
Bubble and seal คุมโควิดในโรงงาน ทำง่าย ได้ผลจริง
กรมควบคุมโรค ชวนโรงงาน ทำบับเบิลแอนด์ซีล ลดความเสี่ยงโควิดทั้งโรงงานได้ เน้นป้องกัน รู้โรคเร็ว ควบคุมง่าย บูรณาการร่วม 3 หน่วยงาน จัดทีมโคชชิ่ง เป็นที่ปรึกษาแก่โรงงาน
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 สถานประกอบกิจการและโรงงานหลายแห่งได้รับผลกระทบ กรมควบคุมโรค จึงนำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) มาใช้ควบคุมโรคโควิด 19 ในโรงงาน
โดยออกแบบ 2 ระบบคือระบบการควบคุมโรคซึ่งใช้ในพื้นที่ความคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น จ.สมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคม 2564 แต่ละแห่งมีพนักงานจำนวนมาก โดยทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อ มาแยกกักรักษาตัวที่ รพ.สนามหรือสถานที่แยกกักอื่น ๆ ส่วนพนักงานในโรงงาน ที่สัมผัสโรคแต่ไม่ป่วย ให้โรงงานจัดที่พักในโรงงานแยกจากครอบครัว ชุมชนและให้สามารถทำงานได้ พบว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในช่วงสั้น ๆ ประมาณ 4 สัปดาห์ จึงได้พัฒนามาสู่ระบบบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อป้องกันโรคในโรงงาน ที่ยังไม่มีการระบาด ซึ่งมีมากกว่าโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อ
หลังจากที่ดำเนินการในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผลพบว่าแทบไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เลย หรือมีก็น้อยมากและสามารถควบคุมได้เร็ว ทั้งแรงงานและโรงงานไม่ต้องหยุดการผลิต พนักงานยังมีรายได้ปกติ โรงงานสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
“อยากเชิญชวนให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ให้จัดทำแผนทำบับเบิลแอนด์ซีล เพื่อการป้องกันโรค โดยแบ่งกลุ่มพนักงานที่ไลน์การผลิตเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ (small bubble) ไม่ปะปนกัน เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อระหว่างกลุ่ม เนื่องจากจะตรวจสอบและควบคุมได้ จะลดการเกิดโรคโควิด 19 ระบาดทั้งโรงงาน ไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน” นายแพทย์อภิชาตกล่าว
นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อไปว่า ทุกโรงงานต้องมีการสุ่มตรวจการติดเชื้อพนักงานด้วยชุดเอทีเค (Antigen Test Kit : ATK) เพื่อเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหรือมากกว่า แรงงานที่ไม่พบการติดเชื้อก็สามารถผลิตต่อไปได้ไม่ต้องหยุด การที่โรงงานได้ทำบับเบิลฯ เพื่อการป้องกันโรคไว้ จะเสมือนว่าเป็นการสร้างกำแพงป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก ป้องกันการระบาดเข้าสู่ภายในโรงงาน ในส่วนพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเอง คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลดการปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ไม่เข้ากลุ่มที่มีคนจำนวนมาก เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมระบบที่ปรึกษา (Coaching system) ซึ่งบูรณาการทำงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย มี 3 ระดับคือส่วนกลาง ระดับเขต และระดับจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคความรู้ต่างๆ ให้คำปรึกษาการจัดทำระบบต่างๆ ตลอดจนข้อแนะนำต่างๆ แก่ผู้ประกอบการโรงงาน รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อติดตาม ประเมิน กำกับการดำเนินงาน ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำบับเบิลแอนด์ซีลรวมทั้งกรณีตัวอย่างเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมฯ www.ddc.moph.go.th เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางดำเนินงาน

แอร์-พัดลม ใช้ถูกวิธี ลดความเสี่ยงโควิด-19
กรมควบคุมโรค แนะปิดเครื่องปรับอากาศ เปิดประตู-หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท ลดเชื้อโรคสะสม ไม่เปิดพัดลมจ่อที่หน้า เสี่ยงรับเชื้อโควิด-19 โดยตรงเพิ่มขึ้น บ้านปิดทึบควรหลีกเลี่ยงการใช้พัดลมเพดาน เหตุทำเชื้อโควิด-19 ฟุ้งกระจายได้
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคขอความร่วมมือประชาชนทั่วประเทศให้อยู่บ้านให้มากที่สุด เพื่อลดการสัมผัสและป้องกันการนำเชื้อไวรัสโควิด 19 เข้ามาในบ้าน โดยขอให้ทุกบ้านเปิดประตูหน้าต่าง เพื่อให้อากาศภายในบ้าน ภายในห้องพักมีการถ่ายเทหมุนเวียนอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสะสมภายในบ้าน พร้อมทั้งหมั่นเช็ดทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้ร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ราวบันไดบ้าน ลูกบิดประตู ที่ปิด-เปิดตู้เย็น เป็นต้น
งดการร่วมวงทานข้าว หรืองดการสนทนาระหว่างทานข้าว ไม่ทำกิจกรรมสังสรรค์ร่วมกัน สมาชิกในบ้านทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากต้องอยู่ใกล้ชิดกัน เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้ห้องน้ำต่อกัน ถ้าจำเป็นควรทิ้งระยะห่างกันประมาณ 15 นาที หรือทำความสะอาดก่อนใช้ ความร่วมมือของประชาชนภายในครอบครัวจะเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้มาตรการที่ภาครัฐกำหนด ประสบผลสำเร็จสามารถควบคุมโรค กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติได้โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บ้านเรือนส่วนใหญ่ของประชาชนจะใช้พัดลม และเครื่องปรับอากาศ โดยบ้านที่ใช้พัดลมตั้งพื้น หรือตั้งโต๊ะ กรมควบคุมโรคแนะนำให้เปิดโดยหันหน้าพัดลมออกไปทางประตูหรือหน้าบ้าน เพื่อให้อากาศภายในบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ปิดทึบ มีการถ่ายเทอากาศเข้า-ออกได้ดีขึ้น เรื่องที่ประชาชนต้องพึงระวัง 2 เรื่อง คือ
1. ต้องไม่เปิดพัดลมในลักษณะจ่อที่หน้า เนื่องจากหากมีเชื้อไวรัสโควิด 19 เชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะการสูดหายใจเข้าไปโดยตรง โดยหากอากาศมีเชื้อไวรัสโควิด 19 ปนเปื้อน แรงลมจากพัดลมจะช่วยให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายดีขึ้น
และ 2. บ้านที่ติดพัดลมเพดานทุกชนิด ขอให้เลี่ยงใช้ไปก่อน โดยเฉพาะบ้านที่มีลักษณะปิดทึบเนื่องจากหากมีเชื้อไวรัสโควิด 19 ปนเปื้อน แรงลมของพัดลมเพดานจะทำให้อากาศฟุ้งกระจายมากขึ้น
นายแพทย์อภิชาต กล่าวต่อว่า สำหรับบ้านหรือห้องพักที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งสภาพพื้นที่จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ปิดมิดชิด เช่น บ้านที่อยู่ในเขตเมืองรวมทั้งห้องพักคอนโดต่าง ๆ หน่วยงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยแห่งสหราชอาณาจักร (The Health and Safety Executive: HSE) มีคำแนะนำให้เปิดพัดลมดูดอากาศด้วย และเปิดประตูหรือหน้าต่างให้บ่อยครั้ง เพื่อให้อากาศภายในออกสู่ภายนอกห้อง เนื่องจากห้องที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดีพอ อาจมีการสะสมเชื้อโรคจากลมหายใจของผู้พักอาศัย ไม่ใช่แค่เพียงโรคโควิด 19 ยังรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นการระบายอากาศที่ดีจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อให้ผู้ที่พักอาศัยร่วมด้วย

หายป่วยจากโควิด จะกลับไปทำงาน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า โรคยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง ต้องเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้สัมผัสเชื้อที่อยู่ในบ้านและชุมชน เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ป้องกันไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่ได้รับการรักษาจนหายป่วยแล้ว และแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล กลับไปพักฟื้นหรือกักตัวต่อที่บ้านตามหลักเกณฑ์ของกรมการแพทย์ ขณะนี้มีวันละกว่า 20,000 รายทั่วประเทศ โดยยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 – 13 สิงหาคม 2564 มีผู้หายป่วยจากโรคโควิด 19 รวม 640,130 ราย
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ผู้ที่หายป่วยและได้ออกจากโรงพยาบาลหลังเข้ารับการรักษาจนครบ 14 วัน หรือกลับมากักตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน จัดว่าเป็นผู้ที่พ้นระยะการแพร่เชื้อ และอยู่ในระยะที่ร่างกายฟื้นตัว ไม่จำเป็นต้องแยกกักตัวหรือแยกจากคนอื่นแล้ว สามารถทำงานได้ตามปกติ
ผู้ที่เคยติดเชื้อจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลัง 3 เดือนไปแล้ว จึงจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตามขอให้ยังคงต้องปฏิบัติดูแลสุขอนามัยตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะยุติ ดังนี้

1. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคม
2. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ 70% ถูมือให้ทั่วถึง ก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม หรือหยิบจับสิ่งของต่างๆ
3. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น
4. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง แต่หากมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนให้ งด อาหารย่อยยากและอาหารประเภทนมหรือผลไม้สด
5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หรือยาเสพติดทุกชนิด เพื่อลดการทำลายอวัยวะภายใน ทำให้สุขภาพอ่อนแอลงได้
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปอีกว่า ระหว่างที่พักฟื้นอยู่บ้าน ขอให้สังเกตตนเอง หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ เช่น มีไข้สูง ไอมาก มีอาการเหนื่อยหอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร เป็นต้น อาการที่กล่าวมาอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ ทั้งอาจเป็นเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือติดเชื้อชนิดอื่น ๆ ได้ ขอให้รีบติดต่อที่สถานพยาบาลเดิมที่เคยรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และหากต้องไปสถานพยาบาล ให้สวมหน้ากากอนามัยระหว่างเดินทางตลอดเวลา
ที่มา : ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน /สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค