
กสร.แนะองค์กรจัด “สวัสดิการครอบครัว” ได้ใจลูกจ้าง
การสนับสนุนสวัสดิการสำหรับพนักงานในสถานประกอบการ ที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัวด้วย เป็นแนวคิดและแนวทางที่สำคัญที่มีการดำเนินงานมาบ้างแล้วในหน่วยงานภาครัฐ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน คือหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการดำเนินงานสนับสนุนสวัสดิการสำหรับพนักงาน ตลอดจนให้คำชี้แนะอย่างใกล้ชิดแก่สถานประกอบ การอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
โสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จะมาบอกกล่าวถึงภารกิจของ กสร.ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญ ในการจัดทำสวัสดิการ เพื่อที่จะดำเนินการให้เกิดผลได้จริงในขั้นตอนการปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ลูกจ้าง มีองค์ความรู้ในการทำงานด้วยจะได้เกิดประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับลูกจ้างแรงงาน นอกจากนี้ยังเสนอมุมมองในเรื่อง ทิศทางของสวัสดิการในอนาคตด้วยว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด

Q – ทำไมสถานประกอบการ จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลพนักงานและครอบคลุมไปจนถึงครอบครัว แม้ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรก็ตาม
A – สวัสดิการเป็นตัวที่จะทำให้นายจ้างได้ใจลูกจ้างมากกว่า การจ้างอาจได้แค่แรง แต่สวัสดิการจะช่วยให้แรงงานมีผลิตภาพแรงงานดีขึ้นและทำงานให้สถานประกอบการ เหมือนกับเป็นการดูแลบ้านของตัวเองด้วยความผูกพันระหว่างกันจะได้ดีขึ้น
ถ้าสวัสดิการงานก้าวไกลไปถึงการดูแลคนที่เขารักทั้งบ้าน นั่นหมายถึงครอบครัว เพราะเดี๋ยวนี้ปัญหาของแรงงานไม่ใช่ปัญหาแค่รายได้ แต่ปัญหาส่วนหนึ่งคือการต้องดูแลคนในครอบครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคนที่ต้องดูแลพ่อแม่สูงวัยในบ้าน สวัสดิการที่ดูแลลงไปถึงครอบครัวจะสร้างให้เขามีขวัญกำลังใจ และให้ผลิตภาพแรงงานที่ดีขึ้นแก่ผู้ประกอบการ
Q – นโยบายไหนที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้การสนับสนุนและคิดว่ามีความสำคัญต่อพนักงานและลูกจ้าง
A – ในเรื่องสวัสดิการมีทั้งในกฎหมายและนอกกฎหมาย ซึ่งเราให้ความสำคัญทั้ง 2 ตัว แต่ทำอย่างไรจะจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาเห็นความสำคัญของการจัดสวัสดิการ คือเราจะไปบอกให้นายจ้างจัดสวัสดิการให้ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เพราะทุกอย่างคือต้นทุน ทั้งต้นทุนทางด้านเงิน ในเรื่องสถานที่ ในเรื่องเวลา
ทำอย่างไรถึงจะให้ผู้ประกอบการกับลูกจ้าง รู้สึกว่าองค์กรแห่งนี้คือบ้านของคุณร่วมกันและดูแลร่วมกัน ลูกจ้างเป็นฝ่ายรับในเรื่องของค่าจ้าง สวัสดิการ นายจ้างเป็นผู้ออกทุน ส่วนกรมสวัสฯ เป็นผู้ทำให้สองฝ่ายเห็นผลดีของสวัสดิการ และได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ได้ผลิตภาพเพิ่มขึ้น ความขัดแย้งลดลง ข้อผิดพลาดลดลง และเมื่อไหร่ที่คุณมีความจำเป็นเร่งด่วน คุณจะได้ใจจากลูกจ้างมาช่วยงาน

Q – ช่วงโควิด ประเด็นการดูแลไปถึงครอบครัวเป็นอย่างไร
A – จากที่กระทรวงแรงงานไปทำงาน ในเรื่องการป้องกันโควิดในโรงงาน รวมทั้งที่อื่นๆ เราพบว่าส่วนหนึ่งคือ แรงงานจะติดมาจากครอบครัว เพราะฉะนั้นหลายโรงงานที่มีศักยภาพ จึงมีการฉีดวัคซีนให้กับครอบครัวพนักงาน ตรวจคัดกรองให้ครอบครัวด้วย หรือถ้าต้องมีการกักตัวจะมีสถานที่ให้ลูกจ้างกักตัวอยู่ในโรงงาน ไม่นำเชื้อไปติดให้ครอบครัว นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สถานประกอบการสามารถดูแลพนักงานได้
Q – โดยแนวโน้มในระยะถัดไป กรมสวัสฯ มีนโยบายอย่างไรหากพูดถึงเรื่องสวัสดิการที่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว
A – นอกจากดูแลในช่วงโควิดแล้ว ในอนาคตไม่รู้ว่าจะมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า แต่เราก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับบริบทยุคใหม่ ทั้งเรื่องโรค การป้องกันโรค สวัสดิการของผู้สูงอายุ สวัสดิการเรื่องสุขภาพอนามัยเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับปรับเปลี่ยนรูปแบบงาน อีกหน่อยแรงงานที่มีอายุจะขยายขึ้น มีการจ้างงานคนสูงวัยมากขึ้น
ทำอย่างไร ทั้งสองฝ่ายจะเกิดความพร้อมและคุยกันเพื่อเปลี่ยนลักษณะงานให้เหมาะสม และมีสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุคือสวัสดิการโดยเชิงเศรษฐกิจ ในวันนี้เราทำอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งคือสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่พบว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มีประโยชน์ต่อลูกจ้างในแง่ของการกู้ยืม แต่หลักๆ อยากให้เป็นในเรื่องของการออม เพื่อวันที่คุณเกษียณจะได้มีเงินก้อนเก็บไว้
Q – มองว่าทิศทางในอนาคตของสวัสดิการสำหรับครอบครัวลูกจ้าง จะเป็นอย่างไร
A – ถ้าโควิดยังอยู่ต่อ การ Work From Home นายจ้างจำเป็นที่ต้องลงทุนแล้วในเรื่องอุปกรณ์การทำงานที่บ้าน เพราะไม่ใช่ว่ามีคอมพิวเตอร์แล้วจบ แต่ควรดูแลค่าเน็ต ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ด้วยแม้พนักงานจะประหยัดการเดินทางก็ตาม ควรมีการพูดคุยกันระหว่างสถานประกอบ การและพนักงาน เพราะถ้านายจ้างจัดให้เองฝ่ายเดียวแต่ลูกจ้างไม่อยากได้ ประโยชน์ก็จะไม่เกิด การพูดคุยกันโดยผ่าน คณะกรรมการสวัสดิการ จะเป็นช่องทางในการจัดสวัสดิการลงไปสู่ครอบครัวได้
ซึ่งกรมสวัสฯ พยายามจะผลักดันให้คณะกรรมการนี้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้กระบวนการตั้งต้นคือต้องมาจากการเลือกตั้ง ให้ลูกจ้างเลือกตั้งกันเอง และเขาจะเป็นปากเสียงให้กับลูกจ้างส่วนใหญ่ ในส่วนของฝ่ายนายจ้างเราต้องมุ่งเน้นให้เห็นภาพว่า ทำไมการจัดบริการจึงจำเป็นต่อสถานประกอบการ
Q – การสนับสนุนสวัสดิการไปถึงครอบครัวพนักงาน มีความยากหรืออุปสรรคอย่างไร
A – อุปสรรคอยู่ที่ถ้าเราให้นายจ้างเป็นผู้ลงทุนก็เป็นความยาก แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการที่มีจริยธรรม มีวิสัยทัศน์ที่มองไกลไปมากกว่านั้น ว่าจะดูแลไปถึงครอบครัวพนักงาน ทำให้ลูกจ้างจงรักภักดีต่อบริษัท ยินดีที่จะทำเกินหน้าที่ ยินดีที่จะดูแลอะไรให้ดีขึ้น และมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ถ้าบริษัทใดที่มุ่งแต่ผลกำไรอย่างเดียว มองพนักงานเป็นเครื่องจักร ก็จะไม่ได้ใจพนักงานในการทำงาน
การจัดสวัสดิการไปถึงครอบครัวหมายถึงคุณกำลังซื้อไปถึงใจลูกจ้าง เพื่อให้ได้ใจเขามาในการทำงาน นอกจากได้ Hand กับ Head แล้วยังได้ Heart มาด้วยในการทำงาน
Q – ในกรณีที่พนักงานมีพ่อแม่สูงวัย อาจเป็นสาเหตุให้ต้องออกจากงานเพื่อไปดูแล มีแนวทางในเรื่องนี้อย่างไร
A – ต้องพิสูจน์ได้ว่าสถิติตรงนั้นมันสูงไหม คนที่จะลาไปดูแลพ่อแม่ ฐานะต้องดีพอสมควร คุณลาไปแล้วอาชีพคุณคืออะไร แต่ถ้ามองว่าเรายังมีรายได้จากเงินเดือน ก็ส่งเงินไปให้พ่อแม่ อยู่ในชนบทไม่ค่อยมีปัญหา ถ้ามีญาติพี่น้องมีคนรู้จักเยอะหมู่บ้านก็ช่วยกันดูขอให้มีเงินเถอะ
เรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ น่าจะทำในระดับภาครัฐร่วมมือกับภาคชุมชน แต่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น ถ้าโรงงานคุณมีคนอีสานเยอะและอยู่ในทีมเดียวกัน ลองไปร่วมวงกับ กระทรวง พม. หรือหน่วยงานในชุมชน โดยจ้างศูนย์ดูแลหรือจ้างคนที่ทำหน้าที่คล้าย อสม. ไปดูแลที่บ้าน แล้วโรงงานคุณลงขันกันสนับสนุน ทั้งเรื่องอุปกรณ์เรื่องค่าแรง น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ถ้าคุณเป็นลูกจ้างระดับล่างและมีปัญหาเรื่องนี้จะทำได้ยาก ต้องทำงานระดับเครือข่ายกันมากกว่า
Q – เรื่องแม่เลี้ยงเดี่ยว มีความเป็นไปได้ในเรื่องสวัสดิการมากน้อยแค่ไหน ในแง่ของการเข้ามาในระบบที่การดูแลยังไม่ค่อยเห็นมากนัก
A – ในแง่ของแรงงานในระบบ สวัสดิการสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พอจะทำได้คือ ช่วยแบ่งเบาในเรื่องของลูก เช่น จัดทำมุมนมแม่ มีสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าวัยเรียน เพื่อลดรายจ่ายของแม่ มีสถานประกอบการบางแห่งที่ลงทุนทำศูนย์เลี้ยงเด็ก เพราะคนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
และพบว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีลูกกันเยอะ มีปัญหาเรื่องเข้างานสาย ออกงานเร็ว เพราะต้องรีบไปรับไปส่งลูก ถ้าแก้ปัญหาด้วยการมีห้องแล้วจ้างคนมาดูแล ทางสถานประกอบการก็น่าจะยินดีที่จะลงทุนทำ
Q – เวลาพูดถึงสวัสดิการที่ไปถึงครอบครัวของพนักงาน น่าจะมีหน่วยงานไหนที่เข้ามาช่วยกันได้
A – ถ้ามองในเรื่องคุณภาพของการทำงาน เด็กและคนแก่ที่บ้านอาจเป็นลูกค้าของ กระทรวง พม. ส่วนลูกของคนแก่อยู่ที่โรงงานก็เป็นลูกค้าของเรา กระทรวงแรงงาน เด็กอยู่กระทรวงศึกษา ทำอย่างไรเราถึงจะ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับสวัสดิการจากรัฐหรือจากที่เราจัดหา ต้องมีการพูดคุยบูรณาการ ถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกระทรวงจะไม่ตรงกัน แต่ก็สามารถจูนกันได้
งานหลักของเราคือการบังคับใช้กฎหมาย พอมีกฎหมายก็สั่งการได้ไม่ยากแต่สิ่งที่เราต้องการมากกว่านั้นคือนอกเหนือกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ศิลปะขั้นสูงที่จะเข้าไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของสวัสดิการพนักงาน
Q – ฝ่ายบุคคลมีส่วนสำคัญแค่ไหน ในการจัดสวัสดิการให้พนักงาน เพราะหลายองค์กร HR มีบทบาทมากในการนำเสนอ
A – มีส่วนสำคัญ ถ้า HR เป็นคนดีดูแลกิจการให้นายจ้างดี มองสวัสดิการที่จัดให้ลูกจ้างดี ทำให้ได้งานที่ดีก็จะจัดให้ แต่ถ้ามองว่าสวัสดิการให้พนักงานเป็นเรื่องไร้สาระ เสียเงิน ไม่บอกทั้งผู้บริหารและไม่จัดให้พนักงาน เมื่อปัญหาหลายๆ เรื่องหมักหมมพนักงานมาประท้วงหน้าโรงงาน หลายเคสที่เราพบพอเจ้าของตัวจริงลงมาคุยกับลูกจ้างปัญหาหมดไปเลย บางทีเราก็ต้องทำงานกับฝ่ายบุคคลด้วย โรงงานที่มีแบรนด์ต่างๆ ยาวนาน ส่วนใหญ่มาจากการบริหารฝ่ายบุคคลดี บริษัทที่ไม่มีบรรษัทภิบาล ถึงแม้จะรวยเร็วปรู๊ดปร๊าดแต่สักวันก็จะล้มไม่สามารถอยู่ได้ 20-30 ปี
สมัยก่อนเวลาลูกจ้างอยากได้อะไรก็ทำโดยชูมือประท้วง บางทีอาจทำให้จบเรื่องแต่ก็เป็นเหมือนแก้วร้าว ลูกจ้างควรรวมตัวกันนำเสนอสิ่งที่ดี ๆ และให้สิ่งที่ดี ๆ กลับไปหานายจ้างเพื่อแลกสวัสดิการที่ดีขึ้น ตรงนี้เป็นภารกิจที่เราต้องพยายามดันกันต่อ ถ้าคนดีเจอคนดีแล้วคุยกันเองทำเพื่อกันและกันก็ไม่จำเป็นต้องมีกรมสวัสฯ เลย
Q – ประเทศไทย กระแส CSR กำลังมาแรง ผู้บริหารรุ่นใหม่ควรมองกระแสนี้อย่างไร
A – เรื่อง CSR บางทีทำแบบการตลาดด้วย เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ CSR ที่ดีต้องเริ่มต้นจากคนในองค์กรก่อน แล้วคนข้างในจะเริ่มทำกับคนในชุมชน หลายบริษัทที่มีปัญหาเรื่องมลพิษ จะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านรอบชุมชนเข้ามาตรวจโรงงาน 6 เดือนครั้ง และบริษัทจะอธิบายกระบวนการ ดูแลน้ำเสียให้ดีก่อนที่จะปล่อยลงคลอง
การทำแบบนี้ทำให้ได้ใจทั้งประธานชุมชนและชาวบ้าน ได้ใจถึงระดับประเทศ แล้วลูกจ้างจะภูมิใจในบริษัทของเขา ทำอย่างไรถึงจะจูงใจให้ผู้บริหารยุคใหม่เห็นเรื่องแบบนี้ เพราะเรื่อง CSR ตอนนี้เป็นเรื่อง World Wide แล้ว อย่าทำเพื่อแบรนด์อย่างเดียว ควรจะทำ CSR อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อชุมชนสังคม และประเทศ

พนักงานตั้งครรภ์ องค์กรต้องดูแลอย่างไร ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงข้อสงสัยกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุมีครรภ์ ถือว่านายจ้างมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามที่มีข่าวกรณีลูกจ้างหญิงร้องเรียนว่า นายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ และนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นั้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี (สสค.นนทบุรี) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ว่าบริษัทเลิกจ้างเพราะเหตุมีการตั้งครรภ์ และลูกจ้างผู้ร้องมีความประสงค์เรียกร้องเงินตามกฎหมาย ได้แก่ ค่าจ้างจากการทำงาน ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดย สรพ.5 ได้ส่งคำร้องให้ สสค.นนทบุรี ดำเนินการเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานประกอบกิจการ
โดยพนักงานตรวจแรงงานได้สอบข้อเท็จจริงในส่วนของลูกจ้าง และรวบรวมหลักฐานเอกสาร และจะเรียกนายจ้างมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการต่อไป หากปรากฏว่านายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์จริง ถือว่านายจ้างกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 43 ที่ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามและไม่นำคดีขึ้นสู่ศาลถือว่านายจ้างได้กระทำความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

โฆษก กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงมีครรภ์เป็นพิเศษ ได้แก่ การกำหนดลักษณะงานบางประเภทที่ห้ามมิให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม หรืองานที่ทำในเรือ เป็นต้น
รวมไปถึงการกำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงซึ่งมีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. เนื่องจากหญิงมีครรภ์ต้องได้รับการพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ และต้องไม่ให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรืองานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชีนายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่กระทบต่อสุขภาพของลูกจ้างหญิงมีครรภ์โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป

สกัดโควิด-19 ในที่ทำงาน ระวังผิดกฎหมายแรงงาน
รมว.แรงงาน สั่งการ กสร. ทำความเข้าใจกับนายจ้าง กรณีนายจ้างลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการหักหรือลดค่าจ้าง โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีโทษทั้งปรับและจำคุก
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) พบว่ามีนายจ้างหลายรายที่ออกข้อกำหนดลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยการหักค่าจ้าง ลดค่าจ้าง หรือลดสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ไม่จ่ายโบนัสหรือเงินอื่น ๆ
จากกรณีดังกล่าว รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยและกำชับให้มีการคุ้มครองดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง โดยกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทำความเข้าใจกับนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการ ให้ทราบว่า แม้นายจ้างจะมีอำนาจออกประกาศ ระเบียบ หรือคำสั่งเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ลูกจ้างปฏิบัติตาม ทั้งในเวลาทำงานและนอกเวลาทำงานก็ตาม แต่นายจ้างไม่สามารถลงโทษลูกจ้างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีการหักหรือลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการต่าง ๆ ของลูกจ้างได้ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง และการหักค่าจ้างดังกล่าวไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
หากนายจ้างหักค่าจ้างหรือลดค่าจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอม จึงเป็นกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างไม่ถูกต้องตามระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 70 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง คือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้สอบสวนและมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องได้
นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีและโฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ได้จัดสวัสดิการนอกเหนือจากที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนด เช่น โบนัส ฯลฯ ซึ่งการได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่นายจ้างกำหนด หรือนายจ้างและลูกจ้างตกลงกันแล้วแต่กรณี หากนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับสวัสดิการดังกล่าว โดยอ้างเหตุที่ลูกจ้างป่วยเพราะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติมในภายหลังย่อมไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างเช่นเดียวกัน
หากนายจ้างปรับหรือลดสวัสดิการ โดยไม่ชอบหรือนอกเหนือจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการกระทบต่อสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522


แจงสิทธิหน้าที่ นายจ้าง-ลูกจ้าง หลังคลายล็อกดาวน์ โควิด-19 วันนี้
กสร. ชี้แจงสิทธิหน้าที่ของนายจ้าง และลูกจ้างในกิจการที่ได้รับการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 พร้อมเน้นย้ำให้ดำเนินกิจการตามมาตรการที่ ศบค. กำหนด เพื่อป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เห็นชอบมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป มีผลให้สถานประกอบกิจการตามข้อกำหนดดังกล่าวสามารถเปิดและดำเนินกิจการได้ เช่น กิจการร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ของนายจ้างและลูกจ้างสำหรับกิจการที่ทางราชการผ่อนคลายให้ดำเนินกิจการได้ โดยให้นายจ้างเรียกลูกจ้างมาทำงานตามปกติ หากนายจ้างไม่เรียกให้ลูกจ้างมาทำงาน นายจ้างยังมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ อาจถือเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างโดยปริยาย ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
สำหรับลูกจ้างมีหน้าที่ต้องไปทำงานตามที่นายจ้างเรียก หากลูกจ้างไม่ไปทำงานโดยไม่ได้ลางาน หรือหยุดงานโดยนายจ้างไม่อนุญาตหรือให้ความยินยอม อาจเป็นการขาดงาน ลูกจ้างอาจถูกลงโทษทางวินัยจากนายจ้างได้ และหากลูกจ้างขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชย
อธิบดี กสร. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้นายจ้างดำเนินกิจการตามมาตรการและเงื่อนไขที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นการป้องกัน และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานรวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้รับบริการหรือผู้บริโภคด้วย

ก.แรงงาน หนุน “มุมนมแม่” ปั้นพนักงานเป็นวิทยากร
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดอบรมบุคลากรในสถานประกอบการเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้การส่งเสริมสุขภาพ และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เน้นดูแลสุขภาพแรงงานหญิง เผยมีที่ทำงานจัดมุมนมแม่แล้วกว่า 1,900 แห่ง
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดอบรมบุคลากรที่ทำงานด้านการดูแลคุณภาพชีวิตแรงงานหญิงในสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นวิทยากร (Trainer) ในเรื่องการดูแลสุขภาพแรงงานหญิง และนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่แรงงานหญิงในสถานประกอบกิจการ
ผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง ที่ปรึกษาแรงงานหญิง และคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ จำนวน 20 คน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 จำนวน 10 คน โดยจัดอบรมรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Web Conference (Zoom Meeting) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่และสถานประกอบกิจการ นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่แรงงานหญิงในสถานประกอบกิจการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมได้ส่งเสริมให้นายจ้างและลูกจ้างเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งเสริมให้จัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการจัดให้มีมุมนมแม่แล้วกว่า 1,900 แห่ง ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้จะได้นำองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ไปเผยแพร่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้สถานประกอบกิจการใดสนใจจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 0080 หรือที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546
ที่มา : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ติดตามตัวอย่างการจัดมุมนมแม่ของ บมจ.ไทยซัมมิท ฮาร์เนส “มุมนมแม่” ลูกสุขภาพดี แม่งานเด่น