เขียน : ลลิตา ไวสินิทธ์ธรรม
Work-Family Balance สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์กรและสังคม
เมื่อองค์กรดูแลครอบครัวพนักงาน ผลที่ได้ไม่ใช่เพียงความสุขในการทำงาน หรือผลผลิตที่ดีขึ้น แต่ยังตอบโจทย์ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ถึง 8 ข้อจากทั้งหมด 17 ข้อ ตามที่สมัชชาสหประชาชาติตั้งใจให้บรรลุภายในปี ค.ศ. 2030
พูดคำว่า SDGs แล้วเชื่อว่าไม่มีบริษัทใดไม่รู้จัก เพราะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เป็นพันธกิจในระดับโลกซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้บริโภคหรือนักลงทุน ต่างเริ่มเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคมจากภาคธุรกิจมากว่าที่เคยเป็นมา
บริษัทใหญ่น้อยใช้ SDGs เป็นกรอบในการดำเนินงาน ในความเป็นจริงแล้ว กรอบ SDGs ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายนอก แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความผูกพันต่อองค์กรให้พนักงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงเป็นหลักประกันการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทอีกด้วย
การสนับสนุนการดูแลครอบครัวให้กับพนักงาน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนถึง 8 ด้าน ได้แก่

เป้าหมาย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
การให้ลาคลอด โดยไม่หักค่าจ้าง และนโยบายห้องนมแม่ ส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้หญิง ผลกระทบเชิงสังคมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากนโยบายลาคลอด ถูกกำหนดโดย ระยะเวลาการลา การให้สิทธิลากับพ่อและ/หรือแม่ อัตราค่าจ้างที่จ่าย และปัจจัยอื่น ๆ
เด็กที่ได้กินนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตใน 6 เดือนแรกต่ำกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 16 เท่า เด็กที่เกิดมามีแนวโน้มสุขภาพดีขึ้น ลดอัตราการขาดสารอาหารและการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน การให้นมบุตรยังช่วยลดอัตราการตกเลือดหลังคลอดและมะเร็งเต้านมของมารดาได้ด้วย
เป้าหมาย SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ
งานวิจัยพบว่า นโยบายลาคลอดมีส่วนลดเหตุความรุนแรงในครอบครัว การที่พ่อสามารถลาเลี้ยงดูลูก จะเพิ่มความรู้สึกมีส่วนร่วม และความผูกพันกับลูก ขณะที่ผู้หญิงสามารถใช้เวลาในการพัฒนาตนเอง ทำให้รับผิดชอบ และเติบโตในหน้าที่การงานได้ดียิ่งขึ้น
เป้าหมาย SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDG 8 งานดี-เศรษฐกิจเติบโต
ศูนย์เลี้ยงเด็กในราคาที่เข้าถึงได้ภายในสถานที่ทำงาน หรือในระยะไม่ไกล ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ลดภาระที่มักตกกับคนที่เป็นแม่ เมื่อร่วมกับนโยบายลาคลอดและปรับเวลาทำงานแล้ว ช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะหลุดจากตลาดแรงงานหลังมีลูก โดยเฉพาะนโยบายที่ครอบคลุมไปถึงการดูแลการกลับสู่ตำแหน่งงาน
เป้าหมาย SDG 11-13
นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม จากการลดการเดินทางทำให้ลดการจราจร ลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังลดการกระจุกตัวในเมืองใหญ่ ผู้คนสามารถใช้เวลากับครอบครัวที่บ้านเกิดได้มากขึ้น
ข้อมูล:
The Work and Family Divide Report . Australia.
Jody, Aleta R. Sprague, Arijit Nandi, Alison Earle, Heymann. (2017).
Paid Parental Leave and Family Wellbeing in the Sustainable Development Era. Public Health Rev (38).
UNICEF. (2020).
Family-friendly workplaces: Policies and practices to advance decent work in global supply chains. เข้าถึงได้จาก unicef.org