เรื่อง : เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
ภาพ : Brickinfo Media
การเลี้ยงลูก เป็นโจทย์หินสำหรับพ่อแม่แทบทุกยุคทุกสมัย เพราะการดูแลเด็กให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีตามขวบวัย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็น แต่เมื่อคนที่รับบทพ่อแม่ทุกวันนี้ มักจะมีอีกด้านคือการงานที่น่าเหน็ดเหนื่อย แม้จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการเติบโตลูก สิ่งที่เกิดขึ้นจริงมักจะกลายเป็น “ความรู้สึกผิด” จากความขาดตกบกพร่อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะ “ไม่มีเวลา”
“หมอโอ๋” ผศ. พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี เจ้าของ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน มีมุมมองและข้อแนะนำที่น่าสนใจมาบอกเล่าเป็นแนวทางการรับมือสำหรับพ่อแม่วัยทำงาน
ความรู้เรื่องการดูแลลูก-ดูแลเด็ก ก้าวหน้าเพียงใด พ่อแม่ต้องติดตามกันขนาดไหน อะไรคือความรู้สำคัญที่สุดสำหรับวันนี้
ในช่วง 10-20 ปีมานี้ คนเริ่มมีความรู้เรื่องของการพัฒนาสมองของเด็ก ขณะที่สมัยก่อนความรู้คือ “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี” ซึ่งปัจจุบันเราก็เรียนรู้กันแล้วว่า เป็นแค่ความเชื่อ ที่สำคัญ วิทยาศาสตร์อธิบายตรงกันข้ามคือ ยิ่งตียิ่งทำให้เกิดอารมณ์เชิงลบ ยิ่งทำงานแค่กับสมองส่วนสัญชาตญาณ จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบหลายอย่าง โดยการตอบสนองมี 3 รูปแบบคือ สู้ หนี หรือ ยอม ถ้า สู้ จะทำให้เป็นเด็กก้าวร้าว อาจจะดื้อเงียบ ถ้า หนี ก็จะทำให้เป็นเด็กปกปิดความผิดโกหกไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ ใช้วิธีการหนีปัญหา ส่วน ยอม ก็จะยอมทำตาม ไร้ตัวตน ไร้อำนาจ สู้เขาไม่ได้ เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำก็จะพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้าได้
จากประสบการณ์ของคุณหมอ อะไรคือความกังวลหลักของพ่อแม่เรื่องการดูแลลูก
ไม่มีเงินเลี้ยงลูก ไม่มีเงินพอที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูก ปัญหาเรื่องระบบการศึกษาเป็นปัญหาที่พ่อแม่กังวล เขารู้สึกและเห็นเลยว่าระบบการศึกษาที่มีอยู่มันแย่ ครูด่า ครูตี การบ้านเยอะ เด็กเครียด แต่ก็ไม่มีทางเลือก แล้วก็ความกังวลเรื่องความปลอดภัย เรื่องยาเสพติดในชุมชน ก็จะมีความรู้สึกถึงความกังวลในอนาคตของลูกด้านความมั่นคงต่าง ๆ
แต่จริง ๆ แล้วในมุมมองของหมอ ความกังวลมีหลากหลายรูปแบบ เด็กยุคใหม่ทำอะไรไม่เป็น ถูก Over-protect พ่อแม่โตมากับยุคข่าวสาร แล้วก็มีความเชื่อว่าโลกดูน่ากลัวจึงต้องปกป้องเด็กเยอะมาก อีกจำนวนหนึ่งคือไม่มีเวลาเลี้ยง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความจำเป็นของชีวิต เป็นโครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของครอบครัว เด็กจำนวนหนึ่งถูกส่งไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงที่ต่างจังหวัด อีกแบบหนึ่งที่เป็นปัญหาเหมือนกันก็คือวัฒนธรรมเชิงอำนาจในครอบครัว พ่อแม่คาดหวัง พ่อแม่สั่งต้องเป็นนั่นเป็นนี่ก็ยังมีอยู่ แต่ที่เจอเยอะมากคือ เด็กติดหน้าจอ เป็นผลพวงของการที่ไม่มีเวลาปล่อยเด็กก็อยู่กับหน้าจอ หรือการไม่ได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กก็จะไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน บังคับกันไม่ได้ เป็นปัญหาที่เจอเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อจำกัดมีมากมาย คนเป็นแม่มักรู้สึกผิดที่ดูแลลูกได้ไม่ดีพอ ความรู้สึกแบบนี้ส่งผลต่อลูกหรือไม่
เวลาเรารู้สึกดีไม่พอ ทำหน้าที่แม่ได้ดีไม่พอ พลังงานชีวิตมันถดถอย พอลูกมีปัญหาแทนที่เราจะอยู่กับแค่ปัญหาของลูกแล้วแก้ไข ก็จะสะท้อนกลับมาว่าเราไม่มีเวลาให้กับเขาเต็มที่ เป็นวงจรที่ทำให้เรารู้สึกผิด
คำแนะนำก็คือ ทำความเข้าใจและยอมรับว่า แม่ที่สมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง แต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน เราอยู่ในประเทศที่มีข้อจำกัด
ประเทศอื่นเขาลากันได้เป็นปี ประเทศเราลา 3 เดือน ไม่มีทางที่เราจะเป็นแม่ที่พร้อม เอาเข้าจริงลูกก็ไม่ได้ต้องการสิ่งที่ดีที่สุดอยู่เสมอ อย่างเรื่องเวลา ถ้ามีเวลาแล้วได้คุณภาพเขาก็เอาตัวรอดด้วยตัวเองได้ ถ้าสิ่งที่เขาได้รับมาทำให้เกิดความมั่นคงภายใน ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นที่รัก ถ้าเขาสามารถสร้าง self ที่ดี ก็สามารถสร้างชีวิตของเขาได้
เรารู้สึกขัดแย้ง เพราะเรามักจะมีภาพที่เป็นอุดมคติ ฉะนั้นให้กลับมายอมรับว่าเราทำได้แค่นี้เต็มที่แล้ว และต้องกลับมาจัดระเบียบชีวิตก่อนว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ กำลังให้ความสำคัญกับสิ่งสำคัญอยู่จริงหรือเปล่า
ถ้าเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้มาก ความรู้สึกผิดว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอจะลดลงไหม
อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่รู้เลยว่าที่ทำอยู่คือผิด ก็เลยไม่ได้รู้สึกผิด แล้ววัฒนธรรมการเลี้ยงดูมาก็เป็นแบบนั้น เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากวัฒนธรรมของเรา ถ้าเทียบความรู้สึกผิดก็อาจจะเป็นพ่อแม่กลุ่มที่รู้เยอะนี่แหละ ความรู้สึกผิดมันแกะออกได้ยาก เป็นเหมือนสิ่งที่แต่ละคนต้องแบกอยู่ตลอดเวลา
บางทีเราเสพข่าว ก็จะสร้างภาพมายาคติขึ้นมาว่าเวลาที่อยู่กับลูกเราต้องใจเย็น ซึ่งมีพ่อแม่ไม่กี่คนที่ทำได้จริง เราต้องรู้เท่าทันว่าไม่ว่าใครจะโพสต์จะเขียนเรื่องสอนการเลี้ยงลูกหรืออะไรก็ตาม เขาไม่ได้โพสต์ทุกอย่างในชีวิตเขา เราต้องกลับมาเท่าทันมันก่อนว่าเรากำลังเสพสิ่งที่ไม่ได้เป็นภาพจริงทั้งหมด
สองก็คือกลับมายอมรับกับความเป็นมนุษย์ของตัวเอง บางบ้านวุ่นวายโกลาหลทั้งบ้านทั้งสามี เป็นปัจจัยที่อาจทำให้เราทำหน้าที่ของแม่ได้เท่าที่ทำได้ ลูกเองก็ต้องการพ่อแม่ธรรมดาที่ผิดพลาดได้ ซึ่งจริง ๆ เป็นการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ที่ดีมากกว่า
พ่อแม่มนุษย์งานยิ่งรู้สึกผิดคูณ 2 ทำงานจนดูแลลูกได้ไม่ดีพอ แต่ถ้าลาเพื่อลูกก็รู้สึกผิดกับที่ทำงาน
ใช่ พอไม่ลาก็รู้สึกผิดกับลูก มันไม่มีจุดสมดุล แล้วจริง ๆ ที่รู้สึกผิดเพราะว่ารู้ว่าลูกสำคัญกว่า เราไม่ได้ให้เวลากับสิ่งที่เราเข้าใจว่ามันสำคัญกว่า เพราะถ้ารู้สึกว่างานสำคัญกว่าก็จะคิดว่าทำถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นจิตใต้สำนึกเรารู้ว่าลูกสำคัญที่สุด แต่เราก็อยู่กับวัฒนธรรมที่การลาเป็นเรื่องไม่ดี
ตอนนี้เราเห็นเยอะมากว่าบางครอบครัวอยู่ถึง 3-4 ทุ่ม บางทีไม่ได้โอทีแต่เจ้านายไม่กลับก็เกรงใจไม่กล้าบอกเขา จนบางทีหมอต้องบอกว่าเดี๋ยวเขียนจดหมายหาเจ้านายให้ว่าตอนนี้ลูกเป็นซึมเศร้า ลูกต้องการคนกลับมาอยู่ดูแลด้วย จริง ๆ ก็เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมเชิงอำนาจในองค์กร ที่ทำให้คนตัวเล็ก ๆ ไม่มีปากเสียง แล้วก็ต้องอยู่รับสภาพหวานอมขมกลืน แล้วสุดท้ายผลกระทบก็ไปอยู่กับเด็ก แต่พอมองไปพ่อแม่ก็ซึมเศร้า หรืออย่างรางวัลเจ้าหน้าที่ดีเด่นทำงานมา 10 ปีเคยลาแค่ครั้งเดียว ฟังแล้วตกใจมากแล้วองค์กรประเทศเราเอาเปรียบพนักงานเยอะมาก ไม่ใช่แค่ทำงานแต่ว่าต้องเอางานกลับมาทำที่บ้านต้องทำงานเสาร์-อาทิตย์ก็คือใช้คุ้ม
ตอนที่หมอไปเรียนเมืองนอก ผ่านไป 6 เดือนเราก็ไม่ลา รู้สึกว่าถ้าเราลาเขาต้องหาคนออกคลินิก แอดไวเซอร์เรียกพบเลยบอกว่าถ้ายูไม่ลา ไอต้องจ่ายเงินชดเชยให้ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่อยากจ่าย เขามองว่าเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องลาและใช้วันพักร้อนของเราให้หมด วัฒนธรรมของที่นั่นคือการใช้วันลาให้หมดเป็นเรื่องบังคับ คุณควรจะพัก ทุกคนต้องจัดการงานได้โดยที่ไม่มีคุณ หลังจากนั้นทุกปีเราลาหมดเพราะนี่คือสิทธิ แต่เราไม่เคยปลูกฝังให้คนเข้าใจว่านี่คือสิทธิ มันกลายเป็นว่าไม่ลาคือคนดี คนขยัน คนรักองค์กร

ถ้าจะเป็น “ที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” เส้นแบ่งเรื่องงานกับครอบครัวควรจะอยู่ตรงไหน
หนึ่งคือ ที่ทำงานควรดูแลปัจจัยพื้นฐานที่ครอบครัวต้องการ สวัสดิการวันลา เวลาวันลา ลาคลอด ลาเลี้ยงดูบุตร พวกนี้ควรจะเป็นสิ่งที่เอื้อ เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน สอง เรื่องของความรู้ ซึ่งตอนนี้มีบริษัทหลายแห่งที่เสริมองค์ความรู้ให้พนักงานที่เป็นพ่อแม่ คือการสร้างพื้นที่เรียนรู้หลักการสำคัญ ๆ ในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มคนทำงานที่ไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลความรู้ในเรื่องนี้
การแบกรับเรื่องการดูแลลูกของผู้หญิงกับผู้ชาย
ไม่เท่า แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าพ่อสนใจเลี้ยงลูกเยอะขึ้น อย่างคลาสพ่อแม่ ทำคลาสแล้วมีพ่อมาเกิน 25% นี่ก็นับว่าใช้ได้แล้ว จำนวนหนึ่งเชื่อว่ามาด้วยความอยากรู้ อยากเรียน อยากเอาไปใช้กับลูก
เริ่มมีการพูดถึงสวัสดิการอย่างผู้ชายลาเลี้ยงดูลูกได้ ในที่สุดแล้วก็ไม่ค่อยถูกใช้ คุณผู้ชายไม่ลาอยู่ดี
ทำอย่างไรที่เราจะมองว่าการเลี้ยงลูกคือหน้าที่ของคนสองคน เพราะฉะนั้นการที่พ่อลามาเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ อันนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องทำให้สังคมเข้าใจว่ามันคือหน้าที่ เป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” ไม่ใช่โยนไปให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
สังคมไทยยังโยนหน้าที่ไปให้แม่เป็นหลัก แม่ถูกมองว่าต้องเลี้ยงดูลูก ซึ่งก็จะเป็นปัญหา เพราะแม่ปัจจุบันต้องทำทุกอย่าง ทั้งงาน เลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ขณะที่พ่อก็ทำงานเหมือนกับแม่ แต่อย่างอื่นกลายเป็นเบา ๆ ถ้าทำงานบ้าน เลี้ยงลูกกลายเป็นสามีดีเด่น ไม่ทำก็ไม่เป็นไร
การปรับความเข้าใจตรงนี้จะช่วยปรับโครงสร้างครอบครัวไปด้วย เรื่องลูกเป็นเรื่องที่ทุกคนมีหน้าที่เท่ากัน งานบ้านเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน จะแบ่งเบาภาระและการกดทับไปที่แม่ได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการดูแลลูกให้ดีขึ้นไปพร้อมกันด้วย