็นการเฉพาะหรือไม่
โมเดลพื้นฐานของสวัสดิการครอบครัว ภาครัฐทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลางควรเข้ามาดูแล และอาจเพิ่มเติมด้วยกฎหมายที่สนับสนุนการดูแลครอบครัว อย่างที่นอร์เวย์ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถลาเลี้ยงดูลูกได้ 480 วัน และเก็บวันลาที่เหลือไว้ใช้ได้จนลูกอายุครบเก้าขวบ มันอาจฟังดูเป็นเรื่องหรูหราฟุ่มเฟือย แต่สิ่งนี้สำคัญต่อคุณภาพชีวิต และหลายประเทศกำหนดเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรับคนทำงานแล้ว
เป็นไปได้ไหมว่าเมื่อมองเป็นหน้าที่ของ “แม่” และ “ลูก” เราเลยมองข้ามการดูแลหรือสนับสนุน “ผู้ดูแล”
ผมคิดว่าตัวนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ในเยอรมนมีสวัสดิการให้กับคนที่เป็น ผู้ดูแล (Caregiver) แบบเต็มเวลา แต่ก็ยังเป็นถกเถียงกันเมื่อได้รับไม่ถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ ลองคิดดูว่าเราให้คุณค่ากับอาชีพเช่น วาณิชธนากรที่ดูแลด้านการเงินได้ค่าตอบแทนเยอะมาก แต่พอคุณดูแลมนุษย์กลับมองว่าเป็นของฟรี ทั้งที่การดูแลมนุษย์สำคัญกว่าการดูแลเงิน แต่ไม่เคยถูกนำมาคำนวณอย่างจริงจังว่าเราควรให้ค่าตอบแทนกับคนที่ทำหน้าที่นี้อย่างไร เพราะมองเป็นหน้าที่ซึ่งทุกคนต้องอุทิศตนเพื่อดูลูกและพ่อแม่
หลายคนต้องลาออกจากงานมาดูแลคนในครอบครัว มองเรื่องนี้อย่างไร
มนุษย์ไม่ได้เป็นแค่แม่หรือเป็นลูกตลอดเวลา แต่มีแง่มุมอื่นในชีวิต เมื่อไม่มีโอกาสเลือกมากนัก แนวทางที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายและได้คุณภาพมากที่สุดก็คือการลงมือเอง สำหรับชนชั้นกลางทั่วไปการจ้างคนดูแลลูกหรือพ่อแม่เดือนละ 10,000-20,000 บาท เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลกับฐานะทางเศรษฐกิจ แต่เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ส่งเสียงมากขึ้นว่าต้องการเดย์แคร์ที่มีคุณภาพ ต้องการสวัสดิการครอบครัวที่ดี มีโรงเรียนฟรี ใกล้บ้าน อยากได้สิ่งพื้นฐานที่คืนความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้านให้กับเขาได้

ทุกวันนี้ “สถาบันครอบครัว” อ่อนแอลง แนวโน้มการดูแลกันจะแตกต่างจากในอดีตเพียงใด
โครงสร้างครอบครัวและความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ครอบครัวมีลูกคนเดียว หลายครอบครัวไม่มีลูก ไม่มีชุมชนที่ช่วยสนับสนุนการดูแลครอบครัวเหมือนในอดีต เราเริ่มเห็นพ่อแม่วัย 40 ต้นที่ไม่คาดหวังว่าลูกจะต้องมาเลี้ยงดู ส่วนลูกยุคนี้ลำพังเลี้ยงตัวเองให้รอดก็ยากลำบากกว่ายุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด เหล่านี้คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนมากนัก คือสวัสดิการ ภาครัฐและผู้ประกอบการต้องร่วมกันออกแบบระบบการดูแลพื้นฐาน เพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถเติบโตได้ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนไป
การเรียกร้องสวัสดิการครอบครัวถูกพุ่งเป้าไปที่รัฐ ผู้ประกอบการดูเหมือนจะถูกมองข้ามไป
รัฐยังคงต้องเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ก็มีอะไรหลายอย่างที่บริษัทสามารถทำได้ ตัวอย่างบริษัทศรีจันทร์ที่โชว์แพ็คเกจสวัสดิการครอบครัวหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาขาดทุน เพราะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเยอะ แต่สำคัญที่ mindset กรณีคนในครอบครัวเสียชีวิตให้ลาได้ 10 วันเพราะเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต มีความสำคัญต่อจิตใจ บริษัทต่าง ๆ สามารถขยับเรื่องนี้ได้ ยิ่งเพิ่มการดูแลพนักงานยิ่งเป็นผลดีต่อบริษัทเอง บริษัทโลจิสติกส์แห่งหนึ่ง ลดเวลาทำงาน จากเลิกงาน 5 โมงเย็นเป็นบ่าย 3 โดยจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม เพราะรู้ว่า 2 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนเลิกงานพนักงานไม่มีสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ปรากฏว่ากำไรของบริษัทไม่ได้ลดลง และพนักงานก็มีสุขภาพดีขึ้น สามารถกลับไปรับลูกที่โรงเรียนได้ ทำให้เขามีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แต่ทำอย่างไรจะนำมุมมองเรื่องความเท่าเทียม หรือสิทธิขั้นพื้นฐานเชื่อมโยงเข้าไปได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
คิดยังไงกับการมีสิทธิมีสวัสดิการ แต่พนักงานไม่กล้าใช้
ประเทศในเอเชียส่วนมากจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะถูกกดดันจากที่ทำงาน กลัวว่าถ้าใช้สวัสดิการแล้วจะมีผลต่อการประเมินเลื่อนขั้นและขึ้นเงินเดือน ซึ่งบางบริษัทก็ยังเอาเรื่องพวกนี้มาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาอยู่ เช่น คนที่ไม่เคยลาเลยจะกลายเป็นพนักงานดีเด่น ถ้าไปดูงานแพทย์ในเยอรมนนี มีข้อบังคับว่าเมื่อถึงเวลาคุณต้องพัก เพื่อไม่ให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ช่วงซัมเมอร์ถ้าใครไม่ลาไปเที่ยวจะถูกมองว่าแปลก ขณะที่ในเอเชีย ใครใช้วันลาใช้สวัสดิการกลายเป็นคนที่เอาเปรียบ ฉะนั้นถ้าบริษัทจริงจังไม่เอาเรื่องการใช้สวัสดิการมาเป็นเงื่อนไขในการประเมิน และเปลี่ยนมุมมองว่าการใช้สวัสดิการเป็นสิ่งที่ดีต่อบริษัท ดีต่อคุณภาพงาน วัฒนธรรมองค์กรก็จะเปลี่ยนได้
ถ้าพูดถึงสวัสดิการครอบครัวที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 1 ข้อ นึกถึงอะไร
เรื่องแรก caregiver การคำนวนเงินเดือนให้แก่คนที่ต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัว โดยใช้พื้นฐานค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเกณฑ์ เพื่อโอนให้โดยตรงเป็นเงินเดือนสำหรับ caregiver ของครอบครัว
อีกเรื่องคือ การลาเพื่อดูแลครอบครัว ควรเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน โดยไม่ต้องไปพ่วงอยู่ในวันลาพักร้อนที่มีน้อยอยู่แล้ว ในส่วนนี้บริษัทก็ได้ประโยชน์ เพราะความเครียดที่ทำให้คนเปลี่ยนงานง่ายที่สุดก็คือเรื่องครอบครัว และเมื่อเขาเปลี่ยนงานหรือลาออก บริษัทต้องเทรนคนใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่าการเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงาน
เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้สวัสดิการครอบครัวเป็นสิ่งที่ส่งเสริมแบรนด์ได้แบบเดียวกับ CSR
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่สนใจสินค้าและบริการที่มาจากรอยยิ้มแห่งความสุขมากกว่าการขูดรีดแรงงานอย่างแน่นอน ถ้าผู้บริโภคให้ความสำคัญก็จะเกิดการรับรู้และช่วยกันขยายต่อไปสู่วงกว้าง และเป็นบรรทัดฐานให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการการตอบรับจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ซึ่งน่าจะไปได้ไกลกว่าการทำ CSR ที่ไปดูแลคนอื่นแทนที่จะดูแลคนของตัวเอง