เรื่อง : เครือข่ายที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว
ภาพ : Brickinfo Media
ในการเดินทางอันยาวนานร่วม 74 ปี ของแบรนด์ศรีจันทร์ ชื่อเสียงขององค์กรแม้อาจมีอ่อนล้าลงบ้างตามกาลเวลา แต่ด้วยความสามารถของ รวิศ หาญอุตสาหะ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ที่ได้แสดงฝีมือในการบริหารจนทำให้ ศรีจันทร์ กลับมาผงาดอย่างก้าวกระโดดในตลาดเครื่องสำอางได้อีกครั้ง และทะยานไกลไปปักธงถึงตลาดต่างประเทศอีกด้วย
ไม่เพียงเป็นผู้บริหารที่พลิกฟื้นศักยภาพ และภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างโดดเด่นเท่านั้น CEO รวิศ ซึ่งยังมีอีกบทบาทคือ เจ้าของเพจ และ Podcast ชื่อ Mission To The Moon ยังมีแนวคิดและมุมมองที่สร้างสรรค์ในการดูแลพนักงานในหลาย ๆ มิติได้อย่างน่าสนใจและน่าเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ศรีจันทร์มีแนวคิดเรื่องการดูแลและจัดสวัสดิการให้กับพนักงานอย่างไร
รวิศ : มีพนักงานประมาณ 200 คน เราพยายามคุยกับพนักงานบ่อย ๆ ว่าชีวิตเขาอยากได้อะไร มีอะไรที่จำเป็นในช่วงนี้ แล้วดูว่าอันไหนที่เหมาะสมและองค์กรพอทำไหว ตอนนี้ก็จะมีหลายเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจเช่นความหลากหลายทางเพศ ที่เราพยายามทำให้ดีขึ้นและ flexible ที่สุดเท่าที่จะทำได้
หลายบริษัทพบว่าพนักงานไม่เล่าปัญหาไหม เพราะกลัวถูกหัวหน้ากาหัว บริษัทเลยไม่รู้ว่าพนักงานมีปัญหาใด ต้องการอะไร
รวิศ : เราพยายามคุย เพราะทุกคนก็ไม่ได้บอกหมด อาจจะมีบอกมากบอกน้อย เราก็พอจะสังเกตได้ อย่างบางคนมีความจำเป็นจะต้องเลี้ยงลูกอยู่บ้าน เราก็ให้ทำงานที่บ้านตลอด ไม่ต้องมาออฟฟิศเลย เขาก็บริหารจัดการของเขาได้ HR เราจะทำงานหนักนิดหนึ่งในการคุยกับแต่ละคนว่าอยากจะได้อะไร บางคนไม่มีปัญหากับการมาออฟฟิศ เราก็อาจจะให้งานอีกรูปแบบหนึ่ง แต่มีข้อตกลงร่วมกันว่างานประเภทไหนที่อาจจะต้องมาทำงาน ประเภทไหนที่ flexible ได้
หลายองค์กรเริ่มเจอโจทย์สังคมผู้สูงวัยที่พนักงานต้องดูแลพ่อแม่มากขึ้น ศรีจันทร์เจอบ้างหรือยัง
รวิศ : มีอยู่แล้วครับ ผมคิดว่าครอบครัวเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องบริหารจัดการ นโยบายของเราเน้นเรื่องความเข้าใจให้มากที่สุด เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จริง ๆ ใครที่มี special request ซึ่งมีเข้ามาว่าขอทำแบบนั้นแบบนี้ได้ไหม ขอกลับไปอยู่บ้านสามเดือนได้ไหม อะไรที่สามารถจัดการให้ได้ เราพยายามรองรับเพราะมีพนักงานที่ทำงานจากต่างจังหวัด ซึ่งในยุคนี้ด้วยเทคโนโลยีด้วยระบบก็ช่วยเยอะ
เราสื่อสารกับทุกคนว่าสวัสดิการแต่ละอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ มีอะไรมาคุยกันได้ หัวหน้าก็รู้ว่าหน้าที่คือดูแล Well-being หรือสุขภาวะของทุกคนให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าถ้าสุขภาวะดี ผลงานจะดี ถ้าสุขภาวะไม่ดี ผลงานก็ไม่ดี
พิสูจน์ได้จริงไหม ว่าถ้าพนักงานมีสุขภาวะที่ดี แล้วคุณภาพงานดี
รวิศ : ผมพิสูจน์กับตัวเอง ถ้าสุขภาพจิตเราดี ได้ออกกำลังกาย นอนพอ คุณภาพงานเราจะดีมาก คนอื่นก็น่าจะคล้ายกัน ต้องพยายามลดเรื่องที่ทำให้ Well-being พนักงานไม่ดีลงให้มากที่สุด และเชื่อว่า Well-being ที่ดีก็ช่วยให้พนักงานมีพลัง และมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะธุรกิจเราเป็น Marketing-based ทั้งหมด ไม่มีใครผลิตอะไรเลย ทุกคนทำงาน Marketing / sales หมดเลย ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง ต้องใช้แรง ใช้พลังสมอง เราก็ต้องการให้เขาอยู่ในหน้าที่ ที่พร้อมจะ Provide Creativity ออกมาให้ได้มากที่สุด
มองเรื่อง “ที่ทำงานที่เป็นมิตรกับครอบครัว” อย่างไร
รวิศ : ความ Flexible ในเชิงของสถานที่และเวลาทำงานเป็นสิ่งที่เราให้คุณค่ามากที่สุด สิ่งที่ทุกคนน่าจะอยากได้มากที่สุดก็คือการเลือกว่าวันไหนอยากจะมาทำงาน วันไหนอยากจะอยู่บ้าน วันไหนอยากจะใช้เวลากับครอบครัว หรือจริง ๆ อาจจะกำหนดวันหยุดได้เองเลยด้วยซ้ำ ที่นี่เรามีวันหยุดที่เป็นวันหยุดพักร้อนจริง ๆ ใครอยากจะไปไหนก็ตามสบายเพราะเราเชื่อว่าทุกคนมีความรับผิดชอบพอที่จะดูแลตัวเองได้
อย่าง Mission To the Moon เป็นที่ทำงานที่ Fully-remote เรามีกำลังคนประมาณ 40 คน แทบไม่มีใครเข้าออฟฟิศเลย นอกจากมาถ่ายงาน ต่างคนต่างอยู่กันตามที่ต่าง ๆ ได้ตามสบาย ขอให้มีแค่สักคนในทีมที่ตื่นในเวลาที่มนุษย์เขาทำงานกัน ตอนเก้าโมงถึงห้าโมง เป็นตัวแทนเวลาที่มีเรื่องด่วนและเราติดต่อได้ก็พอแล้ว เราวัดผลงานเป็นตัวเลข ซึ่งแต่ละทีมจะมีพารามิเตอร์ในการวัดที่ชัดเจน ถ้าคุณทำตัวเลขได้อย่างที่เราต้องการคุณจะนอนทั้งวันก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร ต่อให้นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ 24 ชั่วโมงถ้าคุณทำไม่ได้เราก็ไม่ยอมเหมือนกัน ผมคิดว่าเรื่องเวลารวิเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุดในการดูแลครอบครัว เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเรามีความยืดหยุ่นเรื่องเวลาแล้ว เรื่องอื่นก็ง่ายขึ้นมาอีกเยอะเพราะเขาไปจัดการเองได้
ส่วนตัวผมไม่ชอบคำว่า work Life Balance เท่าไร เพราะถ้าแปลตรงตัวคือแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวชัดเจน ซึ่งผมไม่ได้ทำแบบนั้นเลย ผมทำงานตลอด 7 วัน แต่เราแบ่งเป็น Slot ช่วงนี้อาจจะให้เวลาเป็นเวลาส่วนตัว แล้วก็กลับมาทำงาน แล้วก็กลับมาเป็นเวลาส่วนตัวใหม่ น่าจะเหมาะสำหรับการทำงานยุคนี้ เรียกว่า Work-life integration ก็ได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่เราอยากทำ เด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็ค่อนข้างชอบวิธีนี้มากกว่า ผมเชื่อว่าธุรกิจสมัยใหม่ เหมาะกับวิธีคิดแบบผมเพราะมีความเปลี่ยนแปลงสูงมาก ถ้าเราใช้ระบบที่เข้มงวดมันจะรับความเปลี่ยนแปลงสูง ๆ ไม่ได้ แต่ถ้าองค์กรที่มี Team dynamic ดี และเข้าใจว่าบางช่วงต้องงานหนัก บางช่วงงานเบา จะสามารถรับความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของธุรกิจได้ ไม่มีองค์กรไหนที่มีความเร็วเท่ากับความเร็วของตลาดอยู่แล้ว ยิ่งโครงสร้างเข้มงวดเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คุณตามตลาดช้าลงเท่านั้น
หลายองค์กรชอบพูดว่า “เราดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัว” คุณมองอย่างไร

ศรีจันทร์ กับ Mission To the Moon เป็นบริษัทในไทยแรก ๆ ที่ทำลาคลอด 6 เดือน หรือ ลาดูแลลูกสูงถึง 1 เดือน มีหลายบริษัทอยากทำ แต่กลัวเสียงาน
รวิศ : ผมคิดว่าสวัสดิการที่ถูกออกแบบมา จะมีบางอย่างที่ทุกคนใช้ และบางอย่างที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้ใช้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ถ้าคนคิดขนาดนั้นว่า ทำไมฉันไม่ได้ใช้สวัสดิการนี้ แปลว่าเราอาจจะเลือกคนมาผิดแล้ว สำหรับผมถือว่าใจไม่กว้างพอ ผมจะพยายามเลือกคนที่เข้าใจว่าบางสวัสดิการคุณอาจจะไม่ได้ใช้ ซึ่งถ้าอยากจะใช้คุณก็สามารถจะท้องได้ หรือว่าให้เพื่อนคุณใช้ เป็นเจตนาดีสำหรับทุกคนที่ควรจะได้รับการยอมรับ
เรื่องการโอนถ่ายงานเป็นเรื่องของการวางระบบ ถ้าเกิดใครคนใดคนหนึ่งหายไปแค่ 6 เดือนแล้วบริษัทเจ๊งเลยเนี่ย แปลว่าระบบคุณแย่มาก เพราะคนป่วย คนประสบอุบัติเหตุ ขาดหายไปทีละเดือนนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ต้องไปแก้ที่ระบบ ไม่ใช่แก้ที่ไม่ให้คนท้อง ระบบต้องดีพอที่จะกระจายงาน หรือ Outsource งาน ถ้าบริษัทอื่นทำได้ ทำไมเราถึงจะทำไม่ได้
ศรีจันทร์เน้น High flexibility ในหลายเรื่อง พนักงานมีเสียงตอบรับอย่างไร
รวิศ : ผมคิดว่าจะต้องแบ่งเป็น 2 แบบ คือคนที่ชอบ Flexibility ซึ่งในขณะเดียวกันมันก็สร้างความกดดันให้เขาอย่างมากเช่นกัน ยิ่งเรายืดหยุ่นเท่าไร ยิ่งต้องมีวิธีการวัดผลที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือคุณต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ถ้าอยู่กันเยอะ ๆ จะซ่อนได้นิดหน่อย แต่พองานชัดเจนว่าใครทำอะไรบ้าง จะมีคนที่เครียดเพราะรู้สึกว่าสปอตไลต์จะฉายไปที่เขาอยู่ตลอดเวลา ในมุมนี้มีหลายคนที่ไม่ชอบ
สำหรับคนกลุ่มนี้ทางบริษัทจัดการอย่างไร
รวิศ : ก็ต้องคุยว่ามีปัญหาตรงไหน บางคนรู้สึกว่างานบางส่วน อยากให้แผนกอื่นทำมากกว่า เพราะถ้าเขาทำเองแล้วใช้เวลานาน เราก็จะมาคุยกันว่างานส่วนนี้ไปให้แผนกอื่นทำได้ไหม แล้วคุณจะได้ทำงานเฉพาะที่ถนัด ผมจะคุยกับหัวหน้างานเยอะ แล้วหัวหน้าทีมจะไปสื่อสารต่อกับพนักงานว่าลักษณะงานจะเป็นอย่างไร แต่บางเคสผมก็จะลงไปช่วยดู การจัด Flow ในการทำงานนั้นสำคัญมาก เราจะเห็นภาพว่าอะไรคือจุดที่เป็นคอขวด
ใช้เวลาในการทำระบบให้ดี คนก็จะทำงานง่าย วัดผลง่าย ชีวิตเราก็ง่าย ทุกคนแฮปปี้ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้บอกว่าระบบเราดีนะ แต่ถ้าระบบไม่ดีทุกอย่างก็จะเละเทะหมด การคลีนระบบให้ดีจึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาก แล้วเราใช้ทรัพยากรเยอะมากในการทำเรื่องนี้ ตอนนี้ยังทำไม่เสร็จแต่ว่าเรากำลังทำ