
เรื่อง : เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
ภาพ : สิงหา อรุณไพโรจน์
“เข้าร้านหนังสือครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”
อาจเป็นคำถามที่หลายคนตอบไม่ได้แล้ว และนั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร้านหนังสือจำนวนมากไม่ได้ไปต่อ ยิ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดและมีผลกระทบอย่างต่อเนื่องเป็นปี ๆ ธุรกิจร้านหนังสือยิ่งตกอยู่ในภาวะยากลำบากหนักขึ้นอีก
The Booksmith ร้านหนังสือที่ไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่มีไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตของผู้คนขับเคลื่อนอยู่ สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านวิสัยทัศน์ไกล ไม่ยอมแพ้ แต่ปรับตัวสู้วิกฤติ จนสามารถประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดมาได้ น่าสนใจที่ในทุกแง่มุมทางธุรกิจของเขา ล้วนแฝงไว้ด้วยวิธีคิดเรื่องการดูแลคน ไปจนถึงครอบครัวของทุกคนรวมอยู่ด้วย
รูปแบบการทำงานเป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการบุคลากรอย่างไร
สิโรตม์ – หน้าร้านจะเป็นพนักงานสาขา แต่ละช็อปมีพนักงานอย่างน้อยสองคนต่อวัน มีคนดูแลด้านการตลาด คอนเทนท์ในโซเชียลด้วย เพราะงานทุกวันนี้ทางออนไลน์ทั้งหมดมีความเร็ว จุกจิกมาก จึงต้องมีคนมอนิเตอร์ในส่วนนี้ เราไม่มีสต๊อก หนังสือที่นำเข้าทั้งหมดจะ on shelf แต่มี process
เราไม่ใช่แค่เป็นธุรกิจรีเทล แต่เป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือต่างประเทศให้กับร้านหนังสือไทย คนที่สนใจ รวมทั้งห้องสมุด เวลาที่หนังสือส่วนนี้เข้ามา เราเช่าห้องเล็ก ๆ ที่นิมมานฯ (เชียงใหม่) เป็นที่ลงของแพ็คของส่งลูกค้า จะมีของเข้าเฉลี่ยเดือนละสองครั้งจากอเมริกาและอังกฤษ เราก็จัดตารางคนเข้ามาช่วยกันทำงาน หรือจ้างพาร์ทไทม์มาช่วย
ลักษณะงานของพนักงานในส่วนหน้าร้าน และงานออนไลน์ แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
สิโรตม์ – พยายามปรับให้อยู่ในกรอบเดียวกัน ไม่ต้องการให้เขาต้องนั่งทำงานออนไลน์ดึก ๆ ดื่น ๆ ผมเองก็อยากพักหลังเลิกงาน 5 โมง 6 โมงเย็นเหมือนกัน
ยิ่งทำมาก ยิ่งใช้เวลามาก ผลลัพธ์ไม่ได้ดีอะไรมาก แค่เหมือนนั่งฆ่าเวลาไปวัน ๆ ฉะนั้นอยากให้เขาเต็มที่ในช่วงเวลาทำงาน แล้วก็พักผ่อนให้เต็มที่ เดี๋ยวไอเดียมันมาเราก็ค่อยเอามาใส่ในช่วงเวลาปกติมากกว่า
ถ้ามีลูกค้า inbox มาทาง Facebook ต้องการซื้อของหลังสองทุ่ม เราก็ค่อยทำพรุ่งนี้ งานพวกนี้จุกจิกมาก การที่พนักงานไม่ได้พักผ่อน ผมว่ามันส่งผลเสียในวันรุ่งขึ้น

การจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพที่อยากจะครอบคลุมถึงครอบครัวของคนทำงาน มีจุดเริ่มต้นอย่างไรบ้าง
สิโรตม์ – เรามีพนักงานจำนวนน้อย ไปสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ไหนเขาก็ไม่รับ เลยให้พนักงานเลือกกองทุนเปิดเองที่แต่ละธนาคารมี เราสนับสนุนให้เขาซื้อกองทุนในส่วนของเขา คือ 1,000 บาท แล้วเราให้อีก 1,000 บาท ในแต่ละเดือนเขาจะต้องเอาเงิน 2,000 บาทไปซื้อกองทุนเก็บไว้ ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไปต้องแสดงหลักฐาน เราก็จะดูแลให้ด้วยเป็นการออมของเขาเองนอกเหนือจากประกันสังคมที่มี
อีกก้อนหนึ่งที่อยากให้พนักงานมีส่วนร่วมรับผิดชอบคือ ถ้าเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ต้องไปหาหมอ เราเปิดโอกาสให้ พ่อแม่ ลูก และสามี เอาค่าใช้จ่ายตรงนี้มาเบิกกับบริษัทได้ ปีแรกงบประมาณต่อปี 1,500 บาท ในอนาคตอาจจะค่อย ๆ เพิ่มไป บางปีมีการติดต่อโรงพยาบาล ให้พนักงานคนละ 800 บาทเพื่อตรวจร่างกายประจำปี แล้วจ่ายส่วนต่างเอง
ทราบว่ายังมีการคิดสวัสดิการอื่นเพิ่มเติมอีกด้วย
สิโรตม์ – เราซื้อประกันอุบัติเหตุให้พนักงานทุกปี เพราะส่วนใหญ่เดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ บางคนเลิกงาน 2 – 3 ทุ่ม ระหว่างกลับบ้านจะเกิดอุบัติเหตุหรือเปล่า ที่บ้านก็มีพ่อแม่รออยู่ หรือยกลังยกหนังสือผิดท่าหลังยอกขึ้นมา การมีประกันอุบัติเหตุช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทไปด้วย ช่วงโควิดแรก ๆ เราซื้อประกันโควิดให้พนักงานทุกคน เพราะอยู่หน้าร้านต้องเจอคนเยอะ เราทำเท่าที่ทำได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามสภาพกำลังคนที่มีอยู่

The Booksmith มีวิธีคิดเรื่องคน เรื่องสวัสดิการต่าง ๆ อย่างไร
สิโรตม์ – สวัสดิการมีสองส่วน 1. เป็นสวัสดิการเบสิก คือ ประกันสังคม 2. เราเพิ่มการดูแลรายได้และสวัสดิการที่มองว่ามีความสำคัญ และให้เขาได้เรียนรู้ตลอดเวลา ทำงาน 6 – 7 เดือนคนทำงานจะรู้สึกเหมือนโดนดูดพลังไป เราเพิ่งให้เขาไปสมัครคอร์สออนไลน์หลักสูตร PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 30 ชั่วโมง ใครจะเรียนช่วงไหนก็ได้ เรียนจบได้ใบประกาศฯ เราก็จะให้รางวัลเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่เขาควรเรียนรู้
ส่วนที่อยากจะเพิ่มให้คือ อยากให้เขารู้สึกว่ามาทำงานกับเราแล้ว อนาคตจะมั่นคงปลอดภัย พนักงานผมคนหนึ่งที่สาขาสนามบิน ตั้งแต่เรียนจบก็มาทำงานกับเราเกือบ 9 ปี ตอนนี้อายุ 30 แล้ว เราก็มองย้อนกลับไปว่าเขาควรจะต้องมี Career Path เริ่มมีฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความมั่นคงในอนาคต ก็เลยใส่เข้ามาเป็นสวัสดิการให้ ตรงนี้เพิ่งเริ่มนะครับ
คิดอย่างไรเรื่องการดูแลสุขภาพ ที่รวมไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วย
สิโรตม์ – สมัยก่อนผมทำงานร้านหนังสือ เจ้าของร้านให้พนักงานทุกคนปีละ 2,500 บาท ยังไม่ได้ให้กับคนรอบตัว เราก็รู้สึกว่าเขาดูแลพนักงานดีจัง เราก็เรียนรู้จากประสบการณ์จากตัวระบบเหล่านี้มา ประกอบกับภรรยาของผมทำงานในองค์กรที่มีสวัสดิการสำหรับครอบครัว ทำให้เรารู้สึกว่าเขาห่วงใยไม่ใช่แค่ตัวพนักงาน เราจึงขอเป็นบริษัทเล็ก ๆ ถึงจะไม่สามารถทำอะไรได้ทันที ต้องใช้เวลานิดหนึ่งกว่าที่เราจะทดลองทำได้
ตอนนี้ส่วนใหญ่พนักงานอายุ 20 กว่า มีกระโดดไป 30 กว่าคนเดียว เรียนจบก็มาสมัครแล้วก็อยู่กันมาเรื่อยๆ ยังไม่แต่งงาน ยังไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก แต่อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่ก็อาจจะยังไม่สูงอายุมาก บางคนคุณพ่อของเขาแก่กว่าผมแค่ไม่กี่ปี ก็เลยยังไม่มีโจทย์เรื่องครอบครัวมากนัก
เรื่อง Work Life Balance และ Work Family Balance มีความสำคัญอย่างไร ธุรกิจได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
สิโรตม์ – ผมว่าสำคัญ พอมาเป็นนายจ้างเอง เราก็ผ่านช่วงที่รู้สึกว่านายจ้างโดนเอาเปรียบ เราโดนเอาเปรียบเหลือเกิน ทำไมทำงานแบบนี้ โดยพื้นฐานผมคิดว่าเจ้าของอยากจะให้อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเจออุปสรรคว่าให้ไปแล้วทำไมทำกับเราแบบนี้ ก็จะไม่รู้สึกอยากให้
แต่ถ้าเราให้คุณค่าพนักงานทุกคนเป็นสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งต้องมีการลงทุนให้เขาเติบโตขึ้น และถ้าเราคิดว่าคนคือปัจจัยสำคัญของธุรกิจ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาคนไว้ให้ดีขึ้น เพิ่มศักยภาพเขาให้มากขึ้น พออายุผ่านมาระดับหนึ่งเราจะรู้สึกว่ามันไม่มีอะไรเสร็จภายในวันเดียว เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยทำต่อ

มีวิธีการอย่างไรในการคิดสวัสดิการ บริษัทจะรู้ความต้องการและปัญหาของพนักงานได้อย่างไร
สิโรตม์ – สังเกตจากตัวพนักงาน สังเกตจากวิถีชีวิตของเขา ปัญหาที่เขาพบ ส่วนใหญ่คือความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในแต่ละวันมันสูง เราก็ใส่ประกันอุบัติเหตุไป เวลาเจอข้อมูลอะไรใหม่ ๆ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว แล้วเห็นมีโอกาสพวกนี้ เราก็จะไปถามดูว่าเขาสนใจไหม หรือให้เขาไปลองศึกษาดู ไปลองคุยกันดู แล้วกลับมาคุยกัน ปีหนึ่งเราอาจจะคุยกัน 2 – 3 เดือนครั้ง แต่จะคุยกันเยอะช่วงปลายปี ก่อนคริสต์มาสก็จะมาคุยกันว่า Performance ของบริษัทปีนี้เป็นยังไงบ้าง
การดูแลคน และสวัสดิการต่าง ๆ เป็นปัจจัยที่คนพิจารณาเรื่องการอยู่กับเรามากน้อยแค่ไหน
สิโรตม์ – สำคัญนะครับ ทุกคนที่มาทำงานก็ต้องการรายได้ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่าย เราต้องการให้เขารู้สึกว่ากินอิ่มนอนหลับ ดูแลครอบครัวได้ มีเงินออมด้วย แต่บางคนอาจอยากทำงานในบริษัทใหญ่ มีโอกาสเติบโตในสายอาชีพกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่างานของเราไม่ได้ไปไกลมากสักเท่าไร เว้นแต่ว่าในอนาคตเราจะขยายทำอะไรอีกเขาถึงจะมีโอกาสเติบโต ซึ่งตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่อัตราการลาออกของพนักงานเรานิ่งมาหลายปี เพิ่งมีลาออกไปหนึ่งคนไม่นานนี้
การทำกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายไม่ครอบคลุมบริษัทขนาดเล็ก แต่แนวโน้มธุรกิจเติบโตไปในทิศทางที่เป็นรายย่อยเพิ่มขึ้น มองว่าภาครัฐน่าจะดูแลสวัสดิการสำหรับลูกจ้างในองค์กรขนาดเล็ก รวมถึงฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นความสนใจของเด็กรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร
สิโรตม์ – รัฐมีนโยบายสุขภาพสำหรับพนักงานในบริษัทเล็ก ๆ แต่ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการออม ผมได้ยินข้อมูลว่าเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และหลังเกษียณจะต้องมีเงินกี่ล้านบาทกันแล้ว พนักงานในบริษัทใหญ่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เขาอาจจะคิดได้ถึงสวัสดิการข้อนี้หลังจากเกษียณ แต่พนักงานบริษัทเล็ก ๆ มีแค่ประกันสังคม ซึ่งเราก็รู้ว่าความเป็นจริงมันไม่พอกับค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพในปัจจุบันแน่นอน
เพราะฉะนั้นจะทำยังไงกับตัวเสริมที่เป็นการออม พนักงานบริษัทเล็ก ๆ ก็น่าจะมีตัวกองทุนนี้ไว้อีกหนึ่งกอง เพื่อเป็นตัวการันตี รวมถึงฟรีแลนซ์ อาจจะมีกองทุนการออมแห่งชาติ แต่ผลที่คำนวณแล้ว รายได้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายหรือเปล่า ถ้าไม่ก็ต้องปรับใหม่
วางกรอบงบประมาณในแต่ละปีสำหรับการเติมสวัสดิการให้กับพนักงานไว้หรือไม่
สิโรตม์ – ที่ผ่านมาไม่ได้มีกรอบการใช้งบ แต่ใช้วิธีพูดคุยกัน อย่างเรื่องการออม เก็บเงินออมเท่าไรที่จะไม่หนักเกินไปในแต่ละเดือน เขาบอกว่าเดือนละ 1,000 น่าจะพอไหว ผมก็คิดจากตรงนั้น เป็นส่วนที่เราให้เขาได้ ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา พนักงานบอกว่าขอไม่รับเงินเดือน สำหรับผมซึ่งเป็นเจ้าของรู้สึกว่าตรงนี้คือ value และประเมินค่าออกมาเป็นกรอบไม่ได้
ในอนาคตจะมีกรอบหรือไม่ผมดูจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก เพราะเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบกับ cost of saving ของพนักงาน หรือว่าจะเอามาดูกับตัวจีดีพีเป็นหลัก เพราะเป็นเรื่องของศักยภาพทางธุรกิจ สองตัวนี้ก็จะต้องเอามาคิดว่าตัวไหนที่จะ balance ได้ดีกว่ากัน