
หนุนครอบครัววัยทำงาน กรมอนามัยจับมือเอกชนขนส่งฟรี “นมแม่แช่แข็ง”

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” โดย นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น
โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2568 ทารกร้อยละ 50 จะได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก
ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูก” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานต่างจังหวัดสามารถส่งนมแม่ข้ามจังหวัดได้ โดยไม่มีภาระ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้แม่ที่ทำงานนอกบ้าน หรือแม่ที่ทำงานต่างจังหวัดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยังคงสามารถให้ลูกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากเป็นการส่งต่อภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติให้ลูกน้อยแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้านเพื่อไปหาซื้อ สามารถให้ลูกกินได้ ทุกที่ ทุกเวลา
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 34 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 14 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต รวมทั้งมีทารกเพียงร้อยละ 15 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกคนในสังคม ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง สนับสนุนและปกป้องให้เด็กไทยทุกคนได้กินนมแม่ตามสิทธิของเด็ก ขณะเดียวกันแม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เนื่องจากมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด และเปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันโรค ที่ไม่สามารถหาได้จากอาหารอื่น และยังส่งผลดีต่อพัฒนาการทางกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
“ตั้งแต่ปี 2563-2564 ที่เริ่มมีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการขนส่งนมแม่ฟรี มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 3,690 ราย และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้แม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ จึงได้จัดโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยจะสิ้นสุดในปี 2567 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่งนม และช่วยชะลอการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมผงได้ด้วย”
ในการลงนามในครั้งนี้ ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้จัดทำคำแนะนำขั้นตอนการเก็บนมแช่แข็ง การบรรจุนมเพื่อขนส่ง รวมทั้งบริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ดำเนินงานแจ้งเส้นทางการขนส่ง จุดรับ – ส่งนมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ และให้ความอนุเคราะห์โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายทุกเส้นทางที่บริษัทให้บริการ ยกเว้นการให้บริการระหว่างประเทศ และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ที่ช่วยดำเนินงานดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบ Line@
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่สนับสนุนให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งน้ำนมฟรี การสนับสนุนให้มีการลาคลอด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 นี้ แม่ที่ฉีดวัคซีนสามารถส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ลูกโดยผ่านน้ำนมได้
ธีลฎี พันธุมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในปัจจุบันด้วยความจำเป็นต่างๆ ของคุณเเม่ เช่น การทำงานต่างจังหวัดหรือไกลบ้าน มีภารกิจสำคัญ ทำให้คุณแม่อาจไม่สามารถเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ได้สะดวก โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านเวลาและการเก็บรักษา ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพและโภชนาการน้ำนมที่สูญเสียไประหว่างการขนส่ง สายการบินแอร์เอเชียจึงได้ทำงานร่วมกับกรมอนามัยเพื่อผลักดันโครงการ และยินดีขนส่งน้ำนมเเม่สู่ลูกฟรี ในทุกเส้นทางบินภายในประเทศ
“หลายปีที่ผ่านมาสายการบินได้มีโอกาสร่วมกับกรมอนามัยเพื่อขนส่งน้ำนมแม่สู่ลูก โดยเริ่มจากเส้นทางบินภาคอีสาน ก่อนขยายมาให้บริการทั่วประเทศในปัจจุบัน ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา สายการบินรู้สึกยินดีอย่างยิ่งในการได้เป็นส่วนเล็กๆ ในการเเบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย พร้อมสนับสนุนให้ลูกมีโอกาสได้ทานนมเเม่เเม้อยู่ห่างไกลคนละพื้นที่ ด้วยมาตรฐานการขนส่งทางอากาศที่มีคุณภาพและรวดเร็วที่สุด” นางธีลฎีกล่าว
ผู้ที่ต้องการขนส่งน้ำนมแม่แบบไม่มีค่าใช้จ่ายกับเเอร์เอเชีย เพียงปฏิบัติตาม 5 ขั้นตอนง่ายๆ คือ 1.ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์กรมอนามัย Line@anamaimilk 2.ตรวจสอบเส้นทางเเละเวลาเที่ยวบินที่ให้บริการได้ที่ airasia Super App 3.แพ็กน้ำนมแช่เเข็งลงกล่องโฟม พร้อมน้ำเเข็งเเห้งหรือคูลเเพ็คตามมาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด น้ำหนักรวมไม่เกิน 10 กิโลกรัมต่อกล่อง ไม่จำกัดจำนวนกล่อง 4.นำส่งน้ำนมที่เคาน์เตอร์เช็กอิน ณ ท่าอากาศยานต้นทางล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมงก่อนกำหนดการบิน 5.ติดต่อรับของได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสาร ณ ท่าอากาศยานปลายทาง ทั้งนี้สามารถดูวิธีการเเพ็กน้ำนมเเช่เเข็ง หรือตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชั่นไลน์กรมอนามัย @anamaimilk หรือส่งนมเเม่เเช่เเข็งกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ได้เเก่ บริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยเเอร์ จำกัด


สธ.จับมือ สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์หญิงตั้งครรภ์และคู่
ปรับสิทธิประโยชน์ บัตรทอง จากฝากครรภ์ฟรี 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถ้าเกิน 8 ครั้ง ต้องมีใบนัดจากแพทย์ พร้อมเพิ่มสิทธิให้สามี/คู่ ตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส และโรคธาลัสซีเมีย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสามีสู่หญิงตั้งครรภ์
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการแถลงข่าว “การฝากครรภ์คุณภาพสำหรับประเทศไทย” ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศนโยบาย “ฝากครรภ์คุณภาพ” เมื่อปี 2559 โดยให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันองค์การอนามัยโลกได้ศึกษา พบว่าอัตราการเกิดไร้ชีพของทารกในกลุ่มประเทศแอฟริกาเพิ่มขึ้น เมื่อฝากครรภ์ 5 ครั้ง จึงได้ประกาศคำแนะนำเป็นฝากครรภ์ 8 ครั้ง
สำหรับประเทศไทยพบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 ผลลัพธ์ด้านสุขภาพแม่และเด็ก ได้แก่ อัตราส่วนการตายมารดา อัตราตายทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน แม้จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ของโลกแต่ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การคลอดก่อนกำหนดและอัตราการเกิดไร้ชีพ ยังไม่ลดลง
นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่องสถานการณ์การฝากครรภ์ประเทศไทยพบว่า แท้จริงแล้วจำนวนครั้งของการฝากครรภ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ครั้งต่อการตั้งครรภ์ แม้ในครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังมีกลุ่มที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกช้ากว่าที่แนะนำคือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มากถึงร้อยละ 25.7

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว และภาระงานเดิม การเพิ่มจำนวนครั้งในการฝากครรภ์เป็น 8 ครั้ง จึงอาจไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ต้องมุ่งเน้น ด้านคุณภาพ โดยให้ได้รับกิจกรรมที่ควรได้รับตามคำแนะนำ ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ ดังนั้นในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการพัฒนาและยกระดับการฝากครรภ์สำหรับประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมบริการที่สำคัญให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการปรับค่าชดเชยกิจกรรมบริการฝากครรภ์ตามชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่กรมอนามัยได้ร่วมประชุม กับผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ ผู้แทนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทย์และพยาบาลที่ให้บริการคลินิกฝากครรภ์ เพื่อทบทวนและพัฒนายกระดับบริการฝากครรภ์คุณภาพ โดยมุ่งเน้นกิจกรรมบริการที่สำคัญให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้น ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบโดยคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ จากการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว
โดยในปี 2565 การยกระดับบริการฝากครรภ์มุ่งเน้น 3 ประเด็น ดังนี้
1) การบริการฝากครรภ์คุณภาพตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ โดยเน้น ส่งเสริม สนับสนุน ให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์ต่อเนื่องตามเกณฑ์ฝากครรภ์ 8 ครั้ง
2) หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับบริการตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุครรภ์อย่างครบถ้วนตามแนวทางการฝากครรภ์คุณภาพสำหรับ ประเทศไทย พ.ศ. 2565
และ 3) จัดเครือข่ายบริการฝากครรภ์และมีระบบส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิ ได้รับบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการดูแลการฝากครรภ์ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งให้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นคนไทยทุกสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมบริการที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับ เป็นไปตามแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์แนวใหม่ขององค์การอนามัยโลกที่กรมอนามัย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำ โดยในปีงบประมาณ 2565 สปสช.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายค่าบริการฝากครรภ์ใหม่ จากเดิมเบิกจ่ายได้จำนวน 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ กล่าวคือ เบื้องต้นเป็นไปตามแนวทางการบริการฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์ของกรมอนามัย จำนวน 8 ครั้ง และหากแพทย์ที่ดูแลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็น ก็สามารถนัดมาตรวจติดตามเพื่อดูแล มากกว่า 8 ครั้งได้
ปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ให้ได้รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคธาลัสซีมียพร้อมกับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อจากสามีสู่หญิงตั้งครรภ์และส่งผลต่อทารกในครรภ์ สามารถเข้ารับบริการได้กับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทุกแห่งที่สะดวก
สุดท้ายนี้ ในการไปรับบริการฝากครรภ์ ขอแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกท่าน ได้ไปรับบริการฝากครรภ์ที่หน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่สะดวกในการไปใช้บริการเป็นการประจำ ณ หน่วยบริการแห่งเดิมอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรเปลี่ยนหน่วยบริการฝากครรภ์หลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดูแลครรภ์ที่ต่อเนื่องต่อไป

กลับสู่โรงเรียนอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19
หากพูดถึงชีวิตวัยเรียน เชื่อว่าแทบทุกคนคงเคยมีโอกาสได้สัมผัส และย้อนนึกถึงความทรงจำมากมายในช่วงเวลาเหล่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความผูกพันกับเพื่อนฝูง ความประทับใจที่มีต่อครู อาจารย์ ความใจดีของคุณป้าที่ขายข้าวแกงในโรงอาหาร หรือภาพของการเห็นคุณลุงภารโรงที่ทำความสะอาดอยู่หน้าประตูทางเข้าโรงเรียนทุกเช้า
“โรงเรียน” จึงเป็นมากกว่าสถานที่ แต่เป็นสังคมแห่งหนึ่งซึ่งหล่อหลอมเด็ก ๆ เยาวชนให้เติบโตขึ้น ด้วยวิชาความรู้ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ มากมาย ถึงแม้ทุกวันนี้โลกแห่งการเรียนรู้จะถูกย่อลงให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อผ่านหน้าจอและอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ใช่สำหรับเด็กทุกคน ดังนั้น โรงเรียน จึงยังคงเป็นพื้นที่สำคัญที่เปรียบเสมือนสังคมขนาดทดลอง ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ก่อนก้าวเข้าสู่โลกและสังคมขนาดใหญ่ ที่มีผู้คนหลากหลาย และเรื่องราวมากมายที่รอพวกเขาอยู่ในอนาคต
แม้ทุกวันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ก็ยังไม่เป็นที่น่าวางใจนัก แต่ในส่วนของการใช้ชีวิต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมก็ยังต้องดำเนินต่อไป การคืนสังคมโรงเรียนให้กับเด็ก ๆ เช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ให้เด็ก ๆ ได้กลับไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้อย่างปลอดภัยที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาของงานสัมมนาออนไลน์ กลับสู่โรงเรียน ชีวิตวิถีใหม่…เราต้องรอด ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) เพื่อร่วมหาคำตอบและแนวทางการเตรียมตัวสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาในการกลับเข้าสู่การเปิดการเรียนการสอนแบบ On site อีกครั้ง
รศ.พญ.วนิดา เปาอินทร์ กุมารแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อระบบสาธารณสุขสามารถรองรับการรักษาโรคได้ และมีประชากรที่ได้รับวัคซีนในวงกว้างแล้ว มาตรการเปิดเมือง เปิดประเทศจึงเกิดขึ้น นั่นรวมถึงการเปิดให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนด้วย เพราะการที่โรงเรียนถูกปิดนั้น ส่งผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนี้
1.สุขภาพของเด็ก – การที่เด็กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน หรือการที่เด็กต้องใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เด็กสามารถเชื่อมต่อกับสื่อใดเป็นโลกออนไลน์ก็ได้ อาจทำให้เด็กติดเกมได้
2.ความสัมพันธ์ในครอบครัว – การที่สมาชิกในบ้านต้องใช้เวลาร่วมกันตลอดแทบจะ 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ขาดความเป็นส่วนตัว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สะดวก รวมทั้งความไม่เข้าใจในธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กของผู้ปกครอง อาจทำให้เกิดความหงุดหงิด หรือตำหนิเด็กได้ โดยเฉพาะธรรมชาติของเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้โดยการเคลื่อนไหว มากกว่าการนั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ทำให้เกิดการกดศักยภาพของเด็กได้
3.ความรุนแรงในครอบครัว – ช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ สายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต หรือปรึกษาปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะความเครียดของผู้ปกครอง และการที่เด็กต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด คนรับรู้น้อย ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากภายนอกได้
4.การศึกษา การเรียนรู้
5.พัฒนาการ
6.รายได้ครอบครัว – ผู้ปกครองขาดรายได้จากการปิดกิจการต่าง ๆ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมด้วย
นายเพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มาตรการหลักที่เป็นตัวกำหนดการอนุญาตให้เปิดเรียนที่โรงเรียน คือ ครูและบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ร้อยละ 85 ขึ้นไป รวมถึงขอความร่วมมือผู้ปกครอง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวให้เข้ารับวัคซีน แต่ในส่วนของนักเรียนนั้นไม่ได้กำหนด และยังมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Small Bubble แบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้เด็ก ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู นอกจากนี้ ยังเน้นในส่วนของสิ่งแวดล้อมและความสะอาด โดยเฉพาะในจุดสัมผัสร่วมให้บ่อยที่สุดด้วย
รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาสำหรับผู้ใหญ่ก่อน เนื่องจากอัตราการติดเชื้อในเด็กนั้น มีอัตราความรุนแรงของโรคน้อยกว่า คนที่ได้รับวัคซีน ก็เปรียบเหมือนคนที่มีเสื้อเกราะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ดังนั้น เราจึงให้บุคคลที่อยู่รอบตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว หรือบุคลากรที่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู แม่บ้าน แม่ครัว ภารโรง รับวัคซีนให้ครบสองเข็ม ซึ่งจะทำให้เด็กนั้นได้ประโยชน์ทางอ้อมไปด้วย แม้จะยังไม่ได้รับวัคซีนก็ตาม
ที่มา : เว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แนะชวนลูกดูแลบ้านช่วงปิดเทอม เสริมทักษะ สร้างกิจกรรมครอบครัว
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะช่วงปิดเทอม พ่อแม่ชวนลูกทำความสะอาดบ้าน ยึดหลัก 3ส 1ล ช่วยลดฝุ่น ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ สร้างกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของลูกด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมที่เด็กว่างเว้นจากการเรียนออนไลน์เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะได้ใช้เวลาใกล้ชิดกันอย่างเต็มที่ พ่อแม่จึงควรหากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว ด้วยการทำความสะอาดบ้าน เพื่อช่วยลดฝุ่น และส่งเสริมให้เด็กมีส่วนร่วมและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งสามารถทำร่วมกับพ่อแม่ได้ด้วยหลัก 3ส 1ล คือ
1) ส : สะสาง
คัดแยกสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือไม่ใช้แล้วออกไปเพราะจะเป็นแหล่งสะสมฝุ่น เช่น อุปกรณ์ที่ชำรุดใช้งานไม่ได้ หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสาร วารสาร เป็นต้น โดยเฉพาะห้องที่อยู่เป็นประจำควรมีเฟอร์นิเจอร์และสิ่งของให้น้อยชิ้นที่สุด เพื่อจะได้ทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง
2) ส : สะอาด
ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน พื้นและตามซอกมุมต่าง ๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น รวมทั้งล้างอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศ มุ้งลวด ให้สะอาด สำหรับเครื่องนอน ควรซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนเป็นประจำ รวมทั้งควรซักทำความสะอาดผ้าม่านด้วย
3) ส : สร้าง
ควรสร้างสุขนิสัยในการดูแลและทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูง อาจจะต้องเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบ้านมากขึ้น รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดักฝุ่น
และ 1 ล คือ เลี่ยง ให้เลี่ยงทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นเพิ่ม เช่น การเผาใบไม้ การจุดธูป-เทียน การปิ้งย่างโดยใช้เตาถ่าน ทั้ง ขณะทำความสะอาดควรสวมถุงมือ หน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง เพื่อช่วยลดการสูดฝุ่นละอองและป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และโรคผิวหนังได้
“นอกจากนี้ พ่อแม่ ควรหากิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะต่าง ๆ และส่งเสริมสุขภาพของลูก เพื่อไม่ให้ลูกเอาเวลาว่างไปกับการดูโทรทัศน์ การใช้โทรศัพท์มือถือ และการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนี้
1) การวาดรูป พ่อแม่เตรียมสีน้ำ สีเทียน สีไม้ พู่กัน กระดาษ และอื่นๆ ที่จะให้ลูกสร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง เช่น วาดรูปธรรมชาติรอบบ้านที่เห็น ออกไปวาดรูปในสวนหมู่บ้าน วาดรูปครอบครัว เป็นต้น
2) ผู้ช่วยทำอาหาร โดยให้ลูกช่วยคิดเมนูอาหารที่อยากกิน แล้วพ่อแม่ก็ชวนลูกมาทำอาหารด้วยการช่วยล้างผัก เด็ดผัก เจียวไข่ ช่วยหยิบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำอาหาร
และ 3) การมีกิจกรรมทางกาย พ่อแม่ชวนลูกไปออกกำลังกายอย่างน้อย วันละ 60 นาที เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดยาง เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

Download คู่มือการระบายอากาศ ลดความเสี่ยงโควิด-19
ดาวน์โหลด E-book คำแนะนำการระบายอากาศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

จริงหรือมั่ว วิตามินดี สู้โควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้านหรืออยู่ในบ้าน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง และการทำงานที่บ้าน (Work From Home) แล้ว การเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีโปรตีนและวิตามินสูงจะช่วยสร้างสุขภาพที่ดีให้กับร่างกาย ซึ่งวิตามินดีเป็นวิตามินที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยมักพบในปลานิล ปลาทับทิม ปลาตะเพียน ปลาแซลมอน ปลาแมคคอแรล ปลาทูน่ากระป๋อง ไข่แดง ตับ นม เห็ด เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ปริมาณวิตามินดีที่เหมาะสมในแต่ละวัยต่อวันคือ วัย 6–12 เดือน ควรได้รับ 10 ไมโครกรัมต่อวัน วัย 1-70 ปี ควรได้รับ 15 ไมโครกรัมต่อวัน และวัยผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับ 20 ไมโครกรัมต่อวัน แต่หากได้รับวิตามินดีมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกัน โดยเรียกภาวะนี้ว่า อาการเป็นพิษเนื่องจากได้รับวิตามินดีเกิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กวัยกำลังโต และในบางรายที่มีอาการหนักอาจจะเสียชีวิตจากการล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ แต่หากได้รับปริมาณที่น้อยเกินไปหรือขาดวิตามินดี จะส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกอ่อนในเด็ก และกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่มีอาการชักหรือฟันผุ รวมถึงอาจทำให้ติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น และเมื่อติดเชื้อแล้วกลไกในการกำจัดเชื้อของร่างกายในคนที่มีวิตามินดีเพียงพอจะดีกว่าคนที่ขาดวิตามินดีอีกด้วย
นอกจากนี้ ร่างกายยังสามารถรับวิตามินดีได้จากแสงแดดขณะทํากิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง โดยให้ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดอย่างน้อย 15-20 นาทีทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00–10.00 น. และ 16.00–17.00 น.
“ทั้งนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงนี้ วิตามินชนิดอื่น ๆ ทั่วไปก็สำคัญเช่นกัน จึงควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย เน้นการกินผักและผลไม้ เพื่อให้ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น ในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค พร้อมทั้งออกกําลังกายเป็นประจําสมํ่าเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จัดการความเครียด งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควบคู่กับการรักษามาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
จะรู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายขาดวิตามินดี
ข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยของ ศ.นพ.วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประชากรไทยบางแห่งมีการขาดวิตามินดีมาก บางแห่งขาดวิตามินดีน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งในเขตเมืองจะขาดวิตามินดีมากกว่าเขตนอกเมือง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขาดวิตามินดีน้อยกว่าในภาคกลาง อาจเป็นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตและการถูกแดดที่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า คนกลุ่มอายุน้อยจะขาดวิตามินดีมากกว่า ซึ่งข้อมูลนี้จะตรงกันกับประเทศในเอเชียอย่างเช่น เกาหลีใต้ และ มาเลเซีย อาจเป็นเพราะว่าประชากรวัยหนุ่มสาวแถบนี้ มีแนวที่จะหลบแดดกันมากกว่าผู้สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากประเทศทางตะวันตก
อาหารที่มีวิตามินดีสูงนั้นหาได้ยาก ในบางโอกาสหากถูกแสงแดดเพียงพอไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องรับประทานวิตามินดีเสริม เมื่อรับประทานวิตามินดีเสริมในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะได้รับวิตามินดีพอ
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไรให้ทราบว่าขาดวิตามินดีโดยที่ไม่ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือการคัดกรองผู้ที่จำเป็นต้องเจาะเลือดตรวจอย่างไร เหล่านี้เป็นประเด็นที่ทางกลุ่มวิจัยกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้แนวทางกันอยู่
กลัวแดด-กลัวดำ ทำคนไทยขาดวิตามินดี
รศ. พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน หัวหน้าหน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เราทราบว่าวิตามินดีสร้างได้จากผิวหนัง หากเราจะสัมผัสแสงแดดให้ผิวหนังสร้างวิตามินดีได้นั้น ต้องให้ผิวหนังสัมผัสแสงแดดโดยตรง ไม่มีเสื้อผ้ามาปกปิด
“ทางกลุ่มวิจัยพยายามหาคำตอบว่าคนไทยควรจะถูกแสงแดดอย่างไรเพื่อให้ได้วิตามินดีเพียงพอ โดยได้เริ่มทำการวิจัยในช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีแสงแดดมาก แต่ด้วยอากาศที่ค่อนข้างร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ไม่สามารถนั่งตากแดดเพื่อทำวิจัยได้ จึงเปลี่ยนมาทำในช่วงฤดูหนาว โดยกำหนดให้อาสาสมัครใส่เสื้อแขนสั้น นุ่งกระโปรง ให้เขาเปิดเผยส่วนและแขน ในท่าทางอิริยาบถใดก็ได้ ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลา 15 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จากนั้นจะทำเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับวิตามินดี”
ผลก็คือ ระดับวิตามินดีไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลยจากข้อมูลนี้ก็ทำให้ทราบว่า หากจะแก้ไขในส่วนนี้ อาจต้องตากแดดบ่อยขึ้น และเปิดเผยผิวหนังมากขึ้น เพราะการเพิ่มพื้นที่รับแสงจะช่วยเพิ่มการสร้างวิตามินดีได้
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการใช้ชีวิตและทัศนคติของสังคมไทยปัจจุบันแตกต่างกันทางตะวันตก เราไม่มีเหมือนฝรั่ง เมื่อมีแดดฝรั่งก็จะออกไปตากแดด แต่คนไทยเรากางร่มหลบแดด ฉะนั้นการที่จะให้ข้อแนะนำในการตากแดดเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการขาดวิตามินก็อาจจะไม่เหมาะสมและมีอาจอุปสรรค ซึ่งต้องค้นคว้าหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป
“เป็นห่วงเด็กรุ่นหลังมาก เพราะว่าเกิดมาในสมัยที่ไม่ค่อยกล้าสัมผัสแสงแดดไม่ว่าจะเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ก็อยู่ในที่ร่มหมด ต่างจากเด็กสมัยก่อนที่จะวิ่งเล่น ตากแดด เพราะร่างกายจะสร้างกระดูกในช่วงอายุ 20 ปีแรก ฉะนั้นวิตามินดีจะมีความสำคัญมากในการเสริมสร้างกระดูกและการเติบโต หากยังกลัวแดดจนเกินเหตุ การแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินดีก็จะยังไม่เห็นผลในคนไทย”
อาหารเสริมวิตามินดี จำเป็นแค่ไหน
ผศ. พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์ สาขาวิชาต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จนถึงปัจจุบันเรายังตอบไม่ได้ชัดเจนว่า ทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาการพร่องวิตามินดีในประชากรไทยได้อย่างเหมาะสม การเจาะเลือดตรวจวัดระดับวิตามินดีมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด มีความคุ้มทุนในการเจาะหรือไม่ และวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดวิตามินดีสามารถทำได้จริงหรือเปล่า ตรงนี้เรายังค้นหาคำตอบจากการวิจัยกันอยู่ แต่สำหรับใครที่มีรูปแบบชีวิต Healthy Lifestyle อยู่แล้ว ก็ให้คงเช่นเดิมไว้ เพราะเชื่อว่าจะคงระดับวิตามินดีไว้ได้ดีกว่า
ส่วนคำถามวิจัยที่ว่า จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องกำหนดให้มีวิตามินดีเสริมในอาหารและการรับประทานอาหารที่ผสมวิตามินดีจะทำให้เด็กไทยมีระดับวิตามินดีและกระดูกดีขึ้นเมื่อโตขึ้นหรือไม่ ก็เป็นคำถามวิจัยที่ต้องการการศึกษาระยะยาว ด้วยเช่นกัน

โพลล์สำรวจชีวิตประจำวันคนไทย ป้องกันโควิดวิธีไหน ทำได้ยากที่สุด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ยังขยายเป็นวงกว้างและมีความต่อเนื่องในช่วงนี้ การป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เป็นมาตรการที่ขอให้ปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
จากผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็น “คิดเห็นอย่างไร กับมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention for COVID-19)” โดยได้แบ่งการสอบถามเป็น 2 กลุ่ม คือ เจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน และอีกกลุ่มเป็นประชาชนทั่วไป ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 1 กันยายน 2564 พบว่าพฤติกรรมที่กลุ่มเจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน ส่วนใหญ่ทำได้มากที่สุดคือล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ร้อยละ 89.2 รองลงมาคือ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ร้อยละ 83.5 ส่วนพฤติกรรมที่ทำได้น้อยที่สุด คือ งดกินข้าวร่วมกัน ร้อยละ 66.9
สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปพบว่าพฤติกรรมที่ทำได้มากที่สุดคือ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ร้อยละ 83.8 รองลงมาคือหากสงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยง จะตรวจด้วยชุด ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ร้อยละ 76.3 ส่วนพฤติกรรมที่ทำได้น้อยที่สุดคือ งดกินข้าวร่วมกัน ร้อยละ 51.9
จึงเป็นจุดคุมเข้มสำคัญที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนรวมทั้งเจ้าของหรือผู้ประกอบการ พนักงาน งดการกินอาหารร่วมกันไปสักระยะหนึ่งก่อน หรือให้เหลื่อมเวลากัน ในช่วงการกินอาหาร เลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ และแยกของใช้ส่วนตัว เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม เป็นต้น เพื่อลดการแพร่และป้องกันการติดเชื้อโควิด-19
“สำหรับการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) นั้น เป็นการยกระดับการป้องกันการติดและการแพร่ของเชื้อโควิด-19 ด้วยหลักปฏิบัติ 10 ข้อสำคัญ ดังนี้
1) ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2) เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ทุกสถานที่
3) สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งนอกบ้านและในบ้านและเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
4) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
5) หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากาก ใบหน้า ตา ปาก จมูก
6) ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังให้เลี่ยงออกนอกบ้าน
7) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ
8) แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
9) งดกินข้าวร่วมกันและเลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ และ
10) หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

พบเด็กปฐมวัย 28% พัฒนาการล่าช้า ชวนพ่อแม่เติมความรู้ ดูแลลูกเหมาะสม
เผยข้อมูลเฝ้าระวังด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย ล่าสุด พบ 28% พัฒนาการล่าช้า กรมอนามัยห่วง ปิดศูนย์เด็กเล็ก-โรงเรียนคุมโควิด ยิ่งกระทบหนัก ชวนพ่อแม่อ่านคู่มือรู้วิธีเสริมพัฒนาการลูก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการสมวัย เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนปิดการเรียนการสอนตามมาตรการควบคุมการระบาดที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กที่เกิดจากความไม่พร้อมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1) ด้านสถานที่ บางครอบครัวต้องพาเด็กออกไปทำงานด้วย ซึ่งที่ทำงานบางสถานที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเล็ก เช่น งานเก็บขยะ งานตัดต้นไม้ งานก่อสร้าง เป็นต้น หรือบางครอบครัวต้องทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง
2) ด้านโภชนาการ หากเด็กอยู่ศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนจะได้กินอาหารครบ 5 หมู่และดื่มนมตรงตามเวลาแต่เมื่อเด็กต้องอยู่บ้านบางครั้งอาจกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบหมู่ หรือกินข้าวได้น้อยลง เพราะต้องกินอาหารเมนูเดิมซ้ำ ๆ มีส่วนทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วนเช่นกัน
3) ด้านพัฒนาการของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายมักให้เด็กอยู่ในห้องแคบ ๆ ใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์หรือเล่นมือถือมากขึ้นโดยไม่สนใจบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวเอาแต่ใจตัวเอง และขาดระเบียบวินัย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การกระตุ้นพัฒนาการเด็กในยุคโควิด-19 พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องฝึกการเล่นกับลูกในหลาย ๆ รูปแบบ โดยการศึกษาผ่าน คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ของกระทรวสาธารณสุข หรือสามารถปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงคอยกำชับและดูแลเด็กเล็ก ให้หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือที่มากจนเกินไป จึงควรจัดสรรเวลาอยู่และเล่นกับลูกให้มากขึ้นและที่สำคัญต้องมีการป้องกันโควิด-19 ในเด็กอย่างเคร่งครัด ด้วยการลดการออกนอกบ้าน เพิ่มการสวมหน้ากาก ในบ้านให้มากขึ้น กำชับให้หมั่นล้างมือบ่อย ๆ หมั่นทำความสะอาดเครื่องเล่นหรือของเล่นด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
“ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ข้อมูลเฝ้าระวังด้านส่งเสริมสุขภาพด้านพัฒนาการ ปฐมวัยล่าสุด 11 สิงหาคม 2564 พบว่า เป้าหมายการคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย จำนวน 1,515,545 ราย สามารถคัดกรองได้ 1,345,511 ราย คิดเป็นร้อยละ 88.8 พบพัฒนาการเด็กสมวัยจำนวน 968,253 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 และสงสัยพัฒนาการล่าช้า จำนวน 377,253 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 ซึ่งในจำนวนที่สงสัยล่าช้าได้มีการส่งต่อไปกระตุ้นพัฒนาการภายใน 30 วัน พบว่า มีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 99” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


พบกลุ่มวัยรุ่น ติดโควิดเพิ่มขึ้น แนะวิธีป้องกัน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กและวัยรุ่น 12-18 ปี เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หลังพบแนวโน้มเพิ่มขึ้น พร้อมเผยคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยให้เด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือป่วยมีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนโควิดป้องกันได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงพบผู้ป่วยติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มการติดเชื้อ ที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม จำนวน 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12
จากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
โดยยังไม่แนะนำสำหรับเด็กทั่วไป ที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น แต่มุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี จำนวน 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน–14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ซึ่งทุกคนเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA และที่มีใช้ในประเทศไทยในขณะนี้ คือ วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech โดยก่อนไปรับบริการให้สอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการในพื้นที่นั้น ๆ
“ทั้งนี้ การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโควิด-19 ของกลุ่มเด็กวัยเรียน วัยรุ่น ยังคงต้องยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังนี้
1) เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน และจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
2) สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน พร้อมทั้งงดการรวมกลุ่มกับเพื่อน เปลี่ยนเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านระบบออนไลน์แทน
3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
4) ประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากพบมีความเสี่ยงสูงให้แจ้งผู้ปกครองทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ที่มา : กรมอนามัย

“ท้อง” ทำงานอย่างไร ให้ปลอดภัยในช่วงโควิด-19
เผยอัตราตาย หญิงตั้งภรรค์จากโควิด สูงกว่าคนทั่วไปกว่า 2 เท่า พบคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะหน่วยงานรัฐ/เอกชน จัดรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง
พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์หญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเริ่มพบมากขึ้นหลังสงกรานต์ปี 2564 ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ ธันวาคม 2563 – 11 สิงหาคม 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 1,993 ราย คลอดแล้ว 1,129 ราย (คิดเป็น 55% ) และกลุ่มนี้มีการฉีดวัคซีนเพียง 10 ราย พบทารกติดเชื้อจากแม่ 113 คน คิดเป็น 11.8% ถือว่าสูงกว่าต่างประเทศมาก ส่วนหนึ่งเพราะเทียบกับข้อมูลจากประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“ที่น่าห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเสียชีวิตถึง 37 ราย คิดเป็น 1.85% เทียบกับคนทั่วไปที่ติดเชื้อเสียชีวิต 0.83% ถือว่าสูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง ทารกเสียชีวิต 36 ราย คิดเป็น 1.8% เป็นคลอดแล้วเสียชีวิตเลย 11 ราย และเสียชีวิตภายใน 7 วันหลังคลอด 9 ราย อีก 16 ราย เสียชีวิตในท้องพร้อมแม่ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการรับวัคซีน ซึ่งภูมิต้านทานจะถึงทารกด้วย ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศแล้วว่าการฉีดแบบมิกซ์แอนด์แมชต์ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง ไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีน แต่ควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้ภูมิคุ้มกันขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน และเมื่อตามด้วยเข็ม 2 ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” พลอากาศโท นายแพทย์การุณกล่าว

เผยสาเหตุ ตั้งครรภ์เสียชีวิตง่าย เสี่ยงแท้ง/คลอดก่อนกำหนด
พลอากาศโท นายแพทย์การุณ กล่าวอีกว่า รกและสายสะดือมีหลอดเลือดจำนวนมาก ขณะที่โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการแท้งการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงสรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก
ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนโควิดแล้วลูกเสียชีวิตในท้องนั้น ธรรมชาติของการตั้งครรภ์ สามารถพบทารกเสียชีวิตในท้องได้ประมาณ 1% มีหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อ หลอดเลือด สายสะดือ รก ความดันโลหิตสูง จะระบุว่ามาจากการฉีดวัคซีนคงไม่สามารถจะสรุปได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนมีความปลอดภัยและจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะ ทุกอย่างเช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆเข้ามาแทรกซ้อน สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรงเช่นโควิดลงปอด
“ในช่วง 1 ปีของโควิดทำให้ทราบว่าไวรัสกระจายไปอยู่ในทุกส่วนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ เลือดแม่ น้ำคร่ำรอบตัวเด็ก เนื้อรก หรือน้ำคัดหลั่งในช่องคลอด ไม่ว่าคลอดทางไหนมีสิทธิติดถึงลูกได้ รวมถึงผ่านน้ำนมไปได้ด้วย แต่ผ่านไปได้มากแค่ไหนกำลังมีการศึกษา ดังนั้น การให้นมบุตรยังมีความจำเป็น เพราะลูกจะได้ภูมิต้านทานจากโรคอื่นด้วย” พลอากาศโท นายแพทย์การุณกล่าว
แนะตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยงสูง WFH
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 1,993 คน ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัวและสถานที่ทำงาน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต พบว่าสาเหตุแต่ละรายเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ
1) ปัจจัยจากหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 9 โดยหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวขาดความรู้ ความเข้าใจไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเอง 2) การเข้าถึงบริการ ร้อยละ 21 และ 3) ข้อจำกัดภายในระบบบริการร้อยละ 70
โดยขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 7,935 คน และเข็มสอง 574 คน จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมมากที่สุดตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และมติที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ และหญิงให้นมบุตรสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19
นอกจากนี้ แม้ว่าหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังต้องไปตรวจครรภ์ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ตามนัดหมาย โดยป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTT สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที งดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน สังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ ดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
นอกจากนี้ สถานประกอบการ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ควรสนับสนุนให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม, ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 หรือ 28 สัปดาห์ขึ้นไป, มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง, ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยกรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันการติดเชื้อจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวและภายในบ้านสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เผยแพร่ทาง Facebook เพจกรมอนามัย

ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข