
โควิด-19 ครอบครัวจะเดินทาง ต้องเตรียมตัวอย่างไร
ถึงแม้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีคำแนะนำให้อยู่กับบ้าน และหลีกเลี่ยงการเดินทาง กระนั้น หลายครอบครัวก็มีความจำเป็นต้องเดินทางอยู่นั่นเอง ยูนิเซฟ ประเทศไทย มีคำแนะนำเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว

ควรเดินทางช่วงโควิด-19 ระบาดหรือไม่
ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนย่อมเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อ ก่อนเดินทางคุณควรตรวจสอบว่ามีโรคโควิด-19 ระบาดในพื้นที่ใกล้บ้านหรือพื้นที่ที่คุณจะเดินทางไปหรือไม่
ควรงดเดินทางหากสมาชิกในครอบครัวคุณไม่สบาย มีอาการของโรคโควิด-19 หรือใกล้ชิดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใน 14 วันที่ผ่านมา และควรเลื่อนการเดินทางออกไปก่อนหากมีสมาชิกในครอบครัวที่เสี่ยงต่ออาการป่วยรุนแรง (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ) หรือเป็นการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ คุณควรเลื่อนการเดินทางไปพบญาติหรือเพื่อนที่มีแนวโน้มว่าจะป่วยหนักหากติดเชื้อโควิด-19 ออกไปก่อน
คุณควรเตรียมตัวเดินทางเป็นครอบครัวอย่างไร
หากคุณตัดสินใจเดินทาง คุณควรตรวจสอบข้อห้าม ข้อบังคับห้ามออกจากบ้าน ข้อกำหนดให้กักตัว ข้อบังคับให้ตรวจหาเชื้อที่ประกาศใช้ในพื้นที่ของคุณและทุกที่ที่คุณมีแผนจะเดินทางไป (ตรวจสอบข้อมูลจากเว็ปไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่) อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่อาจปรับนโยบายเหล่านี้โดยไม่แจ้งล่วงหน้าและอาจกระทบแผนการเดินทางของคุณ หากคุณหรือคนในครอบครัวป่วยหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระหว่างเดินทาง คุณอาจต้องถูกแยกตัวหรือกักตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อการเดินทางกลับ
นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุขบางพื้นที่อาจให้บริการไม่ทัน และคุณอาจเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลในพื้นที่ที่มีการระบาดหากคุณหรือคนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บระหว่างเดินทาง
หาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง อาหารและที่พักในพื้นที่ที่คุณจะไปไว้ล่วงหน้า พึงจำไว้ว่าพื้นที่ที่มีการติดเชื้ออาจจำกัดการเปิดธุรกิจและบริการบางประเภท รวมถึงการขนส่งสาธารณะ ร้านค้าและร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมต่าง ๆ ดังนั้น คุณควรหาข้อมูลล่าสุดเรื่องการให้บริการและขั้นตอนต่าง ๆ เอาไว้ด้วย
คุณควรคำนึงถึงเรื่องอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- คุณและคนในครอบครัวมีข้อมูลวัคซีนจนถึงปัจจุบันของตนเอง และควรฉีดวัคซีนรวม (วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน หรือ MMR) รวมทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้วก่อนเดินทาง
- ให้คนในครอบครัวเตรียมยาประจำตัวไปเพียงพอสำหรับตลอดการเดินทาง
- เลือกวิธีการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด ควรเลี่ยงการโดยสารเครื่องบินหรือเรือ เนื่องจากไม่เอื้อให้รักษาระยะห่างจากคนอื่นได้นาน หากคุณใช้บริการขนส่งสาธารณะ คุณควรระมัดระวังและปฎิบัติดังนี้ - รักษาระยะห่างทางกาย แตะต้องพื้นผิวใด ๆ ให้น้อยที่สุด และล้างมือสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ ควรนั่งห่างจากผู้โดยสารคนอื่นหลาย ๆ แถว หากเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัว ควรแวะพักระหว่างทางให้น้อยที่สุด โดยนำอาหารและเครื่องดื่มไปให้เพียงพอ และเติมน้ำมันให้เรียบร้อยล่วงหน้า
- วางแผนการเดินทางให้ดีและเลี่ยงช่วงที่มีคนเดินทางจำนวนมากและเส้นทางที่การจราจรหนาแน่นเท่าที่จะทำได้
- ระหว่างเดินทาง ให้เลี่ยงพื้นที่แออัด อากาศไม่ถ่ายเท พื้นที่ปิด และพื้นที่ที่คนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น คอนเสิร์ต งานกิจกรรม และปาร์ตี้ต่าง ๆ
- หากทำได้ควรเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไปเอง

เตรียมตัวอย่างไร ถ้าจะไปนอนค้างคืนที่อื่น
ถ้าคุณจะไปนอนพักที่โรงแรมหรือสถานที่อื่น คุณควรหาข้อมูลไว้ล่วงหน้าว่าสถานที่นั้นมีมาตรการดังต่อไปนี้หรือไม่
- พนักงานสวมหน้ากากขณะทำงาน รักษาระยะห่างทางกาย และล้างมือสม่ำเสมอ
- มีมาตรการอื่น ๆ เช่น มีแผงกั้นหรือแผ่นกระจกระหว่างพนักงานกับลูกค้าที่จุดเช็คอิน ดัดแปลงพื้นที่หรือติดตั้งที่กั้นเพื่อรักษาระยะห่างระหว่างพนักงาน แขกที่เข้าพัก และผู้อื่นในโถงล็อบบี้ ลิฟต์ และพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ มีระบบถ่ายเทอากาศ
- โรงแรมปฏิบัติตามนโยบายทำความสะอาดและฆ่าเชื้อล่าสุด
- เมื่อคุณไปถึง ถ้าเป็นไปได้ ควรฆ่าเชื้อพื้นผิวในห้องพักของคุณ รวมถึงกุญแจ ลูกบิดประตู รีโมทและอื่น ๆ เมื่อคุณเข้าห้องแล้วควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท เลี่ยงการใช้บริการทำความสะอาด หรือสั่งอาหารมารับประทานในห้องเพื่อให้มีคนนอกเข้ามาในห้องให้น้อยที่สุด
ข้อควรระวังที่ควรปฏิบัติตามระหว่างการเดินทาง
ขณะเดินทาง ผู้ปกครองและผู้ดูแลควรระมัดระวังและดูแลตนเองและเด็ก ๆ ตามคำแนะนำดังนี้:
ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ
- เลี่ยงการสัมผัสใบหน้า (ตา จมูก ปาก)
- เลี่ยงสถานที่คนแออัด และสถานที่ปิดที่อากาศไม่ถ่ายเท
- รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตรเมื่ออยู่ในสถานที่สาธารณะ
- ใส่หน้ากากขณะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีโควิด-19 ระบาด และไม่สามารถรักษาระยะห่าง
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่จับต้องบ่อย ๆ เช่น โทรศัพท์ กุญแจ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ และอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ
- หากจะไปรับประทานอาหารข้างนอก คุณควรนำอาหารและอุปกรณ์การรับประทานอาหารไปเอง หากไม่สามารถทำได้ ควรเลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เช่น ซื้อกลับมารับประทานแทนการนั่งรับประทานในร้าน อย่าลืมล้างมือหรือฆ่าเชื้อที่มือก่อนรับประทาน
- หากคุณ หรือลูกมีอาการไข้ ไอ หายใจขัด หรืออาการอื่น ๆ ของโควิด-19 ควรรีบไปพบแพทย์
เมื่อกลับถึงบ้านแล้วควรทำอย่างไร
เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือข้อบังคับที่หน่วยงานระดับประเทศหรือท้องถิ่นกำหนด และปฏิบัติตามข้อควรระวังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเฝ้าสังเกต หากมีอาการโควิด-19 ต้องไปพบแพทย์
ที่มา : ยูนิเซฟ ประเทศไทย

ความขัดแย้งในบ้าน จัดการได้
วันนี้กินอะไรกันดี?
วันหยุดยาวอยากไปเที่ยวไหน?
เก็บตังค์เพิ่มกันไหมเราจะออมเงินอย่างไร?
คำถามง่าย ๆ แบบนี้ ที่เดาได้ว่า คำตอบของแต่ละคนในบ้านจะแตกต่างกัน เป็นตัวอย่างที่ทำให้รู้ว่า
ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ในเมื่อเราทุกคนต่างก็มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น
ความคิดเห็นที่แตกต่างรวมทั้งความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน เป็นจุดเริ่มของความขัดแย้ง ถ้าครอบครัวไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างสันติเรื่องก็อาจบานปลายกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้ง โกรธเคือง น้อยใจไปจนถึงชังน้ำหน้ากัน ยิ่งถ้ามีคนที่จัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้อยู่ในบ้านความขัดแย้งที่ไร้ทางออก จะทำให้เกิดความเครียด เก็บกด ซึมเศร้า หรือบางคนออกอาการไปในทางก้าวร้าวจนถึงขั้นใช้ความรุนแรงได้

ความขัดแย้งสามัญประจำบ้าน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและคนในครอบครัวเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ง่าย เช่น การสร้างครอบครัวใหม่ การมีลูก การมีลูกเพิ่มอีกลูกโตเป็นวัยรุ่น สมาชิกในครอบครัวเข้าสู่วัยชรา ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น คุณพ่อบ้านย้ายงาน ทำให้ต้องย้ายที่อยู่ใหม่ การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวอย่างกระทันหันวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และการใช้ชีวิตของครอบครัว ฯลฯ
เหล่านี้เป็นโจทย์ท้าทายเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม คนที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว แต่มุมมองของแต่ละคนมักจะไม่ตรงกันเครื่องมือสำคัญเพื่อรับมือกับความคิดเห็น หรือความเข้าใจที่แตกต่างกัน ก็คือการสื่อสาร
บ้านไม่ใช่สนามรบ
เวลาเกิดความคิดเห็นแตกต่างเรามักจะคิดว่า เราถูก คนอื่นผิด ความคิดของเราดี ของคนอื่นแย่ แต่เพราะครอบครัวคือการอยู่ร่วมกันการรับฟังความคิดเห็น และความต้องการของแต่ละฝ่าย เพื่อจะประนีประนอม หาจุดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ร่วมกันจึงจำเป็น
วิธีในการหาพื้นที่ตรงกลางเพื่อให้ทุกคนมีที่ยืนร่วมกันได้ ไม่ยาก แต่อาจต้องใช้เวลาฝึกฝน
ปักธงให้ตรงจุดมองเป้าหมายให้ชัดก่อนว่า เรากำลังหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เถียงให้ชนะอีกฝ่าย เพราะถ้าคิดแบบนั้นแปลว่าเราคิดถูกอยู่คนเดียว คนอื่นผิดหมด ไม่ต่างจากการสู้รบให้รู้แพ้รู้ชนะ แต่ครอบครัวไม่ใช่สนามรบไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ สิ่งที่พังแน่ๆ คือความรู้สึกและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
หาฤกษ์ดีเปิดเวทีเจรจา อย่าเถียงกันตอนอารมณ์กำลังปะทุซึ่งเสี่ยงจะเกิดการปะทะ การหาทางออกร่วมกันต้องใช้เหตุผล และสมองส่วนเหตุผลทำงานไม่ได้ตอนที่อารมณ์เดือดพล่านถ้ารู้ว่ากำลังโมโหให้พักก่อน แต่ละฝ่ายแยกย้ายไปจัดการอารมณ์จนคืนสู่สภาวะปกติแล้วค่อยกลับมาตั้งโต๊ะเจรจากันใหม่
ฟังให้ได้ยินกุญแจดอกสำคัญ คือการฟังกันฟังให้ได้ยินว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร พักความคิดของตัวเองไว้ก่อนพยายามเข้าใจปัญหาจากจุดยืนความเชื่อของอีกฝ่าย จะทำให้เห็นโจทย์ชัดเจนขึ้น
พูดดีมีทางไป การประชดประชัน กระแนะกระแหน เสียดสี ไม่เอื้อสำหรับการหาทางออกร่วมกันทางเลือกที่ดีกว่าคือ เคารพความคิดเห็นของอีกฝ่าย ใช้ท่าทีเป็นมิตรสื่อสารตรงประเด็นว่าตัวเองคิด รู้สึก และต้องการอะไร หลีกเลี่ยงคำที่พูดที่ส่อไปในทางตำหนิกล่าวโทษคนอื่น
หยุดได้ปลอดภัยกว่า บางประเด็นเป็นเรื่องใหญ่คุยแล้วไม่ได้ข้อยุติในเวลาอันจำกัด ถ้าเหนื่อย หรือหิว ให้หยุดพักอย่าฝืนคุยต่อเพราะจะทำให้อารมณ์เสีย ควบคุมตัวเองได้ไม่ดี เผลอพูดไม่ดี และจะพาลทะเลาะกันเปล่า ๆ
สร้างหลักประกันความสุขสงบ
บ้านไหนยังไม่เคยตั้งกติกาเพื่อรับมือความขัดแย้งเพราะคิดว่าครอบครัวเรารักกัน ไม่ทะเลาะกันรุนแรง ขอชวนให้คิดใหม่ ลองนึกถึงการซื้อประกันรถยนต์เราเตรียมตัวตั้งแต่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ความขัดแย้งก็เช่นกันควรวางแผนตอนที่สภาพอารมณ์เป็นปกติดี หรือตั้งแต่มีความไม่ลงรอยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น
ผลัดกันพูด ผลัดกันฟังอย่าเพิ่งพูดขัด อย่าถามแทรก อย่าขึ้นเสียงใส่กัน
มีคำพูดไหนไหม ที่ฟังแล้วไฟลุกทันทีรู้กันไว้จะได้หลีกเลี่ยง
ถ้าเริ่มโกรธ หยุดคุยก่อนแยกย้ายไปสงบสติอารมณ์ จะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน
ฯลฯ
อำนาจในครอบครัว
ความจริงที่ต้องยอมรับคือในครอบครัว แต่ละคนมีอำนาจไม่เท่ากัน พ่อแม่มีอำนาจมากกว่าลูกแน่ ๆ พอถึงวัยเกษียณลูกโตเป็นผู้ใหญ่กลายเป็นผู้นำครอบครัว เป็นคนตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ หรือสามีภรรยา คนที่ทำงานมีรายได้อาจถืออำนาจเหนือกว่าคนที่ทำงานบ้านโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน
ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับอีกเช่นกันคือไม่มีใครอยากต่ำต้อยด้อยค่า ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ทุกคนไม่อยากถูกมองข้าม ไม่มีใครฟังไม่มีใครสนใจความต้องการ
การบริหารอำนาจในบ้านจึงต้องมีกติกาไม่มีใครผูกขาดการตัดสินใจทุกเรื่องอยู่แค่คนเดียว เพราะถ้าคนอื่นต้องจำใจ ฝืนใจและอดทนทำตามทั้งที่ไม่เห็นด้วย ย่อมไม่ช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพัน และวันหนึ่งความอดทนก็อาจหมดลงดังนั้น ต้องมองทุกคนว่ามีความสำคัญ แต่ละคนอาจมีสถานะและความรับผิดชอบแตกต่างกันแต่ต้องไม่ถูกมองข้าม และควรได้รับความใส่ใจ ช่วยเหลือไม่ถูกปล่อยให้ต้องก้มหน้ารับผิดชอบงานบางอย่างอยู่แค่คนเดียว รวมทั้งเคารพความคิดเห็นและความต้องการของกันและกัน
เคล็ดลับครอบครัวเข้มแข็ง
ที่มา : เว็บไซต์ เพื่อนครอบครัว

WFH เทรนด์ใหม่ในญี่ปุ่น Work Life ไม่ Balance

โควิด-19 เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น หลายบริษัทปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ จำนวนหนึ่งเลือก Work Life Balance แต่อีกจำนวนมากยังยืนยันจะเข้าออฟฟิศ เพราะกลัวว่าถ้าไม่อยู่ในสายตาหัวหน้า แล้วจะมีผลกับการประเมินเงินเดือน/ตำแหน่ง
วินาทีที่ โออุโนะ ทาคาฮิโระ รับแจ้งจากฟูจิตสึ บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ว่าได้บรรจุเข้าทำงาน แทนที่จะดีใจ โออุโนะ กลับรู้สึกวิตกกังวล เพราะตำแหน่งงานที่ได้ต้องไปประจำสาขาที่โตเกียว แต่บ้านของเขาอยู่จังหวัดอื่น โออุโนะ ไม่อยากแยกจากครอบครัวไปอยู่ตามลำพัง
เมื่อบริษัทบอกว่าเขาสามารถทำงานจากที่บ้านต่างจังหวัดได้ โออุโนะก็โล่งใจ และขอบคุณนายจ้างที่ให้โอกาสเขาได้เลือกรูปแบบการทำงานด้วยตัวเอง โออุโนะเข้าใจดีว่าความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการงานคือสิ่งสำคัญ และคนอื่นก็อาจไม่ได้โชคดีเหมือนเขา
ฟูจิตสึ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เต็มรูปแบบ ปีนี้ บริษัทจ้างพนักงานใหม่ 15,000 คน และอนุญาตให้พนักงานใหม่ทั้งหมดทำงานจากที่บ้านได้ ปัจจุบัน พนักงานของฟูจิตสึมากกว่า 80,000 คนทำงานจากที่บ้าน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลดพนักงานที่เข้าออฟฟิศลงให้เหลือแค่ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2565
"ทำงานจนตาย" วัฒนธรรมการทำงานของสังคมญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ปัจจุบัน ยังมีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีซูงะ โยชิฮิเดะ ขอความร่วมมือให้บริษัทห้างร้านทั้งหลายปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดความแออัดและการแพร่เชื้อ
การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากที่ทำงานเป็นที่บ้าน เป็นการพลิกวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคร่งครัดเรื่องการเข้า-ออกงาน การที่พนักงานต้องนั่งทำงานในออฟฟิศให้เจ้านายเห็นเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น การอยู่ในออฟฟิศสะท้อนความทุ่มเทในการทำงานและความภักดีที่มีต่อบริษัท ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินผลงานและการเลื่อนตำแหน่งในภายภาคหน้า
วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน หนักหน่วง และมีความเครียดจนถึงระดับ “คาโรชิ” (Karoshi) หรือการตายจากการทำงาน วัฒนธรรมนี้ยังปิดกั้นโอกาสการทำงานของผู้หญิง เพราะเมื่อแต่งงานและมีลูก ผู้หญิงต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งไปกับการดูแลลูกและครอบครัว การลาหยุดเวลาที่ลูกป่วยหรือมีธุระฉุกเฉินถือเป็นเรื่องต้องห้ามของบริษัท ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องลาออกจากงาน และกลายเป็นแม่บ้านดูแลครอบครัว
การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทจำยอมปรับตัวครั้งใหญ่ ผลสำรวจล่าสุด พบว่าบริษัทขนาดเล็กและกลางกว่าร้อยละ 80 เริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ เหลือบริษัทขนาดใหญ่แค่ไม่กี่แห่ง เช่น ฟูจิตสึ ฮิตาชิ ที่เพิ่งจะเริ่มมีมาตรการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน
สัญญาณ New Normal กำลังมา
โคบายาชิ ยูจิ นักวิจัยจากสถาบัน Persol Research and Consulting บอกว่า ถึงแม้บริษัทจะอนุญาตให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้าน แต่พนักงานส่วนใหญ่ไม่กล้าเลือกทางที่ทำให้ตัวเองมี Work Life Balance เพราะกลัวว่าการทำงานของตัวเองจะไม่เข้าตานายจ้าง
บริษัทใหญ่ๆ บางแห่งยังมองว่า พนักงานควรเข้าออฟฟิศ เพราะต้องทำงานเป็นทีม ด้วยเชื่อว่าการทำงานจากที่บ้านไม่มีทางสร้างทีมเวิร์กได้
พนักงานวัย 32 ที่ทำงานในบริษัทสิ่งพิมพ์แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวบอกว่า บริษัทอนุญาตให้ทำงานได้จากที่บ้านได้ แต่ต่อมาเขาพบว่าเจ้านายจะมอบหมายงานสำคัญให้กับคนที่เข้าออฟฟิศเท่านั้น สุดท้ายตนเลยต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศตามเดิม เพราะไม่อยากถูกมองข้าม
ปัจจุบัน มีเพียงพนักงานราวร้อยละ 25 เท่านั้นที่เลือกทำงานจากที่บ้าน แม้เป็นตัวเลขที่ต่ำ แต่นักวิเคราะห์ทั้งหลายก็เห็นถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบ New Normal ของสังคมญี่ปุ่น
ล่าสุด หน่วยงานรัฐบาลกำลังพยายามยกเลิกการใช้แฟกซ์ และตราประทับเอกสาร เพราะต้องการผลักดันการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ
บริษัทฟูจิตสึ มีแผนการขยายระบบไอทีและเครือข่ายภายในบริษัทเพื่อรองรับการทำงานที่บ้านของพนักงาน ด้วยแนวคิดว่า การอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทให้สูงขึ้น
โฆษกของบริษัทบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน น่าจะช่วยให้คุณผู้ชายทั้งหลายหัดดูแลลูกและทำงานบ้านแทนภรรยาเสียบ้าง
ในทางกลับกัน หลายคนเชื่อว่า การทำงานจากที่บ้านและมี Work Life Balance น่าจะช่วยให้ผู้หญิงญี่ปุ่นสามารถทำงานได้มากขึ้นด้วย