
สค.หนุนที่ทำงาน เอื้อคุณภาพชีวิตลูกจ้าง และครอบครัว
สถานที่ทำงานมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน เป็นเหมือนบ้านหลังที่สอง เพราะหลายคนใช้เวลาในที่ทำงานมากกว่าบ้านด้วยซ้ำ ดังนั้น การพัฒนาสถานที่ในการทำงานให้เป็นมิตรต่อคนทำงานในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวก รวมไปถึงสวัสดิการที่เอื้อไปถึงครอบครัวพนักงาน ล้วนก่อให้เกิดการผลิตงานที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด
“การเรียกร้องของแรงงานหรือพนักงาน ที่เน้นเรื่องสวัสดิการ ผู้ประกอบการอาจมองในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการไปเพิ่มต้นทุน ทำอย่างไรถึงจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญตรงนี้ ในเชิงของการส่งเสริมให้เหมือนเป็น CSR เป็นสวัสดิการเพื่อคืนกำไรให้สังคม
“การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อลูกจ้าง รวมทั้งสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อพนักงานรวมไปถึงครอบครัว รัฐมีการสนับสนุนเพื่อจะสร้างแรงจูงใจในหลายด้าน”
เป็นมุมมองจาก จินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เห็นถึงอุปสรรคในการสร้างสวัสดิการให้กับพนักงานของสถานประกอบการหลายแห่ง

ทำงานอย่างเป็นสุข ได้งานดีมีคุณภาพ
ปัจจุบัน สถานประกอบการหลายแห่งเริ่มเล็งเห็นความสำคัญ และจัดให้มีนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อครอบครัวของพนักงาน/ลูกจ้าง แต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก ความร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ จึงมีความสำคัญในการสนับสนุนให้สถานประกอบการ ภาครัฐมีแนวนโยบายเรื่องการดูแลผู้หญิงวัยแรงงานและบุตร และพัฒนาความร่วมมือกับสถานประกอบการ/องค์กร ที่มีความสนใจในการพัฒนาแนวทางส่งเสริมครอบครัวเข้มแข็ง ให้แก่พนักงาน/ลูกจ้าง
อธิบดีจินตนา เผยแนวคิดว่า สถานที่ทำงานที่สร้างความสุขต่อการทำงาน จะมีผลต่อสุขภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ รวมทั้งต้องมีพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น ลานจอดรถไม่เปลี่ยว มีห้องน้ำที่มีสัดส่วนเพียงพอทั้งผู้หญิงและผู้ชาย มีห้องให้นมบุตร ช่วงปิดเทอมสามารถจัดห้องสักห้องให้เด็กอยู่ได้ เพราะพ่อแม่จะต้องพามาที่ทำงานด้วย เนื่องจากไม่มีใครเลี้ยงดูลูกอยู่ที่บ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรกับพนักงาน/ลูกจ้าง
“อีกส่วนสำคัญ คือการเหลื่อมเวลาทำงาน โดยการทำงานที่มีการยืดหยุ่นเวลาทำงาน คงไม่ได้มองที่การจราจรเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองที่การเอื้อต่อครอบครัวที่มีบุตรต้องดูแลด้วยเช่น คนที่ต้องไปรับส่งลูกไปโรงเรียน การทำงานจึงไม่จำเป็นต้องเข้า 8:00 น. เลิก 16:30 น. แต่วัดกันที่คุณภาพของงานดีกว่า
“เงินที่สถานประกอบการลงทุนไป ไม่ทำให้ผลกำไรลดน้อยลงแต่กลับไปเพิ่มกำไรให้องค์กรในเรื่องประสิทธิภาพของการทำงาน เช่น พนักงานที่เป็นแม่ทำงานได้เต็มเวลามากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลลูก หรือการเหลือเวลาหรือการไปทำงานที่บ้านก็ทำผลผลิตให้ได้เท่ากัน” อธิบดี สค. กล่าว
รัฐสนับสนุน สร้างแรงจูงใจ
การที่จะให้เกิดสถานประกอบการที่เป็นมิตรกับครอบครัว ไม่ได้เกิดเพราะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือทั้งของภาครัฐ และภาคเอกชน
อธิบดี สค. เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ได้เคยมีมติสนับสนุนในเรื่องของสวัสดิการ อย่างเช่น การผลักดันเรื่องการลาคลอดจาก 90 วันเป็น 98 วันโดยได้รับค่าจ้าง การจัดให้มีสถานดูแลเด็กเล็กในสถานประกอบการ หรือการให้สามีสามารถลาไปช่วยภรรยาดูแลบุตร ในช่วงแรกคลอด 15 วันติดต่อกัน อาจให้ลาเป็นช่วง ๆ ได้ ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่กำลังผลักดันอยู่ ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน
“อย่างเรื่องวันลาของคุณพ่อเพื่อไปช่วยภรรยาดูแลลูก สามารถนำไปเชิญชวนสถานประกอบการต่าง ๆให้ปฏิบัติตามได้ ถ้า ครม.เห็นชอบและมีผลบังคับใช้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้หญิง เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว สิ่งเหล่านี้จะเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ซึ่งนายจ้างควรตระหนักและให้ความสำคัญ
“รัฐมีการสร้างแรงจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีได้ เป็นการให้ Social credit ให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เราต้องขับเคลื่อนไปในแนวทางนี้ อย่างสถานประกอบการอาจมีการสร้างศูนย์เด็กเล็กซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษี หรือเพิ่มในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะจัดบริการ”
อธิบดี สค. เชื่อว่าด้วยแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นอีกแรงจูงใจให้สถานประกอบการจัดสวัสดิการ นอกจากลูกจ้างจะได้คุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว สถานประกอบการยังได้ประโยชน์ ทั้งการทำเพื่อสังคม ทั้งรายได้ กำไร และลดรายจ่ายของสถานประกอบการ

เปิดช่องทางออนไลน์ ให้คำปรึกษาครอบครัว
ไม่เพียงสนับสนุนให้สถานประกอบการ จัดสวัสดิการที่เป็นมิตรต่อพนักงานและครอบครัวเท่านั้น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวยังตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำเว็บไซต์ “เพื่อนครอบครัว” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรองรับประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในงานนอกระบบหรือแรงงานในระบบ ให้สามารถเข้าไปเรียนรู้ในเรื่องของครอบครัว เรื่องการสมดุลของการใช้ชีวิตในวัยต่าง ๆ
“เว็บไซต์มีการให้คำแนะนำปรึกษาในด้านต่าง ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยว เรื่องกฎหมายครอบครัว เรื่องของครอบครัว เรื่องเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร
“ปัญหาที่คนมาปรึกษามีหลายประเด็น เช่น เรื่องความเครียดในที่ทำงาน สัมพันธภาพในที่ทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เห็นว่าที่ทำงานนั้นมีความสำคัญมาก เรื่องของครอบครัวมีคนเข้ามาปรึกษาทุกวัน”
อธิบดี สค. ยืนยันว่า การทำงานของกรมฯ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน่วยราชการเท่านั้น แต่มองที่องค์กรเอกชนด้วย เมื่อติดขัดเรื่องใดจะต้องหาคนที่มีพลังมาร่วม เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงสำคัญที่สุด การทำงานที่จะขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ไปได้เร็วต้องมีภาคีเครือข่าย อาทิ เรื่องศูนย์เด็กเล็ก ทางกระทรวงมหาดไทย และ กรุงเทพมหานคร ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่เรื่องสวัสดิการเพียงอย่างเดียว ถ้าผ่านกลไกระดับชาติจะมีหน่วยงานบางแห่งสามารถรับไปทำได้ตามแผนงานที่วางไว้

“ฉลาด” สร้างได้ ตั้งแต่ในครรภ์
วินาทีที่รู้ว่ากำลังจะมีลูก ภารกิจสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าของผู้เป็นแม่ไม่ใช่แค่อุ้มท้อง 9 เดือนแล้วจบ แต่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการดูแลลูกให้เติบโตแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีในแต่ละช่วงวัย
สำคัญเป็นลำดับแรกคือ “ช่วงปฐมวัย” นับตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นแห่งพัฒนาการด้านต่างๆ
9 เดือนแรก จุดสตาร์ท พัฒนาลูก
การมีลูกในยุค 5G พ่อแม่ต้องวางรากฐานของการพัฒนาของลูกอย่างเข้มข้นตามไปด้วย
ใครที่อยากให้ลูกเก่ง ฉลาด เริ่มได้เลยตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการดูแลครรภ์ให้มีคุณภาพ ที่สำคัญ ได้แก่
- กาย-ใจ ผ่อนคลาย ไม่เครียด ช่วงตั้งครรภ์ ผู้หญิงมักมีอารมณ์อ่อนไหวง่าย เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง จึงควรทำให้ร่างกายผ่อนคลายสบายทั้งกายและใจ วางเรื่องเครียดๆ ลงก่อน
- การกิน สำคัญนะ สมองและร่างกายของเด็กเริ่มพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์จนถึง 3 เดือนแรก ควรกินอาหารที่อุดมไปด้วย Folic Acid เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ธัญพืช และ น้ำส้ม
- รักการอ่านตั้งแต่ (ก่อน) เกิด พออายุได้ 20 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถใช้เสียงเพื่อกระตุ้นระบบประสาทการได้ยินให้กับตัวอ่อนในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่านิทาน การพูดคุย หรือเสียงเพลง จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านการฟังและเสริมพัฒนาการทางภาษาให้กับทารกหลังคลอดได้เป็นอย่างดี

วางรากฐานมั่นคงให้ลูกช่วงปฐมวัย
และเมื่อลืมตาดูโลกมาแล้ว เด็กแต่ละขวบปีต้องการความดูแลแตกต่างกันไป พ่อแม่จึงควรเตรียมความพร้อมในการเสริมทักษะด้านต่างๆ ให้เจ้าตัวเล็กได้เติบโตอย่างแข็งแรงและมีคุณภาพ
6 เดือนแรก : ควรให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะมีสารอาหารที่ช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นภูมิคุ้มกันโรค ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้ออื่นๆ บํารุงร่างกายและสมอง เด็กที่กินนมแม่จึงมีสุขภาพที่ดีเติบโตสมวัย และมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดี
0 – 3 ปี : ช่วงวัยนี้คือจังหวะทองของการสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก เพราะเป็นวัยที่สมองของเด็กเปิดรับ การเรียนรู้ในเรื่องต่าง ๆ พ่อแม่จึงต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมกับวัย ควรสัมผัสโอบกอด พูดคุย และเล่นกับลูก เด็กที่รู้สึกผูกพันกับพ่อแม่จะเติบโตเป็นคนที่มีจิตใจที่มั่นคง เป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย นอกจากนี้ต้องสอนให้ลูกไว้วางใจคนอื่นด้วย เพราะจะเป็นพื้นฐานให้ลูกเป็นคนที่มีทักษะทางสังคมที่ดีในอนาคต
เด็กวัย 3 – 5 ขวบ : โตขึ้นมาอีกนิด เริ่มรู้จักผิดถูก จึงควรสอนให้ลูกรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก หรือควรทํา เช่น รู้จักแบ่งปัน ดูแลตัวเอง ช่วยเหลือคนอื่น และอะไรคือสิ่งที่ผิด หรือไม่ควรทํา เช่น ไม่หยิบของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่รังแกคนอื่น เด็กวัยนี้มักจะเอาแต่ใจตัวเอง แสดงออกด้วยอารมณ์ ควรสอนให้ควบคุมตัวเอง ควบคุมความโกรธ รู้จักการรอคอย พูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล อย่าตามใจลูกทุกอย่าง วิธีที่ดีในการฝึกความรับผิดชอบของเด็กช่วงวัยนี้คือ ให้ช่วยทํางานบ้านที่เหมาะสมกับวัย เพื่อให้ลูกมีวินัย มีความอดทน รู้จักการวางแผนลงมือทําด้วยตนเอง
พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

นอกจากการดูแลลูกอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยแล้ว เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงอายุ 3 – 5 ปี สิ่งที่พ่อแม่ต้องเติมเพิ่มเข้าไปคือ แนวทางการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสร้างตั้งแต่วัยนี้ดีกว่ารอให้โต แนวทางที่พ่อแม่สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ของเด็ก มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ ด้านดี ด้านเก่ง และ ด้านสุข
ด้านดี : ฝึกให้เด็กรู้จักอารมณ์ตัวเอง เมื่อลูกโกรธ โมโห พ่อแม่ควรแสดงท่าทีที่เข้าใจ โอบกอดให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ถามว่าเป็นอะไร เพื่อให้เด็กทบทวนอารมณ์ตนเอง ฝึกความมีน้ำใจ แบ่งปัน ช่วยเหลือคนอื่น กล่าวชมเมื่อเด็กช่วยเหลือคนอื่น นอกจากนี้ การให้เด็กรู้ว่าอะไรถูกหรือผิด รู้จักการยอมรับผิด รู้จักพูดว่าขอโทษ เป็นการวางพื้นฐานที่ดี
ด้านเก่ง : พ่อแม่ต้องคอยกระตุ้นให้ลูกอยากรู้อยากเห็นสิ่งแปลกใหม่รอบตัวโดยใช้คำถาม เล่านิทาน อ่านสมุดภาพ เมื่อเด็กสนใจก็ให้เด็กหาคำตอบง่าย ๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งสอนให้เด็กรู้จักปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ช่วยให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมอื่นได้ดี ที่สำคัญคือ เมื่อเด็กแสดงความคิดเห็น พ่อแม่ควรรับฟังด้วยความใส่ใจและถามเหตุผล จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองและผู้ใหญ่ก็เข้าใจเด็กมากขึ้น
ด้านสุข : สนับสนุนให้เด็กทำอะไรด้วยตัวเอง โดยให้กำลังใจอยู่ใกล้ ๆ อย่าลืมกล่าวชมเมื่อเด็กทำได้ ช่วยให้เกิดความภูมิใจ และมีความสุข เด็กจะกล้าทำอะไรด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสพ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อน ๆ หรือทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก จะช่วยให้เด็กอารมณ์ดี
ผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาทางอารมณ์ในด้านต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการเรียน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการใช้ชีวิตในอนาคต
“เล่น อ่าน เล่า” 3 สิ่งเสริมพัฒนาการเด็ก
เด็กยุคดิจิทัล จะเรียนรู้และคุ้นเคยกับอุปกรณ์เทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นและจำภาพการใช้งานจากคนรอบตัว ถ้าพ่อแม่ให้ลูกอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ตั้งแต่อายุน้อย เป็นเวลานาน เด็กจะขาดทักษะการสื่อสาร 2 ทาง และไม่ได้ผูกพันใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ การแยกเด็กออกจากสื่อเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะแก้ไขได้ยาก
คุณพ่อคุณแม่บ้านไหนกำลังกลุ้มใจกับเจ้าตัวน้อยที่เริ่มติดทีวี แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ลองใช้เครื่องมือเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 3 สิ่งนี้ในการปรับลดพฤติกรรมติดจอของเด็กน้อยกันดีกว่า
• เล่นกับลูก สําหรับลูกวัย 0 – 3 ปี พ่อแม่คือเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด การเล่นคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้เด็กได้พัฒนาทักษะทุกด้านผ่านการเล่น พ่อแม่ควรเล่นกับลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้เพื่อกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกอย่างต่อเนื่อง
• อ่านหนังสือกับลูก การอ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยให้เด็กมีทักษะเรื่องการอ่าน การเขียน และมีเชาวน์ปัญญาที่ดี อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน ชี้ชวนให้ดูรูป ชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวในหนังสือ
• เล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กทุกคนรักการฟังเรื่องเล่า เล่านิทานหรือเล่าเรื่องสนุกๆ ให้ลูกฟัง ชวนลูกพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องราวที่เล่า เพื่อสร้างให้ลูกมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทั้งยังเป็นการฝึกทักษะด้านภาษาให้กับลูกด้วย
ที่มา :
คู่มือโรงเรียนครอบครัว “ตั้งท้องคุณภาพ เลี้ยงลูกพัฒนาการดี”. กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
คู่มือสําหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ดำเนินการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0 -3 ปี. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.
คู่มือสําหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก เด็กวัยอนุบาล 3 – 6 ปี. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย.
พิชฏา อังคะนาวิน. การส่งเสริมสมองเพื่อพัฒนาการของทารกในครรภ์. วารสารสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559
อัญชลี จุมพฎจามีกร, รวบรวมและเรียบเรียง. พัฒนาการลูกวัยอนุบาล. จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

สร้างสรรค์บทความโดยความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

Download คู่มือป้องกัน-แก้ปัญหา การล่วงละเมิด/คุกคามทางเพศในที่ทำงาน
ดาวน์โหลด คู่มือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา การล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน
โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

สมัชชาครอบครัว ระดับชาติ 2564 ธีมครอบครัวไทยกับสมดุลวิถีชีวิตใหม่
พม. จัดประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด "ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่"

วันนี้ (15 ก.ย. 64) เวลา 09.30 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กทม. นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Virtual Event Online พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” โดยมีนางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน
ทั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาชน และผู้สังเกตการณ์ รวมจำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ Virtual Event Online
นางพัชรี กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวด้วยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนามาตรการในการขับเคลื่อนภารกิจด้านครอบครัวให้เกิดประสิทธิภาพ และจากข้อเสนอของการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านครอบครัว ประกอบกับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งการดำเนินงานด้านครอบครัวตามภารกิจของ สค. การรับฟังข้อมูลจากเวที การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้จัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดมาตรการ แนวทางในการพัฒนาสถาบันครอบครัวกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่ สำหรับกระทรวง พม. นำไปกำหนดเป็นนโยบายพัฒนาครอบครัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคนและสมาชิกหลายช่วงวัยในครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวเปราะบางที่มีเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง และพ่อ-แม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน ด้วยการบูรณาการความร่วมมือในการช่วยเหลือครอบครัวเปราะบางให้ครอบคลุมทุกมิติแบบองค์รวม เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ แต่ละครอบครัวจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงต่อชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เกิดสมดุลในยุค New Normal ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งกระทรวง พม. ได้วางแนวทางการปรับตัวสำหรับครอบครัวไว้ 5 มิติ ประกอบด้วย
1. เรื่องรายได้ สมาชิกในครอบครัวต้องมีการปรับเปลี่ยนอาชีพ เกิดอาชีพรูปแบบใหม่ ซึ่งกระทรวง พม. โดย สค. ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือเรื่องฝึกทักษะอาชีพที่เหมาะสมกับแต่ละครอบครัวตามต้นทุนที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูและพึ่งพาตนเองและครอบครัวได้ เช่น Work From Home ทำงานจากที่บ้าน Work From Anywhere และการหารายได้ทางออนไลน์ เป็นต้น
อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการมีแหล่งรายได้มากกว่า 1 แหล่ง เนื่องจากความไม่แน่นอนในอาชีพรายได้มีมากขึ้น
2. เรื่องความเป็นอยู่หรือที่อยู่อาศัย ต้องมีความมั่นคงปลอดภัยของที่อยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนไป ต้องมีการเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย
3. เรื่องการศึกษา ต้องเตรียมการเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนออนไลน์ และเด็กอาจเกิดความเครียดจากการเรียนออนไลน์ อุปกรณ์การสื่อสาร และภัยคุกคามทางไซเบอร์ เนื่องจากพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต้องไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งเรื่องพื้นที่ (Space) จึงมีความสำคัญมาก
ดังนั้น พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ และมีปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวอันดีด้วยการอยู่ร่วมกันมากขึ้น
4. เรื่องสุขภาพ ครอบครัวต้องมีความรู้และอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองจากโควิด-19
5. การเข้าถึงบริการภาครัฐ ครอบครัวต้องเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของรัฐ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีรายได้และได้รับสิทธิสวัสดิการของรัฐเพื่อช่วยเหลือครอบครัว
ทั้งนี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการผนึกกำลังการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
นางจินตนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทบทวนปัญหา รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานด้านครอบครัวในทุกระดับ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอันนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย เวทีกลาง การเสวนา “วิกฤติและโอกาสของครอบครัวไทยในยุค COVID-19” และการเสวนาและอภิปรายกลุ่มย่อย “ครอบครัวไทยกับการสร้างสมดุลในวิถีชีวิตใหม่” ได้แก่ ห้องย่อยที่ 1 : ครอบครัวไทยรับมืออย่างไรในภาวะวิกฤติ COVID-19 ห้องย่อยที่ 2 : COVID-19 กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และห้องย่อยที่ 3 : การจัดการเชิงนโยบายสร้างสมดุลครอบครัวแบบบูรณาการเพื่อนำเสนอผลการประชุมสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 และรับรองร่างข้อเสนอมติสมัชชาครอบครัว ประจำปี 2564 ต่อไป

พม.เข้มคุมโควิด ศูนย์เด็กเล็ก เล็งเบิกวัคซีนให้คนทำงาน
พม. ย้ำคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาดกับเด็กปฐมวัยในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ
นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. มีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังหลังพบแนวโน้มการระบาดเพิ่มมากขึ้น
จากสถานการณ์เด็กและเยาวชนติดเชื้อโควิด-19 รายวัน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พบเด็กติดเชื้อ จำนวน 2,245 คน แบ่งเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 514 คน และภูมิภาค 1,770 คน อีกทั้งยังมีเด็กที่ไม่ป่วยแต่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ ป่วยหนักหรือเสียชีวิต ทำให้เด็กโดดเดี่ยวหรือกำพร้า เด็กที่เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล ขาดแคลนอาหาร และหลุดออกนอกระบบ
ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้เร่งเข้าไปช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ตามภารกิจ อาทิ การมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน การมอบเงินสงเคราะห์ เงินฉุกเฉิน เงินช่วยเหลือกองทุนคุ้มครองเด็ก การให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิและสวัสดิการสังคม และการประสานส่งต่อความช่วยเหลือต่าง ๆ เป็นต้น
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 0-6 ปีบริบูรณ์ นับเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จำเป็นต้องได้รับช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อ-แม่ และผู้ปกครอง รวมถึงผู้ดูแลในสถานรับเลี้ยงเด็ก
ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ให้เข้ารับการจดทะเบียนตาม กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก พ.ศ. 2549 ออกตามความแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ซึ่งขณะนี้ มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่จดทะเบียนกับกระทรวง พม. คือสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,357 แห่ง ซึ่งนอกจากสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนจะมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางกระทรวง พม. ได้มีแนวทางสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนอีกด้วย
อาทิ 1) การจัดทำ “คู่มือการป้องกัน COVID-19 ในเด็กปฐมวัยของสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน” โดยจัดพิมพ์ จำนวน 5,000 เล่ม และมอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนทั่วประเทศ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
2) การจัดทำแผ่นพับมาตรการกลาง คำแนะนำป้องกันตนเองและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยจัดพิมพ์ จำนวน 100,000 ฉบับ มอบให้สถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ผู้ปกครอง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 76 จังหวัด คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
และ 3) กระทรวง พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ สมาคมพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กไทย รวบรวมรายชื่อผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กทั่วประเทศที่แจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 2,100 คน เสนอต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เพื่อขอรับการสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานรับเลี้ยงเด็กพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 953 คน เป็นต้น

นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับเด็กที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของสถานสงเคราะห์สังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวง พม. ได้กำชับให้ทุกสถานสงเคราะห์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ งดการเข้า-ออกสถานสงเคราะห์ของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอก ตั้งจุดตรวจคัดกรอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะโดยตรง และฉีดพ่นทำความสะอาดอาคารสถานที่เป็นประจำ เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเด็กในสถานสงเคราะห์และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล
นอกจากนี้ ยังได้กำชับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเป้าหมายกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ และให้หน่วยงานจัดบริการห้องอาบน้ำสำหรับชำระร่างกาย ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในหน่วยงาน
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรมกิจการเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบของโรคโควิด-19 โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. 1300 และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 บริการ Line Official Account @savekidscovid19 บริการ Mobile Application คุ้มครองเด็ก บริการแพลตฟอ์ม @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว.com

“วิกฤต” เสริมครอบครัวแกร่ง

ความหมายของ “วิกฤต” คือสถานการณ์อันตราย สิ่งเดิมจะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ เป็นภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น หรือแย่ลงก็ได้
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ไม่ใช่วิกฤตครั้งแรก และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย อันที่จริง ชีวิตของเราเจอความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาชีวิตครอบครัวก็เช่นกัน
บางจุดเปลี่ยนส่งสัญญาณทีละน้อย เช่น การเติบโตขึ้นหรือเฒ่าชราลงของคนในบ้านแต่บางเรื่องเกิดขึ้นโดยเราไม่ทันตั้งตัว เช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากอุบัติเหตุ รวมทั้งโรคระบาดที่เริ่มต้นจากจุดเล็กๆแล้วลุกลามอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วทั้งโลก
เข้าใจวิกฤต
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจนถึงจุดที่เรียกว่า “วิกฤต” เรียกร้องให้ต้องมีการปรับตัวตอบรับอย่างเหมาะสม ในโลกยุคนี้ เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วตามไปด้วยโลกเหมือนถูกย่อขนาดให้เล็กลง เพราะคนไปมาหาสู่และรับรู้เรื่องราวกันโดยที่ไม่ต้องใช้เวลายาวนานอย่างในอดีต
เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้นบ่อยครั้งขึ้น และอาจจะรุนแรงมากขึ้น ครอบครัวจำเป็นต้องยืดหยุ่นได้ ปรับตัวไว รวมทั้งช่วยสนับสนุนให้สมาชิกได้ปรับตัวตอบรับวิกฤตไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในด้านบวก
มีข้อคิดที่จะช่วยให้เราเข้าใจวิกฤตได้ดียิ่งขึ้น
อย่าเห็นวิกฤตเป็นเรื่องธรรมดา บ่อยครั้งเราคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา ทำให้เราไม่เตรียมตัวไม่ปรับตัว กว่าจะรู้อีกที สถานการณ์ก็แย่ลงจนเกินจะเยียวยา เช่น ลูกโตเป็นวัยรุ่นแต่ยังเลี้ยงเหมือนตอนที่ลูกเป็นเด็กเล็ก ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ เลยถอยห่าง พอมีปัญหาก็ไม่ปรึกษาพ่อแม่จนเรื่องราวลุกลามเกินแก้ไข
อย่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนจำนวนไม่น้อยเมื่อเผชิญปัญหาจะไม่ยอมรับความจริง และไม่ต้องการปรับตัว แต่เลือกที่จะหนีปัญหา โดยการเอาตัวรอดเฉพาะหน้าด้วยการกินเหล้า ใช้ยาเสพติด หรือใช้ความรุนแรง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤต
มองรอบด้านอย่าโทษกันเอง บ่อยครั้งเราลืมมองภาพใหญ่เชื่อมโยงให้เห็นสาเหตุของปัญหา แต่หันไปใช้วิธีง่ายๆ โดยการ “หาแพะ” ตัวอย่างปัญหาการเงินและการใช้ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาด แทนที่จะเข้าใจสาเหตุเพื่อหาทางแก้ไขให้ตรงจุดแต่กลับชี้นิ้วคนข้างๆ ว่าเป็น “ตัวปัญหา” จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้ความสัมพันธ์ต้องย่ำแย่ลง

5 ข้อ ข้ามวิกฤตไปด้วยกัน
1. ดูแลตัวเอง ใส่ใจคนรอบข้าง
เวลาที่รู้สึกหงุดหงิดสับสน ความเครียดเข้าครอบงำ ให้กลับมาอยู่กับตัวเอง ยอมรับก่อนว่าเรากำลังอยู่ภาวะที่จิตใจไม่เป็นปกติให้ตั้งสติ ผ่อนคลายแบบเร่งด่วน ด้วยการหายใจช้าๆ ลึกๆ ออกซิเจนจะไปเลี้ยงส่วนต่างๆในร่างกายได้เต็มที่ หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง สมองแจ่มใสขึ้น พยายามรักษากิจวัตรประจำวันเอาไว้ ได้แก่การกินอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลกายใจให้พร้อมรับมือโจทย์ยาก
ประคับประคองตัวเองให้ตั้งหลักได้แล้วค่อยหันไปดูคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง จะดูแลกันอย่างไรดี การผลีผลามไปจัดการคนอื่นทั้งที่ตัวเองไม่พร้อม มีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง
2. สร้างความเข้าใจ สร้างทีมครอบครัว
บ่อยครั้งเราเก็บงำปัญหาไว้ ไม่อยากให้ใครรู้ เพราะกลัวถูกตำหนิ หรือกลัวคนในบ้านจะเป็นทุกข์ที่จริงแล้ว ทุกคนในครอบครัวควรได้รับรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะปรับตัวได้อย่างเหมาะสมฉะนั้น สื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ “ทีมครอบครัว” ของเราก้าวไปด้วยกัน
ที่สำคัญอย่าลืมว่าแต่ละคนต่างกัน กลุ่มที่ปรับตัวได้ยากลำบาก และครอบครัวน่าจะระมัดระวังและดูแลเป็นพิเศษได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ การสื่อสารต้องเหมาะกับแต่ละคน แต่ละช่วงวัย เปิดใจรับฟังความรู้สึกรวมทั้งข้อสงสัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
3. กำหนดเป้าหมาย-วางกติการ่วมกัน
เมื่อทุกคนรับรู้แล้วว่าครอบครัวของเรากำลังเจอปัญหาใหญ่คงจะดีถ้าทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามากบ้างน้อยบ้างตามศักยภาพ ทางที่ดีคือจับเข่าคุยกันตอนนี้เรากำลังจะเดินไปทางไหน แต่ละคนมีส่วนช่วยครอบครัวอย่างไรได้บ้างอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ ชวนกันมองวิกฤตให้เห็นโอกาส มุมมองเชิงบวกจะช่วยให้เรามีความหวังและพลังใจที่จะก้าวผ่านช่วงเวลายากลำบากไปด้วยกัน
4. บ้านคือ “พื้นที่ปลอดภัย”
ไม่ว่าจะในช่วงเวลาไหนๆบ้านควรเป็นฐานที่มั่นสำหรับทุกคนอยู่บ้านอยู่กับสมาชิกในครอบครัวแล้วรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ยิ่งในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูงไม่มีใครรู้ว่าจะไปทางไหน จะซ้ายหรือขวา บรรยากาศท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก อาจเป็นความหวาดกลัววิตกกังวล โศกเศร้าเสียใจ สับสน ฯลฯ แต่ละคนมีความรู้สึกและแสดงออกแตกต่างกันไป บ้านและคนในบ้านควรเป็นที่พึ่งที่พักใจ และส่งผ่านความรู้สึกที่ดีให้กันและกัน
5. ชีวิตทางสังคม ต้องรักษาไว้
อย่าเอาแต่ปลีกตัวนอกจากรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีแล้ว ปฏิสัมพันธ์กับสังคม ทั้งเพื่อนฝูงญาติมิตรเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ไม่ว่าจะเจอกันตัวเป็นๆ หรือผ่านเครื่องมือสื่อสาร และนั่นรวมถึงการหาทางออก ซึ่ง“ตัวช่วย” อาจจะจำเป็น เช่น คนรอบข้างที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก หรือ “มืออาชีพ”ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่าลังเลที่จะใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการค้นหาข้อมูลและเลือกหน่วยงานหรือองค์กรที่ตอบโจทย์ พิจารณาความน่าเชื่อถือให้ดี ปัญหาที่ว่ายากอาจคลี่คลายลงอย่างง่ายดายกว่าที่คิด
ครอบครัวคือแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับชีวิต ฉะนั้น ถ้าสมาชิกช่วยกันถนอมรักษาและเติมพลังให้กันและกันการก้าวผ่านวิกฤตก็จะนำครอบครัวสู่ภาวะสมดุลใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยจะเป็น “นิว นอร์มอล” ที่ประสบการณ์ได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่ง พร้อมกับเติมความสามารถและทักษะในการปรับตัวให้กับสมาชิกทุกคน
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว

พม.ช่วยครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวครบวงจร ‘ฝึกอาชีพ-สอนทำธุรกิจ-จัดทุนสตาร์ตอัพ’
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตั้งเป้าปี 2564 สนับสนุนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 1,000 ราย ให้สามารถพึ่งตัวเองได้ ผ่านการฝึกอบรมทักษะอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อตั้งต้นอาชีพ
เพราะไม่อาจแจกเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ตลอด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงพยายามปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเป็นการพัฒนาศักยภาพและติดตาม คาดหวังว่าวันหนึ่งประชาชนยากจนจะสามารถลุกขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้
เป็นเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2564 หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พยายามช่วยเหลือครบทุกมิติ ผ่านการฝึกอบรมอาชีพฟรี เช่น ตัดผม เสริมสวย ทำเล็บ ทำอาหาร ฯลฯ หลังจากมีทักษะอาชีพ ก็สอนเทคนิคการทำธุรกิจและบริหารเงิน ก่อนประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำมากให้นำไปตั้งต้นอาชีพ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค. กระทรวง พม.กล่าวว่า สค.จัดของขวัญปี 2564 แก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,000 ราย ให้มาฝึกอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนผู้ฝึกอาชีพด้านอาหาร สค.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น โลตัส จัดอุปกรณ์ประกอบอาชีพพร้อมเงินตั้งต้น รวมมูลค่า 30,000 บาท ให้กับผู้ผ่านการอบรมที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 77 ราย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการคัดเลือกได้ 30 กว่าคนแล้ว พิจารณาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีความตั้งใจ ขยัน และมีภาระจำเป็นจริงๆ
ทั้งนี้ ในอนาคตจะประสานภาคเอกชนอื่นๆ ให้มาร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการอบรมอีก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวให้สามารถพึ่งตัวเองได้ต่อไป
“เราพยายามช่วยเหลือด้วยการฝึกทักษะอาชีพแก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะครอบครัววัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งในฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ระบุมีประมาณ 7,000 ราย จะช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน ตลอดจนได้ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือคลินิกครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในการดูแลครบวงจร ด้วยความหวังว่าช่วยหนึ่งคน ก็เหมือนว่าได้ช่วยทั้งครอบครัว” นางจินตนากล่าว
กวิสรา แดงเพชร แม่เลี้ยงเดี่ยวสุดสตรองวัย 36 ปี มาพร้อมลูกชายวัย 12 ปี เป็น 1 ใน 77 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์และเงินประกอบอาชีพ เล่าด้วยสีหน้าดีใจว่า หลังจากสามีเสียชีวิตตอนลูก 3 เดือน ดิฉันก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมาตลอด เป็นบทบาทที่ต้องใช้ใจมาก เพราะต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ และต้องหาเงินเพียงลำพัง
กวิสรามีความพิการติดตัวตั้งแต่กำเนิดคือ กล้ามเนื้อขาลีบเล็ก มิหนำซ้ำยังถูกรถชนจนต้องดามเหล็กที่ขา ทำให้เธอยิ่งเดินเหินไม่คล่อง แต่ก็ยังทำงานสารพัด ทั้งนักบัญชี เซลส์ขายคอนโด ฟรีแลนซ์ เรียกว่า “ทำงานทุกอย่างที่สุจริต” เพียงลำพัง เพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และนำมารักษาลูกชายที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี เธอทุ่มสุดตัวเข้าคอร์สเรียนรู้การดูแลเด็กป่วยแอลดี ก่อนมาดูแลและรักษาลูกของตัวเองจนหายได้ภายใน 3 ปี
“ชีวิตมันก็มีท้อนะ จริงๆ ถ้าตัวคนเดียว อาจเลือกไม่อยู่บนโลกใบนี้ไปแล้วก็ได้ แต่เพราะมีลูกจึงเลือกอย่างนั้นไม่ได้ ท้อได้แต่อย่านาน ก็รู้สึกดีใจที่ความทุ่มเทที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ลูกหายเป็นปกติแล้ว และแม้โควิดจะทำให้งานหดหาย จึงเลือกไปเรียนฝึกอาชีพด้านอาหาร เพื่อหวังหารายได้เสริม ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ต้องขอบคุณกระทรวง พม. และโลตัสที่มอบโอกาสให้ต่อไป” กวิสราเล่าทั้งน้ำเสียงเข้มแข็ง
ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน, 5 มีนาคม 2564