สถานที่ทำงานในฝันของหลายๆ คน อาจไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียง หรือความใหญ่โตของสถานที่ หรือเงินเดือน เท่านั้น แต่เรื่องสวัสดิการก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มัดใจพนักงานในองค์กร เพราะมีส่วนสำคัญทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคมขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุข ภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีครบ 4 ด้านทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม นอกจากสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยแล้ว สสส. ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ดี โดยมีการดูแลทั้งพนักงานและครอบครัว
สวัสดิการ เรื่องพื้นฐานที่พนักงานควรรู้
มนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก อาจไม่ได้ใส่ใจมากนักว่าองค์กรมีสวัสดิการอะไรให้พนักงานบ้าง จนกว่าจะมีความจำเป็นต้องใช้จึงจะไปถามฝ่ายบุคคล แต่ที่ สสส. ฝ่ายบุคคลจะแจ้งให้ผู้ที่จะเข้าทำงานได้ทราบว่ามีสวัสดิการอะไรบ้าง และแจ้งอีกครั้งในวันปฐมนิเทศพนักงานใหม่ รวมทั้งมีข้อมูลในระบบอินทราเน็ต ถ้ามีการปรับเปลี่ยน พนักงานจะได้รับข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งอีเมล และในวงประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน
ศิรินภา สถาพรวจนา ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคล สสส. เผยว่า สวัสดิการพื้นฐาน ของ สสส. มีหลายรูปแบบ อาทิ ประกันชีวิต อุบัติเหตุ เงินค่าเลี้ยงดูบุตร การศึกษาบุตร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การคุ้มครองเนื่องจากการได้รับอันตรายจากการทำงาน การป่วยจากการทำงาน แต่สวัสดิการที่เป็นหัวใจสำคัญสุดสำหรับพนักงานคือ ค่ารักษา พยาบาล ที่ครอบคลุมตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่จำนวนราว 200 คนของ สสส. สามารถเลือกได้ใน 4 แพ็คเกจ
• แพ็คเกจที่ 1 ตนเอง 100%
• แพ็คเกจที่ 2 ตนเอง 90% พ่อแม่ 90%
• แพ็คเกจที่ 3 ตนเอง 90% บุตร 90% คู่สมรส 90%
• แพ็คเกจที่ 4 ตนเอง 80% พ่อแม่ 80% บุตร 80% คู่สมรส 80%
“การรักษาพยาบาล 4 แพ็คเกจนี้ มีตั้งแต่แรกตั้ง สสส. โดยคุณหมอศุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการกองทุน สสส. มีหลักคิดว่าผู้ใช้หลักประกันควรต้องมีส่วนร่วม และนำเงินสวัสดิการที่เราได้มาจัดการดูแลสุขภาพโดยสามารถที่จะเลือกให้เหมาะสมกับตัวเอง แทนที่จะไปซื้อประกันสุขภาพซึ่งทำให้เงินหายไปเลย เรามีวงเงินค่ารักษาพยาบาลให้ 80,000 บาท ถ้ารักษาในสถานพยาบาลของรัฐ เบิกได้ 100% เอกชนเบิกได้ 90% ถ้าใช้วงเงินเกิน 80000 ไปแล้ว ก็ยังเบิกเพิ่มเติมได้แต่ต้องเป็นค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น เบิกได้ในส่วนที่เป็นได้ตามสิทธิ์และไม่จำกัดโรค”
ผอ.ฝ่ายบริหารงานบุคคล ให้ข้อมูลว่า ส่วนใหญ่พนักงานเลือกใช้แพ็คเกจ 2 ที่คุ้มครองตนเองกับพ่อแม่ และสามารถเปลี่ยนแพ็คเกจได้ทุกปี แต่เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนจะค่อนข้างน้อย
สร้างนำซ่อม - ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ แทนการรักษา
แม้ตัวเลือกแพ็คเกจทั้ง 4 แบบจะดีต่อพนักงาน แต่หลังจากเปิดให้เพิ่มการใช้วงเงินเกิน 80,000 บาท โดยไม่จำกัดวงเงิน ของโรงพยาบาลรัฐ ถึงแม้จะเป็นการช่วยเหลือพนักงานและครอบคลุมไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วย แต่ส่งผลกระทบต่องบประมาณที่มีอยู่ หากเจอหลายๆ กรณีที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะใช้วงเงินไปถึงเท่าไร จึงอาจมีการทบทวนแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
“คนของ สสส. ส่วนใหญ่เป็นคน Gen X และ Gen Y สุขภาพทั้งของตัวเอง สุขภาพของพ่อแม่และครอบครัวก็มีปัญหาไปตามวัย ถ้าเราเจอแค่เคสเดียวเกือบ 1 ล้าน ก็แทบจะกินงบของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ต้องใช้ เพราะฉะนั้นต้องดูให้ดีว่างบประมาณที่เรามี มีอยู่แค่ไหน และอาจไม่สามารถรองรับความต้องการของพนักงานทั้งหมดได้ แต่อย่างน้อยตรงที่ว่าสวัสดิการเลือกได้ ก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว”
ผอ.ศิรินภา ย้ำบทบาทของ สสส. ว่าเป็นองค์กรสร้างเสริมสุขภาพ มีมุมมองในเรื่องสุขภาพ คุณภาพชีวิตโดยการดูแลขั้นพื้นฐาน จึงพยายามส่งเสริมให้พนักงานดูแลสุขภาพแทนที่จะรอให้ป่วยแล้วต้องไปรักษา โดยจะมีสวัสดิการที่ส่งเสริมเรื่องการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย
รวมถึงเรื่องสุขภาวะก็ต้องดูในหลายมิติ เช่น เรื่องครอบครัวต้องมีการจัดทำห้องเลี้ยงเด็ก สวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างน้อยต้องทำให้คนทำงานรู้สึกว่ามีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง นอกจากเรื่องพื้นฐานแล้วส่วนไหนที่ช่วยดูแลได้ฝ่ายบุคคลก็จะเปิดดูแลในมิติอื่นๆ ด้วย
เลือกแพ็คเกจ ตอบโจทย์แต่ละช่วงชีวิต
กิติพัฒน์ ดามาพงษ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานบุคคล ฝ่ายบริหารงานบุคคล (HR) เล่าถึงการให้ข้อมูลเรื่องสวัสดิการต่อพนักงานเพิ่มเติมว่า ยังมีการจัด HR road show ไปยัง 22 ส่วนงานย่อยของ สสส.เพื่อคุยกับพนักงาน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ในการถาม-ตอบ บางคนไม่รู้ว่าสามารถเบิกค่าเทอมให้ลูกได้ พอมีการโรดโชว์ไปที่สำนักถึงได้รู้ การทำโรดโชว์อาจทำ 2 ปีต่อครั้ง เพราะต้องมีการกำหนดแผนปฏิบัติงานล่วงหน้า
ในเรื่องของสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาล กิติพัฒน์ ใช้แทบครบทุกแบบแล้ว เริ่มแรกเลือกแพ็คเกจ 1 สำหรับตนเองคนเดียว เพราะพ่อแม่เป็นราชการบำนาญเบิกได้อยู่แล้ว แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้นเขาคิดเผื่อไว้ว่าอนาคตถ้าพ่อแม่ต้องใช้บริการโรงพยาบาล จะได้ไปที่โรง พยาบาลเอกชนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว จึงเปลี่ยนเป็นแพ็คเกจที่ 2 ซึ่ง กิติพัฒน์ ยืนยันว่าเป็นแพ็คเกจยอดนิยม จากการที่ได้ทำข้อมูลสวัสดิการอัพเดท พบว่าพนักงานประมาณ 60% เลือกแพ็คเกจนี้
ตอนนี้ผมกำลังจะเปลี่ยนมาเป็นแพ็คเกจ 3 คือ คุ้มครองตนเอง คู่สมรส และบุตร เพราะภรรยาตั้งครรภ์ ต้องมีค่าใช้จ่ายในช่วงที่คลอดลูก ผมปรึกษาพ่อแม่แล้วท่านก็ไม่ติดอะไรเพราะท่านยังแข็งแรงไม่ค่อยได้ใช้สิทธิ เลยพักสิทธิของพ่อแม่ไว้ก่อน แล้วอีก 2-3 ปีค่อยเปลี่ยนไปใช้เป็นแพ็คเกจ 4 คือครอบคลุมทุกคน ทั้งตัวเอง พ่อแม่ คู่สมรส แล้วก็บุตร ผมได้มองเห็นพัฒนาการไปเรื่อยๆ จึงเปลี่ยนแพ็คเกจที่เหมาะกับตัวเอง ในแต่ละช่วงคิดว่าคงจะได้ใช้ครบทั้ง 4 แพ็คเกจครับ
การมีสวัสดิการแบบนี้ ทำให้เราไม่ต้องห่วงเรื่องค่าดูแลรักษาเวลาที่พ่อแม่ต้องไปโรงพยาบาล เป็นความเชื่อของรุ่นพ่อรุ่นแม่ด้วยในเรื่องของการทำงานราชการและมีสวัสดิการคอยดูแลพ่อแม่ด้วย ผมก็ถูกปลูกฝังในเรื่องนี้มาเหมือนกัน ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ในเรื่องพ่อแม่เราแล้ว”
HR หนุ่ม กล่าวถึงความประทับใจต่อองค์กร ที่ดูแลพนักงานและยังเอื้อไปถึงครอบครัวพนักงาน ทำให้รู้สึกสบายใจในการทำงาน ไม่ต้องกังวลถึงคนข้างหลัง ซึ่งบริการสุขภาพถือเป็นประเด็นหลัก
สิทธินี้เลือกเพื่อลูกน้อย
ก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) เธอได้เลือกใช้แพ็คเกจรักษาพยาบาลแผน 3 คือ คุ้มครองตนเอง คู่สมรส และบุตร มาตั้งแต่แรกเริ่มที่เข้ามาทำงานไม่เคยเปลี่ยนเลย
“เนื่องจากสามีทำงานบริษัทเอกชน มีสวัสดิการรองรับค่อนข้างน้อย ส่วนลูกเป็นเด็กเล็กมีโอกาสป่วยบ่อย แพ็คเกจนี้จึงรองรับในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมถึงสามีและลูกได้ค่อนข้างดี ส่วนพ่อแม่มีสวัสดิการในส่วนของท่านดูแลอยู่แล้วจึงไม่ต้องห่วง
“แต่ก็มีกังวลอยู่บ้างเช่นถ้าเราป่วยมากกว่านี้ องค์กรจะดูแลได้ไหม คงต้องดูในเรื่องวงเงินกันอีกที เราก็ต้องพยายามรักษาสุขภาพตัวเองไม่ให้ป่วยบ่อย ตัวเราเองใช้สิทธิ์น้อยมาก ส่วนมากจะไปใช้สิทธิ์ให้กับลูกมากกว่า นอกเหนือจากการรักษาพยาบาลก็จะมีเรื่องการได้ค่าดูแลบุตรในช่วงที่ลูกยังเล็กทั้งสองคน และค่าเทอมบุตรจำนวนหนึ่งตอนที่ลูกเข้าโรงเรียนแล้ว”
คุณแม่ลูกสอง เผยว่ารู้สึกดีที่ สสส.ให้การดูแลพนักงานในเรื่องของสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ถึงแม้จะไม่ได้จ่ายให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่ที่การเลือกแพ็คเกจ และการเลือกรักษาในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน ก็จะลดหลั่นเปอร์เซ็นต์ลงไปตามลำดับ ถึงแม้อยากจะให้ได้เต็มร้อยแต่ก็เข้าใจองค์กรในการให้สิทธิเท่าที่ทำได้
“โดยรวมถือว่าดูแลพนักงานได้ค่อนข้างดี มีประกันอุบัติเหตุให้และในช่วงโควิดก็ซื้อประกันโควิดให้กับพนักงาน และมีการป้องกันโดยให้พนักงาน work from home เพราะไม่อยากให้ สสส. เป็นคลัสเตอร์จึงจำกัดจำนวนคนเข้าออฟฟิศ ให้เข้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น” ก่องกาญจน์ กล่าว
ดูแลคนในครอบครัวยามฉุกเฉิน
อุษา เกิดคง นักวิเคราะห์และบริหารโครงการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก 4) เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยเลือกแพ็คเกจที่ 1 เป็นสวัสดิการเพื่อตัวเองล้วนๆ เพราะตอนนั้นแฟนเธอทำงานราชการ พ่อแม่ก็ใช้สิทธิ์ราชการ แต่เมื่อมีลูกคนแรกหลังจากทำงานมาได้ 1 ปี เธอเห็นว่าน่าจะเปลี่ยนเป็นแพ็คเกจที่ครอบคลุมไปถึงลูกด้วย จึงเปลี่ยนมาเป็นแบบที่ 3
“ที่เราไม่ให้ลูกใช้สิทธิ์ในส่วนของสามีที่เป็นราชการ เพราะมีข้อจำกัด คือต้องไปรักษาของโรงพยาบาลรัฐ และบางอย่างเบิกไม่ได้ จึงคิดว่าถ้าลูกป่วยจะมารอโรงพยาบาลรัฐก็คงไม่สะดวก และโรงพยาบาลใกล้บ้านก็เป็นเอกชนที่เราใช้บริการอยู่แล้ว จึงเลือกแพ็คเกจที่ 3 คุ้มครองถึงครอบครัวเพื่อสำรองไว้ ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินก็เข้าโรงพยาบาลใกล้บ้านดีกว่า เคยมีครั้งหนึ่งสามีเกิดเคสฉุกเฉินต้องผ่าตัด แต่เขาไม่ใช้สิทธิ์ราชการเพราะไม่ต้องรอหมอ มาใช้สิทธิ์ตามแพ็คเกจของเราแทน และยอมจ่ายส่วนต่างเพื่อแลกกับระยะเวลาการรักษาที่เร็วขึ้น ถือว่าเป็นแผนสำรองของครอบครัวอีกทาง”
นอกจากนี้ ช่วงที่เธอตั้งครรภ์ยังเคยปรึกษา HR เกี่ยวกับเรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายในเรื่องใดได้บ้าง ระหว่างตั้งครรภ์กับหลังคลอด จะต้องทำอย่างไรเรื่องการส่งมอบงาน การทำหนังสือลาคลอด รวมทั้งถามเผื่อไปถึงเงินอุดหนุนการศึกษาของลูกว่าเข้าเกณฑ์อายุเท่าไหร่ ถึงจะได้รับเงินส่วนนี้ในแต่ละช่วงวัยของลูก โรงเรียนประเภทไหนบ้างที่ทางองค์กรสนับสนุน เพื่อที่จะได้วางแผนได้อย่างถูกต้อง