
“ที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัว” ฟื้นเศรษฐกิจ เยียวยาสังคม หลังโควิด-19
โควิด-19 เปลี่ยนรูปแบบการทำงานทั่วโลก หลายบริษัทเร่งออกมาตรการ ช่วยพนักงานดูแลครอบครัวเมื่อต้องทำงานที่บ้าน ผู้เชี่ยวชาญแนะองค์กรทบทวนระบบงาน/สวัสดิการ ชี้การแบ่งเบาภาระครอบครัวคนทำงาน ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโรคระบาดคลี่คลาย รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเด็กและสังคม
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้องค์กรต้องปรับรูปแบบการทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น ที่มีวัฒนธรรมการทำงานหนัก เข้มงวดกวดขัน และแบ่งแยกชัดเจนระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว เมื่อจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ บริษัทญี่ปุ่นก็จำต้องให้พนักงานทำงานที่บ้าน ซึ่งแสนจะเป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรและคนทำงานไม่คุ้นชิน
เมื่อโลกการงานและครอบครัวมารวมตัวในจุดเดียว บริษัทจึงเริ่มเห็นถึงความยุ่งยากที่พนักงานต้องรับมือ ทั้งเรื่องการงาน ที่บางครอบครัวต้องเผชิญปัญหารายได้ลดลง ทำให้เกิดความเครียด ต้องหารายได้เสริม พนักงานหลายคนไม่มีคนช่วยเลี้ยงลูก พอมือหนึ่งต้องทำงาน อีกมือหันไปจัดการกับเจ้าตัวเล็ก ความทุลักทุเลสะท้อนชัดมายังประสิทธิภาพการทำงานที่ถดถอย
Cheraya Pena ผู้อำนวยการโครงการ The Best Place for Kids บอกว่าโควิดทำให้บริษัทหลายแห่งเร่งปรับตัวกันจ้าละหวั่น หลายที่แทบไม่เคยมีนโยบายเป็นมิตรต่อครอบครัว แต่ต้องหาทางช่วยเหลือพนักงาน เพื่อกอบกู้ไม่ให้คุณภาพงานตกต่ำลง
“บริษัทหลายแห่งรีบออกนโยบายสนับสนุนด้านสุขภาพแก่พนักงาน หลายที่มีสถานรับเลี้ยงเด็กโผล่มาทันที หลายบริษัทพบว่านโยบายที่ออกมาในช่วงเวลาโควิดช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานได้อย่างเห็นผล แถมพนักงานยังเกิดความรู้สึกที่ดีกับบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนตัว มองว่าเรื่องที่ทำงานเป็นมิตรกับครอบครัวคนทำงาน คงไม่เกิดขึ้นใน 5-10 ปีนี้แน่ แต่พอมีโควิด ทุกที่ต้องปรับตัวใหม่กันหมด”
Zoetis บริษัทผลิตยาสำหรับสัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ ในสหรัฐอเมริกา มีเนิร์สเซอรีสำหรับพนักงาน แต่พอให้พนักงานทำงานที่บ้าน บริษัทก็ต้องหาวิธีการที่จะช่วยตามไปดูแลลูกให้กับคนทำงานด้วย เพราะถ้าต้องรอให้ลูกหลับก่อนถึงจะเริ่มทำงานได้ บริษัทเล็งเห็นแล้วว่าไม่น่าจะไหวแน่
บริษัทเลือกการใช้บริการเว็บไซต์จัดหาพี่เลี้ยงเด็กออนไลน์ เพื่อค้นหาพี่เลี้ยงเด็กที่อยู่ใกล้บ้านพนักงานมาช่วยเหลือ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ และได้รับเสียงชื่นชมจากพนักงานเพราะการมีพี่เลี้ยงช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

การทำงานสไตล์ New normal
แพตทริเซีย โคล ผู้อำนวยการ Zero to Three สำนักงานตั้งในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. องค์กรเชื่อมั่นว่าการดูแลเด็กในช่วง 3 ขวบปีแรกมีความสำคัญสูงสุด จึงเดินหน้าภารกิจในการสร้างหลักประกันว่าเด็กจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมจากครอบครัว ชุมชน รวมถึงที่ทำงานของพ่อแม่
แพตทริเซียบอกว่านโยบายบริษัทที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง เนื่องจากรูปแบบการทำงานจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะต้องถูกนำมาพิจารณาและจัดทำแผนการทำงานกันใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิภาพและสุขภาวะของพนักงาน ที่ครอบคลุมถึงชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัวของพนักงาน จะเป็นแนวคิดใหม่ที่บริษัทต้องนำมาปรับใช้
Family Friendly Workplace จำเป็นขั้นสุดหลังโควิด
ขณะที่ทั่วโลกเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะติดตามมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์การยูนิเซฟ รายงานว่า ปัญหาการเงินในครอบครัวทำให้เด็กจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากจน โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กกว่า 19 ล้านคนทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียน เพื่อทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
“เรากำลังพ่ายแพ้การต่อสู้เรื่องปัญหาแรงงานเด็ก ปีนี้เข้าสู่ปีที่สองของการระบาดทั่วโลก โรงเรียนถูกสั่งปิด เศรษฐกิจถดถอย งบประมาณของรัฐบาลไม่พอใช้ หลายครอบครัวไม่มีทางเลือก ต้องให้ลูกออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงาน” เฮนเรียตตา ฟอร์ ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ระบุในถ้อยแถลง
รายงานของยูนิเซฟระบุว่า การที่บริษัทหรือนายจ้างอนุญาตให้พนักงานมีเวลาจัดการกับปัญหาส่วนตัวหรือมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ช่วยลดความยากจนในครัวเรือน ช่วยให้เด็กไม่ต้องถูกทิ้งหรือเผชิญกับความรุนแรง เป็นต้น โดยเฉพาะการอนุญาตให้พนักงานที่เป็นพ่อแม่สามารถจัดการเวลาทำงานได้อย่างยืดหยุ่น การอนุญาตให้ลาเลี้ยงลูก หรือลาหยุดเมื่อมีกรณีฉุกเฉิน โดยไม่หักค่าตอบแทน การมีสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับพนักงาน รวมถึงการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับคนทำงาน

แนะ 6 เทคนิค ลดเสี่ยงออฟฟิศซินโดรม
กรมอนามัยห่วง นโยบาย Work From Home ป้องกันโควิด-19 แพร่ระบาด ส่งผลคนทำงานมีปัญหาสุขภาพ จากสถานที่ และอุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม แนะ 6 วิธีปรับพฤติกรรม ลดความเสี่ยงจากอาการออฟฟิศซินโดรม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home เพื่อขอความร่วมมือให้คนไทยอยู่บ้าน งดการเดินทาง หวังแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ วัยทำงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและสถานที่ในการทำงาน อีกทั้งอุปกรณ์สำนักงานในบ้านอาจไม่เพียงพอ ไม่เหมาะกับสรีระ หรือลักษณะการนั่งไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ตามมาได้
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนและพบบ่อยคือ ปวดหลังเรื้อรังจากการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม ทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ สะบัก เมื่อย เกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระบังลมขยายได้ไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ ส่งผลต่อศักยภาพในการทำงาน ไม่เต็มร้อย รวมถึงอาการปวดศีรษะเรื้อรัง (Tension Headache) ที่สะสมจากความเครียด การพักผ่อน ไม่เพียงพอ ความร้อน และการขาดฮอร์โมนบางชนิด เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาการมือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก การอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นและนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการ ใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อก หรือข้อมือล็อกได้ หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาการจะรุนแรงจนถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทได้

ทั้งนี้ วัยทำงานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมขณะทำงานได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้
1) ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย
2) หากใช้คอมพิวเตอร์ กึ่งกลางของจอควรอยู่ในระดับสายตา การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ด ควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่
3) ขณะนั่งทำงาน ควรนั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้ กะพริบตาบ่อย ๆ พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก 1 ชั่วโมง
4) ปลูกต้นไม้ในร่ม ช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการจ้องมองจอคอมพิวเตอร์
5) กินอาหารให้ตรงเวลาและครบ 5 หมู่
6) ควรเปิดหน้าต่างที่บ้านเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทบ้าง อย่างน้อยในตอนเช้าและพักกลางวัน
ที่มา : ศูนย์สื่อสารสาธารณะ กรมอนามัย

Work Life Balance แค่ไหน ในโควิด-19

โควิด-19 แพร่ระบาด กระทบชีวิตของทุกคน ทั้งงาน และชีวิตครอบครัว แต่ละคน แต่ละอาชีพ ต้องมีการปรับตัวอย่างไรกันบ้าง และมีสิ่งที่ดีใดๆ ซ่อนในวิกฤต บ้างหรือไม่
แม่อยากกลับบ้าน

คิดถึงลูกมาก ไม่เคยห่างกันเลยตั้งแต่ตั้งท้อง ลูกสาวหยุดร้องไห้กลางคืนแล้ว แต่จะถามพ่อก่อนนอนทุกคืนว่า อีกกี่วัน แม่ถึงจะกลับบ้าน พ่อต้องตอบคำถามนี้ทุกคืน
จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าว ไทยพีบีเอส ออนไลน์
ชีวิตตอนนี้เหลือแต่งาน ชีวิตครอบครัวแทบจะหายไปเลย เพื่อนร่วมงานติดโควิด เรากลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ต้องมากักตัวที่ Hospitel ที่ กทม.จัดให้สำหรับคนที่ไม่สามารถอยู่บ้านได้ พองานที่ทำเป็นออนไลน์ ที่ออฟฟิศซัพพอร์ตโน๊ตบุ๊กให้มานั่งทำงานไปด้วย รวมทั้งให้ทำคลิปรีวิวชีวิตในช่วงการกักตัวกลับไปด้วยหนึ่งชิ้น (หัวเราะ)
ที่บ้านอยู่กัน 4 คน แม่ สามี และลูกสาว 5 ขวบ พอรู้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ตอนนั้นเครียดมาก เพราะรู้ว่าอยู่บ้านไม่ได้แน่ เราไม่มีห้องที่จะแยกตัวอยู่คนเดียวได้ แต่พอประสานกับ กทม.แล้วเขาช่วยหาที่พักให้ก็หมดห่วง สามีกับแม่สลับกันดูแลลูกได้อยู่แล้ว พอแยกออกมาวันแรก VDO Call คุยกับลูกสาว ลูกไม่เข้าใจเรื่องกักตัว ก็เลยบอกว่าแม่ไปทำงาน แล้วก็ VDO Call คุยกันสามคนวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็น
คิดถึงลูกมาก ไม่เคยห่างกันเลยตั้งแต่ตั้งท้อง ลูกสาวหยุดร้องไห้กลางคืนแล้ว แต่จะถามพ่อก่อนนอนทุกคืนว่า อีกกี่วัน แม่ถึงจะกลับบ้าน พ่อต้องตอบคำถามนี้ทุกคืน อีก 2 วันนะคะ เดี๋ยวแม่จะได้กลับไปกอดหนู กลับไปเลี้ยงหนูเหมือนเดิม
ทุกครั้งก่อนพ่อจะเอาของมาให้แม่ มักจะถามลูกว่า อยากเขียนอะไรถึงแม่ไหม? ลูกสาวไปหยิบกระดาษ แล้วให้พ่อช่วยสะกดคำที่อยากเขียนให้ พร้อมวาดรูปแถมมาด้วย
ครั้งแรกที่เห็นจดหมายน้อยนี้ แม่ร้องไห้หนักมาก… ได้แต่บอกพ่อว่า ไม่ให้ลูกเขียนมาเลยจะดีกว่า เห็นข้อความแล้วมันเจ็บจี๊ดที่ใจ ทั้งคิดถึง ทั้งโหยหา และอยากกลับบ้าน

WFH ทำให้เห็นชีวิตแม่ชัดขึ้น
บอกน้องๆ ทุกคนในทีม ว่าถ้ามีธุระส่วนตัว หรือธุระครอบครัว ให้บอกได้เลย ถ้าไม่บอกไว้แบบนี้ เขาอาจจะเกรงใจ เห็นเป็นเรื่องส่วนตัว กลัวว่าลาแล้วจะกระทบงาน ที่จริงงานครีเอทีฟต้องสร้างสรรค์ ถ้าคนทำงานเครียด หรือห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นจะกระทบงานมากกว่า

ตุลาการ ขวัญยืน Production Manager Marketing Communication ช่องวัน 31
WFH ทำให้ใกล้ชิดแม่มากขึ้น ได้เห็นรายละเอียดในชีวิตเขาชัดขึ้น แม่ตื่นกี่โมง นอนกี่โมง กินอะไร วันหนึ่งทำอะไรบ้าง ได้ช่วยแม่รดน้ำต้นไม้ พาเขาไปนั่นนี่
ปกติออฟฟิศกำหนดเวลางาน 10.00-19.00 น. แต่แต่ละทีมจัดกันเองได้ตามความเหมาะสม งานส่วนที่รับผิดชอบอยู่ยืดหยุ่นเวลาได้ เราก็มีเวลาให้ครอบครัวพอสมควร เวลาไปทำงานก็สื่อสารกันตลอด แม่ไลน์มา อยากกินนั่นนี่ ซื้อของให้หน่อย WFH ตอนโควิดรอบแรก แม่ไม่เข้าใจ เห็นอยู่บ้านนึกว่าไม่ได้ทำงาน ก็จะมาชวนคุย ชวนไปซื้อของ ต้องอธิบายว่ากำลังทำงานอยู่
โควิดรอบนี้ ผู้บริหารให้ WFH 100 เปอร์เซ็นต์ ในทีมมี 11 คน งานมีข้อจำกัดอยู่บ้างถ้าต้องทำจากที่บ้าน พยายามปรับงานเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนที่จำเป็นต้องเข้าที่ทำงานจริงๆ ก็สลับกันเข้า ไม่จำเป็นไม่ต้องเข้า ดูเงื่อนไขของแต่ละคนด้วย เช่น บ้านอยู่ที่ไหน เดินทางอย่างไร อยู่กับครอบครัวไหม ความปลอดภัยของทุกคนสำคัญที่สุด
ตัวเองเป็นคนที่สนิทกับครอบครัว ช่วงที่พ่อป่วย โชคดีมากที่ทำงานเข้าใจ แล้วทีมก็ซัพพอร์ต ทำให้ดูแลพ่อได้อย่างเต็มที่ โดยใช้วิธีทำงานจากข้างนอก ก็เลยบอกน้องๆ ทุกคนในทีมว่าถ้ามีธุระส่วนตัว หรือธุระครอบครัว ให้บอกได้เลย ถ้าไม่บอกไว้แบบนี้ เขาอาจจะเกรงใจ เห็นเป็นเรื่องส่วนตัว กลัวว่าลาแล้วจะกระทบงาน ที่จริงงานครีเอทีฟต้องสร้างสรรค์ ถ้าคนทำงานเครียด หรือห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นจะกระทบงานมากกว่า
VDO Call แทนการกอดกันจริงๆ ไม่ได้

เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาว 5 ขวบ ไม่ได้อยู่กับลูก เพราะต้องทำงานที่กรุงเทพ ให้ลูกเรียนที่เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่และน้องชายช่วยดูแล ที่ผ่านมาคุยกันผ่าน VDO Call ทุกคืนไม่เคยขาด คุยกันทีนึงก็เป็นชั่วโมง มีเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกัน เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง เล่นขายของกัน
เจน ฐิตารีย์ กิตยานพลักษณ์ ช่างภาพอิสระ Lunababy Photography
เป็นช่างภาพ สายงานเฉพาะคือเป็น Newborn and Family Photographer ส่วนใหญ่ถ่ายภาพเด็กแรกเกิดตั้งแต่คุณแม่ยังไม่ออกจากโรงพยาบาล หรือลูกค้าติดต่อให้ไปถ่ายภาพที่บ้าน มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่ช่วง พอมีโควิดเข้ามาก็ยังมีคนติดต่อให้ไปถ่ายที่บ้านอยู่ แต่ต้องแจ้งลูกค้าว่าขอไม่รับช่วงนี้ เพราะเรายังไปถ่ายให้ลูกค้าที่ซื้อแพ็คเกจคลอดในโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิทด้วย ไม่รับถ่ายที่บ้านเลย เพื่อจะการันตีตัวเองกับทางโรงพยาบาลได้

ตัวเองเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาว 5 ขวบ ไม่ได้อยู่กับลูก เพราะต้องทำงานที่กรุงเทพ ให้ลูกเรียนที่เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่และน้องชายช่วยดูแล ที่ผ่านมาคุยกันผ่าน VDO Call ทุกคืนไม่เคยขาด คุยกันทีนึงก็เป็นชั่วโมง มีเล่นเกมเป่ายิ้งฉุบกัน เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ฟัง เล่นขายของกัน ทุกอย่างผ่านทาง VDO Call ปกติไปหาลูกเดือนละ 2 ครั้ง อยู่ด้วยกันครั้งละ 3-7 วัน ขึ้นกับตารางงานที่ส่วนใหญ่กำหนดเองอยู่แล้ว แต่พอช่วงที่มีโควิดไม่ได้กลับไปหาลูกเลยเกือบ 2 เดือน เพราะที่บ้านมีคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และลูกก็ 5 ขวบ เลยกังวล เพราะโควิดทุกรอบ กรุงเทพเป็นพื้นที่สีแดงตลอด ถึงจะมั่นใจว่าเราป้องกันตัวเองขนาดไหนก็ไม่กล้าเสี่ยง
โชคดีที่เทคโนโลยีสมัยนี้สะดวกสบาย เลยยังคุยกับลูก เล่นกับลูกได้ทุกวัน แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีก้าวไปถึงขั้นไหน การเห็นหน้าผ่านทาง VDO Call ก็ทดแทนการกอดกันจริงๆ ไม่ได้ รอบที่แล้ว พอโควิดซา สิ่งแรกที่ทำโดยไม่ต้องคิดเลยคือกลับบ้านไปหาลูก ถึงจะกลับได้แค่ 2 วัน แล้วต้องกลับมาทำงานก็ยินดีที่จะบินกลับมา แล้วบินกลับไปหาลูกใหม่ ถ้าเป็นไปได้อยากอยู่กับลูกให้มากที่สุด อยากทำทุกวันให้เป็นความทรงจำที่ดี
ระวังตัวมากที่สุด กลัวเอาเชื้อมาติดลูก

อิทธิศักดิ์ ลีลาเลอเกียรติ พนักงานบริษัท
ลูกชายเกิดตอนช่วงโควิดมาปีที่แล้วพอดี ทำให้กังวลแล้วก็ระวังตัวอย่างที่สุด พอกลับจากทำงานต้องรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนถึงจะมาอุ้มมากอดลูกได้ กลัวจะนำเชื้อมาให้เขาโดยไม่รู้ตัว ส่วนภรรยาทำงานที่ร้านอาหาร เข้างานประมาณสายๆ เสร็จจากงานช่วงค่ำ โชคดีที่อยู่บ้านภรรยาซึ่งมีญาติผู้ใหญ่อยู่ด้วยก็ช่วยดูแลลูกได้ระหว่างที่สองคนไปทำงาน
พอออฟฟิศให้พนักงาน WFH และอนุญาตให้เอาอุปกรณ์การทำงาน ทั้งโน้ตบุ๊ค คอมพิวเตอร์ สายชาร์จ มาทำงานที่บ้านได้ทั้งหมดเลย เพื่อลดจำนวนพนักงานในการเข้าออฟฟิศ แล้วก็สลับกันเข้าออฟฟิศบ้าง เพราะบางส่วนจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่สำนักงานในการทำงาน
ตอนนี้ลูกอายุ 1 ขวบ 1 เดือนแล้ว ผมทำงานที่บ้าน ก็ฝากคุณย่าเลี้ยง พอช่วงพักเบรคค่อยพาลูกเข้ามาเล่นในห้อง ไม่ค่อยมีปัญหากับการทำงานที่บ้านถึงจะมีเจ้าตัวเล็กอยู่บ้านด้วยก็ตาม
ได้ WFH ถือว่าดีมาก เพราะช่วงก่อนที่จะให้ทำงานที่บ้าน โควิดเริ่มระบาดแล้วยังต้องไปทำงาน ใช้อาคารสำนักงานซึ่งมีคนเยอะ เราไม่รู้ว่าจะมีคนติดโควิดเข้ามาในตึกไหม พอจะกินอาหาร บางร้านก็ปิดตัวไป ร้านน้อย แต่คนเยอะ เวลาพักแค่ชั่วโมงเดียวก็ต้องรีบ เพื่อจะกลับไปทำงานช่วงบ่ายได้ทัน พอเป็นแบบนี้ระวังตัวยาก
WFH พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก

WFH ทำให้พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก ได้เล่นกัน ใช้เวลาด้วยกัน จากที่แม่ต้องเป็นคนกล่อมนอน ตอนนี้ลูกไปนอนกับพ่อได้ เราสบายตัวขึ้น ไม่เหมือนต้องดูแลลูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ลูกค่อนข้างติดพ่อ
อรทัย เต็งพงศธร เจ้าของบริษัท ริชไอเดีย โปรดักชั่น จำกัด
โควิดมา งานยกเลิกทั้งหมด ชีวิตคือการอยู่กับครอบครัวแบบเต็มเวลา ลูกสาว 5 ขวบ สามีเป็นวิศวกรซึ่งบริษัทให้ WFH เพื่อความปลอดภัยของทุกคน
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงมานั่งให้สัมภาษณ์แบบนี้ไม่ได้ เพราะลูกเรียกตลอดเวลา ตั้งแต่สามีเริ่ม WFH ปีที่แล้ว เป็น 3 เดือนแรกที่ได้อยู่กันพร้อมหน้านานที่สุด ปกติตัวเองเป็นออร์กาไนเซอร์ งานเกือบทุกอย่างเอาต์ซอร์สได้ ส่วนใหญ่นั่งทำงานที่บ้าน สามีทำงานประจำ มีเวลาอยู่ที่บ้านไม่มาก ลูกก็จะติดแม่
WFH ทำให้พ่อลูกได้ใกล้ชิดกันเป็นครั้งแรก ได้เล่นกัน ใช้เวลาด้วยกัน จากที่แม่ต้องเป็นคนกล่อมนอน ตอนนี้ลูกไปนอนกับพ่อได้ เราสบายตัวขึ้น ไม่เหมือนต้องดูแลลูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ตอนนี้ลูกค่อนข้างติดพ่อ แต่ก็เรียนรู้ที่จะไม่ไปรบกวนตอนที่พ่อทำงาน มาคอยถามว่าพ่อทำงานเสร็จหรือยัง
ก่อนหน้านี้ตัวเองทำงานประจำ งานเยอะ กลับดึก ตื่นนอนไม่เป็นเวลา เลยมีลูกยากมาก เคยท้องครั้งหนึ่งก็แท้ง จนไปทำกิ๊ฟต์ก็มีปัญหามาก หมอบอกว่าต้องไม่เครียด เพราะจะมีผลกระทบ ก็นึกในใจว่างานแบบนี้ไม่เครียดไม่ได้ ลูกน้อง 30 คน งานเร่ง ต้องทำงานกับคนเยอะ ปัญหาเยอะ จนตัดสินใจลาออกเพื่อตั้งใจจะมีลูกให้ได้ หลังคลอดเป็นจังหวะที่มาทำงานอีเว้นต์ รายได้พอๆ กับงานประจำ แต่เราจัดการเวลาได้ดีกว่า มีเวลาดูแลลูกได้มากกว่า โควิดมาแย่หน่อย ก็เตรียมจะลองดูเรื่องการขายของออนไลน์เพื่อเสริมรายได้ในช่วงนี้