สังคมผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องในอนาคต
วันนี้ สังคมไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์แบบ
คนที่เป็น Miss แบก – Mrs. แบก – Mr. แบก คือคนวัยทำงาน
ไหนจะต้องรับผิดชอบการงาน และการดูแลครอบครัว ยิ่งในวันที่สมาชิกสูงวัยในบ้าน ต้องการการดูแลขั้นสุด ..แต่ละคนมีวิธีการรักษาสมดุลให้กับชีวิตสองด้าน เพื่อจะก้าวผ่านช่วงเวลาวิกฤติไปได้อย่างไร
ติดตามประสบการณ์จาก มนุษย์งานลูก ๆ ที่พร้อมแบ่งปัน
ธนัญชย์ พวงเพชร อายุ 30 ปี
อาชีพ : ผู้จัดการบริษัทสินเชื่อเอกชน
ถึงพ่อแม่จะป่วยมานานหลายปี แต่ก็ยังไม่อยากเสียเขาไป
ใช้ความพยายามอยู่นาน ในการชี้แจงให้หัวหน้างานและบริษัทให้เข้าใจความจำเป็นที่ต้องขอย้ายกลับมาทำงานในสาขาใกล้บ้าน เพื่อดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัมพาตมา 14 ปี แม่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ 9 ปี ระยะหลัง แม่น็อคเบาหวาน ไม่รู้จะวูบไปตอนไหน ต้องมีคนดูแลใกล้ชิด ซึ่งการย้ายกลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ทำให้ต้องแยกกันอยู่กับภรรยา และลูก 2 คน
ตั้งใจจะดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุด ก่อนไปทำงานจะเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม จ้างญาติมาช่วยดูแลในช่วงกลางวัน แล้วกลับมาดูแลต่อในช่วงกลางคืน และโชคดีว่าส่วนงานที่รับผิดชอบไม่ต้องนั่งประจำออฟฟิศ จึงกลับไปดูแลพ่อแม่ช่วงพักกลางวันได้ ส่วนการพาไปหาหมอในแต่ละเดือน บริษัทก็ยืดหยุ่นให้เลือกวันหยุดได้เอง สัปดาห์ละ 2 วัน
แต่การต้องหารายได้ดูแลลูก ๆ กับภรรยา และพ่อแม่ พร้อมกันทั้ง 2 ครอบครัว ถือเป็นภาระที่หนักมากต้องพยายามหารายได้เสริมจากหลายทาง ทั้งเลี้ยงวัว แพะ ไก่ รวมถึงรับจ้างทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้

Do
- อธิบายให้บริษัท หัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน เข้าใจถึงภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลคนป่วยในครอบครัว จะได้ไม่เกิดปัญหาเมื่อต้องขอย้ายสาขา ลางาน หรือเลือกวันหยุดที่อาจทับซ้อนกับคนอื่น
- วางแผนจัดสรรเวลาให้ดี ระหว่างการทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ ลูกและภรรยา ที่อยู่ต่างอำเภอ กับการทุ่มเททำงานให้บริษัท หากบาลานซ์ได้ไม่ดีพอ อาจทำให้งานเสียหาย หรือมีปัญหาครอบครัวตามมา
- หาวันหยุดเพื่อไปดูแลลูกและภรรยาที่บ้านต่างอำเภออย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว
- หารายได้เสริมจากหลายทาง เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายในแต่ละเดือน
Don't
- อย่ารีบใช้โควต้าวันลาจนหมด ควรเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน กรณีลูก หรือ พ่อแม่ ป่วยกระทันหัน
- ไม่ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเป็นภาระ
- อย่าละเลยการทำความเข้าใจกับครอบครัวของภรรยา ถึงความจำเป็นที่ต้องแยกกันอยู่

นฤชา ทานนท์
อาชีพ : พยาบาลวิชาชีพ รพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
ขนาดเป็นพยาบาล มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย แต่วันที่แม่ผ่าตัด ก็ตกใจ ต้องตั้งสติ จัดระเบียบชีวิตใหม่ ปกติพยาบาล ต้องขึ้นเวรเช้า บ่าย ดึก ทั้งในหน่วยงานของตัวเอง และนอกหน่วยงาน พอรู้ว่าแม่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ และต้องผ่าตัดด่วน นอกจากการรีบหาข้อมูล ปรึกษาหมอที่เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการรักษา และหาวิธีพูดให้แม่เข้าใจ ยอมผ่าตัดแล้ว ส่วนตัวก็ต้องเร่งเคลียร์งาน โชคดีที่หัวหน้างานต้นสังกัดเข้าใจ ยืดหยุ่นการทำงาน และงดจัดเวรกลางคืนให้
แต่ที่เป็นปัญหาอย่างมาก คือภาระงานนอกหน่วยงาน ที่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร หัวหน้างานก็ไม่เข้าใจ ยังคงยืนยันให้เข้าเวรตามปกติ จึงต้องใช้แผนสำรอง ไปขอแลกเวร และขายเวรให้เพื่อน เพื่อที่จะได้มีเวลามาดูแลแม่ได้อย่างเต็มที่
หลังผ่าตัด แม่ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องพักฟื้นเป็นเดือน ระหว่างนั้นเราดูแลแม่อย่างใกล้ชิด เพราะพี่น้องอีก 2 คนทำงานอยู่ต่างจังหวัด โดยดูแลทั้งอาหารการกิน ทำความสะอาดร่างกาย และทำแผล โชคดีที่เป็นพยาบาล จึงทำแผลให้แม่ได้ โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลทุกวัน ส่วนเรื่องค่ารักษา ไม่ได้เป็นภาระ เพราะสามารถใช้สิทธิ์ข้าราชการได้
ช่วงนั้นทั้งเรื่องงาน และชีวิตส่วนตัว ต้องจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ตื่นเช้ามืดเตรียมอาหาร ทำแผลให้แม่ รีบไปทำงาน ระหว่างวันให้พ่อมาอยู่เป็นเพื่อน พอเลิกงานก็รีบกลับมาดูแลแม่ต่อ ทุกวัน จนแม่กลับมาดูแลตัวเองได้
Do
- สื่อสารกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน ให้เข้าใจถึงภาระที่ต้องดูแลผู้ป่วยในครอบครัว
- เตรียมแผนสำรองไว้หลายๆแผน กรณีที่หัวหน้างานไม่เข้าใจ หรือไม่อนุญาตให้ลางาน
- เมื่อเจอวิกฤตคนในบ้านป่วยหนัก อันดับแรกควรตั้งสติ และใจเย็น ๆ ก่อน
- จัดลำดับความสำคัญ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนการรักษาให้เร็วที่สุด
- หาความรู้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกวิธี
- ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วย ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรักษา และให้กำลังใจเยอะ ๆ เพื่อคลายความกังวล
Don't
- ไม่ควรแสดงอากัปกิริยา หรือ ใช้คำพูดบั่นทอน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายใจ
- สมาชิกในครอบครัวไม่ควรเกี่ยงกันดูแล หรือ บ่นว่าลางานไม่ได้ ไม่มีเวลา เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเป็นภาระของครอบครัว
ธัญญาธร สารสิทธิ์
อาชีพ : สื่อมวลชน
10 ปี ที่ดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมตามลำพัง อาการมีแต่ทรงกับทรุด ยอมรับว่าเหนื่อยมาก ทั้งสภาพจิตใจของตัวเองและแม่ รวมถึงการบริหารจัดการเวลา งาน และเงิน
อยากดูแลแม่ให้ดีที่สุด พาไปหาหมอเองทุกครั้ง ต้องใช้วันลาพักร้อนทั้งหมด ไม่หยุดงานในวันนักขัตฤกษ์ เพื่อเก็บเป็นวันลา ช่วงที่แม่เริ่มอาการหนัก ขอย้ายไปทำงานในกะกลางคืน จะได้ดูแลแม่ตอนกลางวัน จนแม่เริ่มป่วยติดเตียง ต้องจ้างคนดูแล ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเดือนละเกือบ 30,000 บาท พอแม่ต้องแอดมิดจะไปเฝ้าไข้เอง โดยขอทำงานแบบ work from home
แม้จะใช้สิทธิข้าราชการของพ่อเบิกค่ารักษาได้บางส่วน แต่ก็ไม่พอ เราไม่มีเงินสำรอง ต้องทำงานเสริมเท่าที่จะทำได้ ตัดงบช็อปปิ้ง กินข้าวนอกบ้าน และสิ่งที่ไม่จำเป็น ปล่อยเช่าคอนโด จำนำทอง รีไฟแนนท์รถ ช่วงที่แม่ผ่าตัด ใช้เงินเป็นแสน ก็ต้องไปกู้เงินจากธนาคาร
เราตั้งใจดูแลแม่ ไปพร้อมกับการเตรียมใจมาตลอด แต่ในวันที่ต้องสูญเสียเขาไปจริง ๆ ก็ยังทำใจไม่ได้ เสียใจหนักมาก โทษตัวเองว่ายังดูแลเขาได้ไม่ดีพอ จนต้องเข้าพบนักจิตบำบัด เพื่อรักษาสภาพจิตใจตัวเอง

Do
- อธิบายให้หัวหน้างานเข้าใจถึงสถานการณ์ และความจำเป็นของครอบครัว
- ในช่วงที่ทำงาน พยายามเก็บออม ในยามจำเป็นอาจออกจากงานมาดูแลครอบครัวได้
- กรณีไม่มีเงินสำรอง ควรทำงานเสริม เพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุด จะได้ดูแลผู้ป่วยได้
- ลดค่าใช้จ่าย ด้วยการยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ แทนการซื้อเอง เช่น รถเข็น เตียงผู้ป่วย เครื่องทำออกซิเจน สามารถสอบถามโรงพยาบาล หรือมูลนิธิต่าง ๆ
- การดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องหนักทั้งกายและใจ ผู้ดูแลต้องหาเวลาพัก รักษาสุขภาพกายและใจตัวเองด้วย
Don't
- ไม่ทำให้คนป่วยรู้สึกว่าเป็นภาระของครอบครัว
- อย่าอ่อนแอให้คนป่วยเห็น เพราะเขาจะรู้สึกแย่ไปด้วย
- อย่าทำให้งานเสีย หรือทิ้งงาน พยายามเจรจาหาทางออกเท่าที่จะทำได้
- เมื่อถึงเวลาที่ต้องสูญเสีย อย่าเก็บกดความเสียใจเอาไว้ ต้องระบายออก มิเช่นนั้นอาจป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้

วรัญญู วิจารณ์ – กฤตยา ธันยาธเนศ
อาชีพ : ฟรีแลนซ์
มันไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วย แต่คือภาระที่ต้องดูแลจิตใจทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง ไม่ให้ป่วยตามไปด้วย
แม้อาชีพฟรีแลนซ์จะมีความยืดหยุ่นสูง แต่เกือบ 2 ปีที่พ่อป่วย ทั้งตัวเองและแฟน ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านต่างจังหวัด ต้องทิ้งงานไปหลายโปรเจ็ค รายได้หดหาย การทำงานก็ยุ่งยากมากขึ้น เพราะไปคุยงานกับลูกค้าและลงพื้นที่ผลิตงานเองไม่ได้ รับได้เฉพาะงานที่ไม่เร่งรีบ และไม่ต้องเวลามาก เนื่องจากต้องสแตนด์บายคอยดูแลพ่อตลอด ที่ไม่รู้ว่าอาการจะทรุดลงตอนไหน หลังจากที่เขาวูบหมดสติ จากโรคหลอดเลือดสมอง พอฟื้นก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงระยะประคับประคอง ส่วนแม่อายุมากแล้ว พ่อต้องพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง นอนหงายไม่ได้ เพราะมีภาวะหยุดหายใจ และอาจเกิดแผลกดทับ ต้องจ้างเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุมาช่วยช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนตัวเองและแฟนจะดูแลเอง พร้อมกับทำงานไปด้วย เป็นเช่นนี้ จนกระทั่งพ่อเสียชีวิต
นอกจากการดูแลพ่อตัวเองแล้ว ระหว่างทาง หลังจากที่พ่อป่วยติดเตียงได้เพียง 6 เดือน พ่อของแฟน ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็ตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งในสมองระยะลุกลาม จึงต้องแบ่งเวลาเดินทางไปดูแลพ่อของแฟนด้วย แต่เนื่องจากเขาประสงค์จะไปอยู่ที่ศูนย์ดูแลผู้ป่วย เพราะไม่อยากเป็นภาระใคร เราจึงไม่ต้องเฝ้าตลอดเวลา ทำหน้าที่แค่ช่วยพาไปพบหมอตามนัด เดือนละ2-3 ครั้ง ต่อเนื่องกันราว 1 ปี ก่อนที่พ่อจะจากไป
นับว่าเป็นวิฤตชีวิตที่หนักมาก เพราะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันทั้ง 2 ครอบครัว ยังโชคดีที่พ่อเป็นข้าราชการเบิกค่ารักษาได้ แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด ยังมีค่าใช้จ่ายสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเตียงอีกจำนวนมาก รวมถึงค่าจ้างคนดูแล ที่ต้องหาเงินมาจ่ายเอง อีกเดือนละเกือบ 40,000 บาท
Do
- ปรับเวลาการทำงานจากกลางวันไปเป็นกลางคืน เลือกรับเฉพาะงานที่เอื้อต่อการมีเวลาดูแลผู้ป่วยได้ เปลี่ยนมาทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดลงพื้นที่หรือไปพบปะลูกค้าด้วยตัวเอง ที่สำคัญควรอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าเราอยู่ในช่วงที่มีภาระต้องดูแลผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องขอปฏิเสธบางงานไปก่อน จะได้ไม่เสียลูกค้า
- หาเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ที่เข้าใจรายละเอียดและมีทักษะดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้ดี ซึ่งหาได้ยากมาก เปลี่ยนไป10 กว่าคน สุดท้ายก่อนพ่อเสียง 2 เดือนสุดท้าย ต้องพาไปอยู่ศูนย์ดูแลผู้ป่วย เพราะหาคนดูแลไม่ได้
- ครอบครัวต้องทำใจยอมรับ และรู้ว่าควรหวังได้แค่ไหน คนไข้ติดเตียงที่มีปัญหาทางสมอง อ่อนแอกว่าเด็ก เปราะบางไม่มีภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว สมองก็ทำงานน้อยลงและฝ่อเร็วขึ้น อาการมีแต่ทรงกับทรุด นับถอยหลังไปเรื่อยๆ จนถึงวันสุดท้าย
- เตรียมพร้อมรับมือ หาความรู้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หากผู้ป่วยอาการทรุด จะได้ไม่ตื่นตระหนก และรู้วิธีว่าจะต้องดูแลอย่างไร ไม่ให้เขาทรมานในช่วงวาระสุดท้าย
- ระหว่างการดูแล ควรรู้ว่าอะไรที่ยืดหยุ่นได้หรือไม่ได้ เช่น การทำกายภาพบำบัด บางครั้งผู้ป่วยเจ็บไม่อยากทำ ก็ต้องใจแข็ง หาวิธีปลอบหรือจูงใจให้เขาทำ รวมถึงใช้คำพูดเชิงบวก จากที่บอกให้เขาทำกายภาพ ก็เปลี่ยนมาเป็นการชวนออกกำลังกายแทน
- จัดการภาวะอารมณ์ของคนในบ้านให้ดี เนื่องจากทุกคนเปราะบาง ต้องพยายามดูแลคนที่ไม่ป่วย ไม่ให้ป่วยตามไปด้วย
- ระมัดระวังความหวังดีจากคนนอกบ้าน ที่เข้ามาแนะนำให้ไปรักษาไปในที่ต่างๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้สมุนไพร หรือวิธีทางไสยศาสตร์ ควรมุ่งมั่นตามแนวทางที่แพทย์แนะนำ ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้อาการทรุดลง
Don't
- ไม่ควรรับงานลูกค้า ที่เป็นงานเร่งรีบ และต้องใช้เวลาเยอะ เพราะเสี่ยงส่งงานไม่ทัน อาจทำให้เสียเครดิตได้ ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ไม่เต็มที่
- ไม่ควรแสดงอาการและใช้คำพูด ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาเป็นภาระ หรือรู้สึกเหงาเคว้งคว้าง
- ไม่ควรกดดันเจ้าหน้าที่ที่จ้างมาดูแลผู้ป่วยจนเกินไป ควรให้อิสระเขาทำงาน และคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ