เรื่อง : เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
ภาพ : Brickinfo Media
ประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก หลังแรงงานไทยไหลกลับชนบทเกือบ 2 ล้านคน และในจำนวนนั้นไม่กลับเข้าทำงานในระบบหลังสถานการณ์คลี่คลาย เป็นเพราะอะไร?
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานไทยมากว่า 30ปี วิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ชวนมองไปข้างหน้าเพื่อหาทางออกร่วมกัน

สถานการณ์แรงงานเป็นอย่างไร โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิดและภาวะเศรษฐกิจ
8-9 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยดีเท่าไร ค่าแรงขั้นต่ำล่าสุดขึ้นไป 20 กว่าบาทหลังจากที่ไม่ปรับขึ้นมา 2-3 ปี ส่งผลต่อชีวิตของแรงงานที่มีรายได้ไม่พอใช้ ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ถูกลดชั่วโมงการทำงาน และถูกเลิกจ้างกันเป็นจำนวนมาก เดือดร้อนกันไปถึงครอบครัว พ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ สะท้อนได้จากตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคน และยังมีปัญหาอื่นตามมาอีกมากมาย ความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้น และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้แรงงานเกือบสองล้านคน ตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านในชนบท กลับเข้าสู่วิถีการเกษตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย
เมื่อพูดถึงภาวะขาดแคลนแรงงาน ก็มักจะมีวาทกรรมโยนบาปว่าแรงงานไทย ขี้เกียจ เลือกงาน ไม่สู้งานหนัก จึงต้องดึงแรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้ควรมองอีกมุม สาเหตุที่แรงงานไทยไม่ทำ เพราะพวกเขาได้เรียนรู้แล้วจากการถูกเอาเปรียบ ค่าแรงก็ต่ำ สวัสดิการก็แย่ มองไม่เห็นอนาคต ถึงต้องอพยพกลับไปอยู่ชนบท และไม่คิดจะกลับมาอีก ตอนนี้ในโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้แรงงานข้ามชาติเกินครึ่งเกือบทั้งนั้น
การที่แรงงานจำนวนมากไหลกลับชนบท ภาคการเกษตรรองรับได้ไหม
สำหรับแรงงานรุ่นใหม่ที่กลับไปชนบท ในกลุ่มที่มีทรัพยากรรองรับก็จะไปได้ดี อย่างที่อำนาจเจริญ เป็นชุมชนที่มูลนิธิฯ เข้าไปทำงานมานานจนเกิดความเข้มแข็งที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ พวกเขาก็กลับไปช่วยต่อยอดพัฒนาเรื่องข้อมูลข่าวสารและระบบตลาดออนไลน์ แต่ในกลุ่มที่ไม่มีต้นทุน เช่น ที่ดิน ก็จะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรกัน ครอบครัวไม่สามารถดูแลกันได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐยังไม่ใส่ใจ
มองประเด็นการคุ้มครองแรงงานทั้งของแรงงานชาวไทยและต่างชาติอย่างไร
การที่รัฐบาลดึงแรงงานข้ามชาติเข้ามามาก ๆ คนได้ประโยชน์ก็คือภาคเอกชนที่มองเรื่องการลดต้นทุนเป็นหลัก ไม่ต้องจ่ายเพิ่มทั้งค่าจ้างและสวัสดิการ เพราะแรงงานเหล่านี้ไม่รู้เรื่องสิทธิ ทั้งมีปัญหาสงครามและให้ค่าแรงในประเทศต่ำกว่าไทยมาก จึงอพยพมาทำงานในไทย ปัญหานี้คือโจทย์ใหญ่ ที่เป็นผลพวงมาจากการไม่พัฒนาเรื่องสวัสดิการครอบครัว ที่จะทำให้แรงงานไทยมองไม่เห็นอนาคตและความมั่นคง เช่น ไม่มีการเพิ่มวันลาคลอด แรงงานชายไม่สามารถลาไปเลี้ยงลูก การจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน การเพิ่มเงินประกันสังคมทั้งเรื่องเลี้ยงดูบุตรและลาคลอด ฯลฯ รวมถึงอีกหลายสวัสดิการที่เรียกร้องกันมานานแต่ก็ยังไม่เกิด วิกฤติโควิดเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนงานกลุ่มใหญ่ตัดสินใจกลับไปอยู่ชนบท
แรงงานกลับบ้านเกิด จะทำให้ดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นหรือเปล่า
ต้องแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ถ้าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมีทรัพยากรรองรับ ก็น่าจะช่วยเหลือตัวเองได้ เพราะการใช้ชีวิตในชนบทไม่ได้มีต้นทุนเยอะ อีกทั้งยังได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว กลับไปช่วยต่อยอดการผลิตแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่ชุมชนไม่มีความพร้อม ครอบครัวปรับตัวไม่ได้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ก็จะเกิดปัญหาสังคมตามมา สะท้อนได้จากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เพราะครอบครัวไม่สามารถมีรายได้เพิ่มจนเพียงพอกับรายจ่าย
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้น ถูกนำเสนอเชิงปรากฏการณ์ แต่ไม่เชื่อมโยงถึงสาเหตุ
ช่วงวิกฤติโควิด ครอบครัวไทยทั้งชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางต้องปรับตัวสูงมากเพราะถูกเลิกจ้าง เมื่อตกงานก็จะเกิดความขัดแย้งปะทะกันอย่างรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะช่วงล็อคดาวน์ผู้ชายต้องอยู่บ้านไม่รู้จะทำอะไร เครียดก็ออกไปกินเหล้ากับเพื่อน สุดท้ายก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับคนในบ้าน จนถึงตอนนี้คนตกงานเป็นล้านก็ยังอยู่ในภาวะที่มีงานทำบ้างไม่มีงานทำบ้าง การปรับตัวทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ทำให้ปัญหานี้เพิ่มสูงขึ้นและไม่ได้มีท่าทีว่าจะลดลง
ที่ทำงานได้รับรู้หรือเข้ามาช่วยดูแลครอบครัวของแรงงาน ที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรงบ้างไหม
ส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ยังติดค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ อย่างเรื่องลาคลอด ก็มองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ไม่ใช่งานของผู้ชาย ไม่ใช่งานของสังคมที่ต้องช่วยกันดูแล หรือในช่วงที่โควิดรุนแรง รัฐและที่ทำงานก็มุ่งแต่แก้ปัญหาและป้องกันโรค ไม่ได้สนใจปัญหาผู้หญิงถูกทำร้ายในครอบครัว ซึ่งเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้นเยอะมาก
คุณทำงานกับกลุ่มสหภาพแรงงาน สหภาพมีการทำงานเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเพียงใด
กลุ่มสหภาพเก่า ๆ ที่มีประสบการณ์ทำงานเหล่านี้กับมูลนิธิฯ ไม่ค่อยน่าห่วง เพราะมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือ แต่ก็ยังมียังจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ ซึ่งเราก็พยายามเข้าไปจัดอบรมให้คำปรึกษา ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการจะทำให้สหภาพในภาพรวมหันมาสนใจวิกฤตินี้คงเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะส่วนใหญ่เป็นสหภาพแบบผู้ชาย ที่สนใจแต่เรื่องการเลิกจ้าง พิษเศรษฐกิจ และการต่อรองเรื่องต่าง ๆ กับนายจ้าง จึงต้องค่อย ๆ เริ่มขับเคลื่อนกับกลุ่มที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานหญิง ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน
นอกจากสหภาพแรงงานแล้ว มองว่ามีกลไกอื่นที่จะคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานได้บ้างหรือไม่
ผมว่ายากมาก เพราะระบบสหภาพแรงงานก็อ่อนแอลง ในสหภาพที่มีอยู่กว่า 1 พันแห่ง มีแรงงานเป็นสมาชิกอยู่ไม่ถึง 5 แสนคน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานในระบบที่มีอยู่ราว 10 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานข้ามชาติเกือบ 2 ล้านคน การผลักดันให้เกิดกลไกการช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยาก อีกทั้งนายจ้างส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทางออกคือ คนงานต้องตระหนักและรวมกลุ่มกัน ถึงจะมีพลังในการขับเคลื่อนและต่อรองได้ ซึ่งการรวมกลุ่มจะเป็นรูปแบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสหภาพแรงงาน
คนรุ่นใหม่นิยมเป็นฟรีแลนซ์ และแนวโน้มมีการจ้างงานลักษณะไม่ประจำเพิ่มขึ้น มองเรื่องนี้อย่างไร
อย่างกรณีไรเดอร์ พวกเขาไม่ใช่แรงงานอิสระ ควรอยู่ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพราะเป็นการจ้างงานที่มีระบบมีรอบการทำงาน มีการถูกปรับถูกลงโทษที่ชัดเจน แต่นายจ้างใช้คำว่า “พาร์ทเนอร์” เป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่งเป็นวาทะกรรมที่เอาเปรียบคนงาน เพื่อลดต้นทุน ไม่ต้องเข้าประกันสังคม เวลาเจออุบัติเหตุก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง ส่วนระบบโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน หันมาใช้เทคโนโลยีใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้คนงานโดยไม่ต้องจ้างงานในระบบ ตรงนี้จะเป็นปัญหาที่นำมาสู่การจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อมองว่าปัจจุบันการรวมกลุ่มแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอ่อนแอ ไม่ค่อยมีบทบาทในการเคลื่อนไหว เราจึงพยายามทำงานกับเครือข่ายแพลตฟอร์ม ตอนนี้เริ่มมีการรวมกลุ่มบ้างแล้ว ซึ่งในอนาคตอาจเป็นกำลังสำคัญที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน โดยการรวมกลุ่มอาจเป็นระบบสหภาพแบบใหม่ ที่ไม่ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานก็ได้