
“ท้อง” ทำงานอย่างไร ให้ปลอดภัยในช่วงโควิด-19
เผยอัตราตาย หญิงตั้งภรรค์จากโควิด สูงกว่าคนทั่วไปกว่า 2 เท่า พบคนที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แนะหน่วยงานรัฐ/เอกชน จัดรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง
พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์หญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเริ่มพบมากขึ้นหลังสงกรานต์ปี 2564 ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่ ธันวาคม 2563 – 11 สิงหาคม 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด 1,993 ราย คลอดแล้ว 1,129 ราย (คิดเป็น 55% ) และกลุ่มนี้มีการฉีดวัคซีนเพียง 10 ราย พบทารกติดเชื้อจากแม่ 113 คน คิดเป็น 11.8% ถือว่าสูงกว่าต่างประเทศมาก ส่วนหนึ่งเพราะเทียบกับข้อมูลจากประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
“ที่น่าห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเสียชีวิตถึง 37 ราย คิดเป็น 1.85% เทียบกับคนทั่วไปที่ติดเชื้อเสียชีวิต 0.83% ถือว่าสูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่าครึ่ง ทารกเสียชีวิต 36 ราย คิดเป็น 1.8% เป็นคลอดแล้วเสียชีวิตเลย 11 ราย และเสียชีวิตภายใน 7 วันหลังคลอด 9 ราย อีก 16 ราย เสียชีวิตในท้องพร้อมแม่ ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือการรับวัคซีน ซึ่งภูมิต้านทานจะถึงทารกด้วย ขณะนี้มีรายงานจากต่างประเทศแล้วว่าการฉีดแบบมิกซ์แอนด์แมชต์ได้ผลภูมิคุ้มกันสูง ไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีน แต่ควรรีบฉีดวัคซีนให้ได้ภูมิคุ้มกันขั้นแรกจากเข็มแรกก่อน และเมื่อตามด้วยเข็ม 2 ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว” พลอากาศโท นายแพทย์การุณกล่าว

เผยสาเหตุ ตั้งครรภ์เสียชีวิตง่าย เสี่ยงแท้ง/คลอดก่อนกำหนด
พลอากาศโท นายแพทย์การุณ กล่าวอีกว่า รกและสายสะดือมีหลอดเลือดจำนวนมาก ขณะที่โรคโควิด 19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการแท้งการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงสรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก
ส่วนกรณีหญิงตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนโควิดแล้วลูกเสียชีวิตในท้องนั้น ธรรมชาติของการตั้งครรภ์ สามารถพบทารกเสียชีวิตในท้องได้ประมาณ 1% มีหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อ หลอดเลือด สายสะดือ รก ความดันโลหิตสูง จะระบุว่ามาจากการฉีดวัคซีนคงไม่สามารถจะสรุปได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนมีความปลอดภัยและจำเป็นสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะ ทุกอย่างเช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆเข้ามาแทรกซ้อน สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรงเช่นโควิดลงปอด
“ในช่วง 1 ปีของโควิดทำให้ทราบว่าไวรัสกระจายไปอยู่ในทุกส่วนของการตั้งครรภ์ ได้แก่ เลือดแม่ น้ำคร่ำรอบตัวเด็ก เนื้อรก หรือน้ำคัดหลั่งในช่องคลอด ไม่ว่าคลอดทางไหนมีสิทธิติดถึงลูกได้ รวมถึงผ่านน้ำนมไปได้ด้วย แต่ผ่านไปได้มากแค่ไหนกำลังมีการศึกษา ดังนั้น การให้นมบุตรยังมีความจำเป็น เพราะลูกจะได้ภูมิต้านทานจากโรคอื่นด้วย” พลอากาศโท นายแพทย์การุณกล่าว
แนะตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยงสูง WFH
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 1,993 คน ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัวและสถานที่ทำงาน และจากการวิเคราะห์ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิต พบว่าสาเหตุแต่ละรายเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ
1) ปัจจัยจากหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 9 โดยหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวขาดความรู้ ความเข้าใจไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงของตนเอง 2) การเข้าถึงบริการ ร้อยละ 21 และ 3) ข้อจำกัดภายในระบบบริการร้อยละ 70
โดยขณะนี้มีหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเพียง 7,935 คน และเข็มสอง 574 คน จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมมากที่สุดตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และมติที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ และหญิงให้นมบุตรสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19
นอกจากนี้ แม้ว่าหญิงตั้งครรภ์จะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังต้องไปตรวจครรภ์ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ตามนัดหมาย โดยป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTT สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที งดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน สังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุก สะอาด ครบ 5 หมู่ ดื่มนมรสจืด 2-3 แก้วทุกวัน เลี่ยงอาหารรสจัด หมักดอง กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
นอกจากนี้ สถานประกอบการ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ควรสนับสนุนให้กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ทำงานที่บ้าน (Work From Home) ได้แก่ กลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม, ตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 หรือ 28 สัปดาห์ขึ้นไป, มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง, ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยกรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันการติดเชื้อจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวและภายในบ้านสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เผยแพร่ทาง Facebook เพจกรมอนามัย

ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

กลุ่มตั้งครรภ์เสี่ยงสูง แนะตรวจครรภ์ทางไกล เลี่ยงไปโรงพยาบาล
ในการเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจัดเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป รับรู้ เข้าใจถึงนโยบายการดูแลหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
รวมทั้งสามารถให้บริการและคำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนบริหารจัดการ การให้บริการในสถานพยาบาลสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดอัตราการ ป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19
จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่ม หญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 20 กรกฎาคม 2564 พบมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 898 ราย เสียชีวิต 16 ราย ในขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ข้อมูลวัคซีน ในหญิงตั้งครรภ์ยังมีไม่มาก
กรมอนามัยจึงให้ความสำคัญโดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ผลักดันนโยบายให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลที่เหมาะสมผ่านคลินิกฝากครรภ์ที่หญิงตั้งครรภ์ไปรับบริการอยู่ โดยให้หญิงตั้งครรภ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค
“ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว ยังคงต้องป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเป็นพิเศษ โดยงดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ เว้นระยะห่าง งดออกจากบ้านหรือเดินทางเท่าที่จำเป็นเมื่อต้องไปตรวจครรภ์ โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์
“สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคประจำตัว อาจโทรปรึกษาแพทย์เพื่อขอเว้นระยะเวลาการไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล โดยให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม อีกทั้งกรมอนามัยได้ออกคำแนะนำการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ในสถานการณ์โควิด-19
“มีการปรับรูปแบบบริการของหน่วยบริการ ได้แก่ การให้บริการฝากครรภ์และคลินิกเด็กสุขภาพดีแบบวิถีใหม่ เพื่อลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลของผู้รับบริการให้น้อยลง และนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการสื่อสารกับผู้รับบริการ ออกแนวปฏิบัติในการดูแลเด็กติดเชื้อโควิด-19 แนวปฏิบัติในการเปิดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย มีการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ การติดตามข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงมีการทบทวนวิเคราะห์สาเหตุการตายมารดาจากโควิด-19 เพื่อหามาตรการป้องกัน โดยมีศูนย์อนามัยที่ 1–12 ของกรมอนามัย ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

แนะเช็คอายุครรภ์ก่อนฉีดวัคซีน ลดความเสี่ยงทั้งแม่และเด็ก
กรมอนามัย แนะหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรง และลดโอกาสคลอดก่อนกำหนดที่อาจเกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาวต่อเด็กได้ พร้อมแนะปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ลดเสี่ยงโควิด-19

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบการติดเชื้อในกลุ่มแรงงาน ชุมชนแออัด และในครอบครัว
ข้อมูลการสำรวจของกรมอนามัย ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ จำนวน 519 ราย หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ แต่ก็พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตแล้ว จำนวน 8 ราย ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อมาจากสถานที่ทำงานและจากบุคคลในครอบครัว พบทารกเสียชีวิต จำนวน 4 ราย ทารกติดเชื้อ จำนวน 36 ราย
จากการศึกษาทบทวนข้อมูลการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโรคโควิด-19 มีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป องค์การต่าง ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) รวมทั้งราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับวัคซีนเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อทั้งแม่และเด็กในครรภ์ โดยให้รับวัคซีนในช่วงหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป เพื่อลดความกังวล ต่อการเกิดความพิการของทารก และเนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดอย่างมากในขณะนี้
การได้รับวัคซีนถือว่า มีประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวัคซีน โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ฉีดวัคซีนสามารถ ลดการเจ็บป่วย ลดโอกาสคลอดก่อนกำหนดซึ่งจะเกิดผลแทรกซ้อนระยะยาวต่อเด็ก และลดโอกาสแพร่เชื้อไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว โดยเฉพาะหากมีเด็กเล็กอยู่ด้วย
“แม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว แต่ยังต้องไปตามนัดหมาย ตรวจครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพของลูกในท้องทุกครั้ง โดยต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อในระหว่างนั่งรอตรวจหรือรับยา หากสงสัยว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือไปในพื้นที่เสี่ยงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบทุกครั้งเมื่อไปตรวจครรภ์ และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ให้เว้นระยะห่างจากผู้อื่น อย่างน้อย 2 เมตร เมื่อกลับถึงบ้านให้ถอดหน้ากากทิ้งอย่างถูกวิธี ล้างมือ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที งดใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกันภายในบ้าน และให้สังเกตอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์ด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย