
เครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว โดย สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) ร่วมนำเสนองานการขับเคลื่อนงานเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว (FFW : Family-Friendly Workplace) ในเวทีเสวนา “ทิศทาง สสส. กับบทบาทการส่งเสริมสุขภาวะ 4 มิติแบบองค์รวมในสังคมยุคใหม่”
เวทีดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ใส่ใจสุขภาวะ” (Future of Work on Wellbeing) จัดโดย โครงการส่งเสริมงานสุขภาวะในองค์กรเพื่อคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี ตามทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา
ผู้ร่วมในเวทีเสวนา ประกอบด้วย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 สสส. และรองประธานบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารจิตอาสา และจณิน วัฒนปฤดา หัวหน้าโครงการ Happy Growth

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ” (Future of Work on Wellbeing) ว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 76% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 9.7% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม สสส. เร่งป้องกันการเกิดโรค NCDs ในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่มุ่งลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรค NCDs ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2573
“กลุ่มวัยแรงงานกว่า 39 ล้านคน มากกว่าครึ่งเป็นแรงงานในระบบ สสส. เร่งสานพลังสมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร และภาคีเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มองค์กร (Happy Workplace) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรสุขภาวะกว่า 80 องค์กร นำชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะของ สสส. ที่ส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมมิติทางสุขภาพที่สำคัญ อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สุขภาพจิต มลพิษทางสิ่งแวดล้อม อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุ สุขภาวะทางปัญญา สถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว (Family-Friendly Workplace) เพื่อปรับใช้เป็นเครื่องมือเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ปรับทัศนคติ และเปลี่ยนพฤติกรรมคนในองค์กรลดเสี่ยง NCDs นำไปสู่การขยายผลเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว

รัชดา ธราภาค ผู้ประสานงานเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว (FFW) กล่าวถึงแนวทางการดูแลสวัสดิการของสถานประกอบการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวของพนักงาน สำรวจพบ 4 มิติหลัก ได้แก่
“มิติแรก เรื่องบริหารจัดการเวลา สถานประกอบการหลายแห่งทำเกินกว่ากฎหมายกำหนด พบที่ให้ผู้หญิงลาคลอดได้สูงสุด 6 เดือน ผู้ชายลาดูแลลูก และกลุ่มหลากหลายทางเพศลาเลี้ยงลูกบุญธรรม นอกจากนี้ยังมี ยืดหยุ่นเวลาเข้าออกงาน พนักงานจัดวันหยุดได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวันเสาร์-อาทิตย์
“มิติที่สอง สถานที่ทำงาน หลายแห่งให้พนักงาน Work from Home รวมทั้งถ้าที่ทำงานตั้งอยู่ใกล้ภูมิลำเนาของพนักงาน ก็จะมีญาติพี่น้องในชุมชนช่วยดูแลทั้งลูกและผู้สูงอายุให้ได้ เอื้อให้พนักงานดูแลครอบครัวได้ดี

“มิติที่สาม การสนับสนุนครอบครัว เช่น มุมนมแม่ ศูนย์เด็กเล็ก กองทุนเงินยืมสำหรับพนักงาน ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร บางบริษัทคิดเรื่องสร้าง นำ ซ่อม คือ ให้วันหยุดพนักงานพาพ่อแม่ไปตรวจสุขภาพ เพราะหากพ่อแม่ป่วยแบบที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอาจทำให้สูญเสียคนทำงาน มิติที่สี่ คือ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยจัดกิจกรรมในวันสำคัญให้พนักงานสามารถนำสมาชิกในครอบครัวมาร่วมงาน”
ในปีนี้ เครือข่าย FFW ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อ NOBURO เป็น Social Enterprise ที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้พนักงานในองค์กร ทดลองทำแผนแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ในระยะ 5 เดือน มีองค์กรเข้าร่วม โครงการนำร่อง 2 แห่ง เพื่อดูผลลัพธ์ว่า เมื่อเติมความรู้เรื่องการจัดการการเงินง่าย ๆ ให้แล้ว ผู้ร่วมโครงการจะมีวิธีคุยเรื่องการเงิน โดยการสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวกันอย่างไร หรือต้องพัฒนาเครื่องมือเพื่อให้การเงินในมิติของครอบครัวและการดูแลครอบครัวของคนทำงานในมิติด้านการเงินสามารถพัฒนาต่อได้
“การขับเคลื่อนงานของเครือข่าย FFW เรามีการประชุมกันปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อแชร์ไอเดียเรื่องสวัสดิการองค์กรสำหรับพนักงานและครอบครัวว่าทิศทางควรเป็นอย่างไร และสื่อสารในเชิงนโยบายกับภาครัฐ คือ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่ามีนโยบายช่วยเหลือด้านใดได้บ้าง” ผู้ประสานงานเครือข่าย FFW กล่าวถึงภาพรวมการทำงาน


ภายในงานการประชุมครั้งนี้ มีการจัดบูธนิทรรศการชุดความรู้ เครื่องมือสำหรับการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะของสำนักต่าง ๆ และองค์กรภาคีเครือข่ายในประเด็นต่าง ๆ อาทิ แอลกอฮอล์ บุหรี่, มลพิษด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพจิต, สถานที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว, อาหาร กิจกรรมทางกาย และ NCDs, สุขภาวะในองค์กร, อุบัติเหตุ, สุขภาวะทางปัญญา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมากให้ความสนใจร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรม