
เตรียมตัวเป็น “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว”
ครอบครัวที่พ่อหรือแม่เลี้ยงลูกคนเดียว เรียกว่า “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นรูปแบบครอบครัวร่วมสมัยที่พบเจอได้ทั่วไป ทั้งในประเทศไทยของเราและในบ้านเมืองอื่น แตกต่างจากในอดีต ถ้าพูดถึงครอบครัว เรามักจะนึกถึงแต่การอยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก หรือการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลากรุ่นหลายวัย
ถึงแม้ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบที่หลากหลายของครอบครัวในปัจจุบัน แต่ถ้าเราเองมีอันจะต้องปรับตัวเปลี่ยนบทบาทเป็น “พ่อเลี้ยงเดี่ยว” หรือ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ก็คงเป็นเรื่องชวนให้จิตใจสั่นไหวอยู่ดี
“เลี้ยงเดี่ยว” เตรียมตัวได้
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว อาจมีสาเหตุมาจากการหย่าร้าง แยกทาง ทอดทิ้งกันไปโดยไม่บอกกล่าว รวมไปถึงการลาลับดับสูญของคู่ชีวิต ความน่าหวาดหวั่นของการเป็นพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยวมีหลายอย่าง ทั้งเรื่องจิตใจ อารมณ์ สังคม ไปจนถึงชีวิตความเป็นอยู่ การเลี้ยงดูลูก รายรับรายจ่าย การงานอาชีพ และอาจมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกประเด็นจำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อจะรับมือได้อย่างเหมาะสม

1. จิตใจ อารมณ์ สังคม
ความวิตกกังวล สับสน สูญเสีย โศกเศร้า โดดเดี่ยว เครียด เคียดแค้น อาฆาต และอาจคิดว่านี่คือความล้มเหลวในชีวิตคู่ ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญ
ทางออก ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับครอบครัว รวมทั้งยอมรับความรู้สึกต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะเรากำลังเจอกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่อเค้าว่าชีวิตน่าจะลำบากทุลักทุเลกว่าเดิม ตามธรรมชาติแล้ว ความรู้สึกต่างๆ พอเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง อย่าพยายามดึงรั้งมันไว้ มองหากิจกรรมหรือพูดคุยกับคนที่จะช่วยเสริมพลังบวกให้เราได้ แต่ถ้ารอนานแล้ว ความรู้สึกเชิงลบยังวนๆ เวียนๆ ไม่ผ่านไปเสียที เบื้องต้น อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต สายด่วน 1323 ที่กรมสุขภาพจิต จัดไว้บริการประชาชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ความปั่นป่วนภายในใจ บ่อยครั้งเป็นผลจากปัจจัยภายนอก เช่น คนรอบข้าง ตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า สังคมมีค่านิยมบางอย่าง เช่น มองการหย่าร้างเป็นเรื่องแย่ หรือแม้แต่ชี้นิ้วทันทีว่าเพราะผู้หญิงไม่ดีแน่ๆ ผู้ชายถึงทิ้งไป วิธีคิดแบบนี้มักนำมาสู่คำถามให้ต้องตอบซ้ำซาก ซึ่งถ้าคิดดีๆ ป้าข้างบ้าน คนที่ทำงาน เพื่อนเก่าที่ 20 ปีเจอกันที ฯลฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านของเรา
ดังนั้น ถ้าไม่ได้เป็นบุคคลสาธารณะ เราก็ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวให้โลกรู้ แค่ทำใจร่มๆ ตอบคำถามตามความจำเป็น ด้วยความหนักแน่นและนุ่มนวล โดยไม่ต้องหวั่นไหว
2. ชีวิตความเป็นอยู่
จากที่เคยอยู่กันพ่อแม่ลูก ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว หลายอย่างจะต้องเปลี่ยนไป แยกกันอยู่แล้ว ใครจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าต้องหาที่อยู่ใหม่ ที่ทำงานของเรา โรงเรียนของลูก จะเดินทางกันอย่างไร ความท้าทายในชีวิตของแต่ละคนย่อมจะแตกต่างกันไป
ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คิดไม่ออกแน่ เครียดมาก อย่าเก็บตัวอยู่คนเดียว อย่าซ่อนตัวเองจากโอกาส เพราะอาจมีคนที่สามารถหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่หน่วยงานมืออาชีพ ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งอาจมีทางออกที่ตรงกับโจทย์ของเรา เบื้องต้น ลองสอบถามข้อมูลที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300
3. การเงินการงาน
ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ไม่มีคนหารค่าใช้จ่าย แถมรายได้จากคูณสอง ตอนนี้ก็จะเหลือแค่ขาเดียว สิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือการวางแผนรายรับรายจ่าย พอไหวหรือยังขาด จำเป็นต้องหารายได้เพิ่ม หรือเติมทักษะการทำงานหรือเปล่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวมีการจัดอบรมทักษะอาชีพให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งในจังหวัดต่างๆ อาจลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกันได้
ส่วนการทำงาน ประเมินดูแล้วต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ เช่น เดิมมีคนไปรับส่งลูกที่โรงเรียน ถ้าตอนนี้ต้องไปรับส่งเองจะทำอย่างไร พูดคุยกับหัวหน้างานได้ไหม ปัจจุบันองค์กร/สถานประกอบการมีแนวโน้มในการยืดหยุ่นเรื่องเวลาให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าแต่ละคนล้วนแต่มีภาระเรื่องครอบครัว
นอกจากนี้ แม้จะแยกย้ายไม่เป็นสามีภรรยากันแล้ว แต่ความรับผิดชอบเรื่องลูกยังอยู่ ฝ่ายที่จะแยกตัวไปโดยไม่เอาลูกไปด้วยจะสมทบค่าใช้จ่ายแค่ไหน อย่างไร ตรงนี้ต้องเจรจาหาข้อตกลงกัน และควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
4. กฎหมาย ใช้ให้เป็น
การเลิกราแยกทาง มีความแตกต่างระหว่างคู่ที่จดทะเบียนสมรส และไม่ได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งทั้งสองแบบทั้งสองควรศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น การแยกกันอยู่ชั่วคราว การจดทะเบียนหย่า การฟ้องหย่า การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู สิทธิการดูแลหรือการติดต่อลูก ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่องราวมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ขึ้นกับเงื่อนไขและสถานการณ์ของแต่ละครอบครัว มีหลายหน่วยงานที่บริการคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชน อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157
…
อย่าลังเลที่จะหา “ตัวช่วย” โดยหน่วยงานต่างๆ มีบริการที่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาและช่วยเหลือ เพื่อให้ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่คลี่คลายลงได้
ปรึกษาและแนะนำช่วยเหลือ :
เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว.com และไลน์ @linefamily
ที่มา :
ชุดความรู้สำหรับพ่อ/แม่เลี้ยงเดี่ยว. สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. มิถุนายน 2557

สร้างสรรค์บทความโดยความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.

พม.ช่วยครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวครบวงจร ‘ฝึกอาชีพ-สอนทำธุรกิจ-จัดทุนสตาร์ตอัพ’
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตั้งเป้าปี 2564 สนับสนุนครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 1,000 ราย ให้สามารถพึ่งตัวเองได้ ผ่านการฝึกอบรมทักษะอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ พร้อมประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อตั้งต้นอาชีพ
เพราะไม่อาจแจกเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือได้ตลอด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงพยายามปรับเปลี่ยนการช่วยเหลือเป็นการพัฒนาศักยภาพและติดตาม คาดหวังว่าวันหนึ่งประชาชนยากจนจะสามารถลุกขึ้นและพึ่งพาตัวเองได้
เป็นเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2564 หนึ่งในนั้นคือ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) พยายามช่วยเหลือครบทุกมิติ ผ่านการฝึกอบรมอาชีพฟรี เช่น ตัดผม เสริมสวย ทำเล็บ ทำอาหาร ฯลฯ หลังจากมีทักษะอาชีพ ก็สอนเทคนิคการทำธุรกิจและบริหารเงิน ก่อนประสานแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำมากให้นำไปตั้งต้นอาชีพ

นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรม สค. กระทรวง พม.กล่าวว่า สค.จัดของขวัญปี 2564 แก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,000 ราย ให้มาฝึกอาชีพกับศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 9 แห่งทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในส่วนผู้ฝึกอาชีพด้านอาหาร สค.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น โลตัส จัดอุปกรณ์ประกอบอาชีพพร้อมเงินตั้งต้น รวมมูลค่า 30,000 บาท ให้กับผู้ผ่านการอบรมที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 77 ราย ซึ่งขณะนี้ดำเนินการคัดเลือกได้ 30 กว่าคนแล้ว พิจารณาจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่มีความตั้งใจ ขยัน และมีภาระจำเป็นจริงๆ
ทั้งนี้ ในอนาคตจะประสานภาคเอกชนอื่นๆ ให้มาร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพแก่ผู้ผ่านการอบรมอีก เพื่อช่วยเหลือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวให้สามารถพึ่งตัวเองได้ต่อไป
“เราพยายามช่วยเหลือด้วยการฝึกทักษะอาชีพแก่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะครอบครัววัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งในฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ระบุมีประมาณ 7,000 ราย จะช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนก่อน ตลอดจนได้ตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือคลินิกครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ในการดูแลครบวงจร ด้วยความหวังว่าช่วยหนึ่งคน ก็เหมือนว่าได้ช่วยทั้งครอบครัว” นางจินตนากล่าว
กวิสรา แดงเพชร แม่เลี้ยงเดี่ยวสุดสตรองวัย 36 ปี มาพร้อมลูกชายวัย 12 ปี เป็น 1 ใน 77 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์และเงินประกอบอาชีพ เล่าด้วยสีหน้าดีใจว่า หลังจากสามีเสียชีวิตตอนลูก 3 เดือน ดิฉันก็เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมาตลอด เป็นบทบาทที่ต้องใช้ใจมาก เพราะต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ และต้องหาเงินเพียงลำพัง
กวิสรามีความพิการติดตัวตั้งแต่กำเนิดคือ กล้ามเนื้อขาลีบเล็ก มิหนำซ้ำยังถูกรถชนจนต้องดามเหล็กที่ขา ทำให้เธอยิ่งเดินเหินไม่คล่อง แต่ก็ยังทำงานสารพัด ทั้งนักบัญชี เซลส์ขายคอนโด ฟรีแลนซ์ เรียกว่า “ทำงานทุกอย่างที่สุจริต” เพียงลำพัง เพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว และนำมารักษาลูกชายที่บกพร่องทางการเรียนรู้ หรือแอลดี เธอทุ่มสุดตัวเข้าคอร์สเรียนรู้การดูแลเด็กป่วยแอลดี ก่อนมาดูแลและรักษาลูกของตัวเองจนหายได้ภายใน 3 ปี
“ชีวิตมันก็มีท้อนะ จริงๆ ถ้าตัวคนเดียว อาจเลือกไม่อยู่บนโลกใบนี้ไปแล้วก็ได้ แต่เพราะมีลูกจึงเลือกอย่างนั้นไม่ได้ ท้อได้แต่อย่านาน ก็รู้สึกดีใจที่ความทุ่มเทที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ลูกหายเป็นปกติแล้ว และแม้โควิดจะทำให้งานหดหาย จึงเลือกไปเรียนฝึกอาชีพด้านอาหาร เพื่อหวังหารายได้เสริม ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่ต้องขอบคุณกระทรวง พม. และโลตัสที่มอบโอกาสให้ต่อไป” กวิสราเล่าทั้งน้ำเสียงเข้มแข็ง
ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน, 5 มีนาคม 2564