
DOWNLOAD คู่มือครอบครัวเป็นสุข ยุค New normal
ในสถานการณ์ new normal สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ work from home ของพ่อแม่ และการเรียนออนไลน์ของลูก ทำให้แต่ละคนต้องมีหลายบทบาทพร้อมๆ กัน เช่น เป็นแม่-หัวหน้างาน เป็นพ่อ-เพื่อนร่วมงาน เป็นลูก-นักเรียนออนไลน์ เป็นต้น บทบาทที่หลากหลาย บางครั้งก็ไม่ไปด้วยกัน ย่อมส่งผลต่อจิตใจและอารมณ์ไม่น้อย จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันในครอบครัว
“คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก” จะช่วยให้แนวทางสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกัน พร้อมกับเติมความเข้าใจ และรู้จักคนในครอบครัวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
คลิ๊กดาวน์โหลด “คู่มือสร้างภูมิคุ้มใจ ฉบับครอบครัวและเด็ก”

ท้องถิ่น-เอกชน สหรัฐฯ จัดผู้สูงอายุดูแลเด็ก รับกระแส WFH
พฤติกรรมการทำงานของผู้คนในอเมริกาที่เปลี่ยนมาทำงานจากบ้านกันมากขึ้น ได้เปิดประตูแห่งโอกาสในการย้ายเมืองย้ายรัฐ และทำให้เมืองเล็ก ๆ ในอเมริกาได้รับความสนใจมากขึ้น ล่าสุด เมืองชนบทในรัฐอินเดียนา เปิดตัวบริการ ปู่ย่าตายายสแตนอิน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลบุตรหลานของผู้ที่ย้ายมาอยู่ใหม่ในเมืองนี้
หลายร้อยครอบครัวสนใจที่จะย้ายไปอยู่ที่เมืองชนบททางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐอินเดียนา หลังจากที่เมืองนี้จัดให้มี “ปู่ย่าตายาย” ตัวสำรอง หรือคนที่ช่วยทำหน้าที่เป็นปู่ย่าตายายคอยดูแลบุตรหลานของตน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มุ่งดึงดูดบรรดาคนทำงานจากทางไกล
Tami และ Dan Wenning คู่สามีภรรยาในพื้นที่อาสาที่จะทำหน้าที่เป็นปู่ย่าตายายให้กับเด็ก ๆ จากห้าครอบครัวแรกที่ตกลงจะย้ายมาอยู่ที่เมืองกรีนส์เบิร์กภายใต้โครงการนี้ Tami กล่าวว่าถ้าหากมีคนย้ายมาอยู่มากขึ้น ผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ในชุมชนก็พร้อมที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
เมืองกรีนส์เบิร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากอินเดียนาโพลิสไปทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นระยะทาง 80.47 กิโลเมตร จะมีบริการรับเลี้ยงเด็กฟรีเป็นเวลา 6 ถึง 12 เดือน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า “ปู่ย่าตายาย พร้อมให้บริการ” นอกจากนี้เด็ก ๆ ยังจะมีคุณตาคุณยายตัวแทนช่วยไปที่โรงเรียนในวัน Grandparents Day ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากครอบครัวอีกด้วย

Evan Hock ผู้ร่วมก่อตั้ง MakeMyMove ในอินเดียนาโพลิส ซึ่งเป็นบริการออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนทำงานทางไกลกับข้อเสนอดังกล่าวที่อยู่ทั่วประเทศกล่าวว่า เพียงสองสัปดาห์หลังจากเปิดตัวโครงการนี้ ก็มีผู้สมัครมากกว่า 1,000 ราย โดย 70% ของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นคนทำงานทางไกล Hock กล่าวว่าข้อเสนอที่ไม่เหมือนใครนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากมาย และขณะนี้มีการพิจารณาเพื่อขยายโครงการที่เมืองกรีนส์เบิร์ก โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของที่อยู่อาศัย
Tami Wenning วัย 57 ปี ซึ่งเป็นอาสาสมัครในโครงการนี้ผ่านการทำงานในฐานะผู้อำนวยการมูลนิธิ Decatur County Community Foundation เล่าว่าเธออาศัยอยู่ที่เมืองนี้มาทั้งชีวิต และรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ช่วยทำให้ผู้คนได้รับรู้ว่า เมืองนี้เป็นสถานที่สมบูรณ์แบบสำหรับการสร้างครอบครัว โดยเธอไม่คิดว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่ที่อื่นที่ไม่มีคนรู้จักให้พึ่งพาอาศัยได้
Evan Hock คาดว่าโควต้าที่จัดให้ห้าครอบครัวแรกที่สมัครไปอยู่ในกรีนส์เบิร์กกำลังจะได้รับการจัดสรรในอีก 30 วัน และผู้ที่จะย้ายมาอยู่ใหม่จะได้รับความช่วยเหลือในการย้ายเข้าเมืองในอีกสองหรือสามเดือนข้างหน้านี้
ทั้งนี้ แพคเกจที่เป็นข้อเสนอสำหรับการย้ายไปอยู่ที่กรีนส์เบิร์ก ได้แก่เงินสด 5,000 ดอลลาร์ ได้รับเชิญไปรับประทานอาหารโฮมเมดที่บ้านของเพื่อนบ้าน ได้เป็นสมาชิก YMCA ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกันเป็นเวลา 1 ปี ได้บัตรของขวัญตลาดเกษตรกรตามฤดูกาล และได้ตั๋วเข้าชมการแสดงต่าง ๆ ที่โรงละครในท้องถิ่น
แพคเกจดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อดึงดูดให้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานทางไกลที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มสำหรับคนทำงานทั่วประเทศที่ย้ายไปยังชุมชนเล็ก ๆ ที่มีค่าครองชีพที่ถูกกว่า
Joshua Marsh นายกเทศมนตรีเมืองกรีนส์เบิร์กกล่าวว่า เมื่อผู้คนย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง เป้าหมายก็คือการทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ ทำให้รู้สึกคุ้นเคยเหมือนอยู่มานาน และช่วยให้ประสบความสำเร็จเมื่อย้ายมาอยู่ในเมืองนี้
นอกจากนี้ชุมชนอื่น ๆ อีกหลายสิบแห่งในรัฐอินเดียนาก็มีโครงการเพื่อจูงใจคนทำงานที่มีความรู้ มีการศึกษา และมีรายได้สูงให้ย้ายไปอยู่ที่เมืองของตนเช่น เขตเดวี่ส์ และ กรีนน์ ซึ่งอยู่ทางใต้ของรัฐอินเดียนาซึ่งจะมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์แก่ผู้ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชน ส่วนบลูมมิงตัน และ เวสท์ ลาฟาแยต ซึ่งเป็นเมืองแห่งมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งก็เสนอโอกาสการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัย เช่น พื้นที่ทำงานร่วมกันและโอกาสในการสร้างเครือข่ายด้วย
ส่วนรัฐอื่น ๆ เช่นที่เมืองออกัสตา ในรัฐเมน เมืองนิวตัน รัฐไอโอวา และเมืองมอร์แกนทาวน์ รัฐเวสต์ เวอร์จิเนีย เสนอเงินระหว่าง 12,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์ สำหรับรูธเทอร์ฟอร์ดเคาน์ตี้ รัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย Middle Tennessee State University จะช่วยนักศึกษาชำระหนี้ที่กู้มาเรียนจำนวน 10,000 ดอลลาร์ ส่วนที่เมืองสติลวอเตอร์ รัฐโอคลาโฮมา มีข้อเสนอด้านการเงินควบคู่ไปกับการดื่มกาแฟฟรีเป็นเวลาหนึ่งปี และให้เข้าชั้นเรียนศิลปะการต่อสู้ฟรีหนึ่งเดือน เป็นต้น
Evan Hock ผู้ร่วมก่อตั้ง MakeMyMove กล่าวส่งท้ายว่าการย้ายถิ่นฐานของคนทำงานทางไกล จากเขตเมืองใหญ่ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่นเมืองกรีนส์เบิร์กด้วยเหตุผลจากสถานการณ์โรคระบาดใหญ่นั้นเป็นแนวโน้มที่จะคงอยู่ไปอีกยาวนาน ซึ่งจะเป็นการช่วยให้คนทำงานหลายล้านคนได้สัมผัสกับวิถีชีวิตใหม่ ๆ และได้เสรีภาพของการทำงานจากที่บ้านอีกด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ VOA Thai

5 เทคนิคฟิตหุ่น เพื่อชาวออฟฟิศ
ปัจจุบันชีวิตของคนวัยทำงานหรือพนักงานออฟฟิศก็ยังอยู่กับความเร่งรีบ ไม่จะเป็นเรื่องการเดินทาง การรีบทำงานให้ทันกำหนดส่ง ความเครียดจากการประชุมต่าง ๆ อีกทั้งในปัจจุบันที่ยังเป็นยุคโควิดทำให้บางคนอาจจำเป็นที่จะต้องทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home ทำให้คนวัยทำงานแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเองเลย ทั้งในเรื่องของอาหารการกินที่อาจจะเลือกกินอาหารที่ไม่ค่อยดีกับสุขภาพ จนอาจจะทำให้ขาดสารอาหารบางชนิด หรือได้รับพลังงานส่วนเกินได้ รวมทั้งไม่สามารถจัดสรรเวลาแม้แต่จะออกกำลังกายหรือพักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา นี่คือ 5 เทคนิคง่าย ๆ ที่จะทำให้สุขภาพของคนวัยทำงานดีขึ้นกว่าเดิม
1. กินอาหารให้ครบมื้อ และที่สำคัญอย่าลืมมื้อเช้า
โดยทั่วไปแล้วคนวัยทำงานจะมีความต้องการพลังงานอยู่ที่ 1,800 – 2,000 กิโลแคลอรี ต่อวัน โดยแบ่งกระจายไปตามมื้อต่างๆ ทั้งมื้อหลักและมื้อว่าง แต่ด้วยความเร่งรีบอาจทำให้พนักงานออฟฟิศหลาย ๆ คนไม่มีเวลาเพียงพอต่อการกินอาหารมื้อเช้า ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่าหากมีการอดอาหารมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายไม่พร้อมต่อการทำงาน เช่น สมองเบลอ ไม่มีสมาธิในการทำงานจากความรู้สึกหิว ส่งผลต่อเนื่องให้การเลือกกินอาหารในมื้อกลางวันนั้นไม่ดีต่อสุขภาพตามไปด้วย เช่น การกินเยอะเกินไป การเลือกอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไอเดรต ไขมัน จำนวนมาก เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหารที่จำเป็น เเละการได้รับพลังงานส่วนเกินจำนวนมาก ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ในที่สุด
2. กินมื้อเที่ยงแบบไม่อ้วน
หลักการเลือกกินอาหารเที่ยงให้ดีต่อสุขภาพง่าย ๆ เพียงแค่ใช้หลักการลด หวาน มัน เค็ม หรือจะใช้การลดหวานมันเค็มควบคู่ไปกับการกินอาหารตามหลักจานสุขภาพแบบง่ายๆ ที่เรียกว่า 2 1 1 โดยการแบ่งจานอาหารหรือกินอาหารให้มีผักเป็นครึ่งหนึ่งของจาน มีเนื้อสัตว์ และข้าว-แป้งอีกอย่างละ 1 ใน 4 ของจานนั่นเอง ควบคู่กับการสั่งอาหารโดยปรับเปลี่ยนให้ดีต่อสุขภาพ เช่น การเปลี่ยนจากไข่เจียวเป็นไข่ต้ม เลือกหมูชิ้นไม่ติดมันแทบหมูสับ เลือกเมนูเนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง หรือเลือกเมนูที่ใช้การต้ม นึ่ง ยำ ย่าง แทนการผัดและทอด เป็นต้น
3. ดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 8 แก้ว
การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวันจะช่วยให้ช่วยส่งเสริมด้านความจำ อารมณ์ และการทำงานของสมอง รวมถึงช่วยลดความเครียดลงได้ ในทางตรงข้าม หากเราดื่มน้ำไม่เพียงพอจะทำให้สมองกระตุ้นการสร้าง ฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่จะทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น จากการศึกษายังค้นพบอีกว่าหากดื่มน้ำเพิ่มประมาณ 1 แก้วใหญ่ (300 มิลลิลิตร) จะมีส่วนช่วยในเรื่องความจำระยะสั้นได้ และพบว่าหากดื่มน้ำมากขึ้นเป็นวันละ 12 แก้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการตอบสนองของร่างกาย ความจำระยะสั้นและจิตใจ รวมไปถึงเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนที่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอกับคนที่ดื่มน้ำน้อย พบว่า คนที่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอจะมีอารมณ์ที่ดี และการนอนหลับที่ดีกว่าด้วย นอกจากนี้ น้ำยังมีส่วนช่วยป้องกันท้องผูก ดังนั้น คนวัยทำงานอย่าลืมดื่มน้ำให้ครบ 8 แก้ว หรือ 1.5 ลิตรต่อวัน โดยอาจพกน้ำขวดใหญ่และจิบไปเรื่อย ๆ ตลอดวัน หรือตั้งนาฬิกาเตือนให้หมั่นดื่มน้ำในทุก ๆ ชั่วโมงก็ได้เช่นกัน โดยดื่มน้ำเปล่าก็จะดีที่สุด
สำหรับคนที่ชอบเครื่องดื่มที่มีรสชาติควรเลือกดื่มเป็นเครื่องดื่มหวานน้อย เครื่องดื่มสูตรที่ไม่มีน้ำตาล เช่น ชาเขียวสูตรหวานน้อย ชาเขียวสูตรไม่มีน้ำตาล น้ำอินฟิวส์ (Infused Water) หรือน้ำแช่ผลไม้ ที่จะช่วยให้น้ำมีกลิ่นหอมของผลไม้เมื่อดื่ม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดื่มน้ำให้เพียงพอได้เช่นกัน
4. ถ้าต้องยิงยาว หาอะไรรองท้องสักหน่อย
สำหรับคนวัยทำงานที่มีงานด่วนทำให้ต้องเลิกงานช้า หรือติดประชุมจนค่ำ อาจจะมีอาการหิวมาก ๆ ในช่วงเย็น ซึ่งจะส่งผลทำให้กินอาหารมากกว่าปกติ ดังนั้น หากรู้ว่าตัวเองต้องมีประชุมหรือต้องทำงานยิงยาวกว่าปกติ อาจเตรียมเลือกซื้อของว่างติดไม้ติดมือไว้แก่หิวสักหน่อย โดยเลือกของว่างที่ดีต่อสุขภาพและยังช่วยแก้หิวได้ เช่น เครื่องดื่มธัญพืช ผลไม้รสหวานน้อย นม ผลิตภัณฑ์จากนม นมถั่วต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งของว่างเหล่านี้นอกจากจะมีสารอาหารที่หลากหลาย ยังช่วยให้อยู่ท้อง ไม่ต้องกลัวหิวระหว่างประชุมหรือระหว่างทำงาน
5. พักเบรกเคลื่อนไหว คลายปวดเมื่อย
การทำงานของพนักงานออฟฟิศในปัจจุบัน คือ การนั่งพิมพ์งานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่ค่อยได้ขยับตัวไปไหน และยังต้องเพ่งสายตาไปที่หน้าจอจนอาจทำให้รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกายหรือสายตาล้าได้ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยตามตัว ก็ควรขยับร่างกายหรือยืดเส้นยืดสาย เช่น ท่ายืดไหล่ โดย การยืดแขนข้างหนึ่งไปทางด้านข้างทำมุม 45 องศา แล้วใช้แขนอีกข้างพับแขนขึ้นมาหาตัว ดึงแขนให้ตึงที่สุดเพื่อยืดเส้นบริเวณหัวไหล่ แล้วหันหน้าไปฝั่งตรงกันข้ามแขน ค้างไว้ประมาณ 10-20 วินาที และท่าท่ายืดกล้ามเนื้อคอ โดยยกแขนขวาแล้วโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อย ๆ เอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5-10 ครั้ง เป็นต้น
ถ้าหากรู้สึกตาล้าก็สามารถมองออกไปที่ท้องฟ้าไกล หรือเดินไปพูดคุยกับสมาชิกครอบครัว (กรณีทำงานที่บ้าน) หรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อเป็นการบริหารจัดการอารมณ์ไม่ให้เครียดและกดดันมากเกินไป อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวในกิจวัตรประจำวันอีกด้วย
ที่มา : เว็บไซต์ สสส.

Chairable Project แก้คิดถึงเก้าอี้ออฟฟิศช่วง WFH
สำหรับคนทำงานออฟฟิศย่อมรู้ดีว่า เก้าอี้ทำงานคือหนึ่งในความผูกพัน ในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ และ Work From Home ปัญหาที่หลายคนต้องเจอ คือ ปวดเมื่อยเนื้อตัวหลังไหล่ เพราะโต๊ะเก้าอี้ที่บ้านไม่เหมาะสำหรับการนั่งทำงานตลอดทั้งวัน
วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย บริษัทเอเจนซีโฆษณา เลยจัดโครงการ ChairAble Project เชิญชวนให้พนักงานนำเก้าอี้ทำงานที่ออฟฟิศกลับไปใช้ที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ตัวโปรดที่ใช้เป็นประจำ หรือเก้าอี้ในห้องประชุม เพื่อช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงาน ที่สำคัญ เก้าอี้เหล่านี้ เป็นเก้าอี้ที่ออกแบบสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิด Work From Home Syndrome ได้ด้วย

“This is a message from your chairman”
.
นี่คือข้อความจาก chairman ของพวกเธอ
หมายถึงเก้าอี้ออฟฟิศนะ ไม่ใช่มัวรีน
เก้าอี้ที่พวกเธอนั่งกันทุกวัน
บางวันเปลี่ยนคู่ สลับชั้นไปมา
บางคน #สายลาก ก็ลากชั้นไปตามที่ต่างๆ
บางคน #สายพาดพิง ก็ชอบพาด ชอบพิง
หรือทั้งเอามือพาดและหลังพิงไปพร้อมกัน (ตีนก็มี)
.
ชั้นยังจำสัมผัสครั้งสุดท้าย ของเธอได้อยู่
มันเป็นวันปาร์ตี้ออฟฟิศ 4 เมษา
พวกเธออยู่ถึงตีสี่
แต่ชั้นอยากให้เธออยู่นานอีกหน่อยยย
และจากวันนั้น… เราก็ไม่เจอกัน
ไม่เจอกันมา 155 วันละนะ
.
รู้มะ…
ชั้นแอบอ่านคอมเมนท์พวกเธอ
จากโต๊ะทำงานที่เปิดหน้าจอไว้
บางคนบ่นปวดหลัง
บางคนบ่นปวดคอ
มันต้องเป็นผล Work From Home Syndrome
อย่างแน่นอนนนน
และอยู่ๆ ก็มีเสียงเล็กๆเสียงนึงในคอมเมนท์
จากน้องชาร์ป หุ่นผอมบาง แต่เสียงอลังการ
ถามว่า “ไปเอาเก้าอี้ออฟฟิศกลับบ้านได้มั๊ย?”
เธอรู้มั๊ย ชั้นดีใจเนื้อเต้นจนน็อตแทบหลุด
.
ชั้นรอคอยวันที่พวกเธอจะกลับมา
กลับมาสัมผัสชั้น ด้วยก้นอันอวบอิ่มของแต่ละคน
(ยิ่ง wfh ไม่รู้ว่าอวบอิ่มกว่าเดิมมั๊ย)
.
มารับชั้นกลับบ้านด้วยนะ
จะมาด้วยรถส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดิน
รถเมล์ แท็กซี่ หรือจะเดินมา… ก็มาดิค้าบ
ชั้นตัวแทนของ เก้าอี้ออฟฟิศ Verve,
Wunderman Thompson, Mirum และ GTB
เก้าอี้ห้องประชุมทุกห้อง
รวมถึงเก้าอี้ห้อง meeting room
และในนามเก้าอี้ส่วนของเธอ… รอ
รอ ให้เธอมารับอยู่ตรง ท่าน้ำชั้น 8 นานละนะ
.
พาเก้าอี้ของคุณกลับบ้านได้ที่
www.chairableproject.com
ดูจากมือถือนะ (Mobile Friendly)
.
From Your Chairman / Chairwomen / Chair For Every Gender and Everyone
.
Chairable Project
เก้าอี้ออฟฟิศที่คิดถึง ตูด คอ บ่า ไหล่
ของพนักงานทุกคน
.
ออฟฟิศอื่นก็เอาไอเดียนี้ไปทำได้นะ
.
#ChairableProject
#ฝากchair
#ยังเจ
ที่มา : แฟนเพจ Wunderman Thompson Thailand

WFH-เรียนออนไลน์ คนไทยพร้อมไหม?
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน กว่า 46,000 คน 80% ระบุไม่ได้ทำงานที่บ้าน เหตุจากอาชีพไม่เอื้อ ส่วนกลุ่ม WFH และนักเรียนออนไลน์ เจอปัญหารายจ่ายพุ่ง สภาพแวดล้อมไม่อำนวย สัญญาณเน็ตไม่ดี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้านการปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.- 6 ก.ค.64 โดยพบประชาชนส่วนใหญ่ 81.5% ไม่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะอาชีพไม่เหมาะสมกับการทำงานที่บ้าน ส่วนปัญหาที่ประชาชนประสบในการทำงานที่บ้าน เช่น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี
ส่วนการเรียนออนไลน์พบ 42% มีบุตรหลานอยู่ในวัยที่เรียนออนไลน์, 14.7% มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนแต่ไม่ได้เรียนออนไลน์ โดยปัญหาที่ประสบจากการเรียนออนไลน์ 5 อันดับแรกได้แก่ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน, ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น, ไม่มีสมาธิ, สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี และอุปกรณ์ไม่ทันสมัย
สำหรับแผนการปรับตัวเพื่อรับมือกับโควิด-19 พบ 3 อันดับแรกคือ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิต เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านทุกครั้งและหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านหากไม่จำเป็น 95.4% ,นำเงินออมออกมาใช้จ่าย 32.6% โดยพบในกลุ่มอาชีพค้าขาย ธุรกิจส่วนตัวในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น และกู้ยืมเงินหรือจำนำ ขายทรัพย์สินที่มีอยู่ 22.8% โดยมีกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง กรรมกร ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
โดยเรื่องที่รัฐบาลควรสนับสนุนให้ประชาชนปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จัดหา WIFI ฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 66.7%, จัดหาอินเทอร์เน็ตให้ประชาชนในราคาถูก 60%, จัดหาอินเทอร์เน็ตให้นักเรียน นักศึกษาฟรี 47.6%, จัดหาอุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ให้ประชาชนในราคาถูก 42.2% และจัดให้มีสถานที่กลางในการเรียนออนไลน์สำหรับเด็กนักเรียนที่ขาดแคลน 33%
ส่วนเรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ลดภาระค่าสาธารณูปโภค 67.3%, จ่ายเงินชดเชย เยียวยา 60.7% และช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ 58.7%
ขณะที่โครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ โครงการเราชนะ 76.2% , โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 66.7%, มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า 65.4% , โครงการคนละครึ่ง 61.2% และโครงการ ม.33 เรารักกัน 43.3%

วิธีลดเสี่ยง Computer vision syndrome เมื่อต้องจ้องจอเกิน 3 ชั่วโมง/วัน
เช็คอาการ Computer vision syndrome จากการนั่งหน้าจอยาวนาน ในช่วง Work From Home แนะ 5 วิธี ป้องกันผลกระทบจากการทำงานหน้าจอ
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home มีผลให้ชีวิตส่วนตัว และงานถูกรวมเข้าด้วยกัน จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ทำให้ต้องใช้สายตาในการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
การทำงานอยู่ที่บ้านแบบนี้มีทั้งผลดีที่ไม่ต้องไปพบปะกับผู้คน ปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และได้อยู่บ้านกับครอบครัว แต่ถ้าไม่แบ่งเวลาการทำงานให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะดวงตาที่ต้องรับภาระจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน หรือการประชุมผ่านอินเตอร์เน็ต จึงอาจเป็นปัญหาต่อดวงตาที่พบจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มว่า ในสถานการณ์ที่ต้อง Work from home ทำงานอยู่บ้าน ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ แท๊บเล็ท สมาร์ตโฟน เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เชื่อว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาในอาการเหล่านี้ เช่น ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้
หากมีอาการที่กล่าวข้างต้น ร่วมกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน อาจบ่งบอกว่าอาจอยู่ในกลุ่มอาการที่เรียกว่า computer vision syndrome แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
5 ข้อ ลดความเสี่ยง Computer vision syndrome
แพทย์หญิงกนกทิพย์ มันตโชติ นายแพทย์ชำนาญการ กล่าวเสริมว่า ภาวะ computer vision syndrome คือกลุ่มอาการทางตา ที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
มีการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้
ทั้งนี้ อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การกระพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม รวมทั้งการมีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ และการที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ไม่คมชัดจึงทำให้ต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้า และระยะห่างจากหน้าจอที่ไม่เหมาะสม รวมถึงระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์ และท่าทางในการนั่งที่ไม่เหมาะสม
วิธีการง่าย ๆ ที่จะช่วยป้องกันหรือหลีกเลี่ยงภาวะcomputer vision syndromeได้แก่
1. กะพริบตาให้บ่อยขึ้น การนั่งจ้องหน้าจอนาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้นจึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน
2. ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา 3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือการละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุตทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้
4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว
5.ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้ ดังนั้นในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่ แนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม
หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็คดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที


เคล็ดลับใช้ชีวิตคู่ ยุค Work From Home
สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดเป็นวงกว้างในครั้งนี้ ส่งผลให้พนักงานบริษัทหลายคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน หน่วยงาน และบริษัทต่าง ๆ ตอบรับนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ หรือที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า Work From Home บางคนก็เรียกด้วยอักษรย่อว่า WFH ทั้งนี้ก็เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อนั่นเอง
แต่เมื่อการทำงานที่บ้านนาน ๆ ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตได้เหมือนช่วงเวลาปกติ คู่รักหลาย ๆ คน อาจจะรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เริ่มมีปัญหาทะเลาะกันบ่อยขึ้น รู้สึกว่าความรักไม่เหมือนเดิม ความสัมพันธ์ในครอบครัวน้อยลง จะมีวิธีปรับ mind set อย่างไร ให้เข้าใจกันมากกว่าเดิม เพื่อให้การทำงานที่บ้านมีประสิทธิภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น
อาจารย์ปิยฉัตร เรืองวิเศษ ฟินนี่ นักจิตวิทยา นักครอบครัวบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาครอบครัว ผู้อำนวยการศูนย์ไทรศิลป์ ได้กล่าวถึงวิธีการและให้คำแนะนำ ผ่าน Facebook Live หัวข้อ “ใช้ชีวิตคู่อย่างไรให้เวิร์ค” ในยุค Work From Home ที่จัดโดยสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ThaiHealth Academy ว่า หัวใจสำคัญของการสร้างสัมพันธ์ของคู่รักและครอบครัว คือ การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อที่จะให้สัมพันธภาพเดินหน้าต่อไปได้ การมีปัญหาทะเลาะกันระหว่างคู่รัก ปัญหาความไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิตคู่ที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ปกติก็ต่อเมื่อไม่หันหน้าเข้าหากัน ต่างคนต่างเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการ หากปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขหรือสร้างความเข้าใจซึ่งกันละกัน อาจนำไปสู่การอย่าร้าง เลิกราในที่สุด การเลี้ยงดูในอดีตของแต่ละคน ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตคู่ได้เช่นกัน
“จากงานวิจัยในประเทศของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับ สสส. พบว่า ระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2563 การเก็บสถิติข่าว แบ่งตามประเภทข่าวความรุนแรง ปรากฏว่าข่าวความรุนแรงทางเพศของบุคคลในครอบครัว พบ 31 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8.9 ซึ่ง 3 ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความอ่อนไหวทางอารมณ์อันเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างคู่รักหรือคู่ชีวิตในช่วง Work From Home คือ
1. บุคลิกภาพ Extrovert VS Introvert จะมีปฏิกิริยาต่อความเครียดไม่เหมือนกัน เวลาต้องอยู่ด้วยกันระหว่าง Lock down นาน ก็จะแสดงความต้องการออกมา ไม่พอใจก็เกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย หรือระเบิดอารมณ์ได้ในกรณีของคนที่ไม่ค่อยแสดงออก ความน้อยอกน้อยใจก็จะสะสมขึ้น บางครั้งอาจมีการตัดความหมายผิดไปจากเจตนาของคำพูดของคนรัก ทำให้ไม่เข้าใจกัน
2. การ lock down อาจทำให้อาการทางจิตแย่ลง ความวิตกจริต ความกังวลและภาวะซึมเศร้า จะมีผลส่งต่อความเครียดให้คนในบ้าน
3. Boundary หรือขอบเขตความเป็นส่วนตัวหายไป จากการที่เคยต้องออกไปทำงานและมีแค่ช่วงเย็น ๆ ที่จะได้ใช้เวลากับคนรักและครอบครัว กลายเป็นต้องอยู่ด้วยกันมากว่า 15 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาครอบครัว ได้แนะนำ เทคนิคการสื่อสารความรู้สึกต่อคนที่เรารักและห่วงใย เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว และ เทคนิคการขอร้องอย่างสร้างสรรค์ 2 Stars and a wish มีอะไรบ้าง มาดูกัน

เทคนิคการสื่อสารความรู้สึกต่อคนที่เรารักและห่วงใย เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว
1. ถ้าสถานการณ์ยังตึงเครียด บอกกล่าวว่า “รักนะ แต่ขอเวลาเรียบเรียงความรู้สึกแล้วเดี๋ยวเรากลับมาคุยกันใหม่” รอให้ต่างฝ่ายต่างอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วค่อยมาปรับความเข้าใจกัน
2. เมื่อพร้อมจะคุย ภาษากายต้องเปิดกว้าง หรือ มีสัมผัสเพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราต้องการเคลียร์จริง ๆ เช่น พร้อมที่จะสบตากัน แตะไหล่เบา ๆ นั่งข้าง ๆ กัน
3. เริ่มต้นจากการบอกความรู้สึกของเราก่อน เช่น “เมื่อกี๊เราโกรธเพราะพอเราพูด เธอไม่ฟังคำอธิบายก่อน ด่วนสรุปว่าเป็นความผิดของเราแล้วใส่อารมณ์กับเราเลย เราโกรธ เราเสียใจนะ”
4. พยายามเป็นผู้รับฟังที่ดี สะท้อนความรู้สึกของคนรัก เช่น ฉันเข้าใจนะว่าที่เธอเป็นแบบนี้เพราะกำลังเหนื่อยอยู่ใช่ไหม
5. ถ้าฝ่ายเรามี Message ที่สำคัญอยากให้คู่รักเปลี่ยนแปลง ให้ใช้ภาษาพูดที่จะทำให้เขาเข้าใจและได้ยินในสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ใช้การสั่งหรือเรียกร้อง
2 Stars and a wish เทคนิคการขอร้องอย่างสร้างสรรค์
หากเราต้องการเสริมสร้างการสื่อสารให้แข็งแรง กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น แสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการอย่างสร้างสรรค์ ควรมีการประชุมครอบครัวอาทิตย์ละครั้งโดยใช้เทคนิคของการชมและการขอเปลี่ยนแปลง แบบนี้
2 Stars คือ คำชมต่อพฤติกรรมที่เราสังเกตระหว่างอาทิตย์ที่เราอยากชื่นชม สูตรของการชม ต้องมีความของรู้สึกของเรา + พฤติกรรมด้านบวก + บอกถึงความภาคภูมิใจในตัวเขา ตัวอย่าง “อาทิตย์นี้ฉันรู้สึกดีใจที่เห็นคุณพยายามช่วยงานบ้าน และอยากขอบคุณที่ช่วยแบ่งเบาภาระ วันก่อนขอบคุณที่ช่วยแวะซื้อกับข้าวให้นะ ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยออกไปอีก ช่วยเบาภาระเราได้เยอะเลย”
A wish คือ สิ่งที่เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวคู่รัก ตัวอย่างเช่น “เมื่อวานฉันยุ่งมากเลย ต้องทำทุกอย่าง แอบหวังว่าคุณจะพาลูกออกไปปั่นจักรยานเล่นสักครึ่งชั่วโมง ฉันจะได้มีเวลาพักหายใจบ้าง”
สสส. สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในครอบครัว การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สร้างเสริมสุขภาวะที่ดีทางจิตใจ เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ในช่วงที่ต้องทำงานอยู่บ้านแบบนี้ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เพิ่มกิจกรรมทางกายด้วยการออกกำลังกาย ทำงานบ้าน เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ถูกสุขอนามัย เพื่อสุขภาวะที่ดี ห่างไกลจากโควิด-19
Download คู่มือชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา
Download คู่มือ กิจกรรมทางกายประจำบ้าน

เจาะ 5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย WFH สนุก มีประสิทธิภาพ
5 กลยุทธ์ LINE ประเทศไทย สร้าง Happy Digital Workplace เน้นสะดวก ดูแลสุขภาพกาย-ใจ รักษาความสัมพันธ์ เติมทักษะต่อเนื่อง
การทำงานจากที่บ้านในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด กลายเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้สำหรับหลายคน
LINE ประเทศไทย มีแนวทางการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรแบบ LINER-Centric โดยมีหัวใจสำคัญคือ การรับฟังความต้องการของชาว “ไลน์เนอร์” และการให้ความสำคัญกับสุขภาวะ (Wellbeing) ของพนักงานทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

5 กลยุทธ์ สร้าง Happy Digital Workplace
1. ระบบรองรับคล่องตัว สื่อสารทั่วถึง – อุปกรณ์การทำงาน เป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกของการปรับเข้าสู่นโยบาย Work from Home พนักงานสามารถยืมอุปกรณ์ออฟฟิศทุกชิ้นไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งโน้ตบุ๊ค จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน พร้อมระบบอินทราเนตที่อนุญาตให้ล็อกอินเข้าถึงข้อมูลงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย และมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสาร Employee Communication ที่ทั่วถึงและสม่ำเสมอผ่าน LINE Official Account ของบริษัทฯ สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สะดวก ไม่สะดุดแม้อยู่บ้าน
2. ดูแลกายและใจ – การมีสุขภาพกายและใจดี คือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานดีๆ ได้ ดังนั้นนอกจากระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมถึงการรักษา “โควิด-19” LINE ยังจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มให้แก่พนักงานที่ต้องการรับ และให้คำแนะนำและข้อมูลที่เกี่ยวกับโควิด-19 อาทิ การทำ Home Isolation, การบริการโทรเวชกรรม (Telemedicine) พบแพทย์ออนไลน์ได้ทั้ง โรคทั่วไปและโรคเรื้อรัง และการจัดคลาสออกกำลังกายออนไลน์ทุกสัปดาห์ ในด้าน “จิตใจ” พนักงานสามารถใช้บริการ OOCA เพื่อปรึกษาสุขภาพจิตกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะ อาการเครียดและอาการ Burn Out จากการทำงาน
3. ความสัมพันธ์ต้องไม่แผ่ว – เป็นเรื่องยากที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับแผนกทรัพยากรบุคคลในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กรในช่วง WFH ไม่เพียงแต่กิจกรรมออนไลน์ ที่ถูกจัดขึ้นเป็นประจำให้พนักงานได้ร่วมสนุกและมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสนุกสนาน ยังมีกิจกรรมออฟไลน์ต่างๆ ที่ถูกเลือกสรรและจัดส่งเป็นของขวัญในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ไปให้พนักงานถึงบ้าน อย่างสม่ำเสมอ อาทิ ชุดปลูกต้นไม้ ชุดทำแพนเค้ก ฯลฯ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความ “ใส่ใจ” ที่จะยึดโยงพนักงานกับองค์กรเข้าด้วยกัน
4. ประเมินและพูดคุย สม่ำเสมอ – แม้จะไม่ได้พบเจอกันในการทำงาน การฟีดแบกและประเมินผลงาน เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาประสิทธิภาพการทำงาน LINE ได้เพิ่มระบบ “p-talk” ในส่วนของ LINER’s Continuous Performance Management ให้พนักงานสามารถอัปเดตผลงานและได้รับฟีดแบ็คการทำงานจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานแบบเรียลไทม์และต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกหล่นตอนสิ้นปี นอกจากนี้ ยังมีการทำแบบประเมิน Employee Engagement Survey เพื่อวัดความสัมพันธ์และพึงพอใจในงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านายและองค์กรทุกไตรมาส เพื่อประเมินดัชนีความสัมพันธ์อยู่เสมออีกด้วย
5. การเสริมทักษะ ต้องไม่ให้ขาด – อีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของ LINE ประเทศไทย คือ WOW Sharing ซึ่งเป็นคลาสออนไลน์ในการเสริมทักษะการทำงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน Soft Skill ซึ่งมีการปรับและเพิ่มหัวข้อให้เหมาะกับสถานการณ์และความต้องการของพนักงานยิ่งขึ้นในช่วง WFH อาทิ การสื่อสารเพื่อสร้างความประทับใจในที่ทำงาน, การดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดอิคิไก, การป้องกันพฤติกรรมที่เป็นพิษในที่ทำงาน, วิธีการเอาชนะอาการ Burn Out ฯลฯ รวมถึง คลาสเรียนภาษาที่สามที่พนักงานสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจอีกด้วย


สู้ต่อไปกับ Work From Home
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีมาตรการปิดเมือง (lockdown) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเหมือนเช่นเคย มาตรการสำคัญในการล็อกดาวน์ครั้งนี้ คือให้ราชการและเอกชน Work From Home (WFH) ให้มากที่สุด
การ WFH จริง ๆ แล้วเป็นแนวทางที่เริ่มได้รับความสนใจมาตั้งแต่ก่อนการมีโรคระบาดโควิด-19 เสียอีก เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ทำให้การทำงานหลายประเภทสามารถทำได้จากทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาในสำนักงาน การ WFH หากบริหารจัดการได้ดี เป็นแนวทางที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ด้วย ซึ่งมีการศึกษาหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นของพนักงานจากการทำงานจากที่บ้าน เช่น การศึกษาในประเทศจีนที่พบว่าประสิทธิภาพของการทำงานเพิ่มขึ้น 13% จากการให้พนักงาน WFH เป็นระยะเวลานาน 9 เดือน
อย่างไรก็ตาม การ WFH เป็นระยะเวลานานภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ กำลังนำไปสู่อีกปรากฏการณ์หนึ่ง คือ ความรู้สึกหมดพลังในการทำงาน

ความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่ยังไม่สามารถจัดการได้ อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟจากการทำงาน (burn-out) ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เพราะในปี 2562 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ภาวะหมดไฟจากการทำงานอยู่ในแนวทางการวินิจฉัยโรคฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases)
จากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต2 หากภาวะหมดไฟจากการทำงานไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลเสียในด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย เช่น เกิดความเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย และปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ เช่น หมดความสนุกในการทำงาน รู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน หมดหวัง และอาจมีอาการของภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ และผลต่อการทำงาน เช่น อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และอาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
การ WFH มาเป็นระยะเวลาเกือบปี ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไร ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมเป็นเวลายาวนานได้ และอาจเริ่มนำไปสู่อาการหมดไฟจากการทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเมื่อการทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกเวลางานและเวลาส่วนตัวได้ ทำให้มีเวลาในการหยุดพักไม่เพียงพอ
จากการศึกษาข้อแนะนำต่าง ๆ ในการจัดการการ WFH ไม่ให้นำไปสู่ความเครียดเรื้อรัง พบว่า หัวใจสำคัญคือการแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ได้ เพราะการ WFH ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกแยะเวลางานจากเวลาพักผ่อน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในชีวิต ดังนั้น ข้อแนะนำสำคัญในการ WFH คือการแยกพื้นที่การทำงานออกให้เป็นสัดส่วน ถึงแม้จะไม่สามารถมีห้องทำงานแยกออกมาได้ แต่แค่มีเก้าอี้สำหรับการนั่งทำงานโดยเฉพาะ ก็สามารถช่วยในด้านความรู้สึกได้ในระดับหนึ่งแล้ว
การจัดตารางเวลาการทำงานให้ชัดเจน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการจัดการชีวิตการทำงานให้แยกจากชีวิตส่วนตัว เพราะเป็นการสร้างเส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงาน เวลาในการพักผ่อนและดูแลครอบครัว ซึ่งตารางเวลานี้อาจปรับเปลี่ยนไปได้ตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเป็นตารางที่ตายตัว เช่น หากสัปดาห์นี้ต้องช่วยลูกในการเรียนออนไลน์ช่วงเช้า ก็อาจลองปรับเวลาทำงานเป็นช่วงบ่ายและช่วงเย็นแทน ซึ่งตรงนี้ที่ทำงานต้องให้ความยืดหยุ่นแก่พนักงานในการจัดการเวลาของตนเอง
ในการ WFH สิ่งหนึ่งที่หายไป คือ ช่วงเวลาในการเดินทาง ซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งในการ WFH เพราะการได้ทำงานที่บ้านทำให้ประหยัดเวลาในการเดินทางในแต่ละวันไปได้มาก แต่ช่วงเวลาในการเดินทางก็มีประโยชน์อย่างหนึ่งที่คนมักไม่ได้นึกถึง คือเป็นช่วงเวลาในการปรับอารมณ์ให้เข้าสู่โหมดของการทำงาน และมีหน้าที่สำคัญในการแบ่งเส้นระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตในการทำงาน ดังนั้น หากจะให้ดี จึงแนะนำให้เริ่มวันด้วยการออกไปเดินเล่นซัก 10-15 นาทีเพื่อปรับสภาพอารมณ์ให้พร้อมก่อนจะเริ่มการทำงาน และเมื่อหมดเวลาทำงาน ก็ควรหาเวลาในการเดินเพื่อผ่อนคลาย และปรับอารมณ์ในการเข้าสู่โหมดการพักผ่อน
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะ WFH หรือไม่ ต้องไม่ลืมการดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี หาเวลาในการทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบบ้าง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การฝึกสมาธิ การใช้เวลากับคนในครอบครัว และการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเราจะได้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ที่มา : มนสิการ กาญจนะจิตรา, เว็บไซต์ The Prachakorn

สำรวจมนุษย์เงินเดือน งานแบบไหนที่อยากทำ หลังโควิด-19
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพากันคาดการณ์แนวโน้มความเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจระดับโลก ที่พบว่า กระแสหลักของคนทำงานทั่วโลก ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น โดยการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้านได้
Ipsos Survey สำรวจคนทำงานประจำ 12,500 คนจาก 29 ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก เช่น สหรัฐ จีน อินเดีย ฝรั่งเศส เบลเยียม เปรู ซาอุดิอารเบีย ฯลฯ พบว่า แนวคิดเรื่องการทำงานที่ยืดหยุ่นได้กลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้ว และ 1 ใน 3 ตอบว่าถ้าที่ทำงานบังคับให้ต้องกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ พวกเขาก็คงจะมองหางานใหม่
ในการสำรวจมีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งก็พบว่ามีอยู่จริง เช่น เรื่องความห่างเหินจากเพื่อนร่วมงาน ผลิตภาพที่ลดลง รู้สึกหมดไฟในการทำงาน รวมทั้งรู้สึกผูกพันกับองค์กรน้อยลงเวลาที่ทำงานทางไกล แต่สุ้มเสียงเหล่านี้กลายเป็นเพียงคนส่วนน้อย เพราะหลายคนมองว่าปัญหาเหล่านี้มีทางออก
อย่างไรก็ตาม คำตอบจากคนที่ต้องการงานที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะทำงานจากที่บ้าน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะหลายคนก็ยังเห็นความสำคัญของการต้องเข้าสำนักงานกันอยู่ เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องสัปดาห์ละ 5 วันเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยกลุ่มสำรวจตอบว่า อยากทำงานจากที่บ้าน 2.5 วันต่อสัปดาห์ รองลงมาขอ 1.9 วัน และ 3.4 วัน แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ขณะที่ฝ่ายผู้บริหารส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงทิศทางการทำงานที่ยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน และเสียงสะท้อนเหล่านี้จำนวนมากก็มาจากพ่อแม่มนุษย์เงินที่ต้องการเวลาสำหรับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการไปรับส่งลูกที่โรงเรียน การดูแลพ่อแม่สูงอายุ
ในรายงานระบุว่า ก่อนที่ไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาด ทั่วโลกมีองค์กรประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ที่มีการทำงานจากที่บ้านได้ แต่มาถึงวันนี้ สัดส่วนการทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 22 เปอร์เซ็นต์บอกให้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ ซึ่งในจำนวนเหล่านี้ 76 เปอร์เซ็นต์เป็นผลจากวิกฤตโควิด-16
ที่มา : www.weforum.org