
ถ้าช่วงที่แฟนคลอดและเราไม่ได้ลามาดูแลเขา หรืออยู่เลี้ยงลูกตลอดเวลาเป็นหลักอย่างแรกๆ เราอาจจะไม่รู้สึกว่าลูกสำคัญกับเราขนาดนี้ เพราะตอนนี้ลูกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปแล้ว การที่ผมได้มีโอกาสมาเลี้ยงลูกตั้งแต่เขาคลอดทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของลูกตลอด
เรื่อง : วาสนา เดชวาร
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้ายุคนี้จะเห็นภาพคุณพ่อคอยดูแลลูกน้อย ชงนม อาบน้ำ ซักผ้า ให้ลูก มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบัน ครอบครัวไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวไซส์เล็ก สามีภรรยาจึงมีหน้าที่ร่วมกันสร้างครอบครัวให้แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีลูกเพิ่มเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ พ่อบ้านจึงเหมือนเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของแม่บ้านในการดูแลลูกอีกแรง
จุดเริ่มต้นสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ชายได้ทำหน้าที่คุณพ่อได้อย่างเต็มที่ คือการที่กฎหมายได้กำหนดให้ผู้ชายสามารถที่จะลางานเพื่อไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน แม้จะบังคับใช้เฉพาะในส่วนของภาคราชการ ยังไม่ได้บังคับใช้ในภาคเอกชนก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยในเรื่องของสิทธิการเลี้ยงดูบุตรทั้งของแม่และพ่อ
ไทยพีบีเอส เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้สิทธิพนักงานชายในการลาเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูกหลังคลอดได้ 15 วัน ซึ่งเป็นนโยบายที่องค์กรและทางผู้บริหารมองว่าควรสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกเหนือไปจากสวัสดิการเกี่ยวกับเรื่องเวลาทำงาน การเข้า-ออกงานที่ยืดหยุ่นได้ และมีห้องสำหรับดูแลเด็ก ซึ่งจัดให้กับพนักงาน เพื่อลดภาระครอบครัว ทั้งในเรื่องเวลา การดูแล และค่าใช้จ่าย
โกศล สงเนียม ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการทรัพยากรมนุษย์ เผยว่า ฝ่ายบุคคลจะให้ข้อมูลกับพนักงานชายให้รับรู้ในเรื่องสิทธิการลาเพื่อไปดูแลลูกที่เพิ่งคลอด รวมทั้งให้คำแนะนำว่าถ้ามีความประสงค์จะลา ควรวางแผนอย่างไร ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระติดค้าง และมีความรับผิดชอบต่องานของตนเองด้วย
“ในมุม HR เราต้องมองว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบงาน กับการที่พนักงานหายไปประมาณ 2 สัปดาห์ คือให้สิทธิลา 15 วันไม่รวมวันหยุดราชการ แต่ให้ลาได้ครั้งเดียวในช่วงการดูแลบุตรหลังคลอดใหม่ๆ แต่ถ้าหลังจากนั้นถ้าภรรยายังไม่พร้อมที่จะดูแลลูก หรือมีการป่วยหลังคลอด สามีต้องการจะลาหยุดต่ออีกก็ต้องมีการพูดคุยกันอีกที เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องลาจริง ๆ
“ส่วนใหญ่เมื่อพนักงานทราบว่าองค์กรมีสวัสดิการด้านนี้ ก็มีการพูดคุยสอบถามกันมาก ผลการตอบรับค่อนข้างดีในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ที่มีครอบครัว มีลูกคนแรก เราก็ยินดีสนับสนุนในการเพิ่มประชากรใหม่ที่มีคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”
ผู้จัดการฝ่าย HR ไทยพีบีเอส บอกด้วยว่า ก่อนที่จะมีนโยบายนี้ ไม่ว่าคุณพ่อมือใหม่ หรือมือเก่า ถ้าจะลาหยุดไปดูแลภรรยาและลูกต้องใช้ทั้งลากิจ ลาพักร้อน ใครมีวันหยุดสะสมมากเพราะทำงานมานานก็โชคดีหน่อย ส่วนใครมีอายุงานน้อยก็ต้องใช้วันลาแทบหมดโควต้า โกศลมองว่าถ้าองค์กรไม่มีนโยบาย การทำงานของพนักงานก็อาจจะมีผลกระทบโดยเฉพาะบ้านที่มีแค่สามีภรรยา ไม่มีใครมาช่วยดูแลลูก จะทำให้คุณภาพการทำงานลดลง และส่งผลกระทบต่อครอบครัวแน่นอน
“เราเปิดโอกาสและยืดหยุ่นให้กับคนที่ต้องดูแลครอบครัวอยู่แล้ว แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า องค์กรมีผู้ปฏิบัติงานในหลายรูปแบบ ลักษณะการทำงานของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ถ้าเป็น Office Time ก็ไม่ซับซ้อนมาก แต่พวกที่ต้องปฏิบัติงานภาคสนาม อย่างงานข่าว ทำรายการ ต้องทำงานร่วมกับทีมงาน หรือส่วนงานที่ทำงานเป็นผลัดเป็นกะ ถ้าขาดไปก็ต้องหาคนมาแทนคนที่ลาไป ในระยะยาวก็จะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการ
“ถ้าจะขยับให้เป็นวันหยุดเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาดูแลลูก อาจเป็นในรูปแบบของการทำงานที่บ้านหรือ Work From Home เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งเราทดลองทำกันมาหลายครั้งแล้ว” โกศล เสนอทางออกในการเพิ่มวันหยุดสำหรับคุณพ่อทั้งหลายที่มีโอกาสเป็นไปได้
การใช้สิทธิพ่อลาคลอด กับประสบการณ์ดีๆ ที่หาซื้อไม่ได้
คุณพ่อลูกหนึ่งอย่าง กี้-พงศ์พิสิฐ อินทรนันท์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส กล่าวว่า ตัดสินใจถูกที่ใช้สิทธินี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้เขามีช่วงเวลาที่ดีในการทำหน้าที่พ่อของลูกตั้งแต่วันแรกคลอด
“ผมใช้สิทธิตามที่ออฟฟิศให้ 15 วัน แล้วลาพักร้อนต่ออีก 1 อาทิตย์ เพราะไม่มีใครมาช่วยเราในช่วงแรกเลย แม่ผมอยู่ต่างประเทศ ส่วนพ่อแม่ของแฟนค้าขาย จะไม่มีเวลามาดูแล เราต้องทำเองหมดทุกอย่าง เพราะแฟนผมผ่าคลอดด้วยทำให้เดินเหินไม่สะดวก ทางพยาบาลก็ไม่ทำให้ แต่จะให้พ่อแม่ฝึกทำเองทั้งหมด ตอนพาน้องกับแฟนกลับบ้าน แฟนก็จะปั๊มนมให้ลูก ส่วนผมดูแลลูกเป็นหลัก รวมทั้งทำงานบ้าน ซักผ้า แทนภรรยาทั้งหมด
“ผมเคยเลี้ยงหลานแต่ไม่ได้ใกล้ชิดแบบนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแพมเพิร์ส หรืออาบน้ำเด็กมาก่อน ทำให้เราได้รู้หลายอย่าง เช่น การร้องไห้ว่าร้องทำไม มีปัญหาอะไร ผมทำจนเริ่มอยู่ตัว แม่ผมถึงได้กลับจากต่างประเทศเพื่อมาช่วยเลี้ยงหลานเป็นเวลา 4 เดือน” กี้เล่าถึงภารกิจของการเป็นคุณพ่อ
เมื่อภรรยาแข็งแรงดีแล้ว มีการแบ่งหน้าที่ ตอนกลางคืนสามีจะดูแลลูกเป็นหลัก ส่วนกลางวันภรรยากับแม่สามีช่วยกันเลี้ยง โชคดีที่เจ้าตัวน้อยไม่ค่อยกวนพ่อแม่ จะมีร้องแค่ช่วงที่หิว พอกินอิ่มก็นอนหลับ ซึ่งกี้บอกว่าอาจเป็นเพราะตอนคุณแม่ท้องอารมณ์ดี ร้องเพลง ยิ้ม หัวเราะบ่อย ๆ ลูกเลยเป็นเด็กอารมณ์ดีไปด้วย
กี้ และภรรยา ทำงานที่เดียวกัน โดยภรรยาเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรม หลังจากหยุดจนครบวันลา กลับมาทำงานแล้ว คุณแม่ของกี้ก็กลับต่างประเทศ โชคดีที่ภรรยาสามารถนำลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้ ตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนจนถึงทุกวันนี้ ทั้งคู่ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาคนดูแลลูก
“ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าจะให้แฟนออกจากงานมาช่วยเลี้ยงลูกถ้าเราไม่มีคนช่วยเลี้ยงจริง ๆ แต่สุดท้ายมาคิดกันได้ว่า ผมจะไปทำลายความฝันเขาไม่ได้ เพราะเห็นหลายคนที่ออกมาเลี้ยงลูกแล้วเครียด กดดัน ไม่มีสังคม พอเราแก้ปัญหาได้โดยแฟนนำลูกมาเลี้ยงที่ออฟฟิศได้ หัวหน้ากับเพื่อนร่วมงานก็เข้าใจความจำเป็น เราเลี้ยงลูกที่ออฟฟิศจนตอนนี้ลูก 2 ขวบ 4 เดือนแล้ว บางวันที่แฟนติดงาน ก็พาลูกมาอยู่กับผม โชคดีอีกอย่างคือที่นี่มีเนิร์สเซอรีสามารถฝากลูกได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบครึ่ง ช่วยให้เราสะดวกในการเลี้ยงดูลูกมาก”

ความใส่ใจของพ่อแม่ สร้างพัฒนาการของลูก
“ผมคิดว่าถ้าช่วงที่แฟนคลอด แล้วเราไม่ได้ลามาดูแลลูกตลอดเวลา เราอาจจะไม่รู้สึกว่าลูกสำคัญกับเราขนาดนี้ เพราะตอนนี้ลูกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปแล้ว การที่ผมได้มีโอกาสมาเลี้ยงลูกตั้งแต่เขาคลอดทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของลูกตลอด ผมเลยรู้สึกว่าการให้ผู้ชายลาเลี้ยงลูก 15 วันน้อยไป แต่ยังดีที่ 15 วันไม่รวมเสาร์อาทิตย์ จริง ๆ อยากให้ลาได้เท่ากับภรรยาไปเลย” นักข่าวพ่อลูกอ่อน เล่าถึงช่วงเวลาสำคัญอย่างมีความสุข
ในการเลี้ยงลูก กี้ให้ภรรยาเป็นคนนำหรือแนะแนวลูก ด้วยความเชื่อมั่นว่าสามารถตัดสินใจเรื่องลูกได้ดี แม่จะคอยซื้อของเล่นให้ลูกเป็นหลัก พวกของเล่นพวกเสริมพัฒนาการเด็ก ส่วนพ่อจะดูแลเรื่องเสื้อผ้า
“ลูกอยู่กับแม่เขาเยอะ แม่ชอบเล่นติ๊กต็อกร้องเพลง ลูกก็จะชอบทำอะไรตามแม่ไปด้วย ชอบร้องเพลงเต้นตาม ส่วนผมก็พยายามหากิจกรรมให้เขาเยอะ ๆ เล่นกีฬาบ้าง”
กี้ ทิ้งท้ายว่า ถ้าเขาไม่ได้ช่วยภรรยาเลี้ยงลูกมาตั้งแต่แรกเกิด ก็อาจจะตามใจลูกมากจนเกินไป เพราะไม่ค่อยมีเวลาให้จึงต้องชดเชยคืนในรูปแบบอื่นซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเด็กได้
ปฏิบัติการ "คุณพ่อบ้าน" เต็มเวลา
จั๊ม – พงศ์เมธ ล่องเซ่ง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เป็นคุณพ่อลูก 2 วัยกำลังซน คนโตอายุ 2 ขวบ และคนเล็กวัย 4 เดือน ซึ่งเมื่อภรรยาคลอด เขาใช้สิทธิในการลา 15 วัน แล้วลาพักร้อนต่ออีก รวมกันเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
การที่องค์กรมีนโยบายให้พ่อลาคลอดได้ จั๊มมองเป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าภรรยาต้องรับผิดชอบในการดูแลลูกหลังคลอดคนเดียวคงไม่ไหวแน่
“ในช่วงเดือนแรก ๆ หลังคลอด แฟนไม่ค่อยได้ลุกไปไหนเพราะเจ็บแผล มีหน้าที่หลักคือให้ลูกกินนม ปั๊มนม ผมคอยดูแลลูก ล้างขวดนม ซักล้างทุกอย่าง อาบน้ำลูกด้วย แฟนไม่กล้าจับลูกคนแรกเลย ไม่กล้าพาไปอาบน้ำ เรากลายเป็นหลัก แรก ๆ ผมก็ไม่ค่อยกล้าจับลูกเหมือนกัน แต่พอถึงเวลาจริงก็ทำได้ ผมอาบน้ำลูกจนโต ส่วนแฟนเพิ่งกล้าอาบให้ตอนที่ลูกเริ่มเดินได้ และแม่ผมมาจากต่างจังหวัดคอยช่วยเลี้ยง เรามาช่วยตอนกลางคืนได้ แฟนยังบอกเลยว่าถ้าผมไม่ได้ลาคงจะลำบากน่าดู” คุณพ่อลูก 2 กล่าว
ช่วงที่ภรรยาตั้งท้อง ทั้งคู่เคยปรึกษากันว่า หากจำเป็นอาจต้องให้ภรรยาออกจากงานมาดูแลลูก แต่ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ความคิดนั้นก็ล้มเลิกไปเมื่อมีลูกคนที่ 2 เพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มีรายได้ จะแบกภาระไม่ไหว
“ยังดีที่ตอนนี้มีพ่อแม่คอยช่วยเลี้ยงหลาน ให้เขาได้อยู่กับปู่กับย่า เราก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างคนมาดูแล ส่วนงานบ้าน ตอนนี้แบ่งกัน ผมล้างขวดนม ซักเสื้อผ้าให้ลูก ล้างห้องน้ำ แล้วแต่แฟนให้ช่วยอะไรด้วย เพราะช่วงนี้เขาก็อยู่บ้านเป็นหลัก ทำงานบ้านอยู่แล้ว แต่ถ้าช่วงไหนที่ต้องพาลูกนอน ผมก็จะทำงานช่วยเขา ครอบครัวเราค่อนข้างลงตัวทั้งงานและเรื่องครอบครัว”

ชมรมคุณพ่อเลี้ยงลูก
เมื่อมีลูกคนที่ 2 จั๊มและภรรยาเจอปัญหาที่หลายครอบครัวเคยเป็น คือ กลัวลูกคนโตน้อยใจที่เห็นพ่อแม่ใส่ใจน้องมากกว่า จึงพยายามเอาใจใส่คนแรกมากขึ้น โดยบอกให้ลูกเข้าใจว่าตอนนี้แม่ต้องดูแลน้องเพราะยังเล็กอยู่ ซึ่งลูกก็เข้าใจดี ถือว่าคนที่สองเลี้ยงง่ายขึ้นเพราะพ่อแม่ผ่านประสบการณ์มือใหม่มาแล้ว การสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของลูกคนโตกลับเป็นเรื่องยากมากกว่า
แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องลูก จั๊มก็มีเพื่อนที่ออฟฟิศเป็น “แก๊งค์พ่อลูกอ่อน” หลายคนถามไถ่ปรึกษากันได้
“คุณพ่อทั้งหลายก็จะคุยกันเรื่องลูก ซื้อของให้กัน หรือแนะนำว่าของอันไหนน่าเล่นก็จะซื้อมาฝาก อย่างล่าสุด ผมซื้อโถฉี่ไปให้ลูกของเพื่อน เผื่อจะฝึกให้ลูกเขาเลิกใส่แพมเพิร์สให้ยืนฉี่แทน นอกจากนี้ก็พูดคุยเกี่ยวกับพัฒนาการของลูก เช่น ลูกเพื่อนไม่ค่อยพูดแต่ลูกผมพูดเยอะ แต่ลูกผมเดินช้า ส่วนลูกเพื่อนเดินเร็ว เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันสนุก ๆ เพราะลูกของแต่ละคนก็อายุไล่ ๆ กัน”
แบ่งหน้าที่ดี ได้ทั้งงาน-ครอบครัว

จั๊ม ยอมรับว่าถ้าที่ออฟฟิศไม่มีนโยบายให้คุณพ่อลาคลอดชีวิตคงวุ่นวาย ห่วงทั้งที่บ้านและห่วงเรื่องงาน แต่ที่ต้องขอบคุณอีกเรื่องหนึ่งคือหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้ลางานได้
“ผมมีลูก 2 คน ทิ้งช่วงไป 2 ปีถึงมีลูกคนเล็ก ไม่ใช่หัวปีท้ายปี เพราะจะทำให้เพื่อนร่วมงานต้องทำงานหนักแทนเราที่หายไปเป็นเดือน ผมโชคดีที่หัวหน้างานเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของคนมีครอบครัว เช่น ลาคลอดช่วงแรกไปเดือนนึงแล้วกลับมาทำงาน ก็ยังไม่สามารถทุ่มเทกับงานได้เต็มที่ เพราะบางทีที่บ้านโทรมาหาว่าลูกเป็นอะไรไม่รู้ ผมก็ต้องลางานกลับไปดู หรือถ้าลูกป่วย หรือต้องไปฉีดวัคซีน ก็ต้องขอลากิจ หรือขอเข้างานสาย คือทุกเดือนจะมีแบบนี้สักวัน เพื่อนก็จะเข้าใจ”
สิ่งที่ผู้สื่อข่าวหนุ่มคนนี้อยากนำเสนอเพิ่มเติมคือ หากเป็นไปได้อยากให้เพิ่มวันลาเป็น 45 วัน เพราะเขามีโอกาสได้อยู่กับลูกมากที่สุดคือช่วงเดือนแรกที่ลาได้ประมาณ 15 วัน ซึ่งน้อยไปหน่อยในการอยู่กับครอบครัวที่ลูกเพิ่งคลอด แม่ของลูกต้องทำหน้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้เครียด หากมีพ่ออยู่ด้วยจะช่วยกันดูแลได้
