
แนะวิธีดูแลลูกหลาน ปลอดภัยจาก Social Media
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เผย ในปัจจุบันเด็ก ๆ สามารถเข้าถึง Social Media ได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงเรียนออนไลน์ ที่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเรียน และใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างนาน ผู้ปกครองเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการคัดกรองการเข้าถึง Social Media รวมทั้งแก้ปัญหาและปกป้องเด็กจากอันตรายในการใช้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงเรียนออนไลน์เด็กสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้า Social Mediaได้ง่าย และใช้เวลาค่อนข้างมาก อีกทั้งผู้ปกครองอาจดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เด็กๆรับข่าวสารผ่านสื่อได้มาก ซึ่งมีข้อดีคือสามารถหาความรู้ต่าง ๆ ได้ทันโลก และกว้างขวาง แต่บางครั้งข้อมูลอาจไม่ถูกต้องหรือบางอย่างอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจได้
โดยหากเด็กที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก social media แนะนำให้งดใช้ Social Media ชั่วคราว เพื่อลดการรับข้อมูลที่กระทบต่อจิตใจ หากเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลที่ทำให้ตนเองหรือครอบครัวเสียหาย เช่น การวิจารณ์โดยใช้คำพูดไม่เหมาะสม เด็กสามารถกด report โพสต์นั้นและ block เพื่อไม่ให้ถูกคุกคาม ร่วมกับสามารถ capture หน้าจอเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินคดีทางกฏหมายได้ และให้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือ ให้หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้น
และหากข้อมูลข่าวที่ทำให้ไม่สบายใจนั้นเกิดจากสิ่งที่ผู้ปกครองเผยแพร่ สามารถบอกผู้ปกครองให้ลบข้อมูลนั้น และแจ้งว่าครั้งหน้าจะต้องได้รับความยินยอมก่อนเผยแพร่ข้อมูล เช่น รูป วีดีโอ หรือข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเด็ก
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็ก ๆ ที่ได้รับข้อมูลจาก Social Media ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องโดยปรึกษากับผู้ปกครอง สำหรับข้อมูลที่เป็นภาพนิ่งหรือคลิปวีดีโอ อาจจะไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริงทั้งหมด เพราะสามารถเป็นมุมกล้อง หรือตัดต่อคลิปได้ ทำให้ไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ควรงดการส่งต่อข้อมูลที่มีผลเสียต่อตนเองและผู้ ถ้าอยากแสดงความคิดเห็นต่อข้อมูลนั้น ๆ ให้แสดงความเห็นอย่างสุภาพ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคนที่รู้จัก อาจจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจและไม่ควรตอกย้ำเกี่ยวกับข่าวควรให้กำลังใจหรือพร้อมที่จะช่วยเหลือถ้าต้องการได้
สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการลงข้อมูล ภาพ หรือวิดีโอใน Social Media ที่เกี่ยวกับเด็กควรคำนึงถึงเรื่องสิทธิและเรื่องส่วนตัว (privacy) ของเด็ก สอดส่องเรื่องการใช้ Social Mediaของเด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอ หากสังเกตว่าเด็ก ๆ มีอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในช่วงที่ใช้หรือหลังใช้ Social Media ให้เข้าไปพูดคุยสอบถามรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ Social Media แก่เด็ก เช่น การเคารพสิทธิผู้อื่น การแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล การมีวินัยในการใช้ให้เป็นเวลา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อได้ทำผิดพลาดจากการใช้ Social Media ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังอย่างมากทั้งเด็กและผู้ปกครองคือการที่เข้าไปเป็นผู้เกี่ยวข้องกับ Cyber bully เพราะจะส่งผลเสียตามมาได้อย่างมาก โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างสามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยมีครอบครัวเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับเด็ก จัดการแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน


แพทย์หวั่น “ลองโควิด” กระทบการทำงาน-เศรษฐกิจ
แพทย์ห่วง อาการหลังจากติดเชื้อ COVID-19 และการกลับเข้าทำงาน บางรายยังมีอาการหลงเหลือ ต่อเนื่อง เป็นเวลานาน พบมากในผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน และผู้ที่มีโรคประจำตัว จำนวนมากอยู่ในวัยทำงาน หวั่นกระทบเศรษฐกิจในระยะยาว
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการ long COVID จะออกมาในหลายรูปแบบ โดยมีทั้งอาการทั่วไป ได้แก่อาการเหนื่อยหรือล้าไม่มีแรง คิดอะไรไม่ออก ไม่มีสมาธิ (brain fog) ปวดศีรษะ ไม่ได้กลิ่นหรือไม่รู้รส มึนงงเวลายืน ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นเร็ว และแรง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หายใจถี่ ๆ ไอ เจ็บข้อหรือกล้ามเนื้อ ซึมเศร้า วิตกกังวล มีไข้ โดยอาการจะแย่ลงหลังจากออกแรงหรือใช้สมองคิด นอกจากนี้ ยังเกิดอาการในหลายอวัยวะ จากการอักเสบหลายตำแหน่ง เช่น หัวใจ ไต กล้ามเนื้อ ระบบประสาท ตามมา ซึ่งการตรวจพิเศษจะไม่พบอะไร แต่ก็ทำให้แยกโรคที่เป็นควบคู่กันได้
การที่คนทำงานมีอาการเหล่านี้ และมีการเหนื่อยเพลียอย่างมากหลังติดเชื้อเป็นเวลานานหลังเป็น COVID ทำให้ต้องนึกถึง long COVID และมีวิธีจัดการอย่างเหมาะสมต่อไป
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เปิดเผยว่า หลังติดเชื้อ COVID ผู้ป่วยยังมีอาการหลงเหลือแม้ว่าจะหายจากโรคแล้ว ซึ่งก็พบได้ในการติดเชื้อไวรัสทั่วไปเช่นกัน เช่น ไข้หวัดใหญ่ แต่อาการหลัง COVID จะมีผลมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อต้องกลับเข้าทำงาน
สถาบันความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ของประเทศอังกฤษได้ให้คำนิยามอาการเหล่านี้เป็นสองสามลักษณะตามระยะเวลาหลังจากหายจากการติดเชื้อ คือ
อาการ COVID-19 เฉียบพลัน มีอาการตั้งแต่ติดเชื้อต่อเนื่องได้จนถึง 4 สัปดาห์
อาการ COVID-19 ต่อเนื่อง (Ongoing symptomatic COVID-19) คือมีอาการและอาการแสดงต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 จนถึงสัปดาห์ที่ 12 หลังเป็นโรค
และ กลุ่มอาการหลัง COVID-19 คือมีอาการและอาการแสดงที่มีขึ้นหลังติดเชื้อและคงอยู่มากกว่า 12 สัปดาห์ โดยไม่อาจวินิจฉัยได้เป็นอย่างอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียกรวมกันว่า long COVID
สาเหตุคาดว่าเกิดจากการแข็งตัวของเลือดและการทำหน้าที่ของเยื่อหุ้มเซลล์เสียไป ทำให้เกิดเกร็ดเลือดอุดตันทั่วไป และมีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่มาทำลายร่างกายตัวเอง องค์กรอนามัยโลกยอมรับว่ามีโรคนี้โดยกำหนดรหัสโรค (ICD) ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าอาการของ Long COVID พบได้มากถึง 10-30% ของผู้ป่วย โดยไม่จำกัดอายุ หรือความรุนแรงของโรค ทั้งนี้จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน 40 ปี ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจต่อไป ตอนนี้มีกลุ่มคนวัยแรงงานติดโรคกันมาก
“ถ้าเรามีคนวัยทำงานติดเชื้อ 300,000 คน น่าจะมีคนที่มีอาการ long COVID 30,000 คน ยังไม่นับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอีก สถาบันอาชีวเวชศาสตร์ฯ กรมการแพทย์ จะจัดทำแนวทางการกลับเข้าทำงานในคนงานที่เป็น COVID โดยจะครอบคลุมอาการ long COVID ด้วย”


พบภาวะ MIS-C ในเด็ก หลังติดเชื้อ โควิด-19
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้มีเด็กอายุ 0-18 ปีติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาการที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด19
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า MIS-C (มิสซี) เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อ SARS- CoV-2 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา
ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.02 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็น COVID-19 โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพองซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อ SARS- CoV-2 การอักเสบของหัวใจพบได้ร้อยละ 35-100 อาจมีอาการรุนแรงจนจำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30 – 40 ราย ทั่วประเทศ ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้นกัน
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 8 ราย อายุตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 6 ปี โดยผู้ป่วย 6 ราย มีประวัติการเป็น COVID-19 มาก่อนภายใน 4 – 6 สัปดาห์ และมีอาการของโรค COVID-19 น้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยอีก 2 ราย ไม่พบประวัติการสัมผัสเชื้อที่ชัดเจน ผู้ป่วยทุกรายมีไข้ร่วมกับผื่น ส่วนใหญ่พบอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วย 4 ราย (ร้อยละ 50) มีภาวะช็อคจากการที่หัวใจบีบตัวได้ลดลง จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต
ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง 3 ราย มีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังไม่พบการเสียชีวิตจากภาวะนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ได้


ครอบครัวจะสื่อสารอย่างไร เมื่อผู้สูงวัยป่วยอัลไซเมอร์
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การสื่อสารสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยคือ เริ่มมีปัญหาด้านความจำเป็นอันดับแรก สัมพันธ์กับการสื่อสารโดยลืมว่าพูดอะไรไปก่อนหน้านี้ อาการอื่น ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มพูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มีปัญหาในการนึกคำลำบาก ใช้คำพูดอธิบายสิ่งของนั้นๆแทนการเรียกชื่อ พูดสื่อสารน้อยลง ในผู้ป่วยบางรายเริ่มมีปัญหาด้านอารมณ์ร่วมด้วย ซึ่งด้วยสาเหตุและอาการเหล่านี้จึงทำให้การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และโรคความจำเสื่อมเป็นไปได้ยาก หากผู้ดูแลและครอบครัวขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งการสื่อสารกับผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอย่างถูกวิธี เพื่อให้ทั้งครอบครัวและผู้ป่วยมีความสุขซึ่งกันและกัน
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการผู้ป่วยอัลไซเมอร์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ระยะแรก ผู้ป่วยสามารถสื่อสารเข้าสังคมได้ แต่พูดซ้ำๆเดิมๆนึกคำพูดลำบาก
ระยะกลาง พูดสื่อสารลำบากมากขึ้น เริ่มกระทบกับชีวิตประจำวัน
ระยะท้าย ผู้ป่วยดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องให้ญาติ ผู้ดูแลดูแลตลอด ซึ่ง
ในการกระตุ้นการสื่อสารจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลในครอบครัว สื่อสารกันอย่างเข้าใจ มีการฝึกเพื่อป้องกันการสับสนเรื่อง วัน เวลา สถานที่ บุคคล แล้วยังมีส่วนช่วยเรื่องการจัดการด้านสุขภาพ เช่น การจัดยา การจัดมื้ออาหาร รวมถึงธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น
ผู้ดูแลควรมีความพร้อมเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี เข้าหาผู้ป่วยอย่างอบอุ่นเป็นกันเอง รับฟังด้วยความเข้าใจ มีท่าทีเอาใจใส่ ให้ความสนใจเพื่อให้ผู้ป่วยไว้วางใจ คอยสังเกตปฏิกิริยาของผู้ป่วย ไม่ควรมีทีท่ารีบร้อน หรือทำตัวแปลกแยกเหมือนว่าผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในที่สนทนานั้น ๆ ควรใส่ใจเพราะผู้ป่วยเป็นคนที่เรารัก มีความคิดและความรู้สึกไม่ต่างกับบุคคลทั่วไป การสื่อสารมีหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีอาจจะได้ผลที่แตกต่างกัน คือใช้ได้กับผู้ป่วยท่านหนึ่งแต่อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอีกท่านหนึ่ง
ตัวอย่างการสื่อสารเช่น สร้างความคุ้นเคยโดยการเรียกชื่อผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสนใจและแนะนำตัวเองว่าเราคือใคร จ้องตาผู้ป่วยขณะพูดโดยใช้น้ำเสียงนุ่มนวลด้วยคำพูดสั้นๆ และช้า ๆ เข้าใจง่าย เรื่องที่พูดคุยควรเน้นเป็นเรื่อง ๆ ไป และไม่ควรเปลี่ยนเรื่องอย่างรวดเร็ว
ผู้ดูแลอาจชวนคุยด้วยการใช้รูปภาพ หรือสัญลักษณ์ เช่น รูปคนในครอบครัว พยายามให้เวลารอคอยให้ผู้ป่วยตอบ หากผู้ป่วยพูดแล้วเราไม่เข้าใจให้พยายามพูดทวนอีกครั้ง ซึ่งการพูดคุยด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง ผ่อนคลาย และมีการสร้างอารมณ์ขันชวนให้ผู้ป่วยความจำเสื่อมได้หัวเราะ จะช่วยลดความตึงเครียดและการวิตกกังวลในการสื่อสารร่วมกับผู้อื่นได้
