
DOWNLOAD คู่มือดูแลสุขภาพใจ เพื่อผู้ปกครอง
คลิ๊กดาวน์โหลด คู่มือดูแลสุขภาพใจเพื่อผู้ปกครอง
หนังสือคู่มือดูแลสุขภาพใจเพื่อผู้ปกครอง เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญของยูนิเซฟ ที่ชื่อว่า Every Day is Mind Day โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน เพื่อช่วยวัยรุ่นรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิตให้เป็นเรื่องปกติ
โดยแคมเปญดังกล่าวมีดารา ศิลปิน และผู้ที่มีชื่อเสียงมาร่วมพูดคุยถึงอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลจิตใจตนเอง โดยมุ่งจุดประเด็นให้วัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครองและผู้คนในสังคมสามารถพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตและวิธีการดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างเปิดเผยและเป็นปกติมากขึ้น
ที่มา: เว็บไซต์ ยูนิเซฟ ประเทศไทย

แบงก์ชาติจับมือกรมสุขภาพจิต แนะวิธีรับมือความเครียดยุคโควิด
พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทุกวันนี้ 1 ใน 4 ของประชากรโลกกำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต โดยแสดงออกทางพฤติกรรม อารมณ์ หรือทักษะทางสังคม และเมื่อหนึ่งคนมีปัญหา จะมีอีกสองคนได้รับผลกระทบ เช่น คนในครอบครัว คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมงาน
แนวทางแก้ปัญหาใจป่วย
“สำหรับวิกฤตโควิด 19 นั้น อย่างแรกต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ เมื่อยอมรับแล้วเรายึดหลัก ‘อึด ฮึด สู้’ อึดต้องเกิดก่อนเสมอ เราต้องทนให้ได้ก่อน จากนั้นคือฮึดแล้วก็ลุกขึ้นสู้ต่อ ซึ่งเวลาที่จะลุกขึ้นเราต้องการทั้งกำลังภายในและกำลังภายนอก โดยกำลังภายในคือใจของเราเองที่มองเห็นปัญหาแล้วเลือกใช้ปัญญาเดินไปหาทางออก ส่วนกำลังภายนอกคือแรงสนับสนุนที่มาจากครอบครัว ชุมชน สังคม และรัฐบาลที่พร้อมจะเป็นกำลังใจ และพยุงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตขึ้นมา”
เนื่องจากการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเข้ามารักษาหรือบำบัดที่ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม ล้วนเริ่มต้นจากความเครียดหรืออาการวิตกกังวล มีอาการข้างในไม่มีความสุข ซึ่งร่างกายก็อาจได้รับผลกระทบและส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ และกินอาหารไม่อร่อย
“อาการเหล่านี้ถ้าได้รับการช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นแค่ความเครียด ยังไม่ป่วยเป็นซึมเศร้าไบโพลาร์หรือจิตเภท เราสามารถช่วยได้เยอะมาก”

สายด่วนสุขภาพจิต จับมือ ธปท. เสริมทักษะ "แก้หนี้" รับมือความเครียด
“เรากำลังทำงานร่วมกันระหว่างคลินิกแก้หนี้ของ ธปท. และทีมสายด่วน 1323 ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่ ธปท. ขอความช่วยเหลือมาที่กรมสุขภาพจิต โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือเคสลูกหนี้ที่มีจำนวนเยอะมาก ส่งผลให้ เจ้าหน้าที่คลินิกแก้หนี้ที่รับสายมาก ๆ นั้น นำเอาความเครียดมาอยู่กับตัวเอง เบื้องต้นคือเราเข้าไปดูแลจิตใจบุคลากรที่เครียดซึ่งเป็นการแก้ปัญหาได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่มองต่อไปคือการแก้ปัญหาที่ต้นตอ เราจึงจัดการอบรมเพื่อเสริมชุดทักษะการฟังเชิงลึก หรือ deep listening ที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เป็นdeep listener ที่ สามารถรับมือกับคนที่เครียดจากหนี้สินได้และในขณะเดียวกันก็ดูแลจิตใจของตัวเองไปด้วย โดยไม่เก็บความทุกข์ของผู้โทรมาเป็นของผู้รับสายเอง”
นอกจากการอบรมให้เจ้าหน้าที่เป็น deep listener แล้ว ทาง ธปท. ยังได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิตเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน
“ในกรณีที่เคสเกินกำลังเจ้าหน้าที่ ธปท. เราได้มีการอบรมให้ผู้รับสายช่วยถามเพื่อขออนุญาตและขอเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละเคสไว้ หากต้องการการดูแลจิตใจนักจิตวิทยาของกรมสุขภาพจิตก็จะติดต่อไปเพื่อให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยตรง ในทางกลับกันผู้ที่โทรเข้ามาที่สายด่วนสุขภาพจิตที่มีความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน เจ้าหน้าที่สายด่วนก็จะถามถึงความต้องการในการปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ธปท. หากต้องการเราจะส่งต่อเบอร์โทรศัพท์ให้เจ้าหน้าที่ของคลินิกแก้หนี้ ให้ติดต่อกลับไปเพื่อให้คำปรึกษา”
สำหรับเคสร้ายแรงระดับถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ในโครงการความร่วมมือครั้งนี้ พญ.ดุษฎี ยอมรับว่าต้องมีอย่างแน่นอน โดยเป็นเคสในระดับที่ต้องส่งต่อนักจิตวิทยาสายด่วนสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตเพื่อให้การดูแล และรักษาต่อไป
ปลายทางความร่วมมือคือประชาชน
ความคาดหวังในการร่วมมือกับ ธปท. ในครั้งนี้ ต้องการดูแลด้านจิตใจและมองเป้าหมายมุ่งไปเพียงแค่ว่า “ทุกคนจะได้อะไร” จึงพยายามให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการดูแล
“พวกเราแทบไม่ได้มองว่าเขาป่วย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ถ้าจะเรียกว่าป่วยก็ป่วยกันหมด ดังนั้นไม่ว่าจะเครียดมากน้อยแค่ไหนก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงบริการให้มากที่สุด”
ส่วนความท้าทายของกรมสุขภาพจิตต่อสถานการณ์แห่งความยากลำบากของวิกฤต โควิด 19 ที่ยังไม่จบลงง่าย ๆ นี้ พญ.ดุษฎีมองว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
“ปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดในสถานการณ์โควิด 19 เป็นเคสที่ไม่ได้หนักหนาเกินกว่าที่เคยมีมาในอดีต วิกฤตต้มยำกุ้งหนักหนาสาหัสกว่านี้พวกเราก็เคยผ่านกันมาได้แล้ว ความท้าทายของการทำงานครั้งนี้จึงอยู่ที่ความครอบคลุมมากกว่า พวกเราสามารถช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้ครอบคลุมหรือยัง ช่วยไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ ดังนั้น ทำอย่างไรถึงจะจัดบริการให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “
ดูแลจิตใจ "ตัวเรา" และ "คนรอบข้าง" เคล็ดลับบำบัดด้วยตัวเอง
เพราะในแต่ละวันคนเรามีทั้งเรื่องที่ทำให้มีความสุขและไม่มีความสุข
“อยากให้ทุกคนได้อยู่นิ่ง ๆ กับตัวเอง เพื่อทบทวนสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้น เป็นการฝึกให้มองโลกได้ตามจริง เวลาที่เห็นเรื่องดี ๆ ให้ใช้เวลาอยู่กับ ประสบการณ์นั้นสักพักเพราะนี่คืออาหารใจ มองให้เห็นว่าวันนี้เราทำอะไรได้ดี ส่วนที่ทำได้ไม่ดีต้องเรียนรู้ที่จะทำอะไรใหม่ในวันรุ่งขึ้น ถ้ามองให้เห็นอย่างนี้ โลกมีอะไรดี ตัวเรามีอะไรดี ทำแบบนี้ไปซ้ำ ๆ ในแต่ละวันจะช่วยได้ อีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยได้อย่างเห็นผลคือการออกกำลังกายและการฝึกสมาธิ”
ส่วนใครที่ต้องอยู่กับคนที่มีความเครียด พญ.ดุษฎีแนะนำว่าต้องฝึกเรื่องความเห็นอกเห็นใจแบบที่เรียกว่า “ไม่ร่วมหัวจมท้าย” เป็นการยืนอยู่ในมุมมองที่เห็นตัวเองว่าเรากับเขาคนละคนกัน ปัญหาใครคนนั้นแก้เอง น้ำตาใครคนนั้นต้องเช็ดเอง เราทำได้เพียงยื่นผ้าเช็ดหน้าให้
“ถ้าเลือกที่จะรับ ขอให้รับความไว้วางใจ เพราะการที่ใครสักคนจะพูดเรื่องความทุกข์ของตัวเองให้เราฟังแปลว่าเขาต้องไว้ใจเรามาก อยากให้ขอบคุณเขาด้วยซ้ำที่เขามอบความไว้วางใจให้เราเป็นมุมมองที่สร้างพลังบวกให้ตัวเราเอง”
นอกจากใจที่แข็งแรง ต้องมีภูมิคุ้มกัน ด้านการเงิน
“สถานการณ์โควิด 19 ต่างส่งผลกระทบกับทุกคนไม่มากก็น้อย นอกจากอยากเห็นทุกคนมีความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้นจากตัวเอง คนรอบข้าง และเจ้าหน้าที่ที่พร้อมจะดูแลแล้ว ยังมีอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือภูมิคุ้มกันด้านการเงิน ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อการผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปเท่านั้น แต่จะดีกว่าเมื่อมีความพร้อมเสมอไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรในอนาคต” พญ.ดุษฎีกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

“ฮีโร่ของฉันคือเธอ” นิทานสื่อสารเรื่องไวรัสโควิด-19 สำหรับเด็ก
ฮีโร่ของฉันคือเธอ การเอาชนะไวรัสโควิด-19 สำหรับเด็ก
จัดทำโดยกลุ่มที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตและส่งเสริมสุขภาพจิตในสถานการณ์ฉุกเฉิน (IASC) สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง และคุณครู ใช้ในการสื่อสารกับเด็กๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องไวรัสโควิด-19 ซึ่งถูกเผยแพร่มาแล้วในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต แปลและเผยแพร่
คลิกอ่าน/ดาวน์โหลด ที่รูปภาพด้านล่าง
คลิก เวอร์ชันแอนิเมชัน

3 หน่วยงาน ดึงเอ็ชอาร์-สหภาพ เสริมแกร่งแรงงาน สู้วิกฤตโควิด
กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย สสส. เซ็นเอ็มโอยู เสริมความรู้ ฟื้นฟูสุขภาพกายใจให้กลุ่มแรงงาน พร้อมสู้วิกฤตโควิด-19 ดึงเอ็ชอาร์-สหภาพแรงงาน ร่วมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และไกด์ไลน์สำหรับคนทำงาน
กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ กรมอนามัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ได้จัดกิจกรรมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ความยากลำบากในการประกอบอาชีพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง นำมาซึ่งปัญหาการก่อหนี้ ส่งผลต่อความรุนแรงทางจิตใจ เป็นเหตุให้เกิดการอ่อนล้า ท้อแท้ หมดไฟและทำร้ายตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงาน
กรมสุขภาพจิตจึงมีแผนจะแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีนใจในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกันกับมาตรการในชุมชน ได้แก่ 1.สร้างความรู้สึกปลอดภัย 2.สร้างความรู้สึกสงบ 3.สร้างความหวัง และ 4.สร้างความเข้าใจและให้โอกาส ร่วมกับใช้ศักยภาพและสายสัมพันธ์ที่ดี ในกลุ่มแกนนำเพื่อการพัฒนาและออกแบบการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจในองค์กร ยินดีที่จะสนับสนุนในการเสริมสร้างความรู้แก่กลุ่มแกนนำในสหภาพแรงงานเพื่อสื่อสารวัคซีนใจให้ขยายวงกว้างในกลุ่มเพื่อนแรงงานต่อไป

นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต่างตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ในกลุ่มวัยทำงานจะต้องเริ่มจากการร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของแรงงานในระบบให้มีความรอบรู้ทั้งทางกายและทางใจ
กรมอนามัยมีเป้าหมายที่จะร่วมสร้างความรอบรู้และทักษะด้านการจัดการสุขภาพกาย ต่อยอดการสร้างเครือข่ายเกื้อหนุนเสริมกันและกัน และสร้างวัฒนธรรมความเป็นทีมขับเคลื่อนต่อการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ พัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนในการสร้างภาวะสันติสุขที่ยั่งยืนนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในอนาคต สามารถกำหนดเป้าหมายและมีแผนการสร้างสมดุลชีวิตในระยะยาว

นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ภายใต้การสนับสนุนจาก สสส. สำนัก 6 กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาศักยภาพแรงงานในระบบให้มีความรู้และทักษะด้านการจัดการสุขภาพกายและสุขภาพใจ ในขณะที่ต้องพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพเพื่อนำไปสู่หนทางการบรรเทาหนี้ต่อไป โดยภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
นอกจากหน่วยงานข้างต้นแล้ว ยังประกอบด้วย ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ฝ่ายบริหาร บริษัท เอจีซี แฟลทกลาส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไอเอชไอ เทอร์โบ (ประเทศไทย) จำกัด และ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัทไทยเรยอน จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ยังมีสหภาพแรงงานต่าง ๆ เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกแก้วและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย, สหภาพแรงงานวายเอ็มพี ผลิตภัณฑ์โลหะแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ไทย, สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย, สหภาพแรงงานไอเอชไอ ประเทศไทย, สหภาพแรงงานมิซูโน่ พลาสติก, สหภาพแรงงานนากาชิมา, สหภาพแรงงานรวมใจเพื่อนสัมพันธ์ และสหภาพไรเดอร์ ทุกฝ่ายมีแผนที่จะหารือและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และกรอบแนวทางการปฏิบัติ โดยจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายใต้บันทึกความร่วมมือนี้
ที่มา : กรมสุขภาพจิต